วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ได้รับตามกำหนดซองบริสุทธิ์ มีแต่ตราผ่านการตรวจเลขที่ ๑๑ ประทับหลังซองดวงเดียว

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องที่ทรงเรียงสำหรับประทานเพื่อบรรเลงนั้น ไม่จำเป็นต้องทรงเรียงโดยรีบร้อน จะเป็นเมื่อไรก็ได้ สุดแต่จะทรงมีสมาธิสะดวกที่จะทรงเรียง ควรจะทรงถือว่าเป็นการเล่นเท่านั้น

เรื่องจีนอั้งยี่ในเมืองไทย ตามที่กราบทูลมานั้นก็ทูลในกาลปัจจุบัน เมื่อตรัสสาวขึ้นไปหาเก่าคิดตามก็ทำให้เห็นความเป็นไปมากขึ้น คำว่า “ตั้วเฮีย” ทราบคำแปลว่าแปลว่าพี่ใหญ่ หมายความว่าเป็นนายใหญ่ ครั้งนั้นเห็นจะไม่ได้ตั้งสมาคมเป็นอย่างปกปิด ผู้ที่เป็นตั้วเฮียอาจส่งเดชอะไรต่าง ๆ จนคนทั่วไปรู้สึกเห็นเป็นคนสำคัญ จึงได้ถือเอานามหัวหน้านั้นเปนนามสมาคม ส่วนคำว่า “อั้งยี่” นึกแปลเอาตามความรู้งู ๆ ปลาๆ ก็ว่าตัวหนังสือแดง เห็นจะหมายถึงตราชาด ซึ่งกรรมการในสมาคมนั้นมีคำสั่งอะไรๆ ประทับตราไป ทีจะไม่ใช่ชื่อสมาคมเหมือนกัน คำ “ซิ่วลี่กือ” นั่นแหละเป็นชื่อสมาคมแน่ สมาคมอั้งยี่นั้น ครั้งแรกมีประสงค์จะต่อต้านกฎหมายในเรื่องฝิ่น อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นชั้นกลาง มีประสงค์จะหาผลประโยชน์ในทางกรรมกร คราวนั้นเห็นจะไม่ได้คิดปกปิดมากนัก เพราะไม่สู้เป็นทางฝืนกฎหมาย กรมพระนครบาลก็รู้อยู่ว่าใครเป็นหัวหน้าจึงเอาตัวมาตอกๆ ให้จัดการให้เรียบร้อยได้ แต่ที่เรียบร้อยไปไม่ได้ก็เห็นจะเป็นเพราะลงเบร๊กไม่อยู่ ส่วนอั้งยี่เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไร นอกจากมีประสงค์จะข่มขู่รีดเอาเงินแก่พวกชาวร้าน ตกไปในทางโจรซึ่งเป็นการฝืนกฎหมายโดยตรง จึงต้องทำเป็นสมาคมลับ และปกปิดไม่ให้แจ้งว่าใครเป็นนาย

พัดรองงานขึ้นพระที่นั่งวโรภาศนั้นเห็นแต่ไกลๆ จะเป็นทอหรือปักอย่างไรก็ทราบไม่ได้ ก่อนนั้นขึ้นไปก็มีอีก คือพัดสมเด็จเจ้าพระยา ฝ่าพระบาทก็คงทรงจำได้ ทำเป็นรูปพัดขนนกมีปลายแหลม ทำมาแต่เมืองจีนเหมือนกัน แต่จะเป็นทอหรือปักก็ไม่ทราบ มีสีน้ำเงินอยู่มาก ได้เห็นครั้งแรกครั้งเดียว แล้วไม่ได้เห็นอีกเป็นครั้งที่ ๒ อันพัดปักนั้นทำมาแต่เมืองจีนก่อนทั้งนั้น ที่ปักในเมืองนี้ก็ทีหลังเมื่อเราหัดปักเป็นกันขึ้นแล้ว ลำดับการทำพัดซึ่งได้เขียนถวายมาก่อนนั้น ถ้าทอมีมาก่อนปักก็เป็นผิดไปต้องกลับนัมเบอร์เอา ๒ เป็น ๑ การทำพัดรองนั้นชอบกล ถ้าผิดท่าไปพระท่านไม่ใช้ เช่นรูปก็ต้องเป็นอย่างหน้านาง พัดสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเปลี่ยนรูปพัดไปเป็นพัดขนนกนั้น พระท่านหาว่าเหยียดพระเป็นฤษี ส่วนลายในพัดก็เป็นเช่นเดียวกัน ฝ่าพระบาทเคยทรงรู้สึกดีว่าทำเป็นรูปคน Portrait พระท่านไม่ใช้ นอกนั้นก็มีอีกหลายอย่างที่พระท่านไม่ใช่เหมือนกัน ดูเหมือนจะตกไปในทางที่ว่าทำรูปอะไร กระเดียดไปทางข้างเป็นตราพระท่านจึงจะใช้

เรื่องพัดแฉกงา ตามที่ประทานบันทึกไปถวายสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์นั้น มีความอะไรที่มากไปกว่าว่าทำในรัชกาลที่ ๔ หรือไม่ ถ้ามีโปรดให้คัดสำเนาส่งประทานไปสักฉบับหนึ่งจะดี เพราะเกล้ากระหม่อมก็อยากจะทราบเรื่องอยู่เหมือนกัน

บรรเลงถวาย

อ่านหนังสือพบเขาพูดถึงการฆ่าสัตว์ ว่าขัดแต่คนไทยด้วยถือพระพุทธศาสนา นึกค้านอยู่ในใจว่าไม่ขัดเลย เห็นตามบ้านนอกไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายผู้ใหญ่เด็กย่อมจับปลาทุบหัวกันอยู่เป็นปกติ เมื่อคิดดูก็เห็นเหตุว่าเพราะปลาเป็นอาหาร ถ้าไม่ฆ่าก็อด แล้วนึกถึงศีล ๕ ที่มาตามทางพระพุทธศาสนา ก็เห็นว่าทางบ้านเมืองท่านก็เห็นเป็นทำผิดเหมือนกัน ท่านวางโทษลดหลั่นไว้เป็นชั้นๆ ผ่อนหนักเบาไปตามที่ท่านเห็นผิดมากและน้อย อทินนาทานหนักเป็นขั้นที่ ๑ ต้องโทษทางอาญาไม่ว่าสถานใด ปาณาติบาตและมุสาวาทจัดเป็นชั้นที่ ๒ เสมอกัน ปาณาติบาตนั้นฆ่าสัตว์ให้ฆ่าได้ ต่อฆ่ามนุษย์จึงเอาผิดต้องโทษอาญา มุสาวาทก็เหมือนกัน ปดที่ไหนเมื่อไรก็ปดได้ แต่ปดเมื่อให้การเป็นพยานและแจ้งความเท็จณโรงพักตำรวจไม่ได้ ต้องโทษทางอาญา กาเมสุมิจฉาจารจัดเป็นชั้นที่ ๓ จะฟ้องได้ก็จำเพาะแต่เจ้าผัวคนเดียว และถ้าปรากฏว่าจริงก็ต้องโทษเพียงถูกปรับฐานคดีแพ่ง สุราจัดเป็นชั้นที่ ๔ เบากว่าอะไรหมด จะเสพสุราที่ไหนเมื่อไร และจะมากน้อยเท่าใดก็ได้ เว้นแต่เมาจนปราศสติเดินถนน จึงจะถูกจับไปขังไว้โรงพักตำรวจจนกว่าจะหายเมา เมื่อคิดถึงศีล ๕ แล้วก็คิดไปถึงศีล ๘ เห็นผิดกันมาก องค์แทนและองค์ต่อหาได้มีโทษในทางบ้านเมืองไม่เลย ทั้งติดจะไม่สมควรแก่ผู้ที่ครองเรือนจะถือด้วย แม้จะยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็องค์ที่สุด คืออุจจาสยน ชาววัดสมานทานได้โดยไม่ลำบาก เพราะนอนที่นอนเล็กๆ เปนปกติอยู่แล้ว แต่ผู้ครองเรือนสมาทานเข้านั้นโกลาหล ต้องเปลี่ยนที่นอนใหญ่ที่เคยนอนเป็นที่นอนเล็ก อยากจะหาความว่าพวกผู้ครองเรือนอยากจะถือศีล ๑๐ ประมูลแข่งบรรพชิต พระท่านก็จัดอนุโลมให้ตามใจ แต่ทำไมท่านจึงกักองค์ชาตรูปเสีย ทีท่านจะเห็นว่าผู้ครองเรือนนั้นต้องจับจ่ายรูปิยะซื้อกับข้าว จะรักษาศีลนั้นไว้ไม่ได้ ที่จริงศีล ๘ ก็เป็นศีล ๘ ยกแต่ชาตรูปองค์เดียว แต่องค์นัจจคีตกับมาลาคันธเข้ารวมกันเสีย รวมให้เป็น ๘ ทำไม ให้เป็น ๙ อยู่ไม่ได้หรือ นัมเบอร์ ๙ เราก็ถือว่าเป็นนัมเบอร์ดี ทำไมไม่เอา ข้อนี้คิดไม่เห็นประโยชน์ ศีล ๑๐ นั้นไปโดนกันเข้ากับทางศาสนาคริสตัง แต่ไม่ทราบตลอดว่าเขามีอะไรบ้าง ที่ทราบแต่องค์ต้นห้ามไม่ให้ปลงชีวิตเหมือนกัน ที่ไปโดนกันกับทางคริสตังก็อย่างเดียวกับ โนฮา และ มนุนั้นเอง

ข่าวเบ็ดเตล็ดในกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๑๒ หญิงมารยาตรกับชายดิศพากันมาหา ชายดิศบอกให้บุญในการที่ได้บวชเรียน อีกครู่หนึ่งชายใหม่ก็พาหญิงโสฬส หญิงเป้า หญิงกุมารีมาอีก หญิงอี่หญิงอามรับธุระเอาไปเลี้ยงของว่างกันทั้งหมด

กับวันที่ ๑๓ นายพืช เดชคุปต์ ก็มาหา บอกลาไปเมืองระนองด้วยเขาได้รับแต่งตั้งไปเป็นข้าหลวงว่าราชการที่เมืองนั้น ดีมากที่นายพืชเอาใจใส่ในทางโบราณคดีอย่างพ่อ ได้สั่งเขาไปว่าถ้าเขามีเวลาว่าง จงไปเที่ยวให้ถึงเมืองตะกั่วป่า ตรวจดูเทวสถานที่นั่นด้วย พบเห็นอย่างไรถ้าจดหมายบอกมาให้ทราบ จะขอบใจเป็นอย่างยิ่ง ทางปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกนั้นแกยังไม่เคยไปเห็นเลย

ตุ๊ดตู่ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้เลื่อนชั้น เด็กคนนี้ฉลาดพอใช้ย่าจะให้รางวัล แกไปเห็นเปียโนเล็กๆ สำหรับเด็กเล่นชอบใจ มาพัดจะเอาเปียโนเล็กๆ เป็นรางวัล ว่ามีขายที่ห้างพร้อม เกล้ากระหม่อมก็ตกลงจะให้ป้าอามหามาให้ แล้วก็สั่งหญิงอามไป เมื่อวานนี้หญิงอามมาบอกรายงานว่าได้พาไปห้างพร้อม หน้าเสียเพราะไม่มีเหลือ เขาขายไปหมดแล้ว

เมื่อวานนี้หญิงจงมาหา เป็นการบอกรายงานว่ากลับมาถึงแล้วและบอกว่าวันที่ ๒๒ เดือนนี้จะพาหญิงเพียรมา เพื่อรับหมั้นชายประสบสุขและว่าแต่งงานสมรสจะทำเดือนมกราคมที่วังวรดิศ เกล้ากระหม่อมก็รับตกลงด้วยความยินดี ในการที่หญิงจงมานั้นหญิงมารยาตรก็มาด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ