วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม ชายดิศออกมาถึงปีนังเพื่อจะลาหม่อมฉันบวชในปีนี้ เธอนำห่อหนังสือปฏิทินหลวงกับหนังสือประกวดวิสาขบูชา และหนังสือสวดมนต์ที่ท่านทรงฝากเธอมาประทานมาส่งแล้ว หม่อมฉันขอบพระคุณมาก ได้ประโยชน์ในทันทีด้วย เพิ่งรู้ว่าปีนี้เป็นอธิกมาสเมื่อเห็นปฏิทินหลวง

ชายดิศบอกว่าท่านเสด็จไปประพาส “ลอยละล่อง” Round Trip ด้วยเรือสุทธาทิพย์ จะเสด็จไปจนถึงเมืองปะเลมบังที่เกาะสุมาตราแล้วกลับกรุงเทพฯ ด้วยเรือลำนั้น ถามเธอว่าจะเสด็จไปเมื่อไร เธอบอกว่าเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้วเมื่อวันเธอมานั้นเอง หม่อมฉันทราบก็ยินดี เพราะได้เห็นหนังสือพิมพ์ข่าวว่าในกรุงเทพฯ ปีนี้ร้อนจัดมาก ปรอทขึ้นถึง ๑๐๒ ขีดและร้อนอยู่หลายๆ วันด้วย พระองค์ท่านก็ได้เคยตรัสบ่นมาในลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อนว่าไม่ใคร่ทรงสบาย เพราะร้อนจัด หม่อมฉันจึงเห็นว่าที่เสด็จแปรสถานไปเปลี่ยนอากาศนั้น สมควรอย่างยิ่ง นึกเสียดายอยู่สักหน่อยด้วยไม่ได้มีโอกาสทูลแถลงล่วงหน้าแต่ก่อนเสด็จไป ว่าที่เมืองปะเลมบังนั้นเขาว่ามิพิพิธภัณฑสถานน่าดู เพราะเป็นที่เก็บรักษาของโบราณครั้งต้นสมัยศรีวิชัยซึ่งนำพระพุทธศาสนาอย่างมหายานมาประดิษฐาน แล้วเผยแผ่แพร่หลายเข้าไปทางเมืองไชยาและเมืองอื่นๆ ในประเทศสยาม มองซิเออปามองเตีย ว่าตลอดไปจนประเทศกัมพูชาด้วย แต่ท่านอาจจะได้ทรงทราบอยู่แล้ว หรือมิฉะนั้นก็คงจะไปทรงทราบที่เมืองปะเลมบัง ถ้าเช่นนั้นหวังว่าเมื่อเสด็จกลับคงจะได้ฟังเล่าประทานในลายพระหัตถ์เวรในเบื้องหน้า

พระองค์หญิงประเวศก็เสด็จมาถึงปีนังวันเดียวกับชายดิศแต่ไม่รู้กัน เพราะชายดิศมาจากกรุงเทพฯ พระองค์หญิงเธอประทับอยู่ที่หนองแกเสด็จขึ้นรถไฟที่สถานีหัวหิน เพิ่งพบกันที่นั่น แต่พระองค์หญิงเธอได้ตรัสบอกมายังหญิงพูนว่าจะเสด็จมาวันพฤหัสบดีนั้น หม่อมฉันจึงไปคอยรับที่ท่าเรือแล้วเชิญเสด็จเธอมาพักแรมที่ซินนามอนฮอลในวันนั้นมิให้ลำบาก เผอิญตำหนักที่เคยประทับเมื่อเสด็จมาครั้งก่อนว่างอยู่ รุ่งขึ้นจึงให้ไปว่าเช่าแล้วเสด็จย้ายไปประทับที่ตำหนักนั้นต่อมา เธอตรัสว่าพอมาได้อากาศปีนังก็รู้สึกสบายขึ้น ยังเป็นห่วงแต่กรมหลวงสิงห์เกรงจะยังช้าวันกว่าพระอาการจะคลายจนถึงสามารถจะเสด็จมาได้

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคมนั้นเห็นจะส่งไปรษณีย์ไม่ทันคราวเมล์ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ ๑๐ พฤษภาคม จึงมาถึงหม่อมฉันต่อวันจันทร์ ที่ ๑๕ พฤษภาคม ถึงกระนั้นหม่อมฉันก็ได้หยุดเขียนจดหมายเวรตั้งแต่ได้ทราบความจากชายดิศแล้ว

ต่อมาหม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับเล็ก ลงวันที่ ๑๘ ประทานมาเมื่อเสด็๗ถึงเมืองสิงคโปร์อีกฉบับ ๑ ความที่จะทูลตอบลายพระหัตถ์ฉบับนี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากถวายความยินดีที่ทราบตามลายพระหัตถ์สมดังคาด ว่าตั้งแต่เสด็จลงเรือออกทะเลมาอากาศเย็นทรงสบายและบรรทมหลับได้มากขึ้น นึกสงสารแต่คุณโตที่เมาคลื่น แต่สังเกตดูเธอตามเสด็จมาคราวนี้เมาน้อยลงกว่าคราวก่อน อาจจะเป็นด้วยคุ้นคลื่นเข้า ต่อไปจะเลยไม่เมาก็จะเป็นได้ดอกกระมัง

หม่อมฉันนึกขันที่ทรงเล่าถึงพวกหลานหญิงชอบขึ้นไปซื้อของตามร้านที่เมืองสิงคโปร์ ด้วยเข้ากับวินิจฉัยของหม่อมฉันซึ่งจะเล่าถวายต่อไป

เมื่อแรกหม่อมฉันมาอยู่เมืองปีนังเวลาจะหาซื้อของตามห้างและร้านต่างๆ มักไปด้วยกันกับลูกหญิง แต่ต่อมาสักหน่อยหม่อมฉันรู้สึกเบื่อ ด้วยเมื่อหม่อมฉันซื้อเสร็จธุระแล้วลูกยังเลือกหาซื้อของของเธออยู่ยังไม่เสร็จ หม่อมฉันต้องเที่ยวเดินไถลไถเถคอยลูกอยู่ในร้านนานๆ จึงได้กลับบ้าน หม่อมฉันจึงตั้งอาณัติสัญญากันว่าถ้าเธอจะไปเที่ยวหาซื้อของ Shopping ให้ไปด้วยกันเองเถิด ไม่จำเป็นต้องให้หม่อมฉันไปด้วย

ต่อมาในเวลามีผู้หญิงที่เป็นญาติและมิตรออกมาพักอยู่ที่ซินนามอนฮอล หม่อมฉันชวนให้ไปเที่ยวดูที่ต่างๆ อย่างพวกท่องเที่ยว สังเกตดูมิใคร่มีใครชอบแม้ไปก็อย่างขัดไม่ได้ ชอบแต่ไปเที่ยว Shopping หาซื้อของตามห้างตามร้านทุกวัน บางวันไปทั้งเช้าทั้งเย็นก็มี ดูสนุกสนานกันแต่เรื่องหาซื้อของ หม่อมฉันต้องเปลี่ยนวิธีรับแขก ถ้าแขกเป็นผู้หญิงให้พวกผู้หญิงในบ้านหม่อมฉันเป็นผู้พาเที่ยวแล้วแต่จะไปที่ไหนกันตามใจ แต่นั้นก็เป็นการเรียบร้อยมาจนบัดนี้ เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นมูลที่หม่อมฉันเคยคิดวินิจฉัย คือว่า

๑) ในบรรดาเมืองใหญ่ย่อมมีร้านหรือห้างขายของเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ชาวเมืองพึงปรารถนาทุกแห่ง แม้เมืองเล็กน้อยหรือหมู่บ้านก็ย่อมมีทำนองเดียวกัน ผิดกันแต่มีของน้อยและของเลวลง จะยกอุทาหรณ์ดังผ้าดอกสำหรับตัดเสื้อ ในกรุงเทพฯ ก็มีขายเป็นพะเนินเทินทึก แต่ไฉนผู้หญิงชาวกรุงเทพ ฯ จึงขอบมาหาซื้อผ้าดอกที่ปีนัง หม่อมฉันคิดอธิบายว่าลายผ้าดอกที่ชาวยุโรปหรือญี่ปุ่นเขาทำส่งไปขายต่างประเวศ เขาสังเกตว่าลายหรือประสานสีอย่างไรขายดีด้วยชาวเมืองชอบมาก ก็ชอบทำผ้าลักษณะอย่างนั้นส่งไปขายที่เมืองนั้นมาก มีผ้าบางอย่างพวกชาวปีนังชอบ แต่ไม่มีขายตามร้านผ้าในกรุงเทพฯ มาเห็นเป็นของแปลกก็ชอบซื้อเอาไปเป็นของฝากพวกพ้อง หรือใช้เองบ้าง ของสิ่งอื่นๆ ก็อนุโลมได้โดยนัยอันเดียวกัน แต่เข้าใจว่าอะไรอื่นไม่ซื้อมากเหมือนผ้าดอกเพราะดูหรูหรา ราคาก็ถูกทั้งเอาไปก็ง่ายด้วย

๒) ที่คนชอบเที่ยวซื้อของตามห้างตามร้าน เกิดแต่เพลิดเพลินเจริญใจด้วยอีกอย่างหนึ่ง เพราะตามร้านย่อมมีของที่ต้องตาตั้งเรียบเรียงไว้ให้ชมมากมายหลายอย่าง คล้ายกับพิพิธภัณฑ์สถาน แต่ผิดกับพิพิธภัณฑสถานเป็นข้อสำคัญ ที่คนดูชอบใจสิ่งไหนก็อาจจะซื้อเอาเป็นของตนได้ จึงชอบไปเลือกหาสิ่งของที่แปลก หรือราคาถูก เช่นของญี่ปุ่นเป็นต้น

๓) ยังมีอีกอย่าง ๑ คล้าย ๆ กับเป็น “กีฬา” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ให้ผู้หญิงชอบไปซื้อของตามร้าน คือ “การต่อราคาของ” ดูเหมือนถือกันเป็นตำรา (เปรียบว่า) ถ้าผู้ขายบอกราคาบาท ๑ ก็ต่อเป็น ๕๐ สตางค์ ในทันทีผู้ขายก็ไม่ยอมขายว่า “ขาดทุนมากนัก” แต่นั้นผู้ขายกับผู้ซื้อว่ากล่าวต่อตามกันไปสัก ๕ หรือกว่า ๕ นาทีจึงตกลงซื้อได้ราคา ๗๕ สตางค์ ผู้ซื้อก็ยินดีเหมือนกับมีชัยชนะในกีฬาเพราะซื้อได้ถูกกว่าราคาขายโดยปกติถึง ๒๕ แต่ที่จริงเปล่าทั้งนั้น คนขายของมันรู้วิสัยคนซื้อ เปรียบว่าของราคา ๗๕ สตางค์ ใครไปถามมันบอกผ่านว่าบาท ๑ เมื่อต่อ ๕๐ สตางค์ก็ทำเป็นโทมนัสเหมือนหนึ่งว่าผู้ซื้อจะไปแกล้งให้มันฉิบหาย ผู้ซื้อเห็นว่าจะซื้อไม่ได้ก็ยอมเพิ่มราคาขึ้นโดยดีทีละ ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ข้างผู้ขายมันก็ค่อยลดราคาลงมาทีละน้อย พูดจาเหมือนหนึ่งว่าเกรงใจผู้ซื้อ เมื่อลดลงมาเปรียบว่าถึง ๘๐ สตางค์ แล้วมันไม่ยอมลดลงกว่านั้น ทำให้ผู้ซื้อเบื่อเลยว่าเอาเพียง ๗๕ สตางค์เถิด มันทำตรึกแล้วตรองเล่าแล้วจึงยอมขายราคา ๗๕ สตางค์เท่าราคาขาย กระซิบบอกว่ายอมขายให้แต่เฉพาะแก่ท่านเท่านั้น ด้วยหวังว่าจะมาซื้อของอีกก็จะได้เป็นเจ้าจำนำกันต่อไป หม่อมฉันเองก็เคยถูกอุบายอย่างนี้ ด้วยหม่อมฉันชอบสูบยายัดกล้องอย่าง ๑ เรียกว่า “แมวดำ” Black Cat ตั้งแต่ยังอยู่ที่หัวหิน วานพวกรถไฟเขาซื้อไปให้ราคากลักละ ๓๕ เซ็นต์ ครั้นหม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังไปถามที่ร้านแขกมันบอกราคาเดียวกันว่า ๓๕ เซ็นต์ หม่อมฉันว่ามาซื้อถึงปีนังแล้วควรจะลดราคาลงไป ต่อมันก็ยอมลดให้ ๕ เซ็นต์ หม่อมฉันซื้อราคากลักละ ๓๐ เซ็นต์มานาน วันหนึ่งยานั้นหมดหม่อมฉันจึงแวะไปซื้อที่ร้านแขกเจ้าจำนำนั้น วันนั้นเผอิญพวกผู้ใหญ่ที่เคยขายไม่อยู่ ให้เด็กแขกคน ๑ ขายของแทน หม่อมฉันชี้กลักยาตราแมวให้มันดู แล้วถามว่าราคากลักละเท่าใด มันไปดูบัญชีราคาของที่เขียนเป็นหนังสือแขกแขวนติดไว้ที่บานตู้ บอกว่าราคากลักละ ๒๕ เซ็นต์ หม่อมฉันก็ซื้อเอามา ๒ กลัก ครั้นยาหมดให้เอากลักไปว่าซื้ออีก อ้ายเจ้าจำนำจะเอาราคากลักละ ๓๐ เซ็นต์ตามเคย หญิงเหลือผู้ไปซื้อบอกว่าเคยซื้อกลักละ ๒๕ เซ็นต์ เมื่อเร็วๆ นี้เอง ถ้าจะเอาราคากว่านั้นไม่ซื้อ อ้ายเจ้าจำนำก็เหยเลยต้องยอม ซื้อได้กลักละ ๒๕ เซ็นต์ต่อมาจนทุกวันนี้

คราวนี้จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม ต่อไป

ข้อที่ตรัสถามมาว่าประเพณีที่ตั้งรูปฉายผู้ตายที่หน้าศพจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น หม่อมฉันออกอึดอัดด้วยไม่เคยคิดค้นมาแต่ก่อน หวนคิดไปถึงสมัยในรัชกาลที่ ๕ ได้เค้าเงื่อนดูเหมือนหม่อมฉันจะเป็นผู้ริขึ้นเองก็เป็นได้ คือ เมื่องานศพหม่อมเฉื่อย หม่อมฉันคิดกับห้างเลนส์ช่างชักรูป ให้ทำรูปฉายหม่อมเฉื่อยมีลายพวงมาลาแพรแถบตัวอักษรประดับ เป็นรูปขนาดแคบิเน็ตสำหรับให้เป็นที่ระลึกแก่ญาติมิตรที่อุตส่าห์มาทำบุญให้ที่หน้าศพ ครั้งนั้นห้างเลนส์เลยฉายขยายรูปครึ่งตัวหม่อม เฉื่อยใส่กรอบตั้งบนขาหยั่งมาให้เป็นของช่วยงานศพ หม่อมฉันจึงให้ตั้งไว้ที่หน้าศพ เป็นการสนองคุณห้างเลนส์ มิได้คิดจะให้เป็นแบบแผนคิดค้นดูงานศพอื่นก่อนขึ้นไปและภายหลังมา ก็นึกไม่ได้ว่าเคยเห็นตั้งรูปที่ศพให้ แม้จนพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ดูเหมือนไม่ได้ตั้งพระบรมรูป มานึกได้ว่ามีการตั้งพระรูปที่หน้าพระบรมศพเป็นครั้งแรก เมื่อพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทูลกระหม่อมติ๋วทรงประดิษฐ์ ดูเห็นกันเป็นของประหลาด ด้วยมีโคมไฟฟ้ารายซ้อนไว้ในกรอบให้เห็นพระบรมรูปได้ถนัดทั้งกลางวันกลางคืน และคิดแบบสาหร่ายดอกไม้สดเป็นลวดลายต่างๆ เปลี่ยนทุกสัปดาหะ หม่อมฉันนึกว่าตั้งพระรูปหน้าพระศพในงานหลวงจะเริ่มมีแต่คราวนี้ ตามที่ทูลมานี้อาจสำคัญผิดก็เป็นได้

หม่อมฉันมีกิจอย่าง ๑ ซึ่งใคร่จะทูลขอให้ท่านทรงช่วยทำแทน คือในการบวชชายดิศปีนี้ กิจอันใดอันเป็นหน้าที่ของบิดาจะต้องทำ นับแต่นำไปถวายเครื่องสักการะแก่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ซึ่งจะเป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งจะเป็นพระกรรมวาจาจารย์เป็นต้นไป ขอท่านจงทรงพระกรุณาโปรดทำแทนตัวหม่อมฉันผู้อยู่ไกลทุกอย่าง และหวังใจว่าจะไม่ทรงรังเกียจ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ