วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๕ กันยายน มาถึงหม่อมฉันเมื่อวันที่ ๑๘ โดยเรียบร้อยตรงกับกำหนดตามเคย

เพิ่มเติมความตอบจดหมายเวรฉบับก่อน

เมื่อหม่อมฉันส่งจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๑๔ กันยายนไปถวายแล้ว มานึกขึ้นว่าพระปรมาภิไธยที่เป็นคำภาษาจีน เช่น “แต้ฮุด” เป็นต้นนั้น เห็นจะเกิดขึ้นสำหรับใช้กับคำแปลพระราชสาส์นดอกกระมัง เพราะรัฐบาลจีนก็อ่านต้นพระราชสาส์นไทยไม่ออก รัฐบาลไทยก็อ่านต้นพระราชสาส์นจีนไม่ออก ทั้งสองฝ่ายต้องเชื่อฟังตามคำที่แปลในเมืองไทย หรือว่าอีกอย่าง ๑ คำแปลกลับเป็นหนังสือสลักสำคัญยิ่งกว่าตัวพระราชสาส์น ก็ตามประเพณีโบราณจดหมายที่มีไปมาถึงกัน ย่อมประทับตราเจ้าของจดหมายเป็นสำคัญทั้งจีนและไทย ผิดกันแต่ตราของไทยใช้รูปภาพต่างๆ ตราของจีนใช้ผูกตัวอักษรแสดงชื่อเจ้าของจดหมายเป็นตรา คำแปลพระราชสาส์นเป็นภาษาจีนเป็นหนังสือสำคัญดังกล่าวมาแล้ว คำแปลที่เขียนส่งไปเมืองจีนกับพระราชสาส์น จึงต้องมีตราประทับให้จีนเชื่อถือ เหตุนี้น่าจะเป็นมูลที่ทำพระราชลัญจกร แสดงพระปรมาภิไธยด้วยตัวอักษรจีน (ที่เรียกว่าตราโลโต) สำหรับประทับหนังสือคำแปลพระราชสาส์นดวง ๑ สำหรับประทับคำแปลศุภอักษรเจ้าพระยาคลัง ดวง ๑

คิดถึงอกผู้แปล การแปลพระนาม เช่นว่า “สมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” เป็นคำภาษาจีนดูยากเต็มที โดยเฉพาะจะต้องให้ตัวหนังสือน้อยตัวและให้จีนเข้าใจด้วย เป็นพ้นวิสัยที่จะทำอย่างอื่นได้จึงใช้วิธี (อย่างพระยาโชฎึก (ฟัก) ว่า) “เลือกคำดีดี” ตามภาษาจีนมาผูกเป็นพระปรมาภิไธยในลายพระราชลัญจกร ความยากของผู้แปลยังมีต่อไปถึงแปลตัวพระราชสาส์นซึ่งใช้คำภาษาสูงและเรียบเรียงสำนวนอย่างเพริดพริ้งในภาษาไทย การที่แปลคงเป็นอย่างถอดเอาแต่เนื้อความไปแต่งใหม่ตามความรู้และความสามารถของผู้แปล ใครๆ แปลก็แทบหงายท้องทั้งนั้น

เครื่องราชูปโภคประดับมุกสิ่งต่างๆ ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ นั้น มีข้อควรสังเกตอย่าง ๑ ที่คงอยู่ในพระราชมนเทียรต่อมาแต่ ๒ สิ่ง คือพระแท่นเศวตฉัตรสิ่ง ๑ กับกระดานพิงสิ้ง ๑ นอกจากนั้น คือพระแท่นบรรทม ตู้พระภูษา (ดูเหมือน ๒ ใบ) กับตู้พระสมุด ๒ ใบ ย้ายเอาไว้ที่หอพระมนเทียรธรรมทำนอง “ปล่อยพระพุทธบาท” ทั้งนั้น จะเป็นเพราะเหตุใดขอให้ทรงวินิจฉัยดู ที่ย้ายพระแท่นบรรทมมาใช้เป็นพระแท่นมณฑลพิธีที่พระมหาปราสาทนั้น หม่อมฉันจำได้ว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิกราบทูล แต่จะย้ายเมื่อรัชกาลที่ ๖ หรือที่ ๗ นั้นจำไม่ได้แน่

เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปีนัง

หมู่นี้กิจการต่างๆ ในเมืองมลายู Malaya (อังกฤษเขาหมายรวมทั้งเมือง สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา บรูใน และเมืองแขกมลายูทั้งปวงเรียกเป็นคำเดียว) กำลังมีกิจการอันเนื่องด้วยเกิดสงครามในยุโรปเป็นพื้น แต่กิจการเหล่านั้นไม่กระทบกระเทือนถึงพวกหม่อมฉัน อยู่กันเป็นปกติอย่างแต่ก่อน มีกระเทือนถึงวัตรปฏิบัติแต่บางอย่าง คือ

แต่ก่อนหม่อมฉันเคยรับแต่หนังสือพิมพ์ Straits Echo ซึ่งออกประจำวันเวลาเช้า เดี๋ยวนี้ต้องรับหนังสือพิมพ์ Penang Gazette ซึ่งออกเวลาบ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ต้องอ่านหนังสือพิมพ์วันละ ๒ เวลาเพื่อจะรู้ข่าวสงครามอย่าง ๑ เพื่อจะรู้ข้อบังคับต่างๆ ที่รัฐบาลเมืองมลายูประกาศตั้งขึ้นเกี่ยวแก่ผู้ที่อยู่ในอาณาเขตนี้ อย่าง ๑ แต่ก่อนหม่อมฉันเคยรับหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์กับหนังสือพิมพ์ภาษาไทยบางอย่างส่งมาจากกรุงเทพฯ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง แต่เดี๋ยวนี้ไปรษณีย์ไทยไม่ส่งหนังสือพิมพ์ภาษาไทยมาเยือนมลายู จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ ก็เป็นอันไม่ได้เห็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยตั้งแต่สัปดาห์ที่ล่วงมา

รัฐบาลเมืองมลายูเขาเอาใจใส่ในเรื่องสงวนเสบียงอาหารมาก ถึงประกาศกำหนดราคาให้พวกพ่อค้าขายของที่เป็นอาหารและร้องฟ้องเอาโทษคนขายขึ้นราคามาหลายรายแล้ว

แต่ของที่ต้องสั่งมาแต่ต่างประเทศรัฐบาลสัญญาแต่ว่าจะจัดการมิให้นมกลักขาดตลาด แต่ของสิ่งอื่นหม่อมฉันได้ฟังคำอธิบายของพวกฝรั่งนายห้าง เขาว่าอย่างไรๆ ของก็ต้องขึ้นราคา และของบางอย่างที่ไม่จำเป็นแก่การเลี้ยงชีพอาจจะขาดตลาดก็เป็นได้ เพราะในเวลามีสงครามเช่นนี้บริษัทประกันภัยเพิ่มอัตราค่าประกันภัยขึ้นถึง ๑๐๐ จน ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ คนเดินเรือก็เรียกค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพราะต้องเสี่ยงภัยถึงชีวิตของเขา เจ้าของเรือและพ่อค้าสั่งของก็ต้องสิ้นเปลืองมากขึ้นต้องหาทางได้มาชดใช้ พวกเจ้าของเรือจึงขึ้นค่าระวางกับทั้งอัตราค่าโดยสาร (ได้ยินว่าค่าโดยสารเดี๋ยวนี้ขึ้นถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว) ส่วนพวกพ่อค้าที่สั่งของมาขาย ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นเท่าใด ก็ต้องเอาจำนวนเงินนั้นมาเฉลี่ยเพิ่มในราคาสินค้า ราคาสินค้าก็จำต้องแพงขึ้นอยู่เอง ใช้แต่เท่านั้นพวกนายห้างยังต้องพิจารณาต่อไปว่า สินค้าสิ่งใดเมื่อเพิ่มราคาแพงขึ้นแล้วจะมีคนซื้อหรือไม่ สิ่งใดเห็นว่าจะไม่มีใครซื้อก็ไม่สั่งมา หม่อมฉันเข้าใจว่าราคาสินค้าต่างประเทศในกรุงเทพฯ ก็น่าจะแพงขึ้นด้วยเหตุอย่างเดียวกัน

มีกรณีแปลกที่รบกันในคราวนี้หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์เรื่อง ๑ (จริงเท็จอยู่กับผู้กล่าว) ว่ากองบินของพวกโปลกองหนึ่งไปพบกองบินของเยอรมันมากกว่า พวกเยอรมันเข้าล้อมยิง นายเครื่องบินของโปล ๒ เครื่อง เห็นว่าจะหนีไม่รอดได้ กลับเอาเครื่องบินของตนเข้าชนเครื่องบินของนายกองเยอรมันหักตกดินด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย พวกโปลรอดได้คน ๑ ดูก็น่าพิศวง แต่ก่อนมาเคยได้ยินแต่ว่าชนช้าง เดี๋ยวนี้มามีชนเครื่องบินขึ้นแทน

หมู่นี้มีพายุฝนแรงฝนตก ๓ วันทั้งกลางวันกลางคืน เหตุเช่นนี้เคยมีมาแต่ก่อน ที่ประหลาดนั้น ถ้าถูกคราวฝนชุกเช่นนี้นาฬิกาหยุด นาฬิกาของหม่อมฉันหยุดเกือบหมด หม่อมฉันปรารภกับลูกว่าให้เอาไปให้ช่างเขาแก้เสีย เธอบอกว่านาฬิกาป่วยเป็นหวัดเท่านั้น พระองค์หญิงประเวศเธอได้วิธีรักษาหายด้วยเอานาฬิกาออกอาบแดด หม่อมฉันให้เอาออกอาบแดดในเวลาเช้าสักชั่วโมงหนึ่งก็กลับเดินดีอย่างเก่า เขาว่าเป็นเพราะอากาศชื้นเข้าไปทำให้น้ำมันที่เครื่องจักรค่นขัด มิให้จักรเดิน อาบแดดถูกไอร้อนพอน้ำมันละลายเครื่องจักรไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งก็กลับเล่นดูชอบกลอยู่จึงทูลมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ