วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคมนั้นแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

ซึ่งท่านทรงพระเมตตาโปรดให้นิมนต์พระดิศไปเข้าในงานฉลองเรือนใหม่ที่หญิงอี่สร้าง คล้ายกับฉลองพระดิศด้วยนั้น หม่อมฉันมีความยินดีอนุโมทนาและขอบพระคุณมาก นอกจากนั้น ขอได้โปรดตรัสบอกหญิงอี่ด้วยว่าหม่อมฉันอวยพร แก่เธอกับทั้งลูกทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกประการเป็นนิจ เทอญ

เสมาวัดบวรนิเวศนั้น หม่อมฉันก็ได้เคยสังเกตว่าใบเสมาติดกับผนังพระอุโบสถ และมีอยู่ในซุ้มใต้ฐานชุกชีด้านหน้าใบ ๑ และยังมีนอกพระอุโบสถข้างด้านหลังที่เคยเป็นวิหารพระพุทธชินสีห์อีกใบ ๑ ที่ทำใบเสมาติดกับผนังโบสถ์หม่อมฉันเคยสังเกตว่ามีที่อื่นอีก ๒ แห่ง คือที่พระอุโบสถวัดชะนะสงคราม แห่ง ๑ ซึ่งหม่อมฉันสันนิษฐานว่ากรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๑ คงจะทรงทำอย่างนั้นตามคำแนะนำของพระมอญจึงเป็นแรกมี ครั้นต่อมาเมื่อไฟไหม้พระมณฑปและอุโบสถวัดมหาธาตุ กรมพระราชวังบวรพระองค์นั้นทรงปรารภว่าพระอุโบสถเดิมเล็กไป จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ขยายแนวผนังออกไปเท่าแนวใบเสมาเดิม แต่จะขยายแนวสีมาไม่ได้ เพราะติดพระวิหารและพระมณฑป จึงให้เอาใบเสมาติดกับฝาผนังพระอุโบสถเหมือนอย่างวัดชะนะสงคราม หม่อมฉันเคยนึกประหลาดใจว่า เหตุไฉนที่วัดมหาธาตุ โบสถ์กับวิหารซึ่งสร้างเป็นคู่กันจึงไม่เท่ากันและจึงไม่เข้ากับศูนย์พระมณฑป ให้ลองเอาเส้นวัดชันสูตรดูก็ได้ศูนย์กันหมด จึงรู้ว่าพระอุโบสถเดี๋ยวนี้เป็นของสร้างใหม่ ขยายแนวผนังออกไปเท่าแนวเสมาเดิม ชวนให้เห็นว่ากรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๓ จะเอาแบบใบเสมาติดฝาผนังที่วัดชะนะสงครามและวัดมหาธาตุไปทำที่วัดบวรนิเวศ แต่ปรากฏในหนังสือบางเรื่องคือ “ประวัติวัดบวรนิเวศ” ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณทรงพระนิพนธ์เป็นต้น ว่าเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวช เสด็จประทับอยู่ณวัดบวรนิเวศ ได้ทรงทำพิธีผูกพัทธสีมาวัดบวรนิเวศอีกครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง หม่อมฉันไม่มีหนังสือที่จะสอบที่ปีนัง ถ้าทรงสอบหนังสือนั้นคงจะได้ความ

เรื่องไฟไหม้ที่ถนน ๒๒ กรกฎานั้นหม่อมฉันได้อ่านทั้งเห็นแผนที่ในหนังสือพิมพ์แล้วดูท้องที่ถูกไฟไหม้ใหญ่โตจริง ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่ ๒ หรือที่ ๓ ที่เกิดไฟไหม้ในท้องที่นั้น ถอยขึ้นไปจากครั้งนี้ก็เป็นเพราะ “ไฟใหญ่” ไหม้ ในรัชกาลที่ ๖ จึงเป็นมูลเหตุให้สร้างวงเวียนและถนนแยกไปหลายสาย มีถนน ๒๒ กรกฎาคม เป็นต้น

ที่ตรัสว่าทรงระลึกถึงไฟไหม้ในสมัยเมื่อพระองค์ท่านยังทรงเป็นตำแหน่งนายทหารนั้น ชวนให้หม่อมฉันนึกต่อไปถึงวิธีดับไฟอย่างโบราณที่ได้เคยรู้เห็นมา ดูน่าจะเขียนพรรณนารักษาไว้อย่าให้สูญเสีย จึงเลยเขียนบรรเลงถวายในจดหมายเวรฉบับนี้ ต้องเริ่มความเบื้องต้นสำหรับให้คนสมัยใหม่เข้าใจก่อน ว่าการดับไฟด้วยมีกรมทหารตั้งขึ้นสำหรับดับไฟด้วยใช้เครื่องดับมีสูบเป็นต้นอย่างฝรั่ง เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แต่ก่อนนั้นการดับไฟใช้ประเพณีอย่างโบราณ ถ้าพิจารณาดูน่าชมว่าเป็นวิธีดีที่สุดซึ่งจะทำได้ในสมัยนั้น ๆ ด้วยแต่ก่อนมาเย่าเรือนที่พลเมืองอยู่ ถ้าเป็นชั้นราษฎรอยู่เรือน “เครื่องผูก” ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจากเป็นพื้น ชั้นคฤหบดีก็อยู่เรือนเรียกว่า “เครื่องสับ” โครงเรือนทำด้วยไม้แก่นแต่ฝาเป็นโครงไม้ไผ่กรุกระแชงอ่อน หลังคามุงจาก ชั้นสูงขึ้นมาถึงบ้านขุนนางอยู่เรือน “ฝากระดาน” ทำด้วยไม้แก่นทั้งหมดและหลังคามุงกระเบื้องเกล็ด วังเจ้าก็เป็นเรือนฝากระดานเป็นแต่เปลี่ยนรูปและขนาดผิดกับเรือนขุนนาง ตึกมีแต่เรือนพวกจีน เช่นในตลาดสำเพ็ง ทำตามแบบตึกในเมืองจีน และโบสถ์วิหารในวัดกับพระราชมนเทียรของพระเจ้าแผ่นดิน เรือนชนิดต่างๆ ที่ว่ามานี้เสี่ยงอัคคีภัยต่างกัน พวกเรือนเครื่องผูกและเครื่องสับไฟไหม้ง่ายกว่าเรือนฝากระดานและตึก เพราะถ้าเกิดไฟไหม้ลมมักพัดพาลูกไฟจากเรือนที่ไฟกำลังไหม้ปลิวไปตกบนหลังคาเพื่อนบ้าน ถ้าเป็นเรือนหลังคาจากก็เลยเกิดไฟไหม้เรือนเพื่อนบ้านต่อๆ ไป แต่ลูกไฟไม่สู้เป็นอันตรายแก่เรือนหลังคามุงกระเบื้อง เว้นแต่ประมาทปล่อยให้ลูกไฟลุกอยู่นาน จนเปลวไฟไปถึงตัวไม้ไฟจึงไหม้

การป้องกันไฟอย่างโบราณนั้น เจ้าของบ้านแม้ในวังเจ้าบ้านขุนนางก็ต้องหาเครื่องมือสำหรับดับไฟเตรียมไว้ เครื่องมือนั้นเรียกว่า “พร้าขอตะกร้าน้ำ” “พร้า” นั้นรูปร่างคล้ายกับเคียวเกี่ยวข้าวมีคมสำหรับตัดเครื่องผูกหลังคา “ขอ” นั้นเป็นเหล็กแหลมปลายงอเรียงกันอย่างเรียกว่ามือเสือ สำหรับเกี่ยวรื้อแย่งสรรพสัมภาระตรงที่ไฟติดหรือใกล้จะติดเอาลงเสีย “ตะกร้อน้ำ” นั้นสานด้วยไม้ไผ่เอาชันยาอย่างครุ (ภายหลังมาเปลี่ยนทำด้วยสังกะสี) สำหรับเอาน้ำขึ้นไปเทดับไฟ ของที่กล่าวมานี้ย่อมมีด้ามไม้รวกต่อให้ยาวถึงหลังคา มีอย่างละหลายๆ อันปักราวเรียงไว้ทุกบ้าน เพราะถึงเป็นวังเจ้าบ้านขุนนางก็ย่อมมีเรือนผูกเครื่องสับอยู่ในบริเวณเป็นที่อยู่ของบ่าวไพร่มากบ้างน้อยบ้างแทบทั้งนั้น ถ้าเป็นเรือนหลังคากระเบื้องก็มีคนขึ้นหลังคาคอยระวังลูกไฟ มักใช้ดับด้วยเอาผ้าชุบน้ำฟาดดับไฟตรงที่ลูกไฟติด

ลักษณะการดับไฟอย่างโบราณเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า “ดับไฟ” อย่าง ๑ “ตัดไฟ” อย่าง ๑ ดับไฟคือทำให้ไฟที่ลุกแล้วดับไปด้วยใช้เครื่องมือดังพรรณนาเป็นต้น ตัดไฟนั้น ถ้าเป็นเวลาลมแรงหรือไฟไหม้ที่บ้านเรือนมากเป็นปึกแผ่น รื้อเรือนที่ไฟยังไม่ไหม้อันอยู่ทางใต้ลมลงเสียให้เป็นที่ว่างเสียตอนหนึ่ง มิให้มีอะไรเป็นเชื้อที่ไฟจะไหม้ ไฟใหม่มาถึงตรงที่ว่างนั้นก็ต้องหยุดไปเอง

วิธีดับไฟอย่างโบราณมีอยู่ในบทละครเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาเผาโรงมหรสพในเมืองดาหาบท ๑ ว่า

“บัดนั้น อำมาตย์รับสั่งใส่เกศี
ออกมาขับต้อนโยธี เข้าดับอัคคีทันใด
ขุนช้างไสช้างเข้าเสยสอย เย่าเรือนใหญ่น้อยไม่ทนได้
งวงคว้างาแทงทะลายไป เสียงไม้โผงผางล้างลง
บ้างขึ้นหลังคาเอาผ้าฟาด ตะกร้อน้ำซ้ำสาดแล้วตักส่ง
บ้างตัดฝาฟันฟากกระชากลง ยับลงด้วยกำลังโยธี”

การดับไฟยังมีสำคัญอีกอย่าง ๑ คือที่จะป้องกันโจรผู้ร้าย เพราะเจ้าของบ้านเรือนที่ไฟไหม้หรือใกล้จะถูกไหม้ย่อมรวบรวมทรัพย์สมบัติพาหนีไฟ เป็นช่องที่พวกผู้ร้ายจะเข้าแย่งชิงเอาทรัพย์สมบัติเวลาเจ้าของกำลังอะร้าอะหร่ำ โดยเฉพาะถ้าไฟไหม้ในเวลามืดค่ำ เจ้าของต้องถือเครื่องศาสตรามีดาบ เป็นต้น คอยป้องกัน อาจจะเกิดฆ่าฟันกันในเวลาชุลมุนเช่นนั้น จึงเกิดประเพณีที่ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องไปยังที่ไฟไหม้ เพื่อบัญชาการดับไฟเละป้องกันโจรผู้ร้ายด้วยทั้งสองสถาน ถ้าเป็น “ไฟใหญ่” ไหม้บ้านเรือนมากพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จไปทรงบัญชาการเอง ได้ยินเล่ากันมาว่าวังหลวงเข้าดับฝ่ายหนึ่งวังหน้าเข้าดับฝ่ายหนึ่ง เจ้านายและข้าราชการก็ไปตามเสด็จคอยรับสั่งให้เป็นนายด้านทำการเป็นส่วนๆ โดยลำดับ ถ้ามิใช่ไฟใหญ่พระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จไปเอง เจ้านายผู้ใหญ่ที่เสด็จไปก็ทรงบัญชาการ หม่อมฉันได้เคยเห็นทั้ง ๒ อย่าง ดูสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงถือราชประเพณีเช่นนั้นมาแทบตลอดรัชกาล หม่อมฉันเคยตามเสด็จหลายครั้ง และเคยเห็นที่เจ้านายทรงบัญชาการ ดูก็น่าพิศวงด้วยเจ้านายที่เสด็จไปนั้นมีแต่มหาดเล็กตามห้อมล้อมไปไม่กี่คน ได้อาศัยพวกราษฎรที่มาดูไฟนั่นเอง เป็นพนักงานดับออกพระโอษฐ์สั่งใครให้ช่วยอย่างไรคนนั้นก็ทำตาม ดูเหมือนคนที่ไปดูโดยมากจะมีน้ำใจอยากจะช่วยอยู่ทั้งนั้น พอมีนายสั่งก็ทำตาม เมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯ เป็นเสนาบดีกรมเมืองท่านใช้วิธีแปลกอย่างหนึ่ง คือเอาสมอโยธกาที่เรือใบไปทะเลใช้นั้นมาทั้งเชือกสายสมอ สั่งให้คนเอาสมอปีนขึ้นไปเกี่ยวกับอกไก่เรือนที่จะรื้อตัดทางไฟ แล้วตรัสชวนพวกคนดูให้ช่วยกันฉุดเชือกสายสมอประเดี๋ยวเดียวเรือนก็พัง

เมื่อเราเป็นทหารถูกกักอยู่ในวังในเวลาไฟไหม้นั้นก็มาแต่ประเพณีโบราณ ด้วยถือว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้อาจจะเป็นโดยธรรมดา หรือเพราะข้าศึกลอบเข้ามาเอาไฟเผาพระนคร ดังเช่นอิเหนาทำอุบายเผาเมืองดาหา เพื่อเหตุอย่างนี้เวลาเกิดไฟไหม้จึงปิดประตูพระราชวังและเรียกพวกทหารประจำกองพร้อมกันหมด

การเปลี่ยนแปลงวิธีดับไฟก็น่ากล่าวถึงอยู่บ้าง คือที่คิดตัดต้นเหตุไฟไหม้ด้วยห้ามมิให้ทำเรือนหลังคาจากในพระนคร เปลี่ยนเป็นมุงสังกะสีฝากระดานแทนนั้นดูก็ขัน ด้วยเป็นแต่เปลี่ยนโทษอย่างหนึ่งไปเป็นโทษอย่างอื่น ซึ่งยังเป็นอยู่จนไฟไหม้คราวหลังนี้ คือเรือนไม้มุงสังกะสีคุ้มภัยไม่ต้องเกรงลูกไฟจะไหม้หลังก็จริง แต่จะรื้อตัดทางไฟอย่างเรือนเครื่องสับไม่ได้ เพราะใช้ตะปูกรึงแผ่นสังกะสีติดแน่นกับตัวไม้หลังคา และเรือนหลังคามุงสังกะสีนั้น แม้ทำเป็นเรือนเดี่ยวหรือเรือนแถวยาวสักเท่าใด พอไฟไหม้ถึงปลายหลังคาเรือนหรือแม้เพียงไหม้ใกล้เข้ามา คนจะขึ้นดับเหมือนเรือนหลังคามุงกระเบื้องก็ไม่ได้ เพราะสังกะสีหลังคาร้อนไปตลอดทั้งหลังจนคนทนร้อนขึ้นไปบนหลังคาไม่ได้ ไฟติดเรือนเช่นนั้นแม้เพียงเล็กน้อยก็มักไหม้หมดทั้งหลัง จะว่าการที่เปลี่ยนแปลงเป็นคุณแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้

วิธีการดับเพลิงเดี๋ยวนี้ใช้เครื่องสูบอย่างแรงและมีทั้งทหารดับเพลิง และโปลิศล้อมเป็นบริเวณห้ามมิให้ใครเข้าไปดูไฟใกล้เหมือนแต่ก่อน ก็เป็นระงับเหตุไม่ต้องเกรงโจรผู้ร้ายในเวลาไฟไหม้ต้องนับว่าดี แต่ก็เป็นอันเลิกประเพณีที่เจ้านายต้องไปช่วยดับไฟดังแต่ก่อนมา

เบ็ดเตล็ดทางปีนัง

หม่อมฉันเห็นในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ ว่ามีมหาราชาในอินเดียองค์ ๑ ออกมหาพิเนศกรมอย่างสมัยใหม่ดูแปลกประหลาดนักหนา จึงตัดหนังสือพิมพ์นั้นถวายมากับจดหมายนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ