วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑๕ เมษายน แล้ว

หนังสือแจกงานเมรุคราวนี้หม่อมฉันก็ได้รับมากเป็นพะเนินเทินทึก ดูเหมือนจะได้หมดทุกงาน เพราะเป็นศพผู้ที่คุ้นกันมาแต่ก่อนทั้งนั้น ให้ลูกไปขมาศพแทนจึงได้รับหนังสือแจกส่งมาให้ แต่หนังสือแจกงานศพเจ้าพระยายมราชนั้นพวกเจ้าภาพเขาส่งตรงมา ๔ ชุด ให้ทั้งตัวหม่อมฉันและลูกหญิง ๓ คน

เล่มใหญ่ที่มีเรื่องประวัติเจ้าภาพพิมพ์เอง เป็นประชุมหนังสือหลายสำนวนน่าอ่านอยู่ คำนำพระองค์ธานีฯ แต่งดี ในพวกคำไว้อาลัยนั้น หม่อมฉันชอบของพระองค์อาทิตย์กับของสมเด็จพระสังฆราช ประวัติภาค ๒ พระองค์ธานีแต่งก็ดีนักหนา ส่วนประวัติภาค ๑ ที่หม่อมฉันแต่งนั้นจะดีหรือมิดีอย่างไรก็ตาม แต่พอแต่งเสร็จส่งฉบับไปแล้ว หม่อมฉันก็หมดแรงต้องนอนพักไม่ทำอะไร ๒ วัน เพราะฝืนกำลังทั้งคิดและเขียนหลายวัน เมื่อหายเหนื่อย รู้สึกว่าอยู่เปล่า ออกรำคาญ จึงเขียนวินิจฉัยเรื่องค้าสำเภาส่งไปถวาย เวลานี้เริ่มเขียนวินิจฉัยพิธีตรุษตามที่ทูลสัญญาไว้ แต่มีความจำเป็นเห็นจะช้าวันสักหน่อย เพราะยังขาดสำเนาความอยู่ตอน ๑ ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ ที่พระสาธุสังวร (สิลรตฺน) แปลประกาศเทวดา ซึ่งว่าเป็นภาษาสิงหฬถวายสมเด็จพระมหาสมณ หม่อมฉันได้มีจดหมายไปขอสำเนาที่พระสาธุศีลสังวรแล้ว จะต้องรอจนได้มาจึงจะแต่งวินิจฉัยได้บริบูรณ์

สงกรานต์ปีนี้ที่บ้านซินนามอนฮอล หม่อมฉันสังเกตเห็นแปลกอย่าง ๑ ที่เด็กๆ มีหลานแมวเป็นต้นเล่นสาดน้ำกัน มาอยู่ปีนังถึง ๕ ปีแล้วเพิ่งเห็นเริ่มเล่นสาดน้ำกันปีนี้ เขาว่าพวกไทยชาวหัวเมืองและพม่าที่มาอยู่ปีนัง ก็เล่นสาดน้ำกันในพวกของเขามาแต่ก่อน หม่อมฉันเข้าใจว่าหลานๆ คงได้ยินจากบ่าวที่ได้ไปเห็นจึงเล่นกันขึ้นบ้าง หม่อมฉันก็พลอยเห็นสนุกไม่ห้ามปราม เป็นแต่ขออย่าให้เล่นถึงมอมดินหม้อ แต่ต่อมาอีก ๒ วันเมล์มาถึง ได้เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าที่ในกรุงเทพฯ ปีนี้เล่นรดน้ำสงกรานต์กันอย่างใหญ่หลวงผิดกับแต่ก่อน ก็นึกพิศวงว่าไฉนจึงเกิดเล่นพร้อมกันกับพวกหลานหม่อมฉันเริ่มเล่นโดยมิได้นัดแนะกัน ดูราวกับนางกรินีเทพธิดามหาสงกรานต์ปีนี้กระจายเสียงมาดลใจทุกพวก

จะทูลวินิจฉัยต่อไปในทางโบราณคดี หม่อมฉันเห็นว่า “การรดน้ำ” กับ “การสาดน้ำ” เมื่อสงกรานต์ เป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ด้วยกันแต่มูลที่เกิดต่างกัน รดน้ำนั้นเป็นการเกื้อกูลคนแก่ชราซึ่งไม่สามารถเลี้ยงตัวได้เอง ที่พราหมณ์สาสตรีทูลว่าในอินเดียเขารดแต่คนที่ขัดแคลน นั่นเห็นจะเป็นต้นตำรา ทุกวันนี้ของหลวงพระราชทานรดน้ำก็ยังมีผ้านุ่งผ้าห่ม เห็นได้ว่าเพราะปรารถนาจะให้มีความสุขไปตลอดปี แรกตั้งประเพณีรดน้ำกันแต่คนแก่ในวงศ์ญาติเฉพาะที่เป็นคนอัตคัด ต่อมาถือว่าเป็นกุศล ส่วนเกื้อกูลเลเชฐาก็ไม่กำหนดความขัดสนเข้าในองค์รดน้ำ ที่กำหนดอายุ ๖๐ เป็นเกณฑ์รับรดน้ำนั้น ก็คืออายุยืนครบ ๕ รอบปีตามปฏิทินจันทรคติกำหนดเข้าเขตเป็นคนชรา ส่วนการสาดน้ำนั้นน่าจะเกิดขึ้นแต่สมัยเมื่อมนุษย์ยังนุ่งเตี่ยว “เลาะเตี๊ยะ” กันเป็นประเพณี ตัวเปล่าเช่นนั้นถูกสาดน้ำประเดี๋ยวเดียวแห้งไม่เดือดร้อน เวลาสงกรานต์กำลังร้อนจัด ถูกสาดน้ำออกจะทำให้เย็นสบายขึ้นด้วย จึงสงเคราะห์เข้าดูให้สนุกสนานในการสโมสรปีใหม่ ต่างสาดน้ำให้ความชุ่มเย็นกันและกัน หม่อมฉันเห็นว่ามูลน่าจะมีดังนี้

เรื่องเสือที่ว่าว่ายน้ำข้ามมายังเกาะปีนังนั้นเงียบไปแล้ว ที่จริงเห็นจะเหลวทั้งนั้น ที่ท่านทรงพระดำริว่ามันไม่มีอะไรจะกินจะมาอยู่อย่างไรนั้นเป็นถูกต้อง

พวกตลาดเขาบอกว่าจวนจะสิ้นฤดูส้มจัฟฟาแล้ว หม่อมฉันมีโอกาสจะฝากจึงได้ฝากไปถวายอีกคราวหนึ่งเมื่อเร็วๆมานี้

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ นี้หญิงโสฬศจะมาหา ด้วยในเดือนเมษายนรถไฟเขาลดค่าโดยสารเธอจะออกมา ว่าจะพักอยู่สัปดาหะ ๑.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ