วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันที่ ๑๖ นี้เป็นวันเสาร์ อันเป็นกำหนดรถไฟเข้าก็ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๒ มีนาคมอย่างเคย ไม่มีเหตุเภทพานประการใด

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องเมืองมละกาในแหลมมลายู ได้ทราบความตามพระดำรัสชี้แจงอย่างพิสดาร ทำให้ได้ความรู้กว้างออกไปอีกมาก จะกราบทูลความเห็นถึงชื่อมละกา อันคำ “มละกา” จะเปลี่ยนเป็นมะละกอได้โดยง่าย เพราะคำท้ายแขกเขาคงออกเสียงสั้นคล้าย “กะ” กะ กับ กอ ก็เป็นอันเดียวกัน ดูแต่อ่านหนังสือ ทางบาลีเราอ่านว่า “กะขะ” แต่ทางไทยเราอ่านว่า “กอขอ” นั่นก็คือตามเขมร ตามทางเขมรถ้าเขียนตัว ก ลง ตัวเดียวจะต้องอ่านว่า “ก” (ดู “ก็” เป็นตัวอย่างได้) คำมลายูซึ่งตรัสประทานตัวอย่าง “อาปะ” เป็น “อาปอ” นั้นก็คงเป็นไปในแนวเดียวกัน อันคำ “อาหวังบุหรงอาป้อ” นั้นไม่ใช่นักสวดเขาผูกขึ้น เป็นคำแขกจริงๆ คือละครแขกเขาเล่นในโรงเล็กตามช่องระทา เขาเรียกกันว่า “ละครตาเสือ” ตาเสือเป็นตัวนายโรงคงมีชื่อเป็นแขก เรียกยากจึงตั้งเป็นฉายากันเสียว่าตาเสือ หรือลางทีคำต้นแห่งชื่อแขกนั้นจะคล้ายกับเสือ จึงเรียกเป็นคำไทยเสียว่า “เสือ” ก็เป็นได้ พวกนักสวดเขาจำเอาคำของตาเสือไปร้องหัวเราะกันเล่นอีกต่อหนึ่ง ในพระราชดำรัสเผอิญมีชื่อเมือง “อุยังตะนะ” หลุดเข้ามาด้วย เกล้ากระหม่อมเคยเห็นหนังสือโบราณ “อุชงตนะ” ยังได้นึกว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน เพิ่งมาทราบตำแหน่งที่อันปรากฏในพระดำรัสครั้งนี้ ช เป็น ย นั้นไม่เป็นไร เหมือนหนึ่งชวา พวกชวาเขาก็เรียกว่า ยาวา ซ้ำพวกวิลันดาก็ใช้ตัว jเป็น ย เหมือนกันเข้าด้วย ก็เลยกลมเกลียวกันไปทีเดียว ทางวิลันดาเขาเขียน dj เป็นตัว ช ก็ได้แก่ ปราโมช=ปราโมทย์ เขียน tj เป็นตัว จ ก็ได้กับ สัจ=สัตย์ ให้รู้สึกซึมซาบดีเต็มที ชื่อเมืองสงขลานั้นเคยได้ยินสมเด็จชายตรัสว่าประมูลสิงคโปร์ คำ “สิงค” นั้น พวกชวาเรียก “สิงห” ว่าอย่างนั้นจริงๆ เข้าใจว่ามลายูก็เรียกอย่างนั้นเหมือนกับด้วย อันชื่อเมืองสงขลานั้นไปเหมือนกันเข้ากับเมืองสังขลบุรี หาคำแปลในพจนานุกรมของอาจารย์จิลเดอส์ก็ไม่พบ พบแต่สังขลิก มี อิก เติมเข้ามา แปลว่าโซ่ ดูไม่เข้าเรื่อง เมืองสังขลบุรีเดิมจะเป็นบ้านตำบลอะไรก็ไม่ทราบ ลางทีฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้

ได้ทราบเหมือนกันว่าที่ร้านในงานวชิราวุธานุสรณ์ มีรอยพระราชบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ อยากทราบอยู่เหมือนกันว่าเป็นรอยชนิดไร แต่ตัวเองไม่ได้ไป ไปเที่ยวกันแต่พวกลูกๆ ถามดูก็ไม่ได้ความ บอกได้แต่ว่าอยู่บนเขา (ทำเอาอย่าง “สฺวณฺณปพฺพต”) ไม่มีใครได้ปีนขึ้นไปดู ก็เป็นอันรู้ไม่ได้เท่านั้น แต่พลัดมาได้ความทางฝ่าพระบาทว่าเป็นพระบาทหล่อด้วยทองเหลือง ยิ่งทำให้อยากรู้มากออกไป ว่าใครหล่อขึ้นเมื่อไร ในพระดำรัสว่าในเมืองไทยทำพระบาทกันมาแล้วสองอย่างนั้น นึกตามไปได้งอกขึ้นเป็นได้พบมาแล้วสี่อย่าง (๑) แบบลายลักษณ์ (๒) รอยเหยียบรอยเดียว (๓) รอยเหยียบสองรอยคู่ (๔) รอยเหยียบสี่รอยซ้อนในรอยเดียวกัน อันสองรอยคู่นั้นเรียกว่าพระยืน ทำโดยประสงค์อย่างไรคิดตามไม่ออก ส่วนรอยเหยียบสี่รอยนั้นเข้าใจว่าตั้งใจจะทำรอยพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้มาแล้วสี่พระองค์ เสด็จมาเหยียบรอยพระบาทรวมลงในที่อันเดียวกัน โดยความคิดให้บูชาแห่งเดียวก็ได้ทั้งสี่พระองค์ รอยพระบาททั้งสี่นั้นทำขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างผิดกันมากๆ รอยนอกซึ่งใหญ่ที่สุดนั้น ว่ากันว่าเป็นรอยพระบาทพระสมณโคตมพุทธเจ้า จะทำขนาดใหญ่เล็กด้วยยึดอะไรเป็นหลัก หรือทำโดยไม่เข้าใครออกใคร ก็ยังไม่ทราบ อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าแต่ละองค์นั้นใหญ่กว่ายักษ์วัดพระแก้วทั้งนั้น เห็นว่าแบบลายลักษณ์กับรอยพระบาทนั้นควรจะทำผิดกัน เพราะแบบลายลักษณ์นั้นทำเป็นลายพระบาท ควรเป็นเส้นลงเพราะลายตีนคนเป็นเส้นลง ส่วนรอยพระบาทนั้นควรเป็นเส้นนูนขึ้น เพราะเป็นพิมพ์ตัวเมียแต่ที่ทำกันนั้นไม่ได้คิด ลายลักษณ์ในรอยพระบาทที่เป็นรูปอะไร ลางทีก็ทำเป็นเส้นลงเหมือนกันก็มี ลางทีซ้ำปั้นเป็นรูปนั้นนูนขึ้นเป็นพิมพ์ตัวผู้ก็มี เห็นว่าทำผิด อีกประการหนึ่ง ที่ในอินเดียมีพระบาทอยู่เป็นสองอย่าง คือพระพุทธบาทกับพระวิษณุบาท มิใครก็ใครต้องเอาอย่างกัน ยังไม่ทราบความวินิจฉัยในข้อนั้น จะว่าพระวิษณุบาทเอาอย่างพระพุทธบาท เพราะพระพุทธเจ้าเกิดก่อนพระวิษณุก็ไม่ได้ เพราะการทำพระบาทนั้นทำทีหลังมาก

ข้อที่ตรัสเล่าถึงปีนังแล้ง หญ้าแห้งจนเกิดไฟป่านั้น ย่อมเป็นธรรมดาถึงที่ปลายเนินหญ้าก็แห้งไปบ้างเหมือนกัน ในข่าวที่ตรัสเล่านั้นมีสิ่งสำคัญที่ชื่อพระยารัษฎา พร้อมทั้งสร้อยติดมาด้วย ทำความรู้ให้กว้างขวางขึ้นว่า พระยารัษฎาคนเดี๋ยวนี้มีสร้อยชื่อเป็นอธิราชภักดี ไม่ใช่อนุประดิษฐ์อย่างพ่อ

การซ้อมมืดที่ปีนัง กำหนดให้ทำเวลามืดแต่เพียงสองชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เบากว่าซ้อมในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เป็นไหนๆ ที่ในกรุงเทพฯ กำหนดเวลาซ้อมตั้งแต่ ๖ ถึง ๒๔ นาฬิกา สองวัน เป็นอันต้องปิดไฟวันละ ๖ ชั่วโมง ควรที่จะได้ความเดือดร้อนมากแต่เดือดร้อนน้อย เพราะได้ตระเตรียมไว้ ไฟในเรือนจะต้องใช้ที่ไหนบ้างก็เตรียมไว้ด้วย ปกปิดห้ามแสงสว่างเสีย แม้เมื่อจะใช้ดวงไหนก็เปิดขึ้น เมื่อไม่ใช้ก็ปิดเสีย แต่ในที่แจ้งนั้นต้องดับสิ้น และต้องถืออังแพลมกันเหมือนกัน

รายงาน

หนังสือแจกเมื่องานพระศพพระองค์เจ้าคำรบนั้นเป็นสองเล่ม คืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์นครสวรรค์เล่ม ๑ กับประชุมกฎหมายไทยโบราณภาคที่ ๑ อีกเล่ม ๑ เขามัดติดกันมา เกล้ากระหม่อมสะเพร่าไม่ได้แก้ดู กราบทูลแต่เล่มก่อนซึ่งอยู่ข้างบนมาแต่เล่มเดียว ถ้าต้องพระประสงค์เล่มหลังจะจัดส่งมาถวายได้ แต่เข้าใจว่าจะไม่ผิดกันกับที่นายแลงกาต์จัดการตีพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ไว้นั้นแล้ว พระนามพระองค์เจ้าคำรบเห็นจะหมายเอาเคารพ หากขนานเป็นคำตลาดไป

พระยาอรรคนิธินิยมที่ชื่อสมุยนั้น ยังประหลาดใจหนักขึ้นที่พระยาอนุมานรู้จักดี ว่าเป็นคนเกิดในกรุงเทพฯ หาได้เกี่ยวข้องแก่เกาะสมุยอย่างใดไม่เลย พระยาอนุมานได้ช่วยพยายามไปหาพระพาหิรรัฐวิบูลผู้เป็นน้องชายเพื่อถามเอาเหตุ แต่ไม่พบตัว กลับขึ้นไปรับราชการตามหน้าที่ ณ นครราชสีมาเสียแต่เมื่อสองสามวันก่อนแล้ว เมืองถลาง พระยาอนุมานว่าเป็นภาษาชาวน้ำ เขาเรียกว่า “เซหลัง” เข้าทีอยู่

เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ ไปงานซึ่งเขาทำบุญ ๗ วันศพหม่อมหวล เห็นศพใส่หีบทองลายก้านขด ตั้งบนชั้นกระจก ๒ ชั้น มีฉัตรเบญจาตั้ง ๔ คัน จึงกราบทูลต่อเพิ่มเติมมาให้ทรงทราบ เพราะที่กราบทูลมาก่อนนั้นไปไม่เห็นตลอด เขานำศพไปฝังที่วัดมกุฎกษัตริย์ในรุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ เวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา

เมื่อวันที่ ๑๕ ได้รับหนังสือราชเลขานุการ บอกว่าหญิงโหลกับหญิงโสฬศถวายบังคมลาจะออกมาปีนังในวันที่ ๒๓ เดือนนี้ มีกำหนด ๓๐ วัน ดูเป็นการดีที่นานๆ ฝ่าพระบาทก็จะได้ทรงพบกับพระโอรสธิดา คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง

เรื่องรอยพระบาทในงานออกร้านวชิราวุธานุสรณ์ สามารถจะกราบทูลรายงานต่อไปได้อีกว่า เมื่อถามลูกไม่ได้เรื่องแล้ว ชายงั่วก็เดือดร้อน ถึงไปเที่ยวสืบมาได้ความว่า พระยาอนิรุทธเทวาจัดสิ่งที่ควรทรงเหยียบได้เข้าไปกราบทูล ขอให้ทรงเหยียบรอยพระราชบาทเอามาเก็บรักษาไว้ จะเป็นดินหรือปูนปลาสเตอร์อย่างใด ผู้บอกทราบไม่ได้เห็นแต่เป็นแท่งปิดทอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ