วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ได้รับประทานแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องพระราชลัญจกร ซึ่งมีเขียนไว้ที่บานแผละพระทวาร เกล้ากระหม่อมก็นึกได้เหมือนกัน ได้กราบเขียนทูลมาในหนังสือเวรลงวันที่ ๔ สิงหาคมนั้นแล้ว คิดอยากอยู่เหมือนกันที่จะดูอีกครั้งหนึ่ง แต่ตัวเองจะเข้าไปดูก็ยากจะหาใครไปช่วยดูก็ยาก ธุระอันสำคัญที่จำเป็นจะต้องดูให้รู้ก็ยังไม่มีมาโดยจำกัด จึงได้ทอดธุระเสียพลาง แต่ก็ทำใจไว้เหมือนกัน ว่าถ้ามีโอกาสได้เข้าไปก็จะดู

ได้พบจดหมายบันทึก บอกถึงพระราชสาส์นคำหับ ไปเมืองจีน ว่าประทับพระราชลัญจกร องค์ คือ (๑) มหาโลโต (๒) พระราชโองการ (เข้าใจว่ามหาโองการ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่ามหาอุณาโลมนั้น) (๓) พระครุฑพ่าห์ (๔) ไอยราพต (๕) มังกรหก พระราชลัญจกรองค์หลังนี้ เป็นรูปมังกรจีนหน้าอัดหัวตั้งตามปกติ ไม่ใช่หัวหกอันจะสมด้วยชื่อ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่า จะเป็นมังกรฮก ชอบยิ่งนัก กับพระราชลัญจกรมหาโลโตนั้นก็ประหลาด มีดวงจำลองหลายดวง ใหญ่ขึ้นก็มี เล็กลงก็มี ไม่ทราบว่าใช้อะไรบ้าง อนึ่งพระราชลัญจกรมหาโลโตนี้ได้มาครั้งไร ฝ่าพระบาทได้ทรงพบบันทึกที่ไหนบ้างหรือไม่

พระราชลัญจกร ไตรสารเศวต คงสร้างในรัชกาลที่ ๒ เป็นแน่มั่น ที่ใช้ประทับเกล้ากระหม่อมเคยเห็นประทับใบปลิวสอดไว้ในหนังสือสัญญาเก่าเห็นจะเป็นครั้งกรฝัด

ที่หลังบานพระอุโบสถวัดพระเชตุพนก็เคยดู นึกได้แต่ว่ามีรูปพัดยศกับดวงกลมๆ ในนั้นเป็นหนังสือ บอกไว้ว่าตราใครเป็นอย่างไร ตามที่เห็นเช่นนั้นเป็นบอกถึงตราพระครูหัวเมือง ส่วนที่เป็นตรารูปอย่างไรนั้นยังไม่เคยได้เห็น แต่ดูไม่ทั่ว มีเขียนไว้มากมายนัก

เรื่องเปลี่ยนตราตำแหน่งพระราชาคณะ เคยมีเรื่องมาสู่เกล้ากระหม่อม คือกระทรวงธรรมการมีหนังสือสั่งส่งบัญชีมาให้เกล้ากระหม่อมเขียนตราเหล่านั้น เกล้ากระหม่อมก็เขียนตอบไปเป็นมธุรสโดยเคารพ แต่มีใจความว่าไม่ใช่บ่าว แล้วก็เลยเงียบหายไป แต่จำความในบัญชีที่ให้มาได้บ้าง ดูเหมือนเป็นรูปเรือกิ่งอันมีบุษบกตั้งอยู่กลางโดยมาก

จริงอยู่ที่ในพระราชพงศาวดารว่า แก้เรือแซเป็นเรือชัยและเรือรูปสัตว์เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แต่ได้ไปเห็นที่ระเบียงพระนครวัดเขาจำหลักรูปภาพไว้ มีเรือกิ่งเรือรูปสัตว์อะไรพร้อมอยู่แล้ว ทำให้ตระหนักใจได้ ว่าเรือชนิดเหล่านั้น มีมาก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์นานแล้ว อีกประการหนึ่งรูปเขียนพระราชพงศาวดาร ซึ่งเขียนเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทำรูปเรือกิ่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรเป็นมังกรไม่มีงวง มีแต่กระหนกปลายงวงมาติดอยู่ที่จมูกมังกรดูชอบกล นั่นก็เพราะในพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงเอากิ่งดอกเลาปักขึ้นที่หัวเรือเห็นงามจึงให้ช่างทำถ่ายเป็นเรือกิ่งต่อไป แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรก็สุดที่จะรู้ได้

ตราบุษบกประทีป ตามที่ทรงสันนิษฐาน ว่าจะเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ นั้นชอบแล้ว แต่ควรจะมีดวงประทีปเป็นประธาน ตราดวงที่เกล้ากระหม่อมทูลนั้นมีตะเกียง ไม่มีดวงประทีป ทั้งเห็นฝีมือเก่ามากเกินกว่าควรจะเป็นครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงมีความสงสัยว่าจะไม่ใช่ดวงซึ่งสร้างขึ้นพระราชทานกรมสมเด็จพระปรมานุชิตนั้น ในเรื่องตราบุษบกตามประทีปนี้ได้พบประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๒๗) ว่าพระราชทานไปประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ แลพบประกาศราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๒๘) ว่าพระราชทานตราพระเพลิงทรงรมาดไปแทน ส่วนตราบุษบกตามประทีปนั้น เลื่อนไปพระราชทานประจำตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ สมเป็นว่าจะยังคงอยู่ที่นั่น คือดวงที่พระราชทานกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ทีจะไม่ใช่ดวงที่เกล้ากระหม่อมกราบทูลว่ามีแต่ตะเกียง หากจดชื่อไขว้เขวกันไปจึงพาหลง เรื่องตราพระเพลิงทรงรมาดนั้นมีข้อขัน หลวงเพชกรรม์มาบ่นตุบตับว่า เขียนไปให้เป็นพระเพลิงถือพระขรรค์ ก็เอาไปทำเสียเป็นถือเคียว ที่ว่านี้คือเขียนให้อย่างไปปักพัดงานหมื่นวัน เล่นเอาเกล้ากระหม่อมไปพิจารณาดูพัดก็เข้าใจ คือว่าช่างปัก เขากำลังคลั่งอวดฝีมือหนุนรูปภาพให้นูนมากที่สุดอย่างพม่าสลักเครื่องเงิน พระขรรค์ที่ถือตอนล่างซึ่งปักกับพื้นก็ตรงดี แต่พอถึงที่พาดทับแขนก็ต้องปักอ้อมแขนซึ่งหนุนไว้สูงนั้นขึ้นไปอย่างเดียวกับกำลังต้นแขน ฉะนั้นเมื่อดูเยื้องจึงเห็นพระขรรค์งอดุจเคียว พัดพระรามทรงรถของกระทรวงโยธาธิการก็เหมือนกัน เรียกกันว่าพระรามตกรถ เพราะหนุนรูปพระรามขึ้นมานูนสูงแต่รถไม่ได้หนุนสูงตามขึ้นมา เห็นเป็นรูปพระรามอยู่นอกรถ จึงได้เรียกว่าพระรามตกรถ ข้อที่ทรงสันนิษฐานถึงตราเสมาธรรมจักรนั้น เป็นแน่ว่าถูกต้อง ตราเสมาธรรมจักร ดวงที่ว่าเป็นตราน้อยนั้น เล็กมากถูกตามพระดำรัสแล้ว และตราดวงนี้ก็เป็นตราดวงใหม่เปลี่ยนเก่า อย่างเดียวกับตราสามดวง ซึ่งประทับอยู่ในกฎหมายที่ใช้กันอยู่บัดนี้เหมือนกัน ทราบได้ที่เกล้ากระหม่อมเคยคัดดวงเก่า จำได้ว่ามีสิ่งแปลกประหลาดผิดธรรมดา ที่หลังกระหนกทำเป็นเม็ดแตง ผิดกับที่เขาเขียนบากเป็นแข้งสิงห์กัน แต่ลักษณะก็เหมือนกับดวงเก่า ส่วนดวงซึ่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการถืออยู่บัดนี้มีลักษณะเป็นจักรรถ อยู่ในกูบผิดลักษณะไปจากตราเก่าทีเดียว ดูเหมือนจะเป็นพระยาจินดา (ปลั่ง) เขียน

ชายดิศนั้นหญิงอามชมว่าดี กิริยามารยาทเป็นพระเก่าๆ ไม่คอง้ำเป็นพระบวชใหม่ จริงอย่างว่า

ทรงพระเมตตาประทานผลแห่งพระกุศล อันได้ทรงบาตรสืบแต่การเข้าวัสสามานั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ขอถวายอนุโมทนาในการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลนั้นด้วยความยินดี การนิมนต์พระไม่ได้นั้นเป็นของธรรมดา ด้วยพระสงฆ์มีน้อยต่างก็แย่งกันนิมนต์เพื่อบำเพ็ญบุญ แผนของท่านสมภารวัดหน้าพระธาตุพระประแดงเก่า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านของท่านออกจะดีๆ ท่านจะทำงานอะไร เช่นก่อพระทรายสงกรานต์เป็นต้น ท่านไม่ทำเวลาสงกรานต์ หลบไปทำเสียเวลาอื่น ด้วยสงกรานต์นั้นที่ไหนเขาก็ทำพ้องกัน หาสัปบุรุษสุดใจยาก

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านก็ปรารภจะออกมาปีนัง แต่จะหาที่อยู่ให้เป็นที่สบาย คือประสงค์ที่เงียบไม่ให้พลุกพล่าน

บรรเลง

เจ้าราชบุตรเชียงใหม่ ส่งหนังสือแจกงานศพเจ้าแก้วนวรัฐมาให้ ๓ เล่ม คือตำนานพระธาตุดอยสุเทพ เล่ม ๑ สร้างขึ้นสำหรับแจกงานศพแท้ทีเดียว กับประเพณีศาสนาชาวตะวันออก เล่ม ๑ กล่าวถึงพิธีที่ทำกันทางเมืองอุบลเป็นของพระญาณดิลก วัดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่แต่งและตีพิมพ์ช่วย กับเรื่องเกิดตายอีกเล่ม ๑ ของคณะสงฆ์วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ตีพิมพ์ช่วย มีข้อสะดุดใจแต่ใน ๒ เรื่องข้างต้น จึงจะกราบทูลบรรเลงถวาย ในเล่มหลังนั้นเป็นธรรมะ ไม่รู้ถึงพอที่กราบทูลอะไรได้

ในตำนานพระธาตุดอยสุเทพนั้น มีสะดุดใจอยู่ ๒ แห่ง คือ ชื่อดอยสุเทพมีคำ วา เติมเข้าเป็นเขาวาสุเทพนั้นอย่างหนึ่ง จะเติมเข้าใหม่หรือจะเป็นมาแต่เดิมไม่ทราบ แต่เห็นว่าคำวาสุเทพเป็นชื่อพระกฤษณเป็นทางพราหมณ์ ไม่เข้ากับทางพระพุทธศาสนา ที่ชื่อว่า สุเทพ นั้นก็เป็นภาษาดีอยู่แล้ว แปลว่าเทวดาใหญ่ จะเข้าทางพระพุทธศาสนาก็ได้ หรือจะเข้าทางศาสนาพราหมณ์ก็ได้ เป็นสองง่ามอยู่ กับอีกคำหนึ่ง ว่ามีพระเถรผู้ใหญ่ชื่อว่าอุทุมพรบุปผมหาสวามี ทำให้รู้สึกขันว่าพระนามเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อนั้น เป็น “รับพร่าอาทานอย่าง” ไม่ใช่เป็นต้นเค้า อนึ่งคำว่า “มะเดื่อชุมพร” เห็นจะเป็นมะเดื่ออุทุมพร

ในเรื่องประเพณีศาสนาชาวตะวันออกนั้น ท่านจัดแบ่งการวิธีไว้เป็น ๓ อย่างเป็นพิธีทางพุทธศาสนาอย่าง ๑ พิธีทางศาสนาพราหมณ์อย่าง ๑ กับปนกันอีกอย่าง ๑ ท่านแบ่งดีและถูกด้วย พิธีตรุษซึ่งจะทรงเรียบเรียงนั้นเป็นชนิดพิธีปน

อีกเรื่องหนึ่ง มีในตำนานหรือพงศาวดารอะไรก็ตามแต่จะเรียก กล่าวว่าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศนั้น ทำตามรูปเมรุซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้าง ณ ที่นั้น ได้นึกสงสัยอยู่แล้ว ว่าทำตามรูปเมรุทำไมจึงเป็นตรีมุข ธรรมดาเมรุถ้าทำอย่างดีจะต้องเป็นจตุรมุข ถ้าอย่างเลวก็เป็นสี่เหลี่ยมที่จะเป็นตรีมุขนั้นไม่มีเลย ครั้นเมื่อวันที่ ๗ นี้ ไปบูชาพระพุทธชินศรีและสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทั้งสองพระองค์ที่นั้น แล้วออกเดินตุปัดตุเป๋เที่ยวดูอะไรต่างๆ ในวงพระอุโบสถ พบปรากฏขึ้นว่ามุขข้างทั้งสองนั้นเป็นของก่อต่อขึ้นใหม่ พระอุโบสถเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีไปตรงๆ เท่านั้น ที่รู้ได้ว่าเป็นของก่อต่อใหม่ก็เพราะผนังมุขข้างนั้นก่อทับหินใบสีมาเดิมเข้าไปครึ่งหนึ่ง ที่จริงควรจะรู้เสียนานแล้ว เพราะผนังภายในพระอุโบสถตรงไป ไม่มีท่าทางที่จะพึงปรากฏว่าเป็นตรีมุขเลย นี่ก็เป็นพยานอันหนึ่ง ตามที่ได้กราบทูลว่า ฝีมือช่างย่อมเป็นข้าศึกกับตำนาน

วิหารพระศรีสักยมุนีก็ไปได้ความมาจากสมเด็จพระสังฆราช ว่ามุขเด็จนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต่อออกไป

ข่าว

พระองค์เจ้าคำรบสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อวันที่ ๗ ประชวรโรคมะเร็งในลำศอ เป็นการเหลือสู้ สรงพระศพวันที่ ๘ เวลา ๑๖.๓๐ น. พระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศตามศักดิ์จัดตั้งไว้ที่ตำหนัก พระราชทานผ้าไตรสดับปกรณ์ ๑๐ ใตร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ