วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ได้รับประทานแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

จะกราบทูลแถมเรื่องตรากระทรวงมุรธาธรอีกนิดหนึ่ง ต้นไม้เงินทองที่ทำนั้นเป็นของเชลยศักดิ์ เมื่อทำแล้วจะมีใครเก็บแบบไว้ เหมือนของที่ทำในราชการหรือไม่ก็ไม่ทราบ จะตามหาแบบดูก็กลัวคว้าน้ำเหลวเสียเวลา ดูของที่ทำแล้วง่ายกว่าจึงไม่ได้ตามหาแบบเดิม

เรื่องตราราชสีห์ ที่ทรงพระดำริคราวนี้แจ่มแจ้งดี และลงรอยกันหมดแล้ว ไม่มีอะไรจะกราบทูลอีก เป็นอันปิดเรื่องได้

การที่จะทรงพระวินิจฉัย ในเรื่องพระราชลัญจกรและตราอื่นๆ หลังว่าที่กราบทูลมาในหนังสือเวรฉบับก่อนเรื่องตราไอยราพต คงจะมีประโยชน์เป็นทางทรงพระดำริได้อย่างหนึ่ง

พระดำรัสเรื่องพระร่วง ทำให้ได้สติคิดเห็นอะไรไปมาก ดังจะกราบทูลต่อไปนี้ อันเรื่องนิทานพระร่วงนั้นเป็นนิทานเก่าแก่ และเราก็นิยมชมชอบกันเสียด้วย เที่ยวได้มีแซมอยู่ที่ไหนต่อไหน ชอบด้วยอะไร ชอบด้วยพระร่วงเป็นผู้มีบุญเพราะมีวาจาสิทธิ์ ลางแห่งก็กล่าวไปถึงต้นเดิม ว่าพระร่วงเป็นลูกนางนาค ลางแห่งก็กล่าวแต่จำเพาะอภินิหารพระร่วง นิทานอันนั้นไม่ใช่มีแต่ในเมืองเรา เมืองเขมรก็มี เขาชอบกันเหมือนกัน จนกระทั่งถ่ายเอามาให้ชื่อเป็นเพลง เป็นพระโถง นางนาค พระโถงเป็นชื่อลูกกษัตริย์ซึ่งออกไปเที่ยวพิพาสป่า ได้ไปสมจรกับนางนาค เขาอ่านเป็นเสียงราบว่า พระโทง มาถึงเมืองเราจึงเลื่อนไปเป็นพระทอง สระ โอ กับ ออ สับกันอยู่เสมอ ในเมืองมอญเมืองพม่าจะมีเรื่องพระร่วงอยู่หรือไม่ยังไม่พบ แต่เชื่อว่าจะมีเหมือนกัน โดยพระดำรัสอันได้ทรงสังเกตมาว่านามพระร่วงนั้น ไม่ใช่เป็นนามจำเพาะแต่พ่อขุนบางกลางท่าวผู้เดียว ย่อมใช้เป็นชื่อพญาผู้ครองสุโขทัยหลายองค์นั้นดีนัก ทำให้ได้สติเห็นเป็นหนึ่งแน่ลงไปได้ว่าเอาชื่อพระร่วงมาใช้ เรียกเป็นชื่อพญาผู้ครองสุโขทัย เพื่อจะยกยศให้เป็นผู้มีบุญเท่านั้น ที่แท้ไม่ใช่ชื่อของพญาผู้ครองสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งหมด หนังสือพงศาวดารเหนือนั้นคิดว่าให้ชื่อผิด เพราะหลงการที่เอาเรื่องพระร่วงมายกให้พระยาผู้ครองสุโขทัย และซ้ำเอาเรื่องท้าวอู่ทองยกมาถวายสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๑) ด้วย ถ้าให้ชื่อว่าหนังสือนิทานเมืองเหนือแล้วจะพ้นความหลง เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น ถ้าให้ชื่อให้พ้นหลงความเป็นเต๋าก๊วย ก็ได้รับอภัย

ได้คติในพระดำรัสอีกอย่างหนึ่ง ที่ตรัสบอกว่าพระแต่งหนังสือ ใช้ชื่อพระร่วงเป็นหลายอย่าง ไสยณรังคราชก็มี ได้พบชื่อพระยาศรีไสณรงค์และพระยาไสยณรงค์มามาก แต่คลำหน้าผากไม่ทราบว่าคำไสย จะหมายถึงอะไร มาได้เรื่องตามที่ตรัสบอก เป็นอันเทียบเอาชื่อพระร่วง ที่แต่งไว้ว่า ไสยณรังคราช ซึ่งตรงกับชื่อ พญาไสยฤไทยนั้นเอง

ข้อที่เกรงตึก ซินนามอนฮอล จะพัง ด้วยความกระเทือนที่ยิงปืนใหญ่นั้น หากจะมีใครมาพนันเกล้ากระหม่อมก็ยืนรับข้างไม่พัง แม้จะเลื่อนปืนใกล้เข้ามาอีกก็รับได้

รถ “รูต่าง” นั้น เขาคิดทำสำหรับเมืองหนาวของเขา เขาทำขึ้นใช้อย่างไร เขาก็ส่งเข้ามาขายเมืองเราอย่างนั้น เขาไม่ได้คิดทำสำหรับให้เหมาะแก่เมืองเรา เราเป็นผู้กินน้ำใต้ศอก ได้อย่างไรก็ต้องเอาทั้งนั้น ถ้าจะให้ได้ตั้งใจก็ต้องสั่งให้ทำมาโดยจำเพาะ อันจะเป็นการที่ต้องเสียเงินมาก ไม่สมควรแก่ธุระที่ต้องการ

เพ้อเจ้อ

ตามที่กราบทูลมาในหนังสือเวรฉบับก่อน ว่าลัทธิมหายานกับหินยานปนกันอยู่นั้น ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเห็น จะทูลเพ้อบรรเลงถวายต่อไปนี้ เช่น สวดมนต์ของเรา สัมพุทเธวิปัสสีสส์ และนโมเมสัพพ์ สมัยย์ภาณยักษ์ อะไรเหล่านี้ เป็นไปในทางมหายานทั้งนั้น ในสัมพุทเธ บทที่ ๑ ไหว้พระเจ้า ๕๐๒,๐๒๘ พระองค์ ในบทที่ ๒ ไหว้พระเจ้า ๑๒๔,๐๕๕ พระองค์ ในบทที่ ๓ ไหว้พระเจ้า ๒๔๘,๐๑๙ พระองค์ อันนี้ก็เข้าพวกกับที่พูดกันว่าพระเจ้าเท่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องพระมหาสมุทร ความเข้าใจและประเพณีของเรา ติดไปในทางมหายานอยู่มาก เช่นทำโบสถ์ก็ต้องหันหน้าโบสถ์ไปทางทิศตะวันออก จนลางวัดทำให้รู้สึกเห็นน่าเกลียด หันหลังโบสถ์ออกมาหาทางเข้า นั่นก็เพราะกล่าวว่าเมืองสุขาวดีที่พระอมิตาภประทับอยู่ อยู่ทางทิศตะวันตกเพื่อจะให้การไหว้พระได้หันหน้าตรงไปสู่ทิศทางเมืองสุขาวดีตั้งอยู่ จึงทำโบสถ์ให้หันหน้าสู่ทิศตะวันออก อันเมืองสุขาวดีนั้นก็พรรณนาอย่างซึมทราบว่ามีกระดึงใบโพธิ์ลมพัดมาต้องก็บรรเลงเสียงกังวาน ทั้งมีส่วนประกอบไปด้วยไม้ดอกไม้ผล มีนกยูงนกกาเรียนและดุเหว่า เหมือนกับสวนท้าวเวสสวัณในภาณยักษ์ ที่เข้าใจว่าพระนิพพานเป็นเมืองแก้วดีกว่าสวรรค์ขึ้นไปนั้น ก็หลงเอาเป็นเมืองสุขาวดีนั้นเอง คำปณิธานนิพพานปัจจฺโยโหตุนั้น เป็นทางหินยานซึ่งตัดหยาบลงมาแล้ว ทางมหายานไม่พอต้องตั้งปณิธานเป็นพุทธภูมิจึงจะประณีตพอ เพื่อได้ขนสัตว์รื้อสัตว์ออกจากสังสารทุกข์

ตามคติลัทธิมหายาน ซึ่งแบ่งส่วนพระกายพระพุทธเจ้าออกเป็นสาม เรียกว่า ตริกาย นั้น ไปเข้ารูปศาสนาคริสตัง ธรรมกายตรงกับ God สัมโภคกายเห็นจะตรงกับที่เรียกว่า พระวิญญาณ แต่ไม่แน่ เพราะไม่รู้คติของเขาดี ส่วนนิรมานกายนั้นตรงกับพระบุตรแน่ ให้นึกสงสัยไปว่าพระทรงเครื่องของเราจะหมายทำเป็นสัมโภคกาย การตั้งบัญญัติเป็นอย่างไรไปต่างๆ นั้น เชื่อว่าคิดปรุงอนุโลมไปตามใจคนในเวลานั้น เพื่อจะลากเอาเข้าไปนับถือศาสนาแห่งตนได้มากที่สุด เช่นทางลัทธิศาสนามหายานเอาเทวดาของพราหมณ์เข้าไปปนไว้มาก ก็คือว่าเวลานั้นพุทธศาสนาตกต่ำกว่าศาสนาพราหมณ์ จึงเอาเทวดาของพราหมณ์เข้าไปแซม เพื่อจะลากเอาคนถือศาสนาพราหมณ์ย้ายไปถือพุทธศาสนา ตรงกับทางพราหมณ์เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นพุกธาวตาร ก็เพื่อจะลากเอาคนถือศาสนาพราหมณ์ เวลานั้นศาสนาพราหมณ์คงตกต่ำกว่าพุทธศาสนามาก พุทธกับไสยคงจะได้แข่งขันกันมานมนานประการเพรงแล้ว

อ่านหนังสือ เชงโท้ อันเป็นเรื่องศาสนาทางมหายานในเมืองจีนซึ่งมีผู้เขาตีพิมพ์แจกงานศพ กล่าวอ้างถึงคัมภีร์สุขาวดีวยูหทางมหายาน ซึ่งเขาได้แปลออกเป็นภาษาจีน ว่าพระศากยมุนีเสด็จขึ้นไปบนเขาอันหนึ่งกับด้วยพระอานนท์ ตรัสพยากรณ์โคมลอยอะไรต่างๆ ทำให้เห็นขัน รู้สึกว่าในการที่เราแต่งตำนานอะไรต่างๆ อ้างถึงพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ไหน ตรัสทำนายว่ากระไรนั้น เป็นทางที่จำมาจากแบบมหายานเก่าแก่ ไม่ใช่นึกขึ้นเองอย่างหมิ่นๆ สังเกตได้ในหนังสือนั้นว่าลัทธิมหายานดำเนินไปในทางมนต์คือคำอ้อนวอนมาก เหมือนทางข้างศาสนาพราหมณ์และศาสนาคริสตัง แล้วคำอ้อนวอนนั้นเลยกลายเป็นเสกเป่าไป ด้วยความเชื่อว่าผู้ศักดิ์สิทธิซึ่งตนอ้อนวอนนั้นจะมาช่วยให้เป็นไปสำเร็จ ส่วนทางลัทธิหินยานกลับห้ามทางอ้อนวอนเสียด้วยซ้ำไป ที่จริงใครจะสอนอย่างไร ขึ้นชื่อว่าศาสนาแล้ว ผู้สอนก็ตั้งใจจะให้คนละชั่ว ประพฤติดีทั้งนั้น แต่ความดีหรือความชั่วก็ย่อมหยาบละเอียดไปตามนิสัยของหมู่คนอันอยู่เฉพาะหน้า เคยได้ยินสมเด็จกรมพระวชิรญาณท่านกริ้วพระผู้ซึ่งไปเทศน์สอนในหมู่บ้านชาวประมง ว่าไม่ให้ทำปาณาติบาต ท่านว่าหลับตาสอน จะสอนเช่นนั้นควรจะคิดเสียก่อน ว่าจะให้มันทำอะไรแทนจับปลา จะสอนไปพลุ่ยๆ นั้นจะเป็นไปสำเร็จไม่ได้ ด้วยถ้ามันทำตามคำสอนมันก็อดตาย

ข่าว

เวลานี้ในกรุงฝนตกเกือบทุกวัน วิตกถึงวันชายดิศบวช ถ้าฝนตกแล้วจะลำบากเต็มที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ