วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันอังคารที่ ๓ ตุลาคมเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกาแล้วหม่อมฉันยังไม่ได้รับลาย พระหัตถ์เวรฉบับที่มากับเมล์วันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคมได้แต่หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์เขาเอามาส่งเมื่อสักครู่หนึ่งนี้ จะรอไว้ร่างตอบต่อเมื่อได้อ่านลายพระหัตถ์ก็เกรงจะกระชั้นกับเวลาที่ต้องส่งไปรษณีย์ในวันพุธนัก และเผอิญหม่อมฉันได้เขียนความที่ค้างตอบลายพระหัตถ์ฉบับก่อนไว้ จึงได้ลงมือพิมพ์จดหมายเวรของหม่อมฉันไปทีเดียว

ทูลสนองความที่ค้างมาจากจดหมายสัปดาห์ก่อน

ที่หญิงอามสามารถไปพิจารณารูปพระราชลัญจกรเก่า อันเคยเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารเทวราชมเหศรนั้นหม่อมฉันยินดี แม้เสียดายที่ลายรูปพระราชลัญจกรเหล่านั้นถูกลบเสียหมดแล้วก็ไม่ประหลาดใจ ด้วยเคยพบกรณีเช่นเดียวกันมาหลายแห่งแล้ว จะยกพอเป็นตัวอย่างเช่นที่ผนังหลังรูปภาพ “เจ้าคุณประตูดิน” ซึ่งทูลกระหม่อมโปรดให้ปั้นไว้ในช่องใต้บันไดทางเสด็จขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาฝ่ายใน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมมีโคลงพระราชนิพนธ์เขียนไว้บท ๑ หม่อมฉันหมายจะไปคัดสำเนามารักษาไว้ในหอพระสมุด ไปเห็นเอาชาดพื้นลบโคลงเสียหมดแล้ว ยังจำไว้ไต้แต่บาทต้นว่า

“แถลงลักษณะรูปท้าว ศรีสัจ จาแฮ”

บาทเดียว อีก ๓ บาทเคยจำได้แต่ลืมเสียแล้วนึกไม่ออกและมิรู้ที่จะไปถามใครจนบัดนี้ จึงเขียนโคลงบาทต้นถวายเพื่อรักษาไว้ในจดหมายนี้อีกเรื่อง ๑ ท่านคงจะยังจำได้หม่อมฉันไปเห็นรูปภาพยักษ์วิรุฬหกเขียนไว้ที่หลังบานประตูวิหารทิศใต้วัดพระเชตุพน เป็นรูปเก่างามต้องตาผิดกับยักษ์อีกรูปซึ่งเขียนไว้หลังบานที่เป็นคู่กัน หม่อมฉันมีกล้องฉายรูปไปด้วยจึงฉายรูปภาพวิรุฬหกนั้นมาถวาย พอท่านทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสบอกว่าเป็นฝีมืออาจารย์มาก คนเดียวกับที่เขียนรูปภาพเรื่องมารวิชัยในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมฉันก็นำความไปบอกท่านมงคลเทพ (ใจ) ผู้เป็นนายงานปฏิสังขรณ์ ขออย่าให้แตะต้องรูปวิรุฬหกนั้น เพราะเป็นฝีมืออาจารย์มากเขียนไว้แต่รัชกาลที่ ๑ ถ้าจะซ่อมใหม่ขอให้ซ่อมแต่บานคู่กัน แต่นานมาไปดูอีกครั้งหนึ่งเห็นภาพยักษ์อย่างรูปร่างเทอะทะเขียนใหม่เอี่ยมทั้ง ๒ บาน เดชะบุญที่ได้ฉายรูปวิรุฬหกเดิมไว้จึงไม่สูญ แต่การที่ห้ามเคยได้ผลดีครั้ง ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ปีหนึ่ง หม่อมฉันไปตามเสด็จทอดพระกฐินหลวงที่วัดราชบุรณ เห็นพระเทพมุนี (อิ่ม ดูเหมือนต่อมาได้เลื่อนเป็นพระธรรมดิลก) ท่านเตรียมการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ หม่อมฉันชี้แจงแก่ท่านว่ารูปภาพที่เขียนในพระอุโบสถนั้นเป็นฝีมือเขียนในรัชกาลที่ ๑ ยังมีบริบูรณ์อยู่แต่แห่งเดียวเท่านั้น การปฏิสังขรณ์ขออย่าให้แตะต้องรูปภาพที่เขียนไว้ ท่านเชื่อฟังปฏิสังขรณ์ดีมาก ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระเทพโมลี (สม) เป็นเจ้าอาวาส หม่อมฉันได้พูดกับท่านก็รักษามาอย่างเดิมอีกชั้นหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไรไม่ทราบ หม่อมฉันไม่เห็นมานานแล้ว ขอทูลเนื้อนาบุญว่าถ้ามีโอกาสเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรในพระอุโบสถวัดราชบุรณ ถ้ายังรักษารูปเขียนดีอยู่ ขอใหทรงชี้แจงและกำชับแก่ท่านผู้เป็นเจ้าอาวาส บางทีจะอาจรักษาของดีไว้ได้ต่อไป นึกได้อีกแห่ง ๑ คือภาพอาจารย์อินโข่งเขียนเรื่องพระนเรศวรชนช้าง ไว้ที่ในหอราชกรมานุสรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมฉันไปครั้งหนึ่งเห็นหอราชกรมานุสรณ์ เปิดอยู่จึงเข้าไปดูรูป เห็นเขาใช้หอนั้นเป็นออฟฟิศมีพวกเสมียนนั่งทำงาน เอาตะปูตอกฝาที่อาจารย์อินโข่งเขียนรูปภาพไว้ใช้สำหรับแขวนเสื้อ หม่อมฉันตกใจรีบไปบอกเจ้ากรมวัดและไปบอกเจ้าพระยาวรพงศ์ฯ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงวังขอให้ปิดหอนั้นรักษารูปภาพอย่าใช้เป็นที่คนทำงาน ก็สำเร็จประโยชน์ได้ แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เป็นเนื้อนาบุญอีกแห่ง ๑ สำหรับทรงบำเพ็ญพระกุศลเหมือนกัน

การเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่เมื่องานเฉลิมพระชันษา เดิมหม่อมฉันคาดว่าคงจะเลื่อนสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดพระเชตุพน เป็นสมเด็จพระวันรัตน และเลื่อนพระพิมลธรรมเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่ตำแหน่งพระพิมลธรรมยังคิดไม่ออกว่าท่านองค์ไหนจะได้เป็น ที่เลื่อนพระอุบาลี (นาก) วัดอรุณ ขึ้นเป็นพระพิมลธรรมก็สมควร เพราะสมณศักดิ์ของท่านอยู่ต่อเจ้าคณะรองลงมา

จะทูลต่อไปถึงเรื่องราชทินนามของสมเด็จพระสังฆราช เดิมขนานว่า “สมเด็จพระอริยวงศญาณ” มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทูลกระหม่อมทรงแก้เป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระอริยวง (อู) วัดสุทัศน์ สมเด็จพระมหาสมณเคยตรัสแก่หม่อมฉันว่า นาม “อริยวงศญาณ” ดูเป็นนามคิดใหม่ ทางเวยยากรณ์ก็ไม่สู้ดี หม่อมฉันได้ทูลความเห็นว่าเห็นจะคิดขึ้นเมื่อตั้งพระอริยมุนี ที่ออกไปให้อุปสมบทชาวลังกาด้วยกันกับพระอุบาลี แต่พระอุบาลีไปถึงมรณภาพเสียที่ในลังกา ได้กลับมาแต่พระอริยมุนี และมีเค้าอีกอย่างหนึ่งกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้าเอกทัศนั้น สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์พระศพค้างอยู่หลายพระองค์ คือมีกิจที่จะตั้งสังฆราชหลายคราว และพระอริยมุนีองค์นั้นก็มีความชอบมาก ที่ให้คงคำอริยนามเดิมไว้ข้างต้นก็เห็นเพื่อจะรักษาเกียรติที่ปรากฏอยู่ในลังกาทวีปมิให้หายไป ถ้าเช่นนั้นที่เรียกว่า “สังฆราชซ้ายขวา” ในตำรับตำรา เดิมจะมีนามอย่างใดสมเด็จพระมหาสมณทรงพระดำริเห็นด้วยว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย คือฝ่ายคันถธุระ สมเด็จพระวันรัตนเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คือฝ่ายวิปัสสนาธุระ แบบเดิมเห็นจะเป็นเช่นนี้ นามเป็นเค้าอยู่ทั้ง ๒ องค์

เรื่องลายพระหัตถ์เวร

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๙ กันยายน ซึ่งมาในคราวเมล์กรุงเทพฯ ถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคมนั้นมาถึงหม่อมฉันต่อวันพุธที่ ๔ เวลาเช้า ช้ากว่าฉบับเวรก่อนวัน ๑ แต่ก็เรียบร้อยไม่มีรอยปิดซอง เห็นจะเป็นเพราะเขามีหนังสือซึ่งต้องตรวจมาก แต่ก็ทันเขียนถวายตอบได้ตามเวลาที่หม่อมฉันกะไว้

หม่อมฉันอยากจะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ ว่าด้วยเรื่องเครื่องราชูประโภคประดับมุกต่อไปอีกสักหน่อย แต่เขียนมาเพียงนี้ถึงกลางวันวันพุธ จะต้องเตรียมจดหมายไปทิ้งไปรษณีย์จำต้องงดไว้ทูลในจดหมายเวรหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ