วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ได้รับประทานแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ตามพระดำรัสอธิบายในลายพระหัตถ์นั้นมีพระชันษาอ่อนมาก คิดตามปีประสูติเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติก็มีพระชนม์ ๑๕ พรรษาเท่านั้น ไล่เลี่ยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เพราะเหตุนั้นเอง จึงได้มีรัชกาลยาวถึง ๔๐ ปี ไล่เลี่ยกันอีก ควรเชื่อเอาเป็นแน่ได้ว่า ข้อความตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนั้นกล่าวถูกต้อง โดยเหตุที่พระชนมายุอ่อนมากนั้น ทำให้เกิดสงสัยขึ้นว่า หรือหนึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงปฏิบัติไปอย่างง่ายๆ แบบพระนามเจ้ามีอะไรที่ว่างอยู่ก็เอามาขนานพระราชทาน ไม่ได้ทรงพระดำริไปถึงถ้อยคำ หากเกล้ากระหม่อมจะคิดลึกเกินไปก็เป็นได้ แบบพระนามเจ้าที่ว่า “พระเชฐา” นั้นมีแน่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมก็มีปรากฏอีก หรือจะหาไกลไปอีก เมืองลานช้างก็มีพระไชยเชฐา และที่อื่นก็เคยพบ ดูเหมือนในพงศาวดารเขมรก็มี

พระขรรค์เล่มจำหลักไม้จำลองซึ่งเอาไว้ที่พระบรมรูปในห้องภูษามาลานั้น เกล้ากระหม่อมก็เคยเห็น แต่เวลาเมื่อเห็นนั้นยังไม่มีใจใฝ่ที่จะพึงพิเคราะห์ รู้สึกแต่ว่าใหญ่มาก

กระแสพระดำริเรื่องตราต่างๆ นั้นก็ถูกมาก แต่ตรา ๙ ดวงของกรมนาดูไม่เข้ารอยตามกระแสพระดำริ ไม่เป็นตราประจำตัว ดูเป็นตราประจำการว่าการชนิดใดใช้ตราอย่างไร กรมสัสดีขวาซ้ายก็ถือตรากรมละดวง ใช้ตามการเป็นแบบเดียวกัน กลัวจะเป็นคราวหนึ่งก็ถือทำกันไปอย่างหนึ่ง เป็น “แฟแช่น” ยากที่จะเอาเป็นนิยมได้ รูปในดวงตราก็เคยได้ยินเขาถลกให้ฟังว่า ถ้าใช้รูปเทวดาแล้วหมายเป็นยศสูง ถ้าเป็นรูปมานพ (ลดมงกุฎเป็นกระบังหน้า) หมายว่าเป็นยศปานกลาง ถ้าเป็นรูปคนสามัญ (ไม่แต่งตัวหรูหรา) แล้วหมายเป็นยศต่ำ แต่ก็อีกนั่นแหละ เป็นถือทำกันคราวหนึ่งเท่านั้น ต่อมาคนที่ม่ยศต่ำก็อยากสูง ทำตราของตนเป็นรูปเทวดาก็ไม่เห็นมีใครว่าไร ส่วนพระราชมติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น หลบสูงขึ้นไปอีก แม้จะโปรดพระราชทานตราแก่ผู้มีตำแหน่งใหญ่ยิ่ง แล้วย่อมทรงเลือกเอาตราซึ่งเป็นรูปเทวราช เป็นต้นว่าพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมพระราชทาน ถ้ามีอยู่ไม่เหมาะก็ทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้นใหม่ พระราชทานตามที่เขา “ถลก” ให้ฟังว่าเป็นรูปเทวดา รูปมานพ รูปคนสามัญ สามชั้นนั้น มิได้มีกล่าวถึงรูปสัตว์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ม้า เลียงผา อยู่ในนั้นด้วย จะสูงต่ำเข้าลำดับอย่างไรไม่ทราบ แต่น่าประหลาดที่ตราพวกรูปสัตว์นี้โดนกับหัวเรือทั้งนั้น น่ากลัวเรือจะมีมาก่อนตรา แล้วเลยเป็นเครื่องหมายถือเอาหัวเรือมาทำเป็นตรา อีกพวกหนึ่งตราพระยาวานร เช่นตรากรมอาญาใหญ่ ขวา ซ้าย เป็นต้น น่ากลัวจะสืบมาแต่ธงกองทหารของพระราม ตามที่มีรูปเขียนฉลักไว้ในที่ต่างๆ เช่นที่ระเบียงพระนครวัดเป็นต้น นี่เป็นละเมอถวายตามวิถีจิต

คราวนี้จะกราบทูลถึงตราลางดวง ซึ่งมีสงสัย มีเดาประกอบ และมีเรื่องที่จะกราบทูล

๑) เป็นพระเดชพระคุณล้นพ้น ที่ตรัสบอกให้ทราบว่าตราประทีปในบุษบก เป็นตราประจำตำแหน่งหรือประจำพระองค์ในกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ตราดวงนี้ดูเหมือนจะได้เคยเห็นแต่จำไม่ได้แม่น พระยาอนุมานประทับส่งมาให้ดูเป็นอย่างดวงหนึ่ง จดไว้ว่า “ตราบุษบกตามประทีป” แต่ในบุษบกนั้น ไม่มีดวงไฟมีแต่ตะเกียง และสังเกตว่าลายในตรานั้นเก่ามาก ดูจะเก่ากว่าทำในรัชกาลที่ ๓ กลัวจะไม่ใช่ตราบุษบกตามประทีปของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต

๒) ตราจันทรมณฑล เข้ามาอยู่ในกรมอาลักษณ์ทั้งตราใหญ่ ตราน้อย จำไม่ได้ว่าตราสำรับนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานไปประจำกระทรวงยุติธรรม ก็เหตุไฉนจึงตกเข้ามาอยู่ในกรมอาลักษณ์ เดี๋ยวนี้กระทรวงยุติธรรมถือตราอะไรอยู่ สืบดูก็ได้ความว่าถือตราพระดุลยพ่าห์ จึงทำให้นึกขึ้นได้ว่า ชื่อนี้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ทรงตั้งขึ้น คงจะให้แกะตราใหม่พระราชทานไปแทนจันทรมณฑล คงเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๖ ยุคที่สมเด็จกร มพระสวัสดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในกระทรวงยุติธรรมนั้น อนึ่งพระยาอนุมานประทับตราส่งมาให้ดูเป็นอย่างดวงหนึ่ง ดูเหมือนจดว่าตราอุณาโลมในบุษบกรถ เกล้ากระหม่อมพิจารณาเห็นมีรูปกระต่ายอยู่ที่ท้ายรถ อันควรจะเป็นตราจันทรมณฑลแต่ก็ซ้ำกันดูกระไรอยู่ ครั้นได้ดูตราจันทรมณฑลดวงที่แท้ จึงเห็นผิดกันที่ไม่มีอุณาโลมในบุษบก ทำให้ความสันนิษฐานเกิดขึ้นว่าดวงที่มีอุณาโลมนั้นทำขึ้นก่อน แล้วจะมีใครเห็นว่าที่มีอุณาโลมนั้นเกินไป จึงได้ทำใหม่เปลี่ยนเป็นไม่มีอุณาโลม

๓) ตราพระเพลิงทรงระมาด จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดพระราชทานเป็นตราประจำกระทรวงธรรมการ แต่ก็กลับเข้ามาอยู่ในกรมอาลักษณ์เหมือนกัน รายนี้ทราบได้ว่าส่งคืน เพราะเดี๋ยวนี้กระทรวงธรรมการใช้ตราเสมาธรรมจักร สันนิษฐานว่าคงจะเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๖ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระดำริว่า กรมธรรมการแต่ก่อนใช้ตราเสมาธรรมจักร ถึงเดี๋ยวนี้จะยกขึ้นเป็นกระทรวงก็ควรใช้ตราเสมาธรรมจักรอยู่ตามเดิม ข้อนี้แม้ว่าเป็นการเดาที่ถูกต้องก็เป็นทางปฏิบัติอันชอบ แต่พระยาอนุมานประทับตราส่งมาให้ดูเป็นตัวอย่างดวงหนึ่ง มีรูปเสมาหินอยู่ในบุษบกมีรูปจักราวุธเคียงอยู่ข้างบุษบก จดบอกไว้ว่าตราเสมาธรรมจักรน้อย ตราดวงนี้ทำเอาผะอืดผะอมอยู่มาก ด้วยไม่เชื่อว่าเสมาธรรมจักรจะมีตราน้อย แต่กระทรวงธรรมการก็ใช้อยู่ดวงหนึ่ง ดวงที่พระยาอนุมานส่งมาให้ดูก็มีลักษณ์เป็นตราเสมาธรรมจักร ถ้าไม่เป็นตราน้อยแล้วจะเป็นอะไร คิดไม่เห็น จึงได้ตั้งปัญหาทูลมาถึงเรื่องตราน้อย เอาตราพระราชสีห์น้อยเป็นหลักก็ล้มละลายไป ตราพระราชสีห์น้อยกลายเป็นตราประจำต่อทีหลังจึงนึกขึ้นได้ว่า ประกาศนียบัตรนักเรียนใช้ตราเสมาธรรมจักรประทับ ลูกหลานได้กันมามีถมไป จึงเรียกเอามาดู พบเป็นตราทำใหม่ถอดด้าม จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า ดวงที่พระยาอนุมานประทับตราตัวอย่างมาให้ดูนั้น เป็นตราเสมาธรรมจักรดวงเก่า

แก้ผิด

ตามหนังสือเวรซึ่งถวายมาคราวก่อน ตอนที่ทูลถึงจำนวนพระเจ้าในสัมพุทเธนั้นผิดไปมาก บทที่ ๑ นั้นถูกแล้ว แต่บทที่ ๒ ซึ่งทูลว่า ๑๒๔,๐๕๕ นั้นผิด ที่ถูกเป็น ๑,๐๒๔,๐๕๕ และบทที่ ๓ ซึ่งทูลว่า ๒๔๘,๐๑๙ นั้นก็ผิด ที่ถูกเป็น ๒,๐๔๘,๑๐๙ เมื่อรวมกันก็เป็นพระเจ้า ๓,๕๘๔,๑๙๒ พระองค์ มากเต็มที ที่ผิดไปนั้นเพราะเกล้ากระหม่อมคิดแปดเอาเอง สงสัยอยู่เหมือนกันว่าจะผิด เพราะสังขยาทางบาลีนั้นเข้าใจยากนักแต่นักเรียนบาลียังออกปาก ครั้นได้โอกาสพบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สอบถามท่านจึงได้ที่ถูกมา ท่านว่าไม่ใช่ยากแต่ที่สังขยายากที่คาถาสัมพุทเธเองก็ภาษาไม่ดีด้วย เหมือนสัพพพุทธา

บรรเลง

จะเพ้อเจ้อบรรเลงถวายเพื่อสนุกต่อไป ในหนังสือเวรฉบับก่อนได้พูดเพ้อเจ้อถึงเรื่องศาสนามหายาน มีเมืองสวรรค์เมืองนิพพานอยู่ในนั้นเป็นเหตุให้นึกขึ้นได้ต่อไปว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เกล้ากระหม่อมกับกรมหมื่นวรวัฒน์พากันไปดูรูปเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ดูไปถึงห้องพระเจ้าเทศนาบนดาวดึงส์ กรมหมื่นวรวัฒน์พูดขึ้นว่า “เหมือนวัดน้อยทองอยู่” กระหม่อมก็อดหัวเราะไม่ได้แล้วรับรองท่านว่า “จริง” ด้วยเมืองดาวดึงส์สวรรค์ที่เขียนไว้นั้น มีพระจุฬามณี เจดีย์รูปไม้เรียวหวดฟ้าสูงสักสามวา ว่าตามส่วนเทวดาซึ่งมีอยู่ที่นั่นสักห้าหกตัว พื้นลานพระเจดีย์ปูกระเบื้องหน้าวัว มีกำแพงแก้วโบกปูนกั้นอยู่เลเพลาดพาด จะว่าทำล้อมพระเจดีย์ก็หาได้ไม่ ให้นึกไปว่าช่างชาวสวนมาเขียน แกได้เห็นแต่วัดตามสวนติดตาจิตใจก็เก็บเอามาเขียนตั้งแต่วันนั้นมาก็นึกทำในใจว่า ถ้าเราจะต้องเขียนเมืองสวรรค์แล้ว จะเขียนให้บ้าที่สุด ไม่ว่าสิ่งใดๆ จะต้องเขียนไม่ให้เหมือนกับเมืองมนุษย์ที่เราเห็นอยู่นี้เลย หากว่ามีเทวดาอยู่ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นเมืองสวรรค์ ต่อแต่นั้นมาไปเผาศพใครที่ภูเขาทองก็ลืมเสียแล้ว ได้เห็นภูเขาทองเวลานั้นเข้าใจว่ากำลังซ่อมใหม่ ตัดต้นไม้ถางหญ้าลงเกลี้ยงหมด แล้วมีการก่ออิฐถือปูนต่อขึ้นใหม่ตะง่องตะแง่ง เข้าใจว่าเจ๊กทำโดยความตั้งใจจะให้เป็นหินเป็นเขา แต่จะได้เหมือนหินเหมือนเขาก็หามิได้เลย เป็นอย่างไรก็ทูลไม่ถูก ด้วยไม่มีคำจะกราบทูล หอเห็นก็จับเอาใจ รู้สึกว่านี่เป็นอันหนึ่ง ซึ่งจะเอาไปเขียนรูปเมืองสวรรค์ได้แต่เดี๋ยวนี้ลบหายไปเสียแล้ว เพราะต้นไม้กลับขึ้นปรกเสียหมด

ฝ่าพระบาทคงจะใคร่ทรงทราบ ว่าทำไมจึงเอาวัดน้อยทองอยู่มาเปรียบด้วยดาวดึงส์บนสวรรค์ที่เห็นเขียน เหตุที่ไปวัดนั้นด้วยกันมาใหม่ๆ เพราะตื่นตดรจนาฝีมือเขียนหนังของอาจารย์ใจ (พระพรหมพิจิตร) ดังได้เคยเล่าถวายมาแล้ว เรื่องไปสังขีสังขนขอดูหนังพระนครไหวที่เจ้าพระยาเทเวศร กรมหมื่นวรวัฒน์บอกว่าฝีมืออาจารย์ใจ มีเรื่องบุศลพอยู่อีกชุดหนึ่ง ท่านบอกว่าเป็นหนังของใครก็ลืมเสียแล้ว แต่เกี่ยวกับเจ้าพุ่มพ่อคุณไฉน เดี๋ยวนี้ตกไปอยู่ที่สมภารวัดน้อยทองอยู่ กรมหมื่นวรวัฒน์เองก็ไม่เคยเห็น จึงได้ชวนกันไปหาท่านสมภารวัดน้อยทองอยู่ขอท่านดู ท่านก็ต้อนรับขับสู้ดีแล้วขนหนังมาให้ดู ดูก็พบหนังฝีมืออาจารย์ใจเรื่องบุศลบมีจริง แต่มีอยู่สองสามตัวเท่านั้น ดีเต็มที นอกนั้นก็เป็นมืออื่นแซกแซมเข้ามาแทน ท่านสมภารท่านก็ไม่รู้ เพราะท่านไม่ได้เป็นช่าง เมื่อออกจากกุฏิสมภารแล้วก็เดินเถลไถลเข้าไปดูในวงพุทธาวาส นั่นแหละจึงได้ไปเห็นภูมิฐาน เก็บเอามาเปรียบกับดาวดึงส์สวรรค์ซึ่งเขียนไว้ที่พุทไธสวรรย์

พิธี

เมื่อวันที่ ๒๓ สำนักพระราชวังออกหมายการพระราชกุศลเข้าพรรษา มาเกณฑ์เกล้ากระหม่อมให้ไปจุดเทียนวัสสาแทนพระองค์ ที่วัดพระเชตุพน วันที่ ๑ สิงหาคม มีใบพิมพ์กำหนดการละเอียดให้มาด้วย ซึ่งเกล้ากระหม่อมได้ส่งมาถวายให้ทราบฝ่าพระบาทใบหนึ่ง พร้อมกับหนังสือเวรฉบับนี้ด้วยแล้ว หนังสือเวรคราวนี้ เมื่อเรานึกอย่างหยาบๆ กลัวจะไปโดนกับวันหยุดเข้าวัสสา จึงคิดว่าจะเขียนส่งมาถวายเสียก่อนกำหนด แต่เมื่อตรวจละเอียดก็เห็นไม่เกี่ยวไปถึง แม้กระนั้นก็ดี เกล้ากระหม่อมก็ได้เขียนเลื่อนเป็นให้ได้ส่งวันศุกรมาหลายเที่ยวแล้ว เพราะเห็นว่าส่งวันเสาร์นั้นติดจะเป็นผัดช้างอยู่ ถ้าส่งไม่ทันเวลาปิดเมล์ก็จะมาถึงช้าไป

ข่าว

วันที่ ๒๓ ทำขวัญชายดิศ วันที่ ๒๔ บวช เกล้ากระหม่อมได้ไปทั้ง ๒ วัน วันบวชได้จูงเธอเข้าโบสถ์ด้วย การเป็นไปเรียบร้อยดี ฝนก็ไม่ตกในงานนี้เกล้ากระหม่อมผูกใจจนผิด เมื่อวันที่ ๒๒ ก็ได้เข้าไปในพระราชวังด้วยหลงว่าเป็นวันทำขวัญ แต่ “กินกาว” ไม่พบใคร จึงได้รู้สึกว่านับวันผิดไปเข้าใจว่าเป็นวันที่ ๒๓

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ต้นฉบับเขียนเช่นนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ