วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑ มิถุนายน หม่อมฉันได้รับแล้ว

หม่อมฉันมีความยินดีขอบพระคุณซึ่งทรงรับเป็นพระธุระในการบวชชายดิศแทนตัวหม่อมฉัน

ข้อความที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ แม้จะทูลแต่บางข้ออธิบายก็เห็นจะยาวอยู่สักหน่อย

การเล่นสงครามบุปผชาติที่มีในกรุงเทพ ฯ เมื่อเร็วๆนี้นั้น หม่อมฉันได้เห็นรูปฉายที่ลงในหนังสือพิมพ์รำลึกถึงความหลังครั้งเมื่อสมเด็จพระพันวัสสาเสด็จมาประพาสเมืองปีนัง ประทับอยู่ซินนามอนฮอล ทรงสนทนากับหม่อมฉันถึงเรื่องอะไรต่ออะไรต่างๆ เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ว่ากันไปถึงการเล่นต่าง ๆ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริจัดขึ้น เห็นว่าบรรดาการแห่แหนเล่นหัวซึ่งสนุกสนานน่าดูได้เห็นอย่างดีเมื่อรัชกาลที่ ๕ หมดแล้ว การเล่นที่มีขึ้นในสมัยชั้นหลังไม่น่าดูเหมือนครั้งนั้นก็เลยสิ้นอยากดู อาจจะเป็นด้วยในสมัยโน้นยังไม่แก่เฒ่า ถึงสมัยนี้แก่ชราความพอใจเปลี่ยนแปรมาตามวัยก็เป็นได้

เจ้าแก้วนวรัฐถึงพิราลัยนั้น หม่อมฉันรู้สึกโศกเศร้าอยู่ ด้วยเธอเป็นทั้งมหามิตรคน ๑ และเป็นสหชาติด้วย ประเพณีจัดการศพเจ้าประเทศราชทางฝ่ายเหนือแต่ก่อนมานั้น เมื่อเจ้าประเทศราชถึงพิราลัยเจ้านายและท้าวพระยาในบ้านเมืองเขาจัดการไว้ศพตามเกียรติยศอย่างเช่นถือกันเป็นประเพณีบ้านเมือง ต่อเมื่อจะปลงศพจึงมีข้าหลวงเชิญศิลาหน้าเพลิงกับโกศและฉัตร กับทั้งของไทยธรรมขึ้นไปพระราชทานเพลิง เชิญศพเข้าโกศเมื่อก่อนงานเมรุ หม่อมฉันเคยเห็นหลักฐานตามที่ทูลมานี้ด้วยตาตนเอง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ตอนแรกหม่อมฉันว่ามหาดไทยเมื่อเจ้าราชวงศ์ (สุริยะ) เมืองน่านลงมารับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เธอเอาฝาลองประกอบโกศซึ่งพระราชทานไปในงานศพเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้านครน่าน บิดาของเธอมาส่งที่กระทรวงมหาดไทย ว่าพวกข้าหลวงทิ้งไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในหนทางที่กลับลงมา เธอมาพบจึงเอามาด้วย หม่อมฉันได้ความละอายจึงไม่ลืมและจำได้ต่อไปว่าฝานั้นเป็นทรงปราสาท คิดดูบัดนี้ก็เข้าใจว่าเป็นลองแปดเหลี่ยมเทียบยศเจ้าประเทศราชเสมอเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ ความส่อต่อไปว่า ถ้าเป็นพระเจ้าประเทศราช โกศคงประกอบลองไม้สิบสองเสมออัครมหาเสนาบดี ครั้งที่ ๒ เมื่อหม่อมฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรก พระเจ้าเชียงใหม่อินทรวิชานนท์ เพิ่งถึงพิราลัยไม่ช้านัก หม่อมฉันไปทำบุญหน้าศพซึ่งตั้งไว้ในหอคำ ศพใส่หีบทองทึบมีเหมบนฝาหีบและทำห้องกระจกตั้งครอบทั้งชั้นรองและหีบศพอีกชั้นหนึ่งตัวไม้ปิดทองทึบเหมือนกัน ครั้งที่ ๓ เจ้านครลำปาง บุญวาทวงศ์มานิต ถึงพิราลัยในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันไปทำบุญหน้าศพที่คุ้มหลวง เห็นศพใส่หีบ (ดูเป็นอย่างสามัญไม่เหมือนอย่างหีบศพพระเจ้าเชียงใหม่ มาได้พระราชทานเพลิงเมื่อรัชกาลที่ ๗) หม่อมฉันนึกต่อไปถึงพระศพพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รู้แต่ว่าได้พระราชทานพระโกศประกอบลองกุดั่นน้อย เมื่องานพระเมรุ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๗ พระศพจะใส่หีบเหมือนอย่างพระเจ้าเชียงใหม่ หรือต้องทอดพระศพรอไว้จนส่งโกศขึ้นไปถึงข้อนี้หม่อมฉันไม่ทราบ แต่เวลานั้นท่านทรงสำเร็จราชการแผ่นดินคงทรงทราบ เลยนึกต่อไปถึงลองมณฑป ว่าเมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานประกอบศพใครบ้าง ซึ่งมิได้ทรงศักดิ์เป็นพระราชกุมาร หม่อมฉันจำได้ว่ามีแต่ ๒ ศพ คือหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ ศพ ๑ สมเด็จพระวันรัตน (แดง) ศพ ๑ พระราชทานเพลิงที่เมรุ ณ วัดบวรสถานสุทธาวาสพร้อมกันต่องานพระศพสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ ได้เห็นเมื่อแห่ไป ท่านทรงจำได้แปลกออกไปบ้างหรือไม่ ลองมณฑปมาพระราชทานมากขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันเข้าใจดังนี้

ตรัสถามอธิบายชื่อเมืองที่เรียกว่า “เมืองพระบาง” มานั้น การคิดหาอธิบายอยู่ข้างยาก จะทูลแต่ตามคิดเห็น อันคำ “พระ” นั้น ถ้ามิได้มีคำอื่นประกอบ ก็หมายความตามเข้าใจกันเป็นสามัญว่าพระพุทธรูป คำว่า “บาง” หมายความได้ ๒ อย่าง ถ้าเป็นวัตถุตรงข้ามกับ “หนา” อย่าง ๑ ถ้าเป็นถิ่นที่หมายความว่าคลองตันอย่าง ๑ เมื่อ ๒ คำนั้นเข้าด้วยกันว่า “พระบาง” ต่อให้เข้าใจว่า “พระพุทธรูปอันวิเศษเพราะหล่อทองบางผิดกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ” ที่เอาคำพระบางมาเรียกเป็นชื่อเมืองน่าจะเป็นเพราะที่ตรงนั้นเดิมคงมีพระพุทธรูปบางวิเศษเช่นว่าเป็นเจดีย์วัตถุที่ชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งสำคัญ คนต่างถิ่นจึงเรียกว่าบ้านพระบาง ครั้นตั้งเป็นเมืองขึ้นตรงนั้นคนทั้งหลายก็เลยเอาชื่อตำบลบ้านเรียกเป็นชื่อเมือง ชื่อเมืองเช่นนี้มีตัวอย่างปรากฏอยู่ที่อื่นมาก จะป่วยกล่าวไปไยถึงที่อื่นที่ห่างไกล แม้กรุงเทพฯ เดิมเรียกว่าตำบลบางกอก เมื่อคลองลัดบางกอกกว้างออกเป็นแม่น้ำ ย้ายเมืองธนบุรีมาตั้งที่บางกอก คนก็เลยเรียกว่าเมืองบางกอก แม้จนตั้งเป็นมหานครราชธานีมีนามว่ากรุงเทพฯ แล้วคนโดยมากก็ยังเรียกว่าบางกอกสืบมา แม้จนในตำราภูมิศาสตร์หรือหนังสือเรื่องอื่น ซึ่งแต่งตามต่างประเทศก็ยังว่า “เมืองบางกอกเป็นราชธานีของประเทศสยาม” อยู่จนบัดนี้ เมืองปากลัด เมืองปากน้ำ เมืองบางปลาสร้อย เมืองท่าจีน เมืองแม่กลอง ก็เป็นโดยนัยอันเดียวกันทั้งนั้น

จะกลับกล่าวถึงเมืองพระบางต่อไป เมืองพระบางซึ่งชาวเมืองยังปรากฏอยู่ที่ปากน้ำโพนั้น เป็นเมืองเก่ามากมีชื่อปรากฏอยู่ทั้งในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และปรากฏอยู่หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๑ เมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพระบาง พระยาบาลเมืองกับพระยาราม (คำแหงเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งทำนองจะรบพุ่งแย่งอำนาจกัน) มาถวายบังคมที่เมืองพระบางนั้น

เมืองมีชื่อพระบางอีกเมือง ๑ คือเมืองหลวงพระบางนั้น มีเรื่องตำนานอยู่ในหนังสือพงศาวดารลานช้าง คำว่า “ลานช้าง” ดูหมายความว่า “ประเทศ” (คู่กับประเทศลานนา) ตัวเมืองหลวงพระบางเองเมื่อเป็นราชธานีตอนแรกตั้งเรียกว่า “เมืองชวา” ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็เรียกว่า “เมืองชวา” ชื่อที่เรียกว่า “เมืองหลวงพระบาง” เห็นจะเกิดขึ้นใหม่ต่อภายหลัง คำว่า “เมืองหลวง” ที่อยู่หน้าคำพระบางนั้น น่าจะเรียกกันขึ้นในสมัยอันใดอันหนึ่ง ซึ่งกรุงศรีสัตนาคนหุตมีเมืองหลวงกว่าเมืองเดียว ทำนองเช่นเราเรียกว่า “กรุงเก่า” กับ “กรุงเทพฯ” ด้วยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมีเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “เมืองหลวงโปงเลง” (เห็นจะตั้งที่เมืองโปงเลงเก่า) แต่จะตั้งเมื่อใดหม่อมฉันไม่ทราบ เรื่องตำนานพระบางนั้น หม่อมฉันเคยเห็นในหนังสือพงศาวดารลานช้างฉบับ ๑ (เป็นฉบับพิสดารแต่ไม่มีอยู่ที่นี่) กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปขอมสร้าง พวกลานช้างได้ไปไว้คราวหนึ่ง แล้วจะต้องส่งคืนให้ขอม เชิญลงเรือล่องตามแม่น้ำโขงลงไปถึงกลางทางเรือล่ม พระบางจมหายไป แต่กระทำปาฏิหาริย์กลับอยู่ที่เดิม (ทำนองเดียวกับตำนานพระเขี้ยวแก้วในลังกา) เป็นเหตุให้ผู้คนนับถือลือเลื่องมาแต่นั้น (พิเคราะห์เข้ารอยกับคำที่ผู้เคยเห็นพระบางเขาบอกว่าลักษณะเทอะทะไม่น่าชมเลย) น่าสันนิษฐานว่าจะเป็นมูลเหตุให้เอานามพระบางมาเรียกเข้ากับนามเมืองหลวง

คราวนี้ถึงวินิจฉัยว่าเหตุใดจึงเรียกว่า “พระบาง” คิดไม่เห็นว่าจะหมายความเป็นอย่างอื่นนอกจาก “พระพุทธรูปหล่อได้บางผิดเพื่อน” ตามความนั้นมีเค้าอยู่ ด้วยมีพระพุทธรูปหล่อชนิดหนึ่ง ซึ่งหล่อบางมากสังเกตลักษณะดูเป็นพระแบบกรุงศรีอยุธยา มิใช่แบบสุโขทัย หม่อมฉันเคยให้มิสเตอร์เวนิงช่างปั้นพิจารณาก็ชมว่าเขาหล่อได้บางอย่างประหลาดจริง หม่อมฉันถามพวกช่างบ้านหล่อ พวกนั้นบอกว่าวิชาหล่อพระบางอย่างนั้นสูญเสียนานแล้ว พวกช่างหล่อสมัยนี้ไม่มีใครหล่อได้ แต่พระบางอย่างที่ทูลมามีมากเป็นพะเนินเทินทึก มักพบฝังไว้ในกรุ พระพุทธรูปที่ถวายพระเจ้าอยู่หัวทรงปิดทองเป็นการพระราชกุศลทุกวันก็ล้วนพระบางพวกที่ว่ามานี้ ดูเป็นของสร้างสำหรับ “ปล่อยพระพุทธบาท” คือบรรจุลงกรุฝังไว้สืบอายุพระศาสนาให้ครบ ๕๐๐๐ พระวัสสา เช่นพระพิมพ์ จึงมีดาดดื่นและมักพบบรรจุไว้ในเจดียสถาน จะเอาเค้านี้สันนิษฐานต่อไปว่า “พระบาง” องค์เดิมในลานช้างก็ดี พระบางที่เรียกเป็นนามเมืองที่ปากน้ำโพก็ดี จะมีในแต่สมัยแรก “รู้” หรือ “ได้” วิชาหล่อบางอย่างนั้นมาทำ จึงเห็นเป็นของวิเศษสำคัญและเรียกกันว่าพระบาง แต่ถ้าหากคำ “บาง” หรือ “พระบาง” เดิมหมายความเป็นอย่างอื่น อธิบายที่ทูลมาก็ผิดหงายท้อง

ตรัสมาถึงเรื่องเมืองนครเขลางค์นั้นหม่อมฉันไม่มีหนังสือจามเทวีวงศ์อยู่ด้วยในเวลานี้ แต่ได้เคยอ่าน ขอทูลความเป็นเบื้องต้นก่อน ว่าบรรดาหนังสือตำนานและพงศาวดารซึ่งทรงแต่งในสมัยพระพุทธศาสนารุ่งเรืองในมณฑลพายัพ เช่นเรื่องจามเทวีวงศ์ก็ดี รัตนพิมพวงศ์ก็ดี สิหังคนิทานก็ดี ชินกาลมาลินีก็ดี แต่งเป็นภาษามคธและเรียงกระบวนความ “เจริญรอย” หนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาอันเป็นตัวครูทั้งนั้น หนังสือเหล่านั้นแม้มีคุณในทางอื่น ก็ทำความลำบากให้แก่คนภายหลังอย่างหนึ่ง ซึ่งเอานามศัพท์ภาษาไทยแปลงไปเป็นภาษามคธ ยกตัวอย่างที่นึกได้ในเวลาเขียนนี้ เช่นแปลงนาม “พระร่วง” เป็น “โรจนราชา” แปลงนามพระยา “กือนา” เจ้าแผ่นดินลานนาเป็น “กิลนา” เป็นต้น มีมากมาย เมื่อเอามาแปลกลับเป็นภาษาไทย ทำให้เข้าใจผิดไปได้ต่างๆ ที่เรียกชื่อว่า “จามเทวี” ความก็หมายเพียงว่า “นางชาติจาม” มิใช่ชื่อตัวนางพระยาคนนั้นเป็นแน่ คำที่เรียกชื่อในหนังสือซึ่งแต่งเป็นภาษามคธเหล่านั้นต้องพิจารณามาก ส่วนเรื่องเมืองนครเขลางค์นั้น หม่อมฉันจำได้ว่านางจามเทวีมีบุตร ๒ คน คน ๑ เอาไว้ครองเมืองหริภุญชัย อีกคนหนึ่งไปสร้างเมืองเขลางค์นครให้ครอบครอง เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปเมืองนครลำปางครั้งแรกพวกสูงอายุอยู่ในเมืองนั้นเขาบอกว่า ที่เมืองนครลำปางนั้นเป็น ๒ เมืองสร้าง ๒ ยุคต่างกัน แต่อยู่ริมลำน้ำวังเมืองละฟากตรงกัน อย่างกรุงเทพฯ กับธนบุรี เมืองเก่าสร้างครั้งนางจามเทวี (อยู่ฝั่งไหนหม่อมฉันจำไม่ได้) เมืองใหม่ชื่อ “ลำปาง” สร้างภายหลังมา หม่อมฉันพิจารณาดูก็เป็น ๒ เมืองอย่างเขาบอก

ที่ประทานอธิบายศัพท์ “หัวอกสามศอก” มานั้นเป็นอันได้ความรู้ใหม่ทีเดียว เคยแต่พูดไม่เคยเข้าใจอธิบายศัพท์นั้นมาแต่ก่อน ขอบพระคุณมาก

วินิจฉัยเรื่องพิธีตรุษอยู่ข้างสนุกแต่ยากมาก หม่อมฉันกำลังปล้ำอยู่ หวังว่าจะเขียนถวายได้ในไม่ช้า

จะทูลเล่าเรื่องทางเมืองปีนังถวายต่อไป มีกรณีประหลาดเกิดขึ้นในบริเวณ ซินนามอนฮอล อย่าง ๑ เมื่อสัก ๒ ปีมาแล้ว หญิงพิลัย ซึ่งเป็นพนักงานรักษาสถานมาบอกว่ามีผึ้งหลวงมาทำรังที่ต้นไม้ข้างหลังเรือนต้น ครั้นรังผึ้งเติบใหญ่ขึ้นมีพวกทมิฬมาขอซื้อ เธอไม่ยอมขายหม่อมฉันก็ซ้องสาธุการ มาเมื่อเดือนก่อนเธอมาเสนออีกเรื่อง ๑ ว่า มีแขกทมิฬอีกคนมากราบไหว้อ้อนวอนขออนุญาตจับนกกระจอกที่อาศัยอยู่ในบริเวณซินนามอนฮอลสักสองสามตัว ว่าตามบ้านอื่นแถวนี้ไม่มีนกกระจอก มีแต่ที่ในบริเวณซินนามอนฮอล หญิงพิลัยถามว่าจะเอาไปทำไม มันบอกว่าตัวมันมีอาการเจ็บที่ในทรวงอก ถ้าได้นกกระจอกไปสับกินกับสุราจะหายเจ็บหน้าอกได้ หญิงพิลัยขัดข้อง จึงมาหารือ หม่อมฉันบอกว่า ที่มีผึ้งและนกมาอาศัยในบริเวณบ้านเช่นนี้ เหมือนเป็นสถานที่ทำอภัยทานการกุศล อย่ายอมให้ใครทำร้ายนกต่างๆ ที่มีมาอาศัยอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่เรื่องคุ้มชีวิตนกกระจอกนั้น ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ พวกทมิฬทำสวนคนหนึ่งมากระซิบฟ้อง ว่าอ้ายทมิฬทำสวนอีกคนหนึ่งมันรับสินบนตาคนเจ็บลอบจับนกกระจอกในเวลากลางคืนเอาไปขายได้แล้ว สัญชาติใจทมิฬมันเป็นเช่นนี้ จะต้องระวังต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ