วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ได้รับประทานแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

ในการเขียนหนังสือเวรแบ่งเป็นวรรคนั้น คิดว่าลางคราวก็จะทำได้ ลางคราวก็จะทำไม่ได้ สุดแต่ข้อความซึ่งมีจะเขียนจะอำนวย

ตามพระดำรัสซึ่งตรัสบ่นถึงหนังสือพิมพ์นั้น เห็นเป็นธรรมดาของผู้ทำหนังสือพิมพ์ เมื่อเขาได้ข่าวอะไรมาเขาก็ลงไป เป็นแน่ว่าเขาตั้งใจจะให้หนังสือของเขาใช้ได้แก่คนทุกจำพวก ฝ่าพระบาทย่อมเข้าพระทัยอยู่ดีแล้ว ว่าคนย่อมมีความสนใจในเรื่องต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นเรื่องใดที่ไม่ต้องพระทัย ผ่านข้ามๆไปเสียไม่ทรงก็แล้วกัน รูปหนังสือพิมพ์ซึ่งตัดประทานไปนั้น ดูรู้สึกชอบใจ ด้วยเขาเขียนเป็นตลกตามความคิดของช่างผู้เขียน ย่อมเป็นทางที่พึงใจเกล้ากระหม่อมอยู่เป็นปกติตามนิสัย

นึกไปตามพระดำรัสถึงเรื่องพระแต่งหนังสือ เปลี่ยนชื่อในภาษาไทยไปเป็นภาษามคธ ตัวอย่างที่ตรัสประทานไปมีสะดุดใจอยู่ชื่อหนึ่ง คือพระร่วงเปลี่ยนเป็นภาษามคธว่าโรจนราชา เป็นความว่า พระราชาผู้รุ่งเรือง ทีจะเหยียดคำว่า ร่วง เป็น รุ่ง ไปเสียด้วยซ้ำ หรือเดิม ร่วง จะแปลว่าสว่างก็ไม่ทราบ แต่ทุกวันนี้ ร่วง เข้าใจกันว่าตกหล่น จนเกล้ากระหม่อมได้เคยถวายความเห็นมา ว่าชื่อพระร่วงกับพระเจ้าฟ้ารั่วเป็นความหมายอย่างเดียวกันว่าตกลงมาจากฟ้า แม้ในนิทานเก่าอันได้เคยพบมาท่านก็เข้าใจเช่นนั้น จะยกมาเล่าถวายให้เป็นกิจจะลักษณะก็ไม่ได้จำไว้ เพราะเห็นเหลวเต็มที สำเนาเรื่องเป็นว่าเลือดนางนาคซึ่งไปแท้งได้กลายเป็นกบ มียายกะตาเก็บเอากบนั้นไปบ้าน เมื่อนำไปนั้นกบตกไม่หยุด ครั้นเอาไปเลี้ยงไว้บ้านก็มีกุมารออกมาจากกบหาอาหารไว้ให้กิน ยายกะตาสงสัยแอบดูก็เห็นกุมาร จึงทำลายรูปกบนั้นเสีย เลี้ยงกุมารไว้ให้ชื่อว่าร่วง เพราะกบซึ่งนำมานั้นตกไม่หยุด เรื่องนี้เอาอย่างเรื่องพระสังข์เต็มตัว แต่เห็นได้ว่าท่านแต่ก่อนผู้แต่งเรื่อง ท่านก็เข้าใจคำร่วง ว่าเป็นตกหล่นเหมือนกัน

ภาษามคธสํสกฤตเข้ามาปนอยู่ในภาษาไทยเป็นอันมากนั้น เป็นทางที่ปรากฏความดีว่าพวกเราได้เรียนกันมาก นึกนิทานเปรียบได้เรื่องหนึ่ง เขาว่าพวกไทยในเมืองจีนไม่รู้ภาษามคธสํสกฤตจนคำเดียว หมอสอนศาสนาฝรั่งไปถามว่าถือศาสนาอะไร พวกนั้นไม่เข้าใจคำถาม เพราะคำว่า ศาสนา นั้นเป็นภาษาสํสกฤต พอดีกัน ท่านผู้สอนศาสนาก็หาคำไทยถามแทนไม่ได้ เลยไม่ได้เรื่อง อันคำมคธสํสกฤตซึ่งมาเข้าแทนภาษาพื้นเมืองนั้นมีอยู่หลายทาง แต่ทางไรก็ไม่หนักเท่าทางยศ ต้องใช้คำให้เป็นหลั่นลดไปหลายชั้น คำที่จะเอามาเปลี่ยนให้ต่างกันไปนั้นจะมีอะไร นอกจากเอาคำต่างประเทศมาใช้ เพราะเหตุดังนั้นคำสูงจึงเป็นภาษาต่างประเทศไป โดยมากก็เป็นภาษามคธสํสกฤต เพราะเราถนัดอยู่ด้วยได้เรียนรู้ แม้เก่าขึ้นไปก็เป็นภาษาเพื่อนเมืองที่ใกล้กันอย่างมอญและเขมรเป็นต้น เช่นคำ แสง-กันแสง นี่เขาก็ว่าเป็นคำมอญ เสวย ว่าเป็นคำเขมร แต่สอบดูก็หาใช่ไม่ กลายเป็นคำไทยที่แท้คำเขมรเป็นโส๎งย ใช้สำหรับพระราชา ส่วนคำสามัญนั้นว่า สีย (อ่านว่า สี) นี่ก็เห็นได้ว่าธรรมเนียมใช้คำสูงต่ำนั้นมีมานานแล้ว เหตุที่เปลี่ยนคำแพร่หลายจนถึงสามัญชนนั้น ก็เพราะธรรมดาสามัญสัตว์ย่อมตะเกียกตะกายให้ตนสูงอยู่ทั่วกัน ตะกุยเอาอะไรซึ่งสำคัญใจว่าสูงมาได้ก็ได้ความพอใจ เมื่อคำใดที่จัดไว้เดิมว่าเป็นสูงแล้วตกต่ำลงก็เอาคำที่เป็นกี๋หนุนขึ้น เช่น ญาติ พระญาติ เป็นต้น เพราะเหตุที่ถือว่าคำต่างประเทศเป็นคำสูงนั่นแหละ คำต่างประเทศจึงเข้ามาแทนคำพื้นเมืองมาก เห็นความดังนี้

ในเรื่องตราพระราชสีห์ เมื่อได้ฟังตรัสอธิบายถึงการกระทำแบบเก่า ทำให้เห็นกุละปรุโปร่งไปเป็นว่า ตราพระราชสีห์ใหญ่นั้นทำขึ้นสำหรับใช้ประทับในท้องความ ตราพระราชสีห์น้อยนั้นทำขึ้นสำหรับใช้ประทับประจำต่อเป็นประเดิม แล้วเสนาบดีมีธุระจะสั่งอะไรเล็กน้อย ก็เอาตราพระราชสีห์น้อยประทับไปพอเป็นสำคัญ ครั้นเสนาบดีจะต้องออกจากพระนครไป จะเอาตราพระราชสีห์น้อยไปเป็นตราประจำตัวไม่ได้ เพราะถ้าเอาไปเสียก็ไม่มีอะไรจะใช้ประทับประจำต่อท้องตรา นั่นแหละจึงต้องทำตราราชสีห์เดินดงขึ้นสำหรับใช้ประจำตัวเสนาบดีเวลาออกไปเดินป่า แต่เมื่อมาใช้กระดาษฝรั่งเลิกตราประจำต่อเสีย จึงเอาตราพระราชสีห์น้อยไปประจำตัวได้ เลยหลงไม่เข้าใจว่าตราราชสีห์เดินดงนั้นสำหรับใช้อะไร ตราบัวผันของกระทรวงต่างประเทศนั้น ให้ฝันเข้าใจไปด้วยอะไรก็ไม่ทราบ ว่าเป็นตราประจำตัวของปลัด คือพระยาพิพัฒโกษา จะเป็นตราน้อยหรือมิใช่ก็ตามที แต่สังเกตเห็นว่าตราบัวผันนั้น กระบวนผูกเก่ากว่าตราบัวแก้วมาก

คำ ไม่ลงตรา เคยพูดมาราวกับว่าปากจะฉีก แต่ไม่ทราบเลยว่าคำนั้นมาแต่อะไร เพิ่งจะได้ทราบมูลเหตุตามที่ตรัสบอกในครั้งนี้

เรื่องตรากระทรวงมุรธาธรนั้น กระจุกกระจุยหนัก สาเหตุเกิดแต่กองอาลักษณ์ส่งดวงตราที่ไม่ได้ใช้มาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน พระยาอนุมานจึงประทับส่งมาให้ตรวจบอก ที่รู้แม่นยำก็บอกเขาไปที่ไม่รู้ก็จนอยู่ แต่ตราพระราชทานกระทรวงมุรธาธรนั้นแหละสงสัย จึงได้ทูลสอบถามมา แต่ฝ่าพระบาทก็ทรงจำไม่ได้ มีพระดำรัสตอบไปเป็นการพัวพันไม่พ้นตัว ต้นไม้เงินทองคู่นั้นถึงเกล้ากระหม่อมจะเป็นผู้ทำก็จริง แต่ไม่ได้เขียนอย่างไปถึงดวงตรา ได้มอบตัวอย่างดวงตราไปให้ช่างเขาเขียนถ่ายกรอกลง ช่างที่ใช้ให้ทำนั้นต่างก็ล้มตายหายจากไปเห็นจะหมดแล้ว ทั้งแบบอย่างอะไรต่างๆ ทำแล้วก็ทิ้งไป ไม่มีอะไรเหลือนอกจากต้นไม้ตัวจริง จึงได้ดูสอบที่นั่น ปรากฏว่าตรากระทรวงมุรธาธรเป็นตราพระพรหมอยู่บนแท่น ที่สงสัยว่าเป็นนารายณ์ขึ้นแท่นก็ไปได้ความชัดในพระราชดำรัส ซึ่งเขาเก็บมาตีพิมพ์แจกงานศพท้าววรคณานันท์ ว่าตรานารายณ์ยืนแท่นนั้นเป็นตรากรมราชเลขานุการ ตราพระพรหมบนแท่นนั้นเป็นตรากระทรวงมุรธาธร เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ทำให้เข้าใจได้ ว่าชั้นแรกนั้นกรมพระสมมตทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรด้วย เป็นราชเลขานุการด้วย ทรงถือตราอยู่สองดวง จึงทำให้ความจำปนเปหลงเลอะไป

พระดำรัสอธิบายถึงคำอูนั้นดีเต็มที ทางเราก็มีใช้อยู่ตรงกับอย่างนั้นเหมือนกัน

ชั้น ๑ ปู่-ย่า ตา-ยาย

ชั้น ๒ พ่อ-แม่ ลุง-ป้า อา-น้า

ชั้น ๓ พี่-น้อง (เก่าขึ้นไปอีกเป็น อ้าย-อี่)

ชั้น ๔ ลูก-หลาน

แต่คำเหล่านี้ก็ตายเลิกกันไปเสียมากแล้ว เหลืออยู่น้อย ยังดกดื่นอยู่แต่ ตา-ยาย แม้กระนั้นก็คงต้องเลิก ด้วยเรียกอย่างนั้นออกจะถือกันว่าเป็นดูหมิ่น ไปชอบคำ ท่าน คำ คุณ กันเสียเป็นพื้น นั่นก็เป็นเรื่องชอบทางยศ ไม่ชอบทางนับเป็นพี่น้อง

ทรงจับพระอาจารคุณรัตน ซึ่งจะอธิบายการทำพิธีตรุษในลังกาถวายได้นั้นดีนัก นั่นแหละจะเป็นต้นเค้าได้ทีเดียว ด้วยคำประกาศของเราเป็นภาษาลังกา แสดงว่าเราเอาอย่างลังกามาทำ

พิธี

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม สำนักพระราชวังมีหมายมาบอกว่า ตามที่หมายบอกมาก่อน ว่าสมเด็จพระพันวัสสาจะทรงประกอบการพระกุศลที่พระที่นั่งดุสิตทุกวันพุทธนั้น แก้เป็นถ้าคราวใดมีใครมาทำบุญถวายการพระกุศลของสมเด็จพระพันวัสสา ในคราวนั้นเป็นงด นับตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์จะทรงประกอบการพระกุศลเป็นต้นไป

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม กำหนดพระราชทานเพลิงศพเจ้าแก้วนวรัฐ ที่นครเชียงใหม่

การบ้าน

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม นัดเอาชายดิศมา เพื่อจะพาไปหาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เธอพานายชิตมหาดเล็กมาหาลาบวชด้วย เกล้ากระหม่อมก็หนัก ถามว่าฝ่าพระบาทจะได้ใครใช้ ชายดิศบอกว่าหลานนายชิต แต่ตรัสสั่งว่าศึกแล้วให้กลับไปใน ๗ วัน เกล้ากระหม่อมก็เห็นชอบ ด้วยฝ่าพระบาทจะใช้คนอื่นที่ไม่เคยใช้แทน ลางทีก็จะเป็นการไม่สบพระทัย เขาทูลลาบวชจะไม่ทรงอนุญาตก็ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องทนอยู่เอง

เกล้ากระหม่อมได้พาชายดิศไปหาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่ท่าน เป็นการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว สนทนากับท่านได้ความเห็นท่านในเรื่องถามนาคมาอีก ซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ ด้วยในคำถามนั้น คนเราสมัยนี้เห็นเหลวมากที่สุดอยู่ที่ถามว่า มนุสโสสิ แต่คำนี้ได้กราบทูลและวินิจฉัยไปแล้ว ยังอีกคำหนึ่ง คือ ปุริโสสิ นี่ยังไม่ได้กราบทูล สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านเห็นเป็นหมายความอย่างที่พูดกันเดี๋ยวนี้ว่า ถึงนิติภาวะเพราะเมื่อยังเด็กไม่รู้ประสีประสาก็เรียกว่า ทารก-ทาริกา ครั้นโตขึ้นพอรู้ประสาก็เปลี่ยนเรียกว่ากุมาร กุมารี พอโตเต็มที่รู้จักผิดชอบก็เปลี่ยนเรียกเป็นบุรุษ-สตรี นี่เป็นหลักคำที่เรียกตามวัย เห็นเป็นถูกของท่าน ในการที่ต้องถามว่าเป็นบุรุษหรือ ก็เพราะร่างกายของคนไม่เหมือนกัน ลางคนร่างใหญ่ แต่มีอายุน้อย ลางคนอายุมากแต่ร่างเล็กเหมือนเด็ก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น เวลานี้ท่านออกไปอยู่ชลบุรี ชายดิศบอกว่าท่านจะกลับมาต่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม เธอได้ไปพบกับท่านถวายดอกไม้ธูปเทียน และพูดอะไรกันตกลงเสร็จหมดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่เกล้ากระหม่อมจะต้องพาไปหาท่านอีก.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ