วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ได้รับประทานแล้ว

พระราชลัญจกร

จะกราบทูลเรื่องพระราชลัญจกร ซึ่งได้กราบทูลขาดค้างอยู่ให้เต็มเสียก่อน

หนังสือในพระราชลัญจกร “สยามโลกัคคราช” ตามที่เขียนถวายมาก่อนแล้วนั้น ได้ปรึกษาหาคำแปลแก่พระมหาเถร ซึ่งท่านรู้หนังสือดีหลายรูป ได้ความว่าถ้าหากแปลตรง ๆ ไม่ประกอบคำประดับพระเกียรติยศแล้ว จะเป็นความดังนี้

(๑) อนี้ คือตราประทับหนังสือ

(๒) ของอัครราชาสยามโลก

(๓) ผู้ปกครองสั่งสอน

(๔) สรรพชนในแว่นแคว้นฯ

ส่วนพระราชลัญจกร “นามกรุง” ซึ่งมีหนังสือขอมอยู่ในกรอบลายดอกไม้นั้นพบเข้าใหม่โดยบังเอิญ ปรากฏหนังสือในนั้นเป็นดังนี้

กฺรุงฺเทวมหานคร

อมรรตนโกสินฺท

มหินฺทาโยชฺฌิยา

ปรมราชธานีฯ

ไม่ต้องแปล

พระราชลัญจกรสององค์นี้ น่าสงสัยอยู่ว่าทรงสร้างขึ้นทำไม “สยามโลกัคคราช” นั้นพอจะเห็นทางได้ว่าอาจเป็น “มหาโลโต” นำพระราชดำริไปให้ทรงสร้างขึ้น แต่ “นามกรุง” นั้นคิดตามไปไม่ถึง จะสังเกตที่ใช้ตามที่เคยใช้ ก็เห็นใช้แต่ในทางวัดๆ ไม่รู้สึกว่าจำเป็นควรต้องสร้างพระราชลัญจกรนั้นขึ้นใช้โดยจำเพาะจะใช้ “พระบรมราชโองการ” อย่างการบ้าน ๆ ดูไม่น่าจะขัดข้องเลย

สนองลายพระหัตถ์

ในเรื่องที่วิสุงคามสีมานั้น เกล้ากระหม่อมอยากจะปรับว่าเป็นเรื่องที่หลงวินิจฉัยกันถี่ถ้วนเกินไป ความประสงค์เดิมท่านจะห้ามไม่ให้ไปทำสังฆกรรมในอันมีเจ้าของหวงแหน เช่นในเรือนบุคคลหรือในนาของบุคคล ซึ่งเจ้าของเขาอาจมาไล่เสียก็ได้ แม้ทำในป่าอันไม่มีบุคคลหวงแหน หรือทำในลำน้ำลำคลอง อันเป็นที่สาธารณะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ย่อมทำได้เสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นที่ในหมู่บ้านจึงต้องมีใครยกให้ ว่าที่นั่นเป็นส่วนของพระ จะทำอะไรก็ได้ตามใจ การให้ที่นั้นไม่สำคัญที่ว่าต้องให้ด้วยวิธีอย่างไร จะให้ด้วยปากหรือให้ด้วยหนังสือใช้คำอย่างไรก็ได้ สุดแต่ให้เป็นผลสำเร็จจริงก็ใช้ได้ทั้งนั้น

ตราพระลักษณ์ทรงหณุมาน ตามที่เกล้ากระหม่อมกราบทูลว่าได้เห็นนั้นเป็นตราประจำครั่ง ส่วนตราประจำชาตินั้นไม่เคยเห็น อาจหายเสียแล้วอย่างที่ทรงพระดำริก็เป็นได้ ตรานารายณ์ทรงปืนนั้นได้พบสองดวง ดวงหนึ่งเป็นปืนครกรางแท่นมีขนาดย่อมหน่อย อีกดวงหนึ่งเป็นปืนใหญ่รางเกวียน นอกจากนารายณ์ยังมีรูปเทวดาถือธงอยู่อีกด้วย ดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่า จะเป็นตราน้อยตราใหญ่คู่กันหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ ตราดวงใหญ่ที่กราบทูลนี้ ไม่เคยพบประทับอะไรที่ไหน ที่พบก็เป็นดวงตราที่เก็บไว้ไนกรมอาลักษณ์

หน้าบันวิหารพระธาตุที่วัดมหาธาตุนั้น เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ไม่ใช่พระลักษณ์ทรงหณุมาน ที่ทรงหณุมานนั้นเป็นที่วิหาร พระโลกนาถวัดพระเชตุพน ตัวทรงมีสี่กรเป็นนารายณ์ นารายณ์จะหมายถึงพระรามได้ จะหมายถึงพระลักษณ์ไม่ได้ ด้วยไม่ใช่นารายณ์อวตาร ที่ระเบียงพระนครวัดนั้น เขาฉลักเป็นรูปมนุษย์สองกรถือศรขี่ลิง แล้วมีรูปมนุษย์ถือศรยืนอยู่เบื้องหลัง ถัดไปมีรูปยักษ์ยืนถือพระขรรค์ จึงทำให้เข้าใจไปว่ารูปมนุษย์ขี่ลิงนั้นหมายทำเป็นพระราม รูปมนุษย์ยืนนั้นหมายทำเป็นพระลักษณ์ รูปยักษ์ยืนนั้นหมายทำเป็นพิเภก ยังได้นึกประหลาดใจ ว่าอ้ายนี่ทำไปโดนกับหน้าบันวิหารพระโลกนาถ จริงอยู่ในที่ใกล้รูปมนุษย์ขี่ลิงนั้น เขาทำเป็นธงมีรูปครุฑติดอยู่ที่คัน ยิงทำให้เห็นชัดขึ้นอีกว่ารูปมนุษย์ขี่ลิงนั้น เขาตั้งใจจะให้เป็นพระราม คือนารายณ์อวตารลงมาที่ไม่ได้ทำให้ทรงครุฑก็เพราะครุฑไม่ได้อวตารตามมาด้วย ให้ขี่ลิงแทนดูก็มีผลที่สมควรอยู่ เรื่องนารายณ์ขี่ครุฑนั้นก็เถียงกันมาแต่อินเดียแล้ว ในหนังสือมหาภารตยุทธ์ว่าครุฑขอพรมาอยู่ที่ธง ไม่ได้ขอพรก้มหลังให้ขี่ ที่จริงคำว่า “วาหะ” (ซึ่งเอามาใช้ต่อหลังว่า “ครุฑพาหะ”) นั้น แปลว่านำไป ลางพวกก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ขี่ไป ลางพวกก็เห็นว่าไม่ใช่ เช่นพระพิฆเนศวรมีหนูเป็นพาหะช้างจะขี่หนูอย่างไรได้ ต้องหมายเป็นตรา เป็นธง เป็นเพื่อนและเป็นอะไรอื่นๆ ไป ชื่อขุนนางผู้ใหญ่ของเรา ซึ่งลงท้ายว่า “วิริยพาห” นั้น เป็นความคิดของพวกที่เห็นว่าคำ “วาหะ” ไม่ได้หมายความว่าเป็นของขี่ ไม่ใช่คนใช้สำหรับขี่คอไป เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำต่างหาก เหตุเป็นดังนี้จึงได้ทะเลาะกัน พวกไหนจะเล่านิทานก็เล่าให้เป็นไปตามใจ ยังมีอีกทางหนึ่ง ได้เห็นที่ไหนก็ทูลจำหน่ายไม่ตกเสียแล้ว ในที่เป็นบานคู่เขาเขียนรูปมนุษย์ทรงหณุมาน ใบหน้ารูปมนุษย์ทรงองคตตามหลัง คิดว่าตั้งใจจะให้เป็นพระรามกับพระลักษณ์ พระรามทรงหณุมานนั้นไปโดนเข้ากับที่พระนครวัด พระลักษณ์ทรงองคตนั้นไม่โดนกับที่ไหน คงจะขึ้นให้ได้คู่กันเท่านั้น ที่เรียกว่าพระลักษณ์ทรงหณุมานนั้นยึดเอาตามที่กล่าวไว้ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ เมื่อพระลักษณ์ปราบมูลผลัมแน่ แต่เรื่องรามเกียรติ์นั้นก็เหลือเกิน ฉบับกรุงธนและกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ก็ผิดกันไปมากๆ หากจะเอาฉบับใดไปเทียบกับฉบับอินเดียก็ลงกันไม่ได้ ในอินเดียเองมีเรื่องรามเกียรติ์หลายฉบับ ต่างผิดๆ กันทั้งนั้นตราพระลักษณ์ทรงหณุมานนั้น เป็นแน่ว่าผู้ตั้งชื่อตั้งเทียบเอาตามเรื่องรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ ตอนปราบมูลผลัม แต่คนเขียนตรานั้นเขาจะนึกเป็นอย่างอื่นก็เป็นได้

ในการ “จุดไต้ตำตอ” จะถือเอาว่าเป็นการไม่มีประโยชน์เห็นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าตอจะรู้อะไรไปหมดทุกอย่าง ลางอย่างก็ไม่รู้ ถ้าถูกไต้ตำเข้าที่ไม่รู้ก็รู้ขึ้น เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงเลื่อนไป อยู่ที่คนจุดตำถ้าเป็นผู้มีความคิดแล้วก็มีประโยชน์ ถ้าไม่มีความคิดแล้วก็ไร้ประโยชน์

พระปรางค์ “บายน” ในพระนครธมนั้น รื้อแก้และทำต่อกันมามากต่อมาก จนเกล้ากระหม่อมไปประเดี๋ยวเดียวก็ยังเห็น ได้ชี้ให้ศาสตราจารย์เซเดส์ดู แกยังจำได้จนเอามาออกชื่อแสดงในปาฐกถา เพราะเห็นได้ว่าทำแก้กันมาหลายคราเช่นนั้น จึงได้เกิดสงสัยขึ้นในความเห็นของอาจารย์ลางคน แต่ศาสตราจารย์เซเดส์นั้นเชื่อแน่ว่ารู้ดีตลอด คำวิจารณ์ที่ส่งไปลงพิมพ์นั้นเชื่อว่าดีมาก หนักใจแต่ที่ส่งไปวิลันดา น่ากลัวพิมพ์เป็นภาษาที่จะอ่านไม่ออก แต่ทรงอ่านได้ก็เชื่อว่าเขาคงแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย

เรื่องงิ้วซึ่งประทานโปรแกรมไป อ่านมืดแปดด้าน ไม่ซึมทราบเหมือนโปรแกรมหนังเรื่องตั๋งโต๊ะ ที่ประทานเข้าไปคราวก่อน คำว่า King of the Western Regions นั้นเป็นฝรั่งหรืออะไร ถ้าเป็นฝรั่งทีก็จะไปทางเล่นเรื่อง “อั้งหมอ พะกึงตัง” ในเรื่องเครื่องแต่งตัวซึ่งประทานพระดำรัสไปนั้นเข้าใจดี ด้วยเคยไปดูงิ้วที่โรงถนนเยาวราช เจ๊กเขาชวนไป เห็นเครื่องแต่งตัวเหมือนอย่างที่ตรัสบอก สิ่งที่เอามาทำนั้นงามขึ้นกว่าเก่าจริง แต่ฝีมือที่ทำผิดจากแบบจีนอย่างเก่าไปมาก ในข้อนี้เกล้ากระหม่อมก็เก็บเอามาวิตกถึงช่างไทย เห็นทำอะไรก็เป็นอย่างฝรั่งยิ่งขึ้นทุกที แต่แล้วก็ปลงตกว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะความสมาคมกว้างออกทำให้ได้เห็นมากขึ้น สิ่งไรมีแรงก็ดูดเอาไป งิ้วที่ปีนังเขาจัดเล่นเจือเข้าไปในแบบเก่ามากนั้น ขอบใจเขา ที่ถนนเยาวราชนั้นโซดเต็มที มีฉากและซ่อนดุริยดนตรีอย่างละครฝรั่งทีเดียว ถ้าจะพูดถึงงิ้วแบบเก่า เอาแต่จัดโรงเท่านั้นก็ดีล้ำเลิศเสียแล้ว ทีแรกโรงก็ยกพื้นสูงช่วยคนดู ไม่ให้ลำบากที่จะต้องไปหาม้ายกมาต่อตีนดู ที่เล่นก็เอาม่านสี่ห้าผืนมาแขวนเข้าก็ใช้ได้ เครื่องประกอบการเล่นเช่นโต๊ะเก้าอี้ถึงจะเป็นของแร้งทึ้งอะไร เอาผ้างาม ๆ คลุมเสียก็งามไปหมด ดุริยดนตรีก็จัดสำคัญ แยกเอาดนตรีเล่นเวลาร้อง ดุริยเล่นเวลาออกท่า ไม่กลบเสียงกันได้ เครื่องดุริยถึงจะมีเสียงโฉ่งฉ่างตูมตามมาก็ตีมีระเบียบเข้ากันดี ไม่ใช่ต่างคนต่างตีไปตามใจอย่างประโคม

เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ จะกราบทูลเสริมให้ทรงระลึกได้ว่าฝ่าพระบาทได้เคยโปรดให้ขนแผงข้างหลายคู่ เข้าใจว่าเป็นแผงซึ่งตรัสเรียกมาจากกรมม้า ประทานมาให้เกล้ากระหม่อมพิจารณาว่าคู่ไหนเป็นฝีมือพม่า เกล้ากระหม่อมได้บอกให้ไปกราบทูลว่าไม่มี ข้อที่เราใช้เครื่องพม่าเป็นเครื่องทหารตรองเห็นเหตุที่นอกจากขี่กระชับแน่นได้อีกอย่างหนึ่ง ว่าเป็นเกราะกันไม่ให้อาวุธต้องม้าในที่สำคัญได้มากด้วย เครื่องม้าพระที่นั่งทองคำจะมีกี่เครื่องไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเคยได้ดูถี่ถ้วนเครื่องหนึ่ง ทำด้วยเหล็กปรุแผลงทอง หัวอานจำหลักเป็นรูปครุฑ จะว่าเครื่องนี้เป็นของอะแซหวุ่นกี้ถวายก็หาได้ไม่ เครื่องอะแซหวุ่นกี้นั้นเห็นจะแสวงกันมานานแล้ว ได้ยินเมื่อเร็วๆ นี้เองที่สำนักพระราชวังค้นได้ ได้ส่งไปพิพธภัณฑ์สถานแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ยินดี จะทำให้ผู้แสวงสิ้นห่วงไป เรื่องพระนาม “พวงสร้อย” มาแต่สร้อยพม่าเป็นมูลนั้น ยังไม่เคยทราบเลย ได้ความรู้ดีเต็มที คำ “ปิไส” นั้นได้สืบทางชวามลายูแล้ว ได้ความว่าเขาเรียก “ปริไส” ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่าเราพูดตัวควบไม่ถนัดทำให้ตัว ร ตกไปเสีย เข้าใจว่าชื่อนี้เองที่เปลี่ยนไปอีกต่อหนึ่งเป็น “แทงวิไสย” ด้วยตามธรรมดาอ่านไม่เข้าใจก็ต้องคิดว่าเขียนผิด ต้องแก้ลากไปหาคำที่เข้าใจ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ