วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ได้รับประทานแล้วขอประทานทูลสนองดังต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

ระเบียบข้าราชการ จะทูลรวมอย่างง่ายๆ ว่า วังหลวงวังหน้า ตามกระแสพระดำรัสนั้นถูกต้องทุกประการแล้ว ไม่มีข้อความที่เห็นแตกต่างไป จึงได้แต่จะกราบทูลส่งเสริม

เห็นอยู่ได้ว่าแต่ก่อนดำเนินการปกครองบ้านเมือง ด้วยวิธีส่งเจ้าออกไปครองหัวเมืองล้อมกรุงรับหน้าศึก ข้าราชการอันประจำหน้าที่ย่อมจะต้องมีทุกเมือง เมืองใหญ่ก็มีมากเมืองน้อยก็มีน้อย ครั้นตัดเจ้าผู้ครองลงข้าราชการก็ล้มสูญหายไปตามเจ้า ต่อมาก็เหลือแต่เมืองใหญ่อันเป็นเมืองวังหน้า แต่ก่อนถือว่าลพบุรีเป็นเมืองวังหน้า ทีหลังเลือนไปเป็นพิษณุโลก นั่นก็แล้วแต่เหตุการบังคับให้ต้องเลือนไป แตพึงสังเกตได้ว่ากว้างออก ไม่ใช่หุบเข้า แต่ทีหลังหุบเข้าจริง ๆ กวาดเอาวังหน้าเข้ามาอออยู่ในกรุง ข้าราชการเหนือใต้จึงมารวมกันเป็นงบเดียวอยู่ในกรุง การรวมไม่ได้รวมแต่คน สิ่งของก็จะรวมเข้ามาด้วย เช่น พระกรรภิรุมและกระบี่ธุชครุธพ่าห์ สิ่งเหล่านี้ได้กราบทูลถวายความเห็นคราวหนึ่งแล้ว ยังเรื่องตราจำไม่ได้ว่ากราบทูลแล้วหรือยัง ทำไมพระเจ้าแผ่นดินจึ่งมีพระราชลัญจกรหลายดวงนัก สันนิษฐานว่าพระราชลัญจกรเหล่านั้น จะเป็นของสำหรับประจำพระองค์เจ้าผู้ครองหัวเมืองมาก่อน เห็นได้จากตราไอยราพต น่าจะสำหรับตำแหน่งพระอินทราชา นอกกว่านั้นก็เห็นยาก เว้นแต่ตราพระครุฑพ่าห์สำหรับพระรามาธิบดีแน่

จะกราบทูลลุแก่โทษในความเขลา แต่ก่อนไปเที่ยวหาวัดจุฬามณีที่กรุงเก่า แต่ไม่พบที่แท้ตอกขึ้นไปอยู่พิษณุโลก

อันพระนามพระเชษฐาธิราชนั้นก็น่าสงสัย ถ้าแปลตามศัพท์ก็ว่าเป็นพี่ใหญ่ แม้จะเป็นพระเชษฐาแห่งพระบรมราชาก็ได้นึกถึงเมืองที่ทรงครองก็ไม่เป็นเหตุที่ขัดข้อง ด้วยพระราชบิดาโปรดพิษณุโลก จะทรงจัดให้พระโอรสใหญ่ครองพิษณุโลกสืบไปก็เป็นได้ หรือพระเชษฐาธิราชจะเป็นพระอนุชาแห่งพระบรมราชาก็เป็นได้เหมือนกัน แต่จะต้องเป็นพระโอรสอันเกิดแต่พระอัครมเหสี อันหมายถึงเป็นพี่ใหญ่ในครรภ์นั้น

เรื่องตรา คิดด้วยเกล้าว่าจะไม่ผิดอะไรไปจากประเพณีที่ได้เคยเห็น ข้าราชการทุกคนบรรดาที่มีธุระเกี่ยวข้องแก่หนังสือ จะต้องทำตราประจำตัวขึ้นไว้ใช้นับเป็นตราเชลยศักดิ์นอกตำรา ไม่ต้องไปจดทะเบียนที่ไหน ใช้ไปก็รู้กันไปเองด้วยความชิน การจดทะเบียนเป็นของใหม่ ถ้าใครไม่จำตราประจำตัวขึ้นไว้ มีธุระการหนังสือก็ต้องขีดแกงได อันจะเป็นการเลวไปมาก ส่วนตราประจำตำแหน่งนั้นเป็นของพระราชทาน อย่างเดียวกับเครื่องยศ ตราพวกนี้จัดเข้าเป็นตราในตำรา ถ้าผู้ถือตายหรือต้องถอดก็ต้องส่งตราคืนพร้อมด้วยเครื่องยศซึ่งพระราชทาน ถ้าเลื่อนตำแหน่งไม่ได้พระราชทานเครื่องยศใหม่ก็คืนแต่ตราตำแหน่ง

จะกราบทูลรายงานต่อไปถึงเรื่องขีดแกงได ให้มีความสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ว่าทำไมจะรู้ได้ว่าใครขีด เหมือนหนึ่งหยิกเล็บนั้นมีมูลที่จะรู้ได้ คือว่าเอาเล็บคนที่หยิกนั้นสวมที่ลง ถ้าลงกันได้ก็รู้ได้ว่าคนนั้นหยิกไว้ ถ้าลงกันไม่ได้ก็รู้ทันทีว่าเป็นของปลอม แต่ขีดแกงไดนั้นไม่มีที่หมายอันจะพึงรู้ได้ จึงได้กระสับกระสายหาหลักฐาน สังเกตคำแกงไดนั้นว่าเป็นคำเขมร คำ ได ทราบอยู่แล้วว่าแปลว่ามือ แต่คำ แกง นั้นยังไม่ทราบ จึงเปิดพจนานุกรมภาษาเขมรขึ้นดู เขาแปลให้ไว้ว่า ซ่น ฉะนั้นเมื่อเอามารวมกันเข้าก็เป็นอันว่าขีดลงที่ซ่นมือ เห็นความว่าปลายมือจะต้องจดกับอะไรอย่างหนึ่ง แล้วขีดลงที่ซ่น ให้สังเกตได้ว่าเจ้าของหนังสือนั้นมีขนาดมือยาวเท่าไร ถ้าผิดตัวแล้วยากที่มือจะลงขนาดกันได้ ถ้าดังนั้นก็เข้าทีมาก แต่ปลายมือเมื่อก่อนนี้ท่านจะให้จดกับอะไรก็ไม่ทราบ ถ้าจดกับท้ายบันทัดหนังสือ แม้หนังสือหมดลงจวนสิ้นกระดาษ มือก็จะเผ่นออกไปนอกกระดาษขีดไม่ได้ จะต้องหมายจดกับริมกระดาษทางซ้ายหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่เท่าที่เห็นนั้นขีดกันตามบุญตามกรรม ซึ่งจะรู้ไม่ได้เลยว่าใครขีด

เรื่องเมืองละแวก ตามพระดำรัสว่าฝรั่งเขาทูลว่า ฝั่งตะวันตกทะเลสาปไม่มีการก่อสร้างอะไรมากนักนั้น เป็นการที่สมควรแล้ว เพราะบรรดาเมืองหลวงคือเมืองใหญ่ของเขมรย่อมตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกมาก่อนทั้งนั้น ส่วนทางตะวันตกเป็นแต่หัวเมืองเล็กน้อย แต่ข้อนี้ไปเตะผิดเสียทางประเทศชวาเกาะสุมาตรา อันเป็นที่ตั้งแห่งกรุงศรีวิชัยซึ่งเป็นเมืองแม่ คิดว่าจะมีอะไรใหญ่โตดู แต่ก็ไม่มีใครพบอะไรที่ใหญ่โต ไปมีสิ่งก่อสร้างอันใหญ่เสียทางเกาะชวาอันเป็นเมืองลูกทำให้ประหลาดใจอยู่เป็นหนักหนา

วัดพระยืน ได้ยินชื่อมานานแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นพระยืนสี่ทิศ เพิ่งจะได้ทราบที่ตรัสบอกคราวนี้เอง วัดพระเชตุพนที่เมืองสุโขทัยดูทีก็จะเป็นพระพุทธรูปล้อมพระเจดีย์อยู่สี่ทิศเหมือนกัน แต่ไม่มีองค์พระ ใครจะยกเอาไปข้างไหนเสียเมื่อไรไม่ทราบ

พระแสงสำคัญสี่อย่างของเขมร แรกเกล้ากระหม่อมอ่านเห็นก็ทึ่ง แต่ไปท้อใจเสียว่าใหม่ที่ตรงธนูศรกับปืนไฟเป็นของซ้ำกัน ธนูศรก็คือปืน เป็นปืนอย่างเก่า ปืนไฟก็คือปืน เป็นปืนอย่างใหม่ พระแสงทั้งสี่อย่างนั้น เชื่อว่าได้เชิญเอามากรุงเทพฯ หมดทั้งสิ้น ในพระราชพงศาวดารยังมีกล่าวถึงพระขรรค์ชัยศรี เมื่อเชิญเข้ามาฟ้าผ่ากี่แห่งต่อกี่แห่ง แล้วทำไมเมืองเขมรจึงยังมีพระขรรค์ชัยศรีอยู่ เกิดเป็นสององค์ขึ้น คิดว่าจะเหมือนกับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเวลานี้ก็มีอยู่ถึงสามองค์ พูดถึงพระสิหิงค์ก็นึกขึ้นมาได้ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการท่านตรัสว่า พระสิหิงค์ที่นครศรีธรรมราชเข้าทีกว่าที่ไหนหมด เพราะในตำนานมีว่า เรือมาแตก ราชทูตเชิญพระสิหิงค์ทูนหัวว่ายน้ำไปขึ้นฝั่ง ถ้าเป็นพระสิหิงค์ในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ราชทูตเอาทูนหัวคอทูตก็หัก จะกราบทูลถึงพระขรรค์ชัยศรีที่ในกรุงเทพฯ เกล้ากระหม่อมได้พิจารณาโดยใกล้ชิดแล้วเห็นเป็นหอก ไมใช่พระขรรค์ (คือดาบ) ที่เมืองเขมรนั้นฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตรเห็น เกล้ากระหม่อมไม่ได้เห็น แต่คิดว่าคงเป็นหอกเหมือนกัน หอกเขมรฉลักเป็นรูปภาพมีหลายเล่ม ไม่ใช่มีเล่มเดียว จะอ้างตัวอย่างถวายมีที่วังบูรพาเป็นต้น

ข้อที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านสงสัยว่า คำ โสตถิก จะได้แก่ สวัสติก นั้นเข้าทีมาก เกล้ากระหม่อมได้เปิดพจนานุกรมบาลีของอาจารย์ จิลเดอส์ สอบดูคำ โสตฺถิ ให้ตัวสํสกฤตไว้เป็น สฺวสฺติ แปลให้ไว้เป็นไปในพวก Happiness แต่คำโสตฺถิก แปลเฉไปเป็นว่า พราหมณ์ ให้ตัวสํสกฤตไว้เป็น โศฺรตฺริก แต่คำแปลนั้นไม่สำคัญ ท่านผู้แปลท่านเห็นความว่าควรจะเป็นอะไรก็แปลไปอย่างนั้น ที่แปลไว้หลายอย่างก็คือเห็นคำนั้นใช้ในที่ต่างๆ ผิดกันไป จึงแปลทอดแหเข้าไว้ในที่ซึ่งไม่ได้พบก็หงายท้อง ส่วนคำสํสกฤต ซึ่งเอามาลงเทียบไว้ก็ไปเที่ยวหาคำสํสกฤต เมื่อพบคำใดที่มีความหมายใกล้กันก็เอามาลงไว้ ที่เราแปลว่าตามก็เห็นไม่ผิด จะว่าตามรูปสวัสติกก็จะเป็นไรไป เพราะเป็นเครื่องใช้ประดับหน้างวงช้างพวกตาข่าย อนึ่งขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบว่า สวัสติกนั้นไม่จำเป็นต้องปลายงอ กากบาทเท่านั้นก็เป็นสวัสติกได้ เหมือนหนึ่งทางสี่แพร่งก็เรียกสวัสติก หรือเรือนมีสี่มุขก็เรียกว่าสวัสติก

พิธี

สำนักพระราชวังออกหมายบอก กำหนดการบวชนาคหลวง วันที่ ๒๒ ทำขวัญ วันที่ ๒๓ บวช ได้ถวายใบพิมพ์กำหนดการรายละเอียดมาพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว

และสำนักพระราชวังออกหมายบอก กำหนดการพระราชทานเพลิงศพเจ้าแก้วนวรัฐ ณ วันที่ ๒๓ ที่วัดสวนดอกเชียงใหม่มาด้วย

ปกีรณก

ขอประทานกราบทูลรายงานให้ทราบฝ่าพระบาท สืบทราบความมาว่ามอญเรียกลำห้วยลำธารว่า บาง ทั้งนี้ก็มาร่วมรูปเข้ากับที่เราเรียกคลองด้วนว่า บาง จะเป็นเอาอย่างกันหรือไรไม่ทราบ ทูลกระหม่อมชายทรงตั้งพิกัดไว้ดี ว่าสิ่งใดที่มาเหมือนกันเข้า จะต้องพิจารณาไปเป็นสามทาง คือจำเอาอย่างกันทางหนึ่ง เรียนมาครูเดียวกันทางหนึ่ง หรือต่างคนต่างมีเผอิญมาโดนกันเข้าอีกทางหนึ่ง

พระดำรัสซึ่งเคยตรัสเล่าประทานไปครั้งหนึ่ง เรื่องที่ศาลารัฐบาลเมืองปีนัง เขามีการเลี้ยงเบ็ดเตล็ดขนาบคาบเกี่ยวเข้าไปถึงเวลากินอาหารค่ำ ต่อมาเมื่อไปเที่ยวเมืองชวาก็ได้เห็นเขาเลี้ยงกันเช่นนั้นที่โฮเต็ลที่ในเรือหลายแห่ง แล้วมาเห็นในหนังสือพิมพ์ เรียกว่าคอกเตลปาตี ฟังก็เข้าใจคือว่ากินเหล้าและของเคี้ยวเล็กน้อยนำเลี้ยงอาหารเป็นที่ตั้ง แล้วก็เลื่อนไปเป็นทำเช่นนั้นเมื่อไร ถึงจะไม่ต่อกับเวลาอาหารก็ได้

จะกราบทูลเรื่องพิธีตรุษแซกซ้ำเข้าไปอีก ตามที่พระอาจารย์คุณรัตนกราบทูลว่าทางลังกาทำกันอยู่นั้น ทำให้คิดเห็นปรุโปร่งไปว่า ท่านลังกาแก้วลังการามอะไรเหล่านั้นคงเก็บเอามาสอนให้ทำในนครศรีธรรมราชอย่างลังกา แล้วในกรุงเราจำเอามาทำอีกต่อหนึ่ง พิธีไล่ผีก็ดี อาฏานาติสูตต์ซึ่งเอามาสวดไล่ผีก็ดี เห็นเป็นทางมหายาน ไม่สมควรแก่ทางหินยานจะทำ แต่ทั้งสองลัทธินั้นปะปนกันมานานแล้ว เดิมทีก็เป็นลัทธิอันเดียวกัน แล้วต่างฝ่ายต่างก็แก้ไป ไม่ใช่แก้แต่ฝ่ายเดียว จึงได้แยกเป็นสองนิกาย เมื่อดูปลายก็ผิดกัน จึงควรให้อภัยในการที่ปะปนกันนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ