วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ได้รับแล้วตามวันเวลาเช่นเคย แต่ลายพระหัตถ์ฉบับนั้นมีรอยตัดซองปิดกระดาษของกรมตรวจไม่ตกใจอะไร แต่แสดงการกระทำว่าเป็นการไม่แน่นอน

สนองลายพระหัตถ์

ตามพระดำรัสชวนให้แนะนำการรักษาของเก่านั้น ออกจะท้อถอยการซ่อมนั้นต้องทำให้ใหม่อ่องจึงจะเป็นได้ซ่อม ถ้าคงเก่าดำครำครึอยู่ก็เป็นอันว่าไม่ได้ซ่อม จะไปแนะนำให้เขาคงของเก่าไว้ก็เป็นการฝืนโลก ตัวไม่อยู่ในฐานะที่สำคัญพอ ใครเขาจะอินัง

จะเล่าเรื่องแนะนำเฟเลียถวายให้ทรงสดับเล่นสนุกๆ สักเรื่องหนึ่งเมื่อสักสองปีมานี้ ยักษ์สุริยาภพคู่กับอินทรชิตที่หน้าปราสาทพระเทพบิดรหงายหลัง พังทับเอาหลังคาพระระเบียงพังไปด้วย ส่วนหลังคาพระระเบียงนั้นเขาทำขึ้นให้คืนดีแล้วเพราะทำง่าย แต่ส่วนยักษ์นั้นมีกรรมการคนหนึ่งมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี ที่มาถามก็ทีจะมาคลำหาช่าง จึงให้คำแนะนำเขาไปว่าไม่ทำขึ้นอีกเป็นดี เขาค้านว่าก็มันยังมีเหลืออยู่อีกตัวหนึ่งนี่ ได้แนะนำว่ารื้อมันลงเสีย ที่แนะนำเช่นนั้นก็ด้วยเห็นว่า ยักษ์วัดพระแก้วนั้นคงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิม เพราะจำได้ว่าคู่ทศกรรฐ์กับสหัสเดชะนั้น เป็นฝีมือหลวงเทพรจนา (กัน) คือมือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณ สันนิษฐานว่าเพราะเวลานั้นมีช่างปั้นฝีมือดีๆ จึงให้ทำขึ้นไว้ แต่เพราะทำแกนด้วยไม้ ครั้นไม้ผุก็ล้มซวนทลายไปบ้าง ถึงเมื่อซ่อมคราวร้อยปีจึงกลับเกณฑ์กันทำขึ้นใหม่ นับว่าเป็นการสมควรอยู่ เพราะเวลานั้นช่างปั้นอันมีฝีมือพอดูได้ยังมีอยู่บ้าง แต่เวลานี้ไม่มีแล้ว อินทรชิตตัวที่ยังเหลืออยู่ก็เป็นฝีมือนายคล้าม ซึ่งเป็นช่างฝีมือไม่สู้แข็ง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะรักษาไว้ดูแต่เขาก็อ้ำอึ้ง ทีหลังเห็นไปจ้างเอาเจ๊กมาทำขึ้น คงจะทรงคาดได้ว่าจะดูดีสักเพียงไร ซ้ำแกนก็ทำคอนกรีตอย่างสมัยใหม่ด้วย คงจะอยู่ยืนยงไปให้ชมได้ช้านาน อันความเห็นมนุษย์นั้นมีต่างๆ เห็นในหนังสือพิมพ์เขาลงว่ามีคนพวกหนึ่ง เห็นว่าสิ่งก่อสร้างที่วังกรุงเก่านั้นรักษาไว้ทำไม รื้อทำสนามเตนนิสเสียดีกว่า นั่นก็พอทำเนา มีอีกความเห็นหนึ่งซึ่งออกจะป่วยใจว่าปราสาทพิมายเอาไว้ทำไม เป็นอนุสรณ์ว่าแผ่นดินที่นั่นเป็นของเขมรมาก่อน ควรจะรื้อเสียให้สิ้นซาก แต่มีอีกพวกหนึ่งแสดงความเห็นคัดค้านว่าเอาไว้ดี เป็นอนุสรณ์ของเรา ว่าที่นั่นเดิมเป็นของเขมร แล้วเราตีเอามาได้ หนังสือพิมพ์เขาชอบความเห็นของพวกหลังนี้

ในลายพระหัตถ์ตรัสออกชื่อพระอาจารย์นาค ว่าเขียนมารประจญที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ทรงจำคลาดไปเสียหน่อย ที่ถูกนั้นได้เขียนมารประจญที่วิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพน ซึ่งทาปูนกลบเสียหมดแล้ว ที่วัดพระเชตุพนนั้น ที่ใดๆ อันจะพึงเขียนได้ก็เขียนทั้งนั้น แต่ก่อนนี้จะดูฝีมือใครที่มีชื่อในครั้งนั้นดูได้หมด การซ่อมภายหลังดำเนินทางทาปูนกลบรูปเขียนเสียเกือบสิ้น คงได้ซ่อมเขียนแต่จำเพาะในที่ซึ่งต้องเป็นเขียน มีบานประตูหน้าต่างเป็นต้น การทาปูนนั้นเป็นการสำคัญมาก แม้สิ่งที่ทำด้วยหิน เป็นต้นว่าหินจีนหินเขาชะโงก ยังต้องทาน้ำปูนทับให้ขาวอ่องสะอาดทั่วไป รูปมารประจญในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตน นั้นใครเขียนก็ไม่ทราบ จะทาปูนทับไม่ได้ จำเป็นต้องเขียนซ่อมให้ดูใหม่ เห็นเอาสีเขียวอ่อนทาม้าเข้าไว้ดูหรูหรามาก ที่จริงการเขียนซ่อมนั้นทำยากกว่าเขียนใหม่ตั้งสิบเท่า ต้องใช้ช่างที่ดีและเงินก็ต้องเสียมาก ทั้งได้ผลก็ไม่เป็นที่พอใจด้วย ถ้าว่าประมูลกันแล้ว ช่างผู้ใหญ่ก็ต้องแพ้ช่างเด็กๆ เสมอไป รูปเขียนในพระอุโบสถวัดราชบุรณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบราคา เคยตรัสสั่งให้กรมหมื่นวรวัฒน์ไปเขียนซ่อมคราวหนึ่ง กรมหมื่นวรวัฒน์ลากเอาพระครูธรรมราต (เที่ยง) องค์ที่เกล้ากระหม่อมจัดให้ไปเขียนซ่อมฉากที่พิพิธภัณฑ์สถานถวายนั้นไปช่วย เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเป็นผู้ที่รู้การเขียนซ่อมมาแล้วจึงจัดให้ไปทำถวาย ได้ทราบการเขียนซ่อมที่วัดราชบุรณะมาว่ายากลำบากมาก เป็นต้นว่าวิมานสามช่องอันล่องชาดไว้นั้น กระเทาะแตกไปเสียช่องหนึ่ง เอาชาดสมัยนี้ทา ทำอย่างไรก็เข้ากับสองช่องเก่าซึ่งยังมีเหลืออยู่นั้นไม่ได้ สีกะเจ้อเหวอไป เพราะชาดสมัยใหม่ทำด้วยวิทยาศาสตร์กระเดียดไปทางสีสวรรค์ กรมหมื่นวรวัฒน์ต้องวิ่งไปเที่ยวค้นก้นร้านได้ชาดอย่างเก่ามา จึงผสมทาได้สำเร็จ ถ้าทำอย่างสบายลบของเก่าทิ้งเสียทั้งหลังเขียนเอาใหม่ก็สบายกว่าเป็นไหนๆ

อุดหลังในพระอุโบสถวัดราชบูรณะนั้น ก็เป็นฝีมือพระอาจารย์นาคเขียน เรื่องพระอินทร์ฉุดลูกสาวไพจิตราสูรพาหนีเมื่อเลือกคู่ ท่านตัดหน้านางไว้ที่นั่นไปเห็นเข้าต้องยกมือไหว้ ผิดกับของใครๆ ทั้งงามจริงๆ ด้วย ความสามารถของพระอาจารย์นาคจะทูลไปก็เห็นจะเข้าพระทัยได้ยาก แต่ก็ทรงประกอบอยู่ด้วยพระอุปนิสัยสามารถจะทรงทราบฝีมือที่ดีได้ จนได้ทรงฉายเอารูปเขียนของพระอาจารย์นาคไว้ จึงจะกราบทูลถวายเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ด้วยท่านเขียนรูปนางมารไว้ที่วิหารทิศตะวันออกแห่งวัดพระเชตุพน ตามเรื่องว่าพระพุทธเจ้าทรงบันดาลด้วยพุทธฤทธิ์ ทำให้นางมารอันมีรูปสวยกลายเป็นนางแก่ไป ใครๆเขียนก็ทำนางแก่ไปอย่างเขียนภาพกากคนแก่ แต่พระอาจารย์นาคท่านไม่ตาม ท่านเขียนเป็นรูปภาพนางอย่างที่เขียนกันอยู่ตามปกตินั้นเอง แต่บิดเส้นเสียเล็กน้อยทำให้เห็นเป็นแก่ไปได้ เกล้ากระหม่อมหลงฝีมือท่านเหลือเกิน จึงได้สืบประวัติท่าน ก็ได้ความว่าท่านอยู่ที่วัดทองเพลงในคลองบางกอกน้อย และว่าที่นั่นโบสถ์มีเขียนด้วย ทำให้นึกว่าคงเป็นพระอาจารย์นาคเขียน อุตส่าห์พยายามไปดู บุกสวนไต่ลำตาลอันทอดไว้เป็นสะพาน เดินยากยิ่งกว่าสะพานเงินสะพานทองเป็นไหนๆ พลาดตกท้องร่องท้องคูไปป่นปี้ ที่สุดไปถึงวัด เห็นรูปเขียนที่ในโบสถ์ก็มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ฝีมือพระอาจารย์นาค ทำให้รู้สึกตัวว่าหวังผิดไปมาก วัดที่ท่านอยู่ก็เป็นวัดที่ท่านบวชอยู่เท่านั้น จะมีฝีมือท่านเขียนไว้ที่นั่นหาได้ไม่ เช่นพระอาจารย์อินโค่งท่านอยู่วัดราชบูรณะ ก็หามีฝีมือของท่านเขียนไว้ที่นั่นไม่ ไปปรากฏในที่อื่นๆ

อันความจำนั้นชอบกล ลางทีก็จำได้แม่นยำอย่างประหลาด ลางทีก็จำได้ครึ่งๆ กลางๆ ลางทีก็ล้มละลายจำไม่ได้จนนิดเดียว โคลงท้าวศรีสัจจานั้นเป็นพวกจำได้ครึ่งๆ กลางๆ บาทต้นซึ่งประทานไปนั้นก็รับรองได้ว่าถูกต้อง แต่ช่วยนึกจะต่อถวายก็นึกไม่ออก เมื่อไปจุดเทียนวรรษา เที่ยวบูชาสถานต่างๆ ในวัดพระเชตุพน เห็นอนุสรณ์คุณเสือขอบุตร ซึ่งทำไว้ที่วิหารพระโลกนาถมีแต่ตุ๊กตา หนังสือไม่มีที่จะรู้ได้ว่าทำตุ๊กตาไว้ทำไม ดูเหมือนเดิมจารึกศิลาไว้ด้วยซ้ำ เห็นจะหลุดตกเสียเมื่อซ่อมปูนทากลบรูปเขียนของพระอาจารย์นาค แล้วไม่ได้เอาติดเข้าตามเดิม นึกคำก็นึกไม่ได้

เรื่องตั้งพระธรรมดิลกเป็นพระพิมลธรรมนั้นก็กราบทูลผิดอีก ทีนี้ผิดโดยส่วนตัว เพราะไม่ทราบว่าท่านได้เลื่อนที่เป็นพระอุบาลีขึ้นเมื่อไร

ดีใจที่จะได้ฟังกระแสพระดำริในเรื่องเครื่องราชูปโภคประดับมุก ตามที่ตรัสบอกว่าจะประทานพระดำริมาคราวหน้านั้น เพราะตามที่กราบทูลมาแล้วเป็นหลับตาเดาตะลุยตลอดไปทั้งนั้น มีที่อาศัยอยู่แต่พระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกสิ่งเดียว

ข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ได้รับหมายสำนักพระราชวัง บอกกำหนดการพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ มีหมายกำหนดการโดยละเอียด ใบพิมพ์ส่งมาด้วย ซึ่งได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยใบหนึ่งแล้ว แต่ก็เป็นการทำตามเคยเท่านั้น

ในวันเดียวกันนี้ หญิงพิจิตรมาหา บอกว่าสมเด็จพระพันวัสสาตรัสสั่งให้เขียนพัดงานพระเมรุทูลกระหม่อมหญิง หอบเอาตัวอย่างผ้าสำหรับใช้บุพัดมาให้เลือกเป็นพะเนินเทินทึก แต่ล้วนเป็นสีเขียวตามสีพระชนมวารทั้งนั้น อ่อนบ้าง แก่บ้าง ได้บอกแก่เธอว่ายังเลือกไม่ได้ดอก ต้องตกลงลายเสียก่อน ในการทำลายพัดเล่มนี้ คิดว่าควรจะทำเป็นกำไลตามพระนาม แต่จะทำวงใหญ่เกินกว่าของจริงไปก็จะเกิดดูไม่รู้จักขึ้น การทำอะไรนั้นก็ประหลาด ถ้าของใหญ่แต่ทำเล็กลงย่อมเข้าใจได้ แต่ทำของเล็กให้ใหญ่ขึ้นนั้นดูไม่รู้ว่าอะไร อันกำไรนั้นถ้าทำเท่าของจริงก็คงหลอน จำจะต้องมีอะไรประกอบเข้าด้วยอีก แต่จะเป็นสิ่งอะไรนั้นสิยังคิดไม่เห็น จะต้องเป็นของงดงามซึ่งเข้าพวกกับลายได้ พวกรูปฉายเป็นวิวเห็นจะเอามาผูกเข้าไม่ได้ โดยที่ยังคิดไม่เห็นจึงกราบทูลมา เผื่อว่าฝ่าพระบาททรงพระดำริได้ โปรดประทานพระดำริไปให้พิจารณา จะเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งชายถาวรก็มาหา ขอแรงให้ช่วยเขียนพัดสำหรับงานพระเมรุเสด็จป้าอีกเล่มหนึ่ง แต่นั่นไม่ยาก ทำเป็นดอกบัวสาย จะใส่เข้าไปเท่าไรก็ไม่ขัดข้อง ไม่ต้องตริตรองอะไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ