วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ผ่านกองตรวจที่ ๑๑ มาถึงหม่อมฉันโดยเรียบร้อย ณ วันพุธที่ ๒๒ ช้าไป ๒ วัน และมาถึงเมื่อส่งจดหมายสนองไปเสียก่อนแล้ววัน ๑ เพื่อให้ทันเมล์คราวไปกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ ๒๔ แต่ในวันศุกร์นั้นเกิดประหลาดใจที่ได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ผ่านกองตรวจที่ ๑๕ มาโดยเรียบร้อย แต่เป็นอย่างมาแขกด้วยเร็วกว่ากำหนดชั่วคราวเมล์ ๑ ต่อเมื่ออ่านลายพระหัตถ์จึงรู้ว่าทรงร่นกำหนดส่งจดหมายให้เร็วเข้ามาเพื่อจะให้หม่อมฉันมีเวลาเขียนตอบมากขึ้นมิให้ต้องร้อนรนเร่งเขียนให้ทันตรวจส่งเมล์ นับว่าทรงบำเพ็ญกุศลด้วยพระกรุณาคุณ หม่อมฉันขอถวายอนุโมทนา

เขียนจดหมายเวรฉบับนี้จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรทั้ง ๒ ฉบับที่ได้กล่าวมา มีความลำบากเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยนายไฉ่เสมียนดีดพิมพ์ของหม่อมฉัน ลากลับไปเยี่ยมบ้านเดือน ๑ หม่อมฉันไม่มีผู้ชำนาญการดีดพิมพ์ในเวลานี้ พระมหามุกด์ที่วัดศรีสว่างอารมณ์เธอเคยหัดดีดพิมพ์รับจะทำการนั้นให้หม่อมฉันระหว่างเวลานายไฉ่ไม่อยู่ แต่หม่อมฉันจะลองใช้นายเติมคนรับใช้ที่ได้ให้หัดต่อนายไฉ่ลองดูก่อน

หมู่นี้หม่อมฉันมามีกิจการที่ต้องทำโดยขัดเขาไม่ได้อีก ต้องเพียรทำหลายวันแล้ว ด้วยเจ้าภาพงานศพพระยาพิพิธมนตรี (ปุย คชเสนี) เขาขอให้ช่วยเลือกหาเรื่องมอญต่างๆ รวมพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เขาอ้อนวอนมาทางหญิงพิลัย หม่อมฉันก็ขัดไม่ได้ เพราะเคยชอบพอกันมาแต่ก่อนทั้งครัวเรือน แต่การอย่างนี้ทำเข้าเมื่อใดก็เป็นภาระเหน็ดเหนื่อยทุกคราว

สนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๗ พฤศจิกายน

พัดรองของสมเด็จเจ้าพระยาที่เป็นรูปพัดขนนกนั้น หม่อมฉันหาตัวอย่างได้ ให้ไว้ในพิพิธภัณฑสถาน

บันทึกเรื่องพัดแฉกงาหม่อมฉันเขียนถวายสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ซึ่งต้องพระประสงค์สำเนานั้น หม่อมฉันได้คัดส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้

ความซึ่งทรงปรารภถึงศีลที่มีองค์ต่างๆ สุขุมคัมภีรภาพดีนัก ซึ่งยังไม่ทรงทราบองค์ศีล ๑๐ ของพวกยิว ที่พวกคริสตังรับถือด้วยต่อมาโดยละเอียดนั้น หม่อมฉันไปยืมตำราสมุดเมืองปีนัง มาแปลถวายส่งมากับจดหมายฉบับนี้ด้วยแล้ว

หม่อมฉันยินดีที่ได้ทราบว่านายพืช เตชคุปต์ ลูกพระยาโบราณได้เป็นข้าหลวงว่าราชการเมืองระนอง และที่เอาใจใส่ในโบราณคดีตามเยี่ยงบิดานับเป็นอนุชาตบุตรควรชม

หลานตู๊ดตู่นั้นหม่อมฉันได้พบวันเดียวยังนึกรักไม่หาย ที่มีแววฉลาดกับทั้งรักเชื้อแถวทางบิดามาก โดยอุปนิสัยใจจริงก็ต้องชมว่าดีอีกสถานหนึ่ง

การแต่งงานหญิงเพียรกับชายประสบสุขนั้น การพิธีรีตองควรจะทำอย่างไร หม่อมฉันได้สั่งหญิงจงไปให้กราบทูลหารือและทำตามรับสั่งท่านทุกอย่าง ขอได้โปรดเป็นพระธุระด้วย

ที่วัดส้มเกลี้ยงมีชื่อหลวงว่าวัดราชผาติการามนั้น หม่อมฉันไม่เคยเรียกเลย เห็นจะเป็นทูลกระหม่อมพระราชทานชื่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ด้วยในสมัยนั้นปรากฏว่าพระราชทานชื่อวัดต่างๆ แม้เป็นวัดราษฎร์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาก เช่นวัดจางวางดิศ พระราชทานนามว่าวัดดิศศานุการาม วัดจางวางพ่วงว่าวัดเทวีวรญาติ วัดยายแฟงว่าวัดคนิกาผล วัดเจ้ากรับว่าวัดสัมมัชผลและวัดแหลมว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นต้น วัดส้มเกลี้ยงนั้นเป็นวัดโบราณ เดิมอยู่ในตำบลสามเสนตรงที่ตั้งบ้านญวนเข้ารีตเดี๋ยวนี้ เมื่อญวนเข้ารีตเข้ามาสามิภักดิ์ในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนในตำบลสามเสนข้างเหนือ บ้านพวกเข้ารีตเชื้อโปรตุเกสที่มาจากเมืองเขมรต่อขึ้นไป และพวกญวนนั้นเป็นทหารปืนใหญ่ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรร วัดส้มเกลี้ยงเห็นจะเป็นวัดร้างแต่อยู่ในทำเลบ้านญวนเข้ารีต ต่อมาพวกญวนรื้อเอาอิฐไปใช้สร้างวัดและทำบ้านเรือนเสียเกือบหมด ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับโทษพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่ไม่คอยห้ามปราม โปรดให้สร้างวัดใช้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงทรงหาที่สร้างวัดส้มเกลี้ยงขึ้นใหม่ย้ายขึ้นไปอยู่ข้างเหนือพ้นเขตบ้านญวนเข้ารีต เรื่องมีมาดังนี้

วัดแก้วฟ้านั้นเดิมอยู่ตรงบริเวณที่สร้างธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้บัดนี้ เรื่องผาติกรรมหม่อมฉันได้เกี่ยวข้องด้วยบ้างแต่เป็นการนานมาแล้วทูลเท่าที่จำได้ วันหนึ่งเจ้าอธิการวัดนั้น (ดูเหมือนชื่อชุ่ม) มาหาหม่อมฉันเพื่อขออารักขาด้วยวัดแก้วฟ้าถูกห้ามไม่ให้เผาศพ เธอปรับทุกข์ว่าการเผาศพได้ผลประโยชน์สำหรับเลี้ยงวัด และวัดนั้นอยู่กลางหมู่บ้านฝรั่ง มีคนไปทำบุญน้อยกว่าวัดอื่น แม้พระสงฆ์จะบิณฑบาตรก็อัตคัต ถ้าถูกตัดผลประโยชน์ในการเผาศพเสียอีกน่ากลัวจะอยู่ไปไม่ได้

หม่อมฉันรับจะพิจารณาดูว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง ไปสืบถามที่กระทรวงนครบาลได้ความว่า พวกฝรั่งให้กงสุลร้องทุกข์ว่าทนเหม็นกลิ่นเผาศพไม่ไหวจึงต้องห้าม หม่อมฉันเห็นว่าที่จะขอให้กลับเผาศพได้อีกเห็นจะไม่สำเร็จ คิดเห็นทางแก้ไขมีอย่างเดียวแต่ย้ายวัดไปอยู่เสียที่อื่นด้วยพิธีผาติกรรม ก็ที่ดินรอบวัดนั้นเป็นของพระคลังข้างที่แทบทั้งนั้น หม่อมฉันลองไปถามที่กรมพระคลังข้างที่ก็บอกว่าที่ตรงวัดแก้วฟ้านั้นถ้าเป็นที่เปล่า จะเป็นที่มีราคามาก เพราะอาจจะปลูกสถานที่ค้าขายได้ดี หม่อมฉันถามเจ้าอธิการชุ่มถึงที่จะทำผาติกรรมเธอก็เห็นด้วย หม่อมฉันจึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยเห็นว่าถ้าโปรดให้พระคลังข้างที่ลงทุนสร้างวัดแก้วฟ้าใหม่ แลกเอาที่ดินวัดเดิมมาปลูกสร้างสิ่งซึ่งจะบำรุงการค้าขายให้เจริญ จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่แรกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรังเกียจด้วยเกรงจะถูกติเตียน แต่ใครที่ทราบเรื่องก็พากันเห็นว่าเป็นการดี ที่สุดดูเหมือนจะได้ทรงหารือสมเด็จพระมหาสมณะเมื่อยังเป็นกรมหมื่น ทรงเห็นว่าเป็นผาติกรรมต้องตามพระวินัยไม่ขัดข้องแล้วจึงโปรดให้ดำเนินการนั้น ก็เวลานั้นถนนสี่พระยาเพิ่งทำแล้ว โปรดให้ซื้อที่ดินผืนใหญ่ริมถนนแปลง ๑ สร้างวัดแก้วฟ้าพร้อมด้วยสถานที่ต่างๆ สำหรับวัด พระราชทานในการผาติกรรมนั้น วัดแก้วฟ้าย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็มีความเจริญมาจนบัดนี้

ที่เจ้าพระยาธรรมาทูลบรรยายเรื่องพระแท่นมุก ว่าได้ทราบความจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น หม่อมฉันได้เคยถามเจ้าพระยาภาสด้วยเรื่องโบราณคดี สังเกตดูท่านก็มีความรู้อยู่บ้างแต่ไม่แม่นยำเหมือนเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ แต่ความที่เจ้าพระยาธรรมาว่าพอจะคิดคาดความจริงได้ ด้วยพระแท่นเศวตฉัตรมุกนั้นเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการสร้างในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะทรงแก้ไข (ดังท่านทรงสังเกตเห็น) จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เป็นผู้อำนวยการ ก็สมควรทุกสถานที่ว่าพระองค์ใดเป็นผู้ทำพระแท่น ออกขุนนางประดับมุกที่ทอดไว้ข้างหน้าพระแท่นเศวตฉัตรนั้น แม้หม่อมฉันไม่มีความรู้จะอ้างเป็นหลักอย่างไร นอกจากความคิด แต่ก็อยากจะเชื่อว่าพระแท่นเสด็จออกขุนนางองค์ประดับมุกนั้น สมเด็จองค์น้อยก็เป็นผู้อำนวยการสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๓ ถ้าพระองค์ใดได้ทำพระแท่นมุก ก็ทำเพียงเขียงมุก ๒ ชิ้นที่เชื่อมพระแท่นเสด็จออกกับพระแท่นเศวตฉัตรให้ต่อกัน และทำเมื่อรัชกาลที่ ๔ เหตุที่คิดเห็นเช่นนั้นเพราะพระแท่นที่เสด็จออกขุนนางเป็นของสำคัญรองแต่พระแท่นเศวตฉัตรลงมา น่าที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระดำริให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยสร้างขึ้น พร้อมกับบุรณะพระที่นั่งเศวตฉัตรในสมัยเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาเมื่อปฏิสังขรณ์พระมหามนเทียร เมื่อแรกสร้างเห็นจะตั้งที่อื่นหรือตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตร แต่ห่างออกไปเป็นหย่อมหนึ่ง ภายหลังย้ายเอาเข้าไปตั้งต่อข้างหน้าพระแท่นเศวตฉัตร จึงเข้ากันไม่สนิท เลยเป็นเหตุให้สร้างเขียง ๒ ชิ้นขึ้นเพิ่มเติม หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

ข่าวทางที่ปีนังที่สมควรจะทูลในจดหมายเวรไม่มีในสัปดาหะนี้.

ศีล ๑๐ ของพวกจิ๊วและคริสตัง

นิทานเบื้องต้นว่าเมื่อโมเซพาพวกจิ๊วหนีออกจากเขตประเทศอียิปต์ไปตั้งซ่องพักอยู่เชิงเขาสีนาย ถึงวันที่ ๓ เวลาเช้า บังเกิดอัศจรรย์โกลาหล ด้วยฟ้าร้องฟ้าแลบและเมฆคลุมไปทั่วทั้งภูเขานั้น แล้วมีเสียงแตรสวรรค์ดังก้องกังวานในอากาศ จนพวกจิ๊วที่ซ่องสุมอยู่พากันกลัวตัวสั่นไปทั้งนั้น แต่โมเซ (รู้ว่าเกิดอัศจรรย์ด้วยอิทธิฤทธิ์พระเป็นเจ้า) ก็เรียกพวกจิ๊วทั้งปวงให้ออกคอยเฝ้าพระเป็นเจ้าอยู่ที่เชิงเขา ขณะนั้นเสียงแตรสวรรค์ยังดังก้องกังวานหนักขึ้น โมเซ (รู้ว่าพระเป็นเจ้าเสด็จมา) เปล่งเสียงนมัสการ และมีเสียงพระเป็นเจ้าตรัสรับอยู่ในอากาศ แล้วพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาประทับที่ยอดภูเขาสีนาย ตรัสเรียกโมเซ ๆ ก็ขึ้นไปเฝ้าบนยอดภูเขานั้น พระเป็นเจ้าจึงประทานโอวาทเป็นบัญญัติแก่พวกจิ๊ว ๑๐ ข้อ (แต่มาเรียกในภาษาไทยว่าศีล)

ข้อที่ ๑) ว่าตัวเราเป็นนาย Lord และเป็นพระเจ้า God ของออเจ้า Thou ที่พาออเจ้าออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ให้พ้นภัยที่ต้องอยู่ในงื้อมมือ Bondage ของผู้อื่น (เพราะฉะนั้น) ออเจ้าจะนับถือพระเจ้าอื่นๆ นอกจาก Before ตัวเราไม่ได้

ข้อที่ ๒) ว่าอย่าทำรูปผู้ใดที่อยู่บนสวรรค์ก็ดี หรืออยู่ ณ พื้นแผ่นดินก็ดี หรืออยู่ในน้ำใต้แผ่นดินก็ดี เป็นวัตถุสำหรับปฏิบัติบูชา เพราะตัวเราผู้เป็นนายและเป็นพระเจ้าของออเจ้า และเป็นพระเจ้าที่มีความริษยา อาจจะลงโทษถึงลูกหลานตั้งสามชั่วสี่ชั่วแทนทรชนที่ชังเรา และอาจแสดงความกรุณาแก่บรรดามหาชนที่รักและกระทำตามบัญญัติของเรา

ข้อที่ ๓) ว่าออเจ้าอย่าเอาชื่อของเราผู้เป็นนายและเป็นพระเจ้าของออเจ้าไปอ้างเปล่า In vain (เห็นจะหมายความว่าโดยไม่เชื่อจริงหรือเอาไปใช้ในการทุจริต) เพราะเราผู้เป็นนาย The Lord จะไม่ยอมว่าผู้ที่เอาชื่อไปอ้างเปล่านั้นปราศจากความผิด

ข้อที่ ๔) ว่าออเจ้าจงจำวันสับบัท Sabbath (วันที่ ๗) และรักษาเป็นวันเคารพ (เป็นนิจ) จงทำการงานตลอด ๖ วัน แต่วันที่ ๗ เป็นวันเคารพต่อเราผู้เป็นนายและเป็นพระเจ้า ในวันนั้นออเจ้าอย่าทำการงานทั้งตัวออเจ้า ลูกชายของออเจ้า ลูกหญิงของออเจ้า บ่าวชายของออเจ้า บ่าวหญิงของออเจ้า ปศุสัตว์ของออเจ้า แม้จนคนที่มาเป็นแขกอยู่ในบ้านก็ต้องหยุดงาน เพราะใน ๖ วันนั้นเราผู้เป็นนายสร้างสวรรค์กับแผ่นดินและทะเล กับทั้งสิ่งทั้งปวงซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น ๆ และ (เรา) หยุดพักในวันที่ ๗ เพราะฉะนั้น (เรา) ผู้เป็นนายจึงอวยพร Blessed วันที่ ๗ และยกเป็นวันมงคล Hallowed

ข้อที่ ๕) ว่าออเจ้าจงเคารพต่อพ่อแม่เป็นนิจ (เรา) ผู้เป็นนาย และเป็นพระเจ้า จะได้อวยพรให้ออเจ้าอยู่ยืนนานในแผ่นดิน อันนายและพระเจ้าประทานแก่ออเจ้า

ข้อที่ ๖) ว่าออเจ้าอย่าฆ่า Kill

ข้อที่ ๗) ว่าออเจ้าอย่าล่วงประเวณี

ข้อที่ ๘) ว่าออเจ้าอย่าลัก Steal

ข้อที่ ๙) ว่าออเจ้าอย่าเบิกความเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน

ข้อที่ ๑๐) ว่าออเจ้าอย่าเบียดเบียนเพื่อนบ้าน ด้วยหมายชิงบ้านเรือน หรือเมีย หรือบ่าวชายบ่าวหญิง และ โค ลา หรือทรัพย์สิ่งอื่นของเขา

ปลายนิทานว่า เมื่อพระเป็นเจ้าประทานบัญญัติ ๑๐ ข้อนั้น แล้วตรัสสัญญา Covenant แก่โมเซว่า ถ้าพวกจิ๊วประพฤติตามพระบัญญัติอยู่ตราบใด พระเป็นเจ้าจะไม่ทอดทิ้งทำนุบำรงพวกจิ๊วอยู่ตราบนั้น

บัญญัติ ๑๐ ข้อ ที่เอามาพิมพ์ในหนังสือเรียน ใช้สอนในโรงเรียนของพวกคริสตังย่อความลง คงไว้สั้นๆ เช่นสำนวน ตั้งแต่ข้อ ๖ จนข้อ ๙ ตัดความที่เป็นช่องที่จะถูกติเตียนในสมัยนี้ออกหมด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ