วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมล์วันเสาร์เป็นกำหนดที่ได้โดยรับลายพระหัตถ์เวร แต่วันเสาร์นี้หาได้รับตามเคยไม่ คงเลื่อนไปได้รับเอาเมล์วันอังคาร คือวันนี้เวลาเย็น เพราะฉะนั้นก็ไม่มี โอกาสที่จะทูลสนองความอันมีในลายพระหัตถ์ได้ ได้แต่จะทูลบรรเลงเรื่องอื่น ๆ

ข่าวเบ็ดเตล็ด

เมื่อวันที่ ๒๒ ที่แล้วมานี้ได้ทำการ “แคว้ก ๆ” คือการหมั้นหญิงเพียร หญิงจงพาหญิงเพียรมาที่บ้านปลายเนิน ฝ่ายชายประสบสุขนั้นพระองค์อลงกฎนำมา พิธีก็มีการสวมแหวนหมั้นให้แก่กันอย่างฝรั่ง เกล้ากระหม่อมไม่ต้องทำอะไรนอกจากเป็นพยาน

อันการแต่งงานสมรสนั้น แม้จะมีวิธีเก่าเป็นหลักอยู่ก็เลื่อนเคลื่อนไปไหนๆ แล้ว เช่นการหมั้นเข้าใจว่าแต่ก่อนเขาเอาทองหรือเงินไปให้แก่พ่อแม่ เป็นการซื้อลูกสาว แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นสวมแหวนให้แก่กัน นั่นแปลว่าการหมั้นเปลี่ยนรูปไปเอาอย่างฝรั่ง การรดน้ำแต่ก่อนเมื่อสวดมนต์จบเขาก็ยกบาตรน้ำมนต์มา บรรดาญาติที่ไปช่วยงานต่างก็ช่วยกันรด เดี๋ยวนี้เคลื่อนไปเป็นเชิญใครต่อใครให้ไปรด แม้ไม่ใช่ญาติก็เชิญ ทั้งรดก็ด้วยสังข์ ไม่ใช่ซัดด้วยบาตร จะมีสวดมนต์หรือไม่มีก็ได้ แม้มีก็เป็นเวลาอื่น มงคลแฝดซึ่งสวมคู่บ่าวสาวเวลารดน้ำนั้นก็ออกจะไม่มีมูล เพราะไม่ได้ล่ามสายสิญจน์ไปหาพระ ทั้งพระก็ไม่มีอยู่ในเวลานั้น สวมให้ติดกันเล่นเฉยๆ ต้องที่ควรจะถามว่าสวมทำไม การกองทุนกองสินก็ไม่ได้กอง แต่นั่นไม่เป็นไร เมื่อมีปรารถนาจะไม่อวดการลงทุนเพื่อทำมาหากินกันแล้ว งดเสียควรอยู่ถูกแล้ว

เมื่อวันที่ ๒๕ ขี่รถไปเที่ยวเล่น ไปเห็นโรงแถวที่ไฟไหม้ในถนนสีลม ซึ่งหนังสือพิมพ์ “บางกอกไตมส์” เขาลงเมื่อวันที่ ๒๐ เห็นเป็นโรงแถวตึกชั้นเดียว ไม่ใช่โรงแถวไม้เหมือนนึก มีคนคุ้ยเถ้าถ่านหาของกันอยู่มากหลาย ทั้งที่เวลาไฟไหม้ก็ล่วงไปหลายวันแล้ว ให้นึกอยากรู้ว่าคนพวกนั้นได้อะไรรุ่มรวยกันไปบ้าง นึกก็ขัน ไฟไหม้ที่นั่นที่บ้านเกล้ากระหม่อมพลอยเข้าเนื้อเข้าไปด้วย แม่โตเอาโต๊ะกินข้าวไปจ้างเจ๊กช่างไม้ซึ่งอยู่โรงแถวนั้นให้ซ่อมแซมทาน้ำมันใหม่ เลยไฟเผาพาเอาโต๊ะสูญไปด้วย เป็นเคราะห์ดีที่ยังไม่ทันส่งโต๊ะเก้าอี้ชุดทาสีขาวไปด้วย แม่โตได้คิดจะให้ซ่อมทำด้วยเหมือนกัน แต่มันว่าราคาเราคิดเห็นว่ายังแพงอยู่จึงระงับไว้ ไม่ทันได้ส่งไปให้ไฟเผาเสียด้วย

ขณะนี้น้ำที่บางกอกมาก ไปไหนคลองคูอะไรที่ไหนก็มีน้ำเจิ่งขึ้นมาปริ่มฝั่ง ลางวันลางเวลาก็ถึงท่วมพื้นที่ลางแห่งบ้าง แต่แล้วก็ลดไป ไม่เท่า พ.ศ. ๒๔๖๐ นั่นถึงดี ที่ไหนๆ ก็ท่วมมากและท่วมไม่รู้ลดเป็นหลายวัน ที่บ้านปลายเนินต้องทำตะพานเงินตะพานทองใช้เดิน หญิงอี่ยังเล็กๆ ถ่อเรือใต้ถุนเรือนโดนเสาปึงปังอยู่สนุก คิดดูถึงเด็กกับผู้ใหญ่มีใจประสงค์ตรงกันข้าม ข้างผู้ใหญ่ต้องการไม่ให้น้ำท่วม แต่ข้างเด็กต้องการให้น้ำท่วม ที่บ้านปลายเนินทางไขน้ำเข้าในบ้านก็ได้ทำประตูไว้ เวลาน้ำมากผู้ใหญ่ก็จัดการปิดประตูกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมบ้าน แต่เด็กๆ มีหลานๆ เป็นหัวหน้า พากันลักเปิดประตูเพื่อให้น้ำท่วมบ้าน เห็นเป็นการสนุก เอ็ดกันไม่หวาดไม่ไหว

นายเฟโรจี มาหา ถามถึงแบบการแต่งงานของไทย ด้วยจะแต่งงานลูกสาว (หนู Isabela) ต้องการจะทำก๊าดให้มีรูปเครื่องหมายการแต่งงานอย่างไทย เกล้ากระหม่อมก็ติด นึกไม่ออก จึงถามว่าทางฝรั่งเขาทำกันอย่างไร ได้ความอธิบายว่าเขามักจะทำกันเป็นรูปรังนก ทีก็จะเป็นรังนกซึ่งมีพ่อแม่และลูกติดอยู่ในนั้น เป็นทางให้พรให้เกิดลูกด้วยดีไปทางลกข้างจีน และถ้ามีอะไรอย่างไทยก็ทีจะให้ช่วยเขียน เมื่อนึกไม่ออกก็ผัดไปว่าจะนึกดูก่อน อันทางข้างไทยเราในการเกิดและแต่งงานจนถึงตาย เราไม่มีสิ่งที่ทำเป็นเครื่องหมายอะไรกันเลย คิดเห็นขึ้นอย่างหนึ่ง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินขึ้นพระราชมนเทียร มีการถวายจั่นหมากทองคำ ทีก็จะหมายเป็นลกอย่างข้างจีนนั่นเอง เข้ารูปรังนกข้างฝรั่ง แต่จะเข้าใจซึมเป็นแต่งงานสมรสหาได้ไม่ คิดไปคิดมาเห็นว่าการแต่งงานของเราไม่ว่าอะไรก็จัดเป็นคู่ทั้งนั้น จึงคิดว่าทำเป็นรูปมงคลแฝดเห็นจะดี ข้างไทยใครเห็นเข้าก็เป็นอันเข้าใจทีเดียวว่าเป็นการแต่งงานสมรส ทั้งชื่อมงคลก็เป็นมงคลอยู่ในตัวด้วย

ปัญหา

ทางฝ่ายเหนือมีเมืองชื่อเมืองอุทุมพรพิสัย เมืองนั้นตั้งอยู่ที่ไหน สังเกตชื่อดูเป็นชื่อเมืองคิดใหม่ๆ เมืองนั้นจะยกตำบลอะไรตั้งขึ้นเป็นเมือง ชื่อเดิมชื่อตำบลอะไร หวังว่าคงจะตรัสบอกได้

ได้ยินว่าศาสตราจารย์เซเดส์ ว่านครศรีธรรมราชเดิมชื่อตามพรลิงเคศวร อ้างถึงว่ามีจารึกอยู่ที่ไหน ได้ยินมาก็ไม่ถนัดชัดเจน ถ้าแปลตามศัพท์ก็เป็นทีว่าศิวลิงค์ทองแดง จะเป็นจารึกอะไรที่ไหน หวังว่าฝ่าพระบาทคงทราบพอที่จะตรัสบอกได้

บรรเลง

จะบรรเลงเรื่องที่ได้ยินถวายต่อปัญหาไป ได้ยินว่าในแคว้นนครหลวงพระบาง มีเมืองชุมพร เมืองนอง จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ ถ้าจริงก็น่าพิศวง ทำไมเมืองข้างใต้จึงไปมีชื่อพ้องกับข้างเหนือ เมืองนองก็ไปเข้ารูปเมืองระนองนั่นแล

เมืองหงสาวดีก็เคยได้ยินมีในเมืองเราทางเหนือ ทำไมชื่อจึงไปพ้องกับเมืองมอญเข้าก็ไม่ทราบ

กลับจากปีนังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เห็นมีสถานรถไฟในแขวงไทรบุรีชื่อว่า “สุไหง ปตานี” มีชื่อไปพ้องกันเข้ากับเมืองปัตตานีของเรา จึงทำให้อยากรู้ขึ้นว่า ปตานี แปลว่ากระไร เป็นเหตุให้สืบสวนก็ได้ความว่า ตานี แปลว่า นา ปตานี แปลว่า ชาวนา ทำให้รู้สำนึกขึ้นว่าแต่ก่อนเราเรียกเมืองปัตตานีว่าเมืองตานีนั้นก็ไม่ผิด ถึงไม่เป็นภาษา คำ ตานี และ ปตานีก็ไปถูกทางอันเดียวกันเข้ากับเขมร ซึ่งคำแสร เขาแปลว่า สำแร แปลว่า ชาวนา สำเหร่ ของเราก็เห็นจะเป็นคำเดียวกับ สำแร นั่นเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ