- เมษายน
- วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๒๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเถลิงศก
- —หมายกำหนดการพระราชพิธีพืชมงคล ๒๔๘๒
- —หมายกำหนดการพระราชกุศล ๕๐ วัน พระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
- วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช
- —ริ้วขบวนแห่ศพเจ้าพระยายมราช
- วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —อธิบายการค้าสำเภา
- วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- มิถุนายน
- วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๓/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
- วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —วินิจฉัยคำ “กู้”
- วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๔/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศล ๗ วัน พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบัณบัวผัน
- วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร (๒)
- วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- กรกฎาคม
- วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๗/๒๔๘๒ หมายกำหนดการทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวง
- วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —ดวงตราที่มีในกฎหมายทำเนียบศักดินา
- วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๘/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศลเข้าวรรษา
- สิงหาคม
- วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —อธิบายเรื่องเครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- กันยายน
- วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๙/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา
- วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —หมายฉลองพระสุพรรณบัฏสมเด็จพระสังฆราช
- ตุลาคม
- วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑๐/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕
- วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —วินิจฉัย เรื่อง “จิ้มก้องกรุงจีนและหองของพระเจ้ากรุงจีน”
- วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑๑/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระกฐินหลวง
- —บันทึกเรื่องเงินกรุงศรีสัตนาคนหุต
- วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- พฤศจิกายน
- วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —วินิจฉัยเรื่องลายแทง
- วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑๒/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
- วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —บานแพนกหนังสือราชาธิราช
- วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- มกราคม
- วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —วิธีให้ข้าวแม่ซื้อ
- —บันทึกเรื่องให้ข้าวแม่ซื้อ
- วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- —วินิจฉัยพระยศเจ้านายที่เรียกว่า “กรมสมเด็จ” หรือ “สมเด็จกรม”
- วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- กุมภาพันธ์
- วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑๓/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศลมาฆบูชา
- วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- —ที่ ๑๔/๒๔๘๒ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีรัชมงคล
- วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
- วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- มีนาคม
วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร
บ้านซันนามอน ปีนัง
วันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ
ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๒ มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย
ทูลสนองความที่ค้างมาจากจดหมายเวรฉบับก่อน
เรื่องที่เนื่องด้วยฝรั่งเรียกช่องทางเรื่อว่า “สเตรท” (Straits) เช่น Straits of Malacca เป็นต้นนั้น นานมาแล้วหม่อมฉันอ่านจดหมายเหตุของราชทูตไทย ที่พาพระอุบาลีไปเมืองลังกาในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๙๕ ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (หน้า ๑๕๗) ในจดหมายเหตุนั้นพรรณนาถึงตำบลหนทางที่เรือราชทูตไป เมื่อถึงเกาะบังกะในแดนชวากล่าวว่า
“ถึงเกาะบังกะ ณ วันเสาร์เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ต้นหนว่าเป็นทาง ๗๒ โยชน์ คิดเป็น ๑๐,๐๘๐ เส้น และถึงฝั่งตะวันตก เห็นเกาะเห็นฝั่งเนื่องไปทางขวามือ และเข้าไปใน “เตร็ด” แล้วถึงเมืองปะลิบัง ครั้นออกจาก “เตร็ด” จึงถึงเกาะรายเนื่องไป ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เพลา ๒ ทุ่ม ถึงเมือง “ใยกะตรา” (ชื่อเดิมของเมืองบาเตเวีย) ทางที่เรียกว่า “เตร็ด” นี้คือช่องทางเรือในระหว่างเกาะบังกะกับเกาะสุมาตรา ฝรั่งเรียกว่า Banga Strait พระองค์ท่านและหม่อมฉันก็เคยผ่านเมื่อไปชวา
พอหม่อมฉันอ่านถึงคำ “เตร็ด” ก็สะดุดใจ เกิดสงสัยว่าไฉนจึงไม่เรียกว่า “ช่อง” อย่าง “ช่องแสมสาน” “ช่องเสม็ด” และ “ช่องอ่างทอง” อันมีในทะเลไทย ไปเรียกว่า “เตร็ด” จะเอาคำ Strait ภาษาฝรั่งมาเขียนลงว่า “เตร็ด” หรือเอาชื่อช่อง “เตร็ด” ในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียก ด้วยเห็นเป็นชื่อช่องทางเรือเหมือนกัน คิดดูเห็นว่า ถ้าเอาคำฝรั่งมาเรียกน่าจะไม่ขาดอักษร “ส” ซึ่งมีนำหน้า หรือมิฉะนั้นก็คงมีคำอธิบายประกอบสำหรับให้ไทยเข้าใจความของศัพท์ Strait เช่นว่า “เข้าไปในเตร็ดทางระหว่างเกาะ” ที่เรียกแต่ว่า “เตร็ด” ดูประหนึ่งเป็นคำที่ถือว่ารู้กันอยู่แล้วว่าอะไร เพราะฉะนั้นน่าเข้าใจว่าที่เรียกว่า “เตร็ด” ในจดหมายเหตุผู้เขียนเอาชื่อช่องเตร็ดในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียก ปัญหานี้เป็นมูลของวินิจฉัยที่จะทูลต่อไป
ในแม่น้ำเจ้าพระยามีทางเรือลัดเรียกว่าเตร็ด ๒ แห่ง คือ “เตร็ดใหญ่” ขุดในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ตั้งแต่ตำบลสามโคกลงมาจนบางหลวงเชียงรากแห่ง ๑ เรียกว่า “เตร็ดน้อย” ขุดในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ แต่บางบังมาจนบางบัวทองแห่ง ๑ พึงสันนิษฐานว่าสมัยเมื่อยังมีเตร็ดแต่ที่ขุดครั้งพระเจ้าทรงธรรมแห่งเดียวคงเรียกชื่อว่า “คลองเตร็ด” หรือ “ทางเตร็ด” ต่อเมื่อมีเตร็ดเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ จึงเอาคำใหญ่และน้อยเข้าประกอบเรียกให้ผิดกัน
ก็การขุดทางเรือลัดในแม่น้ำเจ้าพระยานี้ เคยขุดแต่ก่อนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมก็มี ขุดเมื่อภายหลังก็มี จะระบุตามที่จำได้ ที่ขุดก่อนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมนั้น คือทางลัดบางกอก ขุดในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชแห่ง ๑ ทางลัดแต่บางกรวยจนวัดขี้เหล็ก (ในคลองบางกอกน้อย) ขุดในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่ง ๑ ที่ขุดภายหลังรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม คือทางลัดแต่เมืองนนทบุรีลงมาจนวัดเขมาขุดในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองแห่ง ๑ ทางลัดเตร็ดน้อยขุดในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระแห่ง ๑ ไม่นับคลองลัดเมืองนครเขื่อนขันธ์เข้าในจำนวน เพราะทำสำหรับให้เรือเดินแต่เฉพาะในฤดูน้ำจืด น่าพิศวงอยู่อย่างหนึ่งที่ตามบรรดาทางลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาที่พรรณนามา ไม่มีแห่งอื่นเรียกว่า “เตร็ด” นอกจากแห่งที่ขุดครั้งพระเจ้าทรงธรรม เพราะฉะนั้นคำเตร็ดน่าจะเป็นชื่อเรียกเฉพาะทางลัดแห่งนั้น มิใช่เป็นชื่อสามัญเหมือนอย่างคำว่า “คลองลัด” อาจจะเป็นเพราะลักษณะของทางตัดที่เรียกว่า “เตร็ด” ผิดกับทางตัดที่เรียกว่า “คลอง” เปรียบดั่งเช่นทางลัดที่ขุดขนาดสำหรับใช้เรือพายจะเรียกว่าคลอง แต่ทางเตร็ดขุดขนาดใหญ่และลึกสำหรับให้เรือกำปั่นในสมัยนั้นผ่านได้ จึงเรียกว่าเตร็ดดอกกระมัง
เหตุใดจึงเอาคำว่า “เตร็ด” มาเรียกเป็นชื่อทางลัดนั้น พิจารณาดูก็ชอบกล ถ้าเป็นในปัจจุบันอันมีบ้านพวกมอญอยู่ที่สามโคกมาก คำ “เตร็ด” อาจจะเป็นภาษามอญ หมายความว่า “คลอง” หรือ “คลองลัด” แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีบ้านมอญในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่คำว่า “เตร็ด” น่าจะมีใช้ในภาษาไทย นึกหาต่อไปเห็นมีคำที่ใช้ในภาษาไทยอีกคำ ๑ ว่า “เตร็จ” เช่นใช้ว่า “เตร็จเตร่” และขนานนามเรือดั้งว่า “ครุฑเตร็จไตรจักร” พิเคราะห์ความหมายว่า “แล่นไป” หรือไปโดยสะดวก จะเอากำ “เตร็ด” มาขนานเป็นนามทางลัดนั้นดอกกระมัง หรืออีกนัยหนึ่งปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าพระเจ้าทรงธรรมโปรดใช้ฝรั่ง (ฮอลันดา) เช่น ให้ส่องกล้องตัดถนนหนทางขึ้นพระพุทธบาท เมื่อจะขุดคลองลัด ณ ตำบลสามโคก ดูก็น่าจะโปรดให้อินชเนียฝรั่งคนนั้นเองส่องกล้องกรุยแนวคลอง และอาจจะขุดตามคำแนะนำของฝรั่งคนนั้น คือให้ขุดเป็น “สะเตร็ด” ขนาดใหญ่กว่าคลองลัดที่เคยขุดแต่ก่อน เพื่อให้เรือกำปั่นไปมาค้าขายมากขึ้น เพื่อบำารุงเศรษฐกิจของบ้านเมือง ไทยจะได้ยินชื่อสะเตร็ตจากฝรั่งก่อน เห็นคล้ายกับคำ “เตร็จ” ความก็พอไปกันได้ จึงให้เรียกลัดที่ใหม่ว่า “เตร็จ” แต่คนภายหลังมาเขียนสะกดด้วยตัว “ด” จึงกลายเป็น” เตร็ด” ความคิดวินิจฉัยนี้เป็นอย่างน้ำท่วมทุ่ง เขียนถวายสำหรับทรงพิจารณาเล่นสนุกๆ ไม่ได้ปรารถนาจะอ้างเป็นหลักฐานในโบราณคดี
ที่ตรัสเล่าถึงเรื่องตามเสด็จไปพระแท่นดงรังนั้น หม่อมฉันอ่านก็ออกสุนุก เพราะหม่อมฉันก็ได้ไปตามเสด็จด้วยในครั้งนั้น ยังจำคำที่ท่านตรัสบอกได้ว่า คุณยายนับถือน้ำมันตามตะเกียงพุทธบูชาที่พระแท่นว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก แม้เป็นบาดแผลหรือฟกบอมอย่างไรทาก็หายทั้งนั้น และยังจำได้รางๆ ต่อไปว่า เมื่อเสด็จไปถึงที่ปากแพรกเมืองกาญจนบุรีกรมหลวงพิชิตฯ ลงสรงน้ำถูกปลาแขยงยักเป็นแผลที่พระนาภี มีใครทูลให้ทาน้ำมันพระแท่น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชนิพนธ์โคลงล้อบท ๑ แต่ว่ากระไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว
ว่าถึงพระแท่นดงรัง หม่อมฉันเห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวพระแท่นเท่ากับผ้าเหลืองที่เขาเอาซ้อนกองไว้บนพระแท่นเป็นรูปคล้ายกันศพคลุมผ้านอนอยู่บนนั้น ผู้ที่ไปพระแท่นดงรังครั้งแรกล้วนนึกไปว่าจะดูพระแท่น ครั้นไปถึงแต่พอโผล่ประตูวิหารเข้าไปเห็นรูปกองผ้าเหลืองเหมือนอย่าง “พระพุทธศพ” วางบนพระแท่นก่อนสิ่งอื่นก็จับใจในทันที บางคนก็ถึงสะดุ้งกลัว บางคนก็ยิ่งรู้สึกเลื่อมใสพระแท่นดงรังอัศจรรย์ด้วยผ้าเหลืองกองนั้นเป็นสำคัญ จึงมักกล่าวกันว่าพระแท่นศิลาอาสน์ไม่น่าเลื่อมใสเหมือนพระแท่นดงรัง เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปตรวจราชกาลมณฑลราชบุรีทางเรือ ได้แวะขึ้นไปพระแท่นดงรังนอกเทศกาลครั้ง ๑ เห็นเขาม้วนเอากองผ้าเหลืองใส่สาแหรกแขวนห้อยไว้กับเพดานวิหาร เหลือแต่ตัวพระแท่นเป็นปลายเนินศิลาแลงอันมีเป็นเทือกต่อผนังวิหารออกไปอีกยาวถนัด ดูสิ้นสง่าไม่จับใจเลย
จะทูลเรื่องพระแท่นดงรังตามความคิดต่อไปในทางตำนาน อันคติที่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังประเทศต่างๆ ภายนอกอินเดียด้วยสามารถอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น เป็นคติเกิดในลังกาทวีป ประเทศอื่นที่เป็นศิษย์ของชาวลังการับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดียวัตถุและพุทธพยากรณ์ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดียวัตถุไว้มากบ้าง น้อยบ้าง ทุกประเทศ ประเทศอื่นจะยกไว้ กล่าวแต่ในเฉพาะเมืองไทยนี้ มีปรากฏในเรื่องพงศาวดารโดยลำดับมา ว่าพบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาถึงรัชกาลพระเจ้าเสือ ปรากฏว่าเสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี จึงสันนิษฐานว่าคงพบเมื่อในรัชกาลนั้น ต่อมาปรากฏว่าพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชาพระแทนศิลาอาสน์ อาจจะมีมาก่อนแล้วช้านานเพราะอยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งตั้งมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย บางทีชื่อ “ทุ่งยั้ง” นั้นเองจะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้งเมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น แต่พระแท่นดงรังในเรื่องพงศาวดารไม่กล่าวถึงเลย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดนิยมกันต่อเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นความคิดของพระเถระในท้องถิ่น ด้วยถือเอาเทือกศิลาแลงลาดตรงปลายเนินกับที่มีป่าต้นรังรายรอบเป็นนิมิต ประดิษฐ์เป็นเจดียวัตถุเทียบกับพระแท่นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ณ เมืองกุสินาราย ทำนองเดียวกับพระพุฒาจารย์ (มา) สร้างรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นที่วัดจักรวรรดิแล้วให้คนไปบูชา มิได้ตั้งใจจะให้ใครเชื่อถือว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าพระนิพพาน ณ พระแท่นนั้นความอัศจรรย์ของพระแท่นดงรัง อันผิดกับเจดียวัตถุที่อื่นหมด จึงมีที่ต่อมาภายหลังมีผู้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระแท่นดงรังนั้นจริง หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาดับขันธปรินิพพานในเมืองไทยนี้ ผิดกับเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานพระบริโภคเจดีย์ เช่น เหยียบรอยพระพุทธบาทไว้เป็นต้น อันหมายความเพียงว่าเสด็จมาชั่วคราวแล้วกลับไปยังมัชฌิมประเทศ แต่ความที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรัง หมายความว่าเมืองไทยนี้เป็นมัชฌิมประเทศที่อุปบัติตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงควรนับว่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าพุทธเจดีย์แห่งอื่น จะเชื่อกันอย่างนั้นแพร่หลายเพียงใดไม่ทราบแน่ แต่จะทูลเป็นหลักฐานได้รายหนึ่ง มีพระราชาคณะสามัญ เมื่อหม่อมฉันกลับมาจากอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ พบท่านจึงเล่าถึงที่หม่อมฉันได้ไปบูชาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมืองพุทธคยา และที่ประทานปฐมเทศนา ณ เมืองพาราณสีให้ท่านฟัง ท่านฟังก็ยิ้มๆ อยู่หาว่าประการ ใดไม่ ต่อมาช้านานจนเมื่อท่านถึงมรณภาพแล้วจึงปรากฏว่าท่านได้แต่งหนังสือให้พิมพ์ไว้เรื่อง ๑ ในหนังสือนั้นท่านชี้ถิ่นที่ต่างๆ ในเมืองไทยอันเนื่องด้วยเรื่องพุทธประวัติจนเสด็จเข้าพระปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรัง มีในหนังสือนั้นแห่งหนึ่งท่านว่า “ที่ใครว่าพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสรู้และปรินิพพานในอินเดียนั้นฉันไม่เชื่อ” พออ่านถึงตรงนี้หม่อมฉันก็รู้สึกว่าที่ท่านเรียก “ใคร” นั้นคือตัวหม่อมฉันเอง เป็นแต่เกรงใจจึงไม่ออกชื่อ เพราะฉะนั้นหม่อมฉันเล่าเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงไม่ออกชื่อท่านตอบแทนบ้าง
สนองความบางข้อในลายพระหัตถ์
เรื่องตำนานพิธีตรุษที่หม่อมฉันเขียนนั้นใกล้จะคลอดอยู่แล้ว จะเป็นหนังสือยาวราว ๕๐ หน้ากระดาษ เขียนมาแต่ในเวลาว่างร่างจดหมายเวรไม่รีบรัดจึงช้า แต่เขียนๆ มาบางเวลาก็นึกขัน เห็นว่าจะมีแต่ท่านพระองค์เดียวที่จะเข้าพระทัย เพราะคนอื่นที่เคยรู้เห็นพิธีตรุษมีน้อย แม้ในพวกนั้นที่จะเอาใจใส่ถึงลักษณการพิธีก็ยิ่งน้อยลงไปอีก จึงอยู่ในเราสนุกด้วยกันสองคนเท่านั้น
ที่ว่าธรรมจักรกับสมัยในพิธีตรุษเพราะกล่าวถึงเทวดานั้นหม่อมฉันก็เคยได้ยิน และได้โดยอ่านคำแปลทั้ง ๒ สูตร เมื่ออ่านมหาสมัยสูตรแล้ว หม่อมฉันประหลาดใจที่ไม่เห็นมีพระธรรมเทศนาในสูตรนั้น ได้ปรารภดูเหมือนกับพระพินิจวรรณการ (แสง) เปรียญเขาไปเอาหนังสืออื่นมาให้ดูอีกเรื่องหนึ่งจึงรู้ ว่ามหาสมัยสูตรนั้นเป็นแต่สูตรต้นของสูตรอื่นอีก ๓ สูตร คล้ายกับเป็นคำนำพระธรรมเทศนาซึ่งมีต่อไปใน ๓ สูตร แต่ความในเทศนา ๓ สูตรนั้นล้วนแต่ติเตียนความชั่วร้ายของสตรี เช่น กุณาลชาดก เรื่องนางกากี ก็มีในสูตรนั้น การสวดธรรมจักรกับสมัยหม่อมฉันเข้าใจว่าประเพณีเดิมเห็นจะเป็นเช่นเมืองเขมรถ่ายแบบไปทำตาม คือสวดแต่ในพิธีตรุษเท่านั้น ที่เอามาสวดในงานอื่น น่าจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ลองนึกดูตามที่จำได้ ในงานมงคลถ้าสวดมนต์ ๓ วัน สวด ๗ ตำนานวัน ๑ สวดธรรมจักรกับสมัยวัน ๑ แล้วมาเปลี่ยนเป็นสวด ๗ ตำนานวัน ๑ ธรรมจักรวัน ๑ สมัยวัน ๑ งานเฉลิมพระชันษา วันที่ ๑ สวดนวหายุสมธรรม วันที่ ๒ พระธรรมยุตสวดมหาสมัยสูตร วันที่ ๓ พระมหานิกายสวด ๗ ตำนาน แต่ธรรมจักรยังใช้สวดงานเปตพลีด้วย
เรื่องเจ้านายทรงมงคลล่ามสายสิญจน์ถึงสายตะพานนั้น หม่อมฉันก็เคยได้ยิน พิเคราะห์ดูก็เห็นสมจริงเช่นนั้น แต่หลับนึกดูตามแผนผังพระมหาปราสาทดูอยู่ข้างจะฉุกละหุก เริ่มเวลาเสด็จออกทรงศีล เจ้านายหมอบเฝ้าอยู่ที่มุขเหนือ พอเสด็จขึ้นประทับทรงพระมหามงคลฟังสวดที่ในพระฉาก เจ้านายจึงพากันคลานตะกุบตะกับเข้าไปประทับเป็นแถวเรียงกัน ตามทางสายตะพาน จะยืนขึ้นผูกสายสิญจน์กับสายตะพานก็ไม่ถึง คงต้องขว้างกลุ่มสายสิญจน์ข้ามตะพาน ขว้างผิดบ้างถูกบ้างหรือวานผู้อื่นขว้างบ้าง จนได้ปลายสายสิญจน์มาผูกกับมงคลจึงเป็นยุติ ครั้นสวดมนต์จบ ก็ต้องรีบปลดสายสิญจน์คลานกลับมายังมุขเหนือ คอยเฝ้าเมื่อเสด็จออกรับอดิเรก น่าจะเป็นเพราะความลำบากนั้นเองทั้งพระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายจึงเลิกทรงมงคลเกี่ยวกับสายสิญจน์ และทรงมงคลแต่คืนที่ยิงปืนคืนเดียว
ข้อที่เรียกคนร้องว่าละครว่าลูกคู่ ประทานพระวินิจฉัยว่าเพราะร้องรับบทบาทท้ายเป็นคู่กับตัวละครร้องบทบาทหน้านั้น เข้าทีมาก เห็นจะถูก
ที่พระพรหมมุนี (อ้วน) ได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระราชาคณะนั้น หม่อมฉันมีความยินดี แม้ผู้อื่นโดยมาก เฉพาะชาวมณฑลทางอีสานก็เห็นจะพากันยินดี ด้วยท่านทรงคุณธรรมและพรรษาอายุสมควรแก่ยศทุกสถาน
หม่อมฉันได้รับบัตรบอกงานทำบุญ ๗ วัน หน้าศพหม่อมหวลจักรพันธ์ และบอกข้างท้ายบัตรว่าจะพาศพไปประจุไว้ที่วัดมกุฎกษัตริย์ หม่อมฉันก็เห็นว่าเป็นความคิดถูก เพราะการรักษาศพไว้ที่บ้านจนกว่าจะถึงเวลาพระราชทานเพลิง โดยเฉพาะศพที่ยกย่องเกียรติยศ เป็นการลำบากและสิ้นเปลืองแก่เจ้าภาพมากนัก
พัดรอง “สพฺพปาปสฺส” ที่หม่อมฉันทำถวายพระญวนและพระจีนที่ทรงสมณศักดิ์นั้น หม่อมฉันให้ทำขึ้นถวายเมื่องานศพแม่ เพราะท่านพากันมารับอาสาทำกงเต๊กช่วยด้วยใจสมัครทุกคราว จึงได้ตอบแทนคุณด้วยพัดรองนั้น
ที่ตรัสถามปริศนาว่าไฉนลูกประคำของดาไลลามาเมืองธิเบตจึงมีกำหนด ๑๐๘ เมล็ดนั้น หม่อมฉันคิดดูเห็นเค้าว่ามีอธิบายกว้างขวางทั้งส่วนตัววัตถุที่เรียกว่าประคำ และส่วนจำนวน ๑๐๘ ที่ถือเป็นกำหนดจะทูลอธิบายในจดหมายเวรฉบับนี้ไม่ทัน ขอประทานรอไปทูลในฉบับหน้า แต่ชั้นนี้ขอให้ทรงสืบดูทางพระญวนหรือพระจีน บางทีจะได้คติทางฝ่ายมหายานซึ่งถือเช่นเดียวกันในเมืองธิเบต และโปรดให้หม่อมฉันทราบด้วย
ข่าวทางปีนังในสัปดาหะนี้ไม่มีอะไรแปลกประหลาดถึงควรเขียนทูลในจดหมายเวร
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด