วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ได้รับแล้วตามกำหนดคราวเมล์อันควรได้รับในวันที่ ๒๘ ตุลาคม มีรอยตัดหัวซองปิดกระดาษประทับตราผ่านการตรวจเลขที่ ๑๑ ก็แจ้งใจว่าที่คาดหมายมาแต่ก่อนเป็นหลายประการนั้นผิดหมด ด้วยเลขที่ ๑๑ นั้นเอง แต่ก่อนเคยให้ปาปมุตคราวนี้ไม่ให้ ซองลายพระหัตถ์จะเป็นประการใดก็ตามที เดือดร้อนแต่ที่ส่งไม่ถึงทันตามกำหนด คงจะทรงสังเกตได้ในหนังสือเวรซึ่งส่งมาถวายคราวก่อน ๒ ฉบับ มีเรื่องอื่นขึ้นต้น แล้วจึงสนองลายพระหัตถ์ต่อภายหลัง นั่นคือยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์ ถ้าไม่เขียนอะไรไปพลางก่อนก็กลัวจะทำหนังสือเวรส่งถวายไม่ทัน

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานพระดำรัสชี้แจงให้เข้าใจ ในเรื่องพวกโจรไต้เผ็งกับพวกบ๊อกเซอว่าเป็นคนละพวก ผิดเวลากันนานทีเดียว พวกโจรไต้เผ็งนั้นมีความตั้งใจใหญ่โต อั้งยี่ที่ตั้งกันขึ้นในเมืองเราไม่ปรากฏว่ามีความตั้งใจร้ายแรงอะไร นอกจากรวมหัวกันข่มเหงพวกจีนด้วยกันเท่านั้น แต่เราเป็นเจ้าของเมืองก็ต้องปราบปรามไปตามสมควร เพื่อบำรุงสุขแก่ผู้หากินโดยชอบ อ่านพระดำรัสเล่าถึงพวกบ๊อกเซอนั้นซึมทีเดียว ในหนังสือเรื่องจีนอะไรต่ออะไรมีบ่อยๆ เล่าถึงยกกระถางธูปหนักกี่ร้อยต่อกี่ร้อยชั่งอวดกำลังกัน การเล่นกระบี่กระบองมวยปล้ำนั้นดีมีประโยชน์แก่ตัว แต่ถึงแก่รบฝรั่งโดยพลการนั้นทำผิด การเล่นสิงโตนั้นไม่ได้ทราบมาแต่ก่อนว่าเกี่ยวกับพวกบ๊อกเซอ ทราบแต่ว่าเขาห้ามสิงโตผู้ใหญ่เพราะมันตีกัน เหตุฉะนั้นก็เหลือแต่สิงโตเด็กๆ ออกเห็นใจชาวร้านว่าเห็นจะรำคาญเต็มที เกล้ากระหม่อมผ่านถนนเจริญกรุงเข้าไปบ้านท่าพระในเวลาตรุษจีน ได้เคยนับอยู่ปีหนึ่ง มีจำนวนที่ได้พบเท่าไรก็ลืมเสียแล้ว แต่ไม่ต่ำกว่า ๓๐ แม้เกล้ากระหม่อมไม่ได้เป็นเจ๊กค้าขายก็เดือดร้อนไม่ใช่น้อย ด้วยจวนเวลาตรุษจีนแล้ว เด็กตีกลองซ้อมสิงโตกันอยู่รอบบ้านปลายเนิน หนวกหูเต็มทน

ลายพระหัตถ์ซึ่งเขียนบอกตำบลบ้านเกล้ากระหม่อมนั้น ไม่จำเป็นงดเสียไม่เขียนก็ได้ ไปรษณีย์เขารู้อยู่แล้วว่าเกล้ากระหม่อมอยู่ที่ไหนควรจะส่งที่ไหน นึกถึงพระยาชลยุทธ เกล้ากระหม่อมเคยถามชื่อบ้านของแก แกเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เขียนแต่ชื่อตัวเท่านั้นเขาก็ส่งถูกเห็นจะเป็นด้วยเป็นคนเขื่อง

พูดถึงเรื่องชื่อที่อยู่นึกขึ้นมาถึงไปสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ก็ให้นึกสนุก เคยไปมาแล้วก็จริง แต่มัน ๕๐ ปีมาแล้ว ไปอีกก็เหมือนไปครั้งแรก ไม่รู้จักตำบลหนแห่งอะไรเลย คิดจะไปตำหนักกรมพระกำแพงเพชร เวลานั้นเธอก็ไม่อยู่ แต่ไม่เป็นไร ไปจับเอาหญิงประภาวสิทธิ์ก็แล้วกัน บอกคนแท้กซี่ให้มันพาไปมันก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน คิดจะไปถามที่ออฟฟิศไปรษณีย์ก็เผอิญวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ออฟฟิศเขาปิด หญิงอามเป็นคนจำชื่อที่ประทับไว้ได้อย่างเลือนๆ บอกกับคนแท๊กซี่ มันก็ว่าไม่มี แต่มันก็หาชื่อที่มีเสียงคล้ายคลึงกันมาบอกเทียบให้ เราก็ตัดสินไม่ได้ว่าผิดหรือถูก จึงให้มันลองพาไป ไปถึงที่ซึ่งมันบอกเป็นตึกแถวข้างถนน ในนั้นเต็มไปแต่ด้วยหญิงย่าหยาก็รู้ว่าไม่ใช่ ไม่คิดเห็นทางว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป จึงสั่งให้มันขับรถไปเที่ยวชมเมือง แต่คนแท๊กซี่มันก็ดี มันไม่ละความที่เรามีประสงค์แต่เดิม มันพาไปวัดพุทธคยา ที่นั่นมีคนไทยเขารู้เขาพาไปจึงสำเร็จประสงค์

ยังเป็นพระเดชพระคุณ ที่ตรัสอธิบายถึงคลังสินค้าด้วยอีก ทำให้เข้าใจในมูลเหตุซึ่งตั้งคลังสินค้าขึ้นดีแล้ว เขาคอกนั้นเกล้ากระหม่อมไม่เคยไปถึง คนที่เขาไปถึงเขามาเล่าให้ฟัง เห็นเต็มทน ลพบุรีดีกว่าเป็นไหนๆ พูดถึงลพบุรีฟังเขาเล่าถึงลิงที่ศาลพระกาฬให้นึกเอ็นดู ครั้นขึ้นไปลพบุรีก็ไปที่ศาลพระกาฬด้วยตั้งใจจะดูลิง แต่พอถึงหน้าศาลก็เห็นลิงนั่งคอยคนอยู่ตัวหนึ่ง โตเท่าเด็กๆ เกินน่าเอ็นดูไปมาก ต้องเดินเลยไป

เรื่องโคลงคุณเสือขอบุตรนั้น ทำขึ้นทีหลังเป็นแน่นอน ตามที่ทรงพระดำริคาดว่าทำในรัชกาลที่ ๔ นั้นแน่ว่าถูกแล้ว เดิมคงทำไว้แต่รูปเด็กเท่าที่ปรากฏอยู่บัดนี้

เรื่องพัดรอง เกล้ากระหม่อมก็เห็นไม่ควรทำเหมือนกระแสพระดำริ แต่ไม่มีใครเขามาปรึกษาเอาความเห็น จะเที่ยวได้บอกความเห็นซึ่งเขาไม่ต้องการก็เป็นยื่นเกินไป การทำพัดรองไม่ใช่แต่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เป็นการลำบากแก่ท่านผู้ได้รับด้วย ถ้าท่านผู้รับนิมนต์บ้านไหน เดี๋ยวนี้ก็เป็นพระเพณีที่ท่านจะต้องถือพัดที่บ้านนั้นถวายไปฉลองศรัทธาด้วย ทราบมาทางสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่าเป็นการลำบากเต็มที พัดนั้นหยิบเลือกไม่ยาก แต่ย่ามนั้นเลือกหยิบหายากเพราะเก็บทับซับซ้อนกันไว้เป็นกองใหญ่ ที่จริงการทำพัดรองยังไม่เป็นการพ้นสมัย พวกพระยศต่ำเตี้ยมีพวกเจ้าอธิการวัดต่างๆ เป็นต้น ย่อมต้องการกันอยู่มากแต่ไม่ได้รับสมความต้องการ เพราะท่านผู้ทำพัดก็ถวายไปแต่ท่านที่เขื่องๆ อันมีใช้อยู่ล้นเหลือแล้ว กลับทำให้เกิดความลำบากไปเสียอีก อย่างน้อยก็ต้องมีที่เก็บใหญ่โตผิดกันกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนท่านเขื่องๆ ได้ไปก็บริจาคให้แก่ท่านผู้น้อยๆ ไปใช้ เดี๋ยวนี้บริจาคไม่ได้ก็ต้องเก็บไว้เพื่อฉลองศรัทธาจึงเป็นภาระอันใหญ่ และขัดกับความต้องการของท่านผู้น้อยด้วย

คิดถึงความดำเนินอันเป็นไปแก่พัดรองเห็นว่าจะจัดให้เป็นดังนี้

ชั้นที่ ๑ ใช้ผ้าอย่างดีที่มีเข้ามาแต่เมืองนอกโดยตรง เพราะเวลาโน้นผ้าอย่างดีเป็นของหายาก

ชั้นที่ ๒ ปักลายบนผ้าเพื่อให้ดีขึ้น ด้วยจะใช้ผ้าอย่างดีโดยตรงนั้นหาได้ง่ายเสียแล้ว จึงต้องปักให้ดีวิเศษขึ้นอีก

ชั้นที่ ๓ ใช้ผ้าซึ่งสั่งให้ทอเข้ามาโดยจำเพาะ เป็นการจะให้ดีกว่าที่ปักกันได้อยู่โดยมากจนเป็นกล้วยน้ำว้า

ชั้นที่ ๔ ใช้ผ้าตีพิมพ์ในเมืองเราแทนผ้าปัก นี่เป็นการทำถอยลงเอาแต่ได้

ชั้นที่ ๕ บุผ้าอะไรก็ได้ ทำแต่นมเป็นพิเศษ นี่เป็นการทำถอยลงอีก

ตกเป็นทำถีบให้สูงขึ้น ๓ ชั้น ทำถอยลง ๒ ชั้น ยุคไหนทำอย่างไรก็วิ่งตามกันฮือๆ ไปเป็นแฟแช่นอย่างเสื้อผู้หญิง อันพัดซึ่งตรัสถึงนั้นของพระองค์หญิงอาทร พระยาอนุศาสนจิตรกรเป็นผู้คิดและให้อย่าง อยู่ในชั้นที่ ๔ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเกล้ากระหม่อมเป็นผู้คิดและให้อย่าง อยู่ในชั้นที่ ๕ เป็นการทำอย่างมักง่ายเพราะความเห็นเป็นไปในทางข้างเลิก

ขอถวายอนุโมทนา ในการที่เสด็จไปช่วยพระองค์หญิงประเวศ ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กับทั้งทรงจัดตั้งพระบรมรูปทรงม้า แล้วชักชวนกันทำการสักการบูชา เป็นการกอบด้วยกตเวทีอย่างล้นพ้น พระบรมรูปทรงม้าซึ่งทรงจัดตั้งบูชานั้น ไม่ทราบว่ามีขนาดใหญ่เล็กเพียงไร สมควรแก่การจัดตั้งบูชาได้งดงามหรือไม่ ถ้าหากมีพระประสงค์จะใคร่ได้อย่างไร เกล้ากระหม่อมก็สามารถจะจัดทำมาถวายได้ เพราะต้นพระบรมรูปอยู่ทางกรุงเทพฯ จะถ่ายทำทางด้านไหนก็ทำได้โดยสะดวก สุดแล้วแต่พระประสงค์

ฝ่าพระบาทตรัสบ่นออกชื่อศิลปศาสตร์ ว่าศิลปในการทำรูปผู้หญิงทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นไปในทางยั่วกามารมณ์ทั้งนั้น เห็นจะทรงลืมเสียแล้ว เกล้ากระหม่อมได้เคยกราบทูลมาแต่นานแล้วว่า ศิลป แปลว่าผู้หญิงแก้ผ้า วิทยาศาสตร์ แปลว่า เก๊

ข่าวเบ็ดเตล็ดที่กรุงเทพฯ

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านมีหนังสือมาถามถึงพัดแฉกงา เกล้ากระหม่อมบอกอะไรแก่ท่านไม่ได้ นอกจากว่าทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ได้ซัดให้ทูลถามมาที่ฝ่าพระบาท คงจะต้องเหนื่อยพระทัยในเรื่องนั้นอยู่บ้าง

ข่าวกฐินพระราชทาน ว่าวันที่ ๗ พฤศจิกายน สมเด็จพระพันวัสสาจะเสด็จขึ้นไปบางปอิน ทรงทอดกฐินวัดนิเวศธรรมประวัติ เสด็จกลับวันที่ ๑๐ กับพระองค์อาทิตย์จะเสด็จขึ้นไปบางปอินวันที่ ๑๑ ทอดกฐินวัดสุวรรณดาราม กลับลงวันที่ ๑๓

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ