วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม มาถึงหม่อมฉันเมื่อเวลาบ่ายวันจันทร์ที่ ๓๐ ช้ากว่าสมัยปกติแต่ก่อนเพียง ๖ ชั่วโมง ซองก็ปิดเรียบร้อยดีไม่มีรอยบุบสลาย หม่อมฉันเห็นในหนังสือพิมพ์ข่าวประจำวันเมื่อเร็วๆ นี้มีอธิบายถึงการตรวจหนังสือไปมา ว่าต้องตรวจถึง ๔๔ ภาษาออกเห็นอกพนักงาน หม่อมฉันตัดหนังสือพิมพ์ตรงนั้นส่งมาถวายทอดพระเนตรกับจดหมายฉบับนี้ มีชื่อภาษาแปลกๆ แต่เขาลืมภาษาไทยไม่ลงในนั้นเสียภาษา ๑

ตั้งแต่หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรช้าไปถึง ๒ วัน ๓ วัน ได้คิดเปลี่ยนกระบวนเขียนหนังสือเวร จะเขียนเรื่องบรรเลงเตรียมไว้เสียก่อน เมื่อรับลายพระหัตถ์จะเขียนแต่ความสนองลายพระหัตถ์ให้เสร็จทันส่งไปรษณีย์วันพุธแทนส่งวันพฤหัสบดีอย่างแต่ก่อน เพื่อให้พนักงานมีเวลาตรวจวัน ๑ มาทราบความตามลายพระหัตถ์ฉบับนี้ว่า จดหมายของหม่อมฉันคลาดเมล์มาถึง ๒ คราว คงจะเป็นเพราะส่งไปรษณีย์วันพุธตอนเย็น จึงคิดแก้ใหม่ จะส่งจดหมายฉบับนี้ไปยังกรมไปรษณีย์แต่วันอังคารให้เขามีเวลา ๒ วัน จะได้ทันส่งเมล์วันศุกร์เหมือนหนหลัง

ตามกระบวนที่คิดใหม่ หม่อมฉันได้ลงมือเขียนวินิจฉัยว่าด้วยลายแทงขุดทรัพย์แผ่นดินเป็นเรื่องบรรเลงสำหรับถวายกับจดหมายฉบับนี้ แต่เมื่อร่นวันส่งจดหมายเข้ามาอีกวัน ๑ เขียนแล้วไม่ทันจะต้องรอไปถวายต่อคราวเมล์หน้า ในจดหมายฉบับนี้เขียนแต่ทูลสนองลายพระหัตถ์

พิจารณาดูจารึกในบานมุกที่วิหารยอดมีคำข้องใจหม่อมฉัน ๒ แห่ง แห่ง ๑ ที่ว่าจำนวนช่างถึง ๑๘๕ คน มากเกินกว่าจะทำบานมุกคู่เดียว ความส่อว่าเห็นจะทำบานมุกในคราวเดียวพร้อมกันหลายคู่ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งเมื่อทรงกะแล้วว่าจะพระราชทานบานมุกที่ไหนๆ บ้างแล้วจึงให้ระดมช่างมุกมาทำในคราวเดียวกัน อีกแห่ง ๑ ที่ว่าพระราชทานบำเหน็จผู้ทำบานมุกคู่ละ ๒๕ ชั่งนั้นดูแพงนัก แต่ไม่มีหลักจะคัดค้านอย่างไร การเปรียญวัดป่าโมกนั้นหม่อมฉันเคยเห็นแต่เป็นการเปรียญโถงหลังใหญ่สร้างด้วยไม้ไว้ริมตลิ่ง มีพระแท่นที่บรรทมของพระเจ้าแผ่นดินถวายตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญนั้นด้วยองค์ ๑ (ดูเหมือนพระยาโบราณ จะย้ายเอามาไว้ที่อยุธยา พิพิธภัณฑ์สถานแล้ว) แต่การเปรียญก่อเป็นตึกซึ่งติดบานมุกคู่ที่วิหารยอดนั้น หม่อมฉันนึกไม่ออกทีเดียวว่า เคยเห็นมีที่วัดป่าโมก เห็นจะหักพังเสียนานแล้วจึงเป็นเหตุให้ปลดบานมุกมาใช้ที่อื่น สถานอันเป็นหลักในวัดป่าโมกเห็นจะมีแต่โบสถ์กับวิหารพระนอน แม้ใน ๒ สิ่งนั้นฝีมือทำอย่างประณีตแต่วิหารพระนอน โบสถ์เป็นแต่อย่างขนาดน้อยฝีมือทำไม่ประจงอย่างไร มีของสำคัญอยู่ที่โบสถ์แต่ศิลาจารึกของพระเจ้าท้ายสระติดฝาไว้ในนั้น เหตุใดพระเจ้าบรมโกศจึงไม่ทรงสร้างบานมุกที่วิหารหรือโบสถ์ อาจจะเป็นเพราะวิวาทกับพระเจ้าท้ายสระเมื่อตอนหลัง จึงทรงสร้างการเปรียญเป็นของพระองค์ส่วนหนึ่งต่างหากก็เป็นได้ มีโคลงเรื่องชลอพระนอนวัดป่าโมก พระเจ้าบรมโกศทรงพระราชนิพนธ์ไว้แต่เมื่อยังเป็นพระมหาอุปราช จารึกศิลาติดไว้ข้างหลังพระนอนปรากฏว่าทรงเลื่อมใสมาก เห็นจะได้มีส่วนรับภาระในการชลอพระนอนนั้นด้วยมาก จึงทรงปรารภจะสร้างเติมที่วัดป่าโมก โบสถ์วิหารมีแล้วจึงทรงสร้างการเปรียญให้ครบสถานที่อันควรมี “โบสถ์วิหารการเปรียญ” สำหรับวัดให้บริบูรณ์ก็เป็นได้

เหตุไฟไหม้เรือน้ำมันที่ช่องนนทรีนั้นดูน่าสยดสยอง ตรงกับคำว่าเป็นเหตุ “มาแขก” โดยมิได้มีใครคาด หวนรำลึกดูเหตุ “มาแขก” ชนิดนี้อันเคยพบแต่หนหลังหม่อมฉันนึกได้ ๒ ครั้ง ครั้ง ๑ ฟ้าผ่าลงที่สายล่อฟ้ายอดเสาธงป้อมผีเสื้อสมุท แล้วประกายไฟเลยแล่นลงไปตามสายลวดจุดดินดำระเบิดขึ้นทั้งตึกดิน เวลานั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังประทับทรงสนทนาอยู่มุขตำหนักพญาไท เห็นแสงสว่างเป็นลำใหญ่พลุ่งขึ้นไปบนอากาศอย่างน่าพิศวง แล้วได้ยินเสียงเหมือนอย่างฟ้าร้องตามติดไป ไม่มีใครคาดถูกว่าจะเป็นด้วยเหตุอะไร จนได้ข่าวทางโทรศัพท์ อีกครั้ง ๑ ก็เมื่อไฟไหม้พุทธปรางค์ปราสาท คืนวันนั้นหม่อมฉัน (ยังอยู่บ้านเก่า) นอนหลับแล้ว เขาขึ้นไปปลุกบอกว่าไฟไหม้ หม่อมฉันลุกขึ้นเปิดหน้าต่างดูเห็นแสงไฟตรงพระบรมมหาราชวัง นึกว่าไฟไหม้ทางฟากข้างโน้นแถววัดระฆัง แต่ดูไปเห็นแสงไฟจับปราสาทราชมนเทียรสว่างชัด ดูใกล้นัก ก็รีบขึ้นรถเข้าไปในวัง เมื่อขับรถไปทางถนนเจริญกรุงก็ยังไม่รู้ว่าไฟไหม้ที่ไหน จนเลี้ยวเข้าถนนสนามชัยที่มุมวัดพระเชตุพน ก็เห็นไฟลุกอยู่บนหลังคาพุทธปรางค์ปราสาทในทันที ตกใจจนขนพองร้องว่า “ตายจริง” ออกมาเต็มปาก ด้วยมิได้เคยคิดมาแต่ก่อนว่าอาจจะเป็นเช่นนั้น

หม่อมฉันถวายอนุโมทนาพระกุศลซึ่งทรงบำเพ็ญอุทิศสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อถึงรอบวันสวรรคต พวกหม่อมฉันก็ได้ทำการกุศลนั้นที่ปีนังดังทูลไปในจดหมายเวรฉบับก่อน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ หม่อมฉันกับหญิงพูนลงไปรับพระดิศที่ตะพานท่าข้ามเก้อเปล่า หลานแมวไปรับยายเก้อก็เลยร้องไห้ เพราะข่าวบอกเลื่อนกำหนด ด้วยเธอจะไปช่วยการกฐินของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่เมืองชลบุรี มาถึงช้าไป

หนังสือซึ่งทรงได้มาจากพระพรหมมุนี ยังไม่มาถึงหม่อมฉันพร้อมหมด ขอรอไว้ทูลเมื่อพิจารณาแล้ว

พระสาธุศีลสังวรท่านเขียนลิขิตมาถึงหม่อมฉันเมื่อไม่ช้ามานัก ในลิขิตนั้นบอกว่าอาพาธเรื้อรังมานาน อาการของท่านเห็นจะไม่กลับคืนดีได้ แต่เมื่อมรณะอายุก็จะล่วง ๗๐ ปีแล้ว นับว่าได้ “ไปดี” โดยทางศาสนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์คงจัดการปลงศพให้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ