วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน แล้ว ที่ทรงเรียงความเป็นวรรคนั้น หม่อมฉันจะขอรับเป็นแบบทำตามต่อไป

วรรคตอบข้อความในลายพระหัตถ์

จะทูลวินิจฉัยถึงความรื่นรมย์ของคนแก่เพิ่มเติมอีกสักหน่อย ที่เมืองปีนังนี้มีหนังสือพิมพ์ข่าวออกรายวันชื่อ Straits Echo ออกเวลาเช้าฉบับ ๑ ชื่อ Penang Gazette ออกเวลาบ่ายฉบับ ๑ ตั้งแต่หม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังได้รับฉบับออกเวลาเช้ามาอ่านเวลากินกาแฟเมื่อตื่นนอน ได้รู้ข่าวต่างๆ ที่บอกโทรเลขจากประเทศอื่นๆ ทุกวัน ชั้นเดิมก็รู้สึกรื่นรมย์ และเป็นเรื่องสำหรับสนทนากับลูกในเวลาที่นั่งกินอยู่ด้วยกันนั้น มาเกิดรู้สึกเบื่อหนังสือพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปีกลายนี้ จนเมื่อเร็วๆ นี้เขาลงข่าวพระเจ้ายอชที่ ๖ กับพระมเหสีเสด็จไปประเทศคะนะดาและยุไนติดสะเตต อ่านรู้สึกรื่นรมย์ในข่าวนั้น ก็นึกเห็นเหตุที่เกิดเบื่อและเกิดรื่นรมย์ดังจะทูลความคิดเห็นต่อไปนี้ ที่จริงการที่พระเจ้ายอชเสด็จไปอเมริกา ก็ไม่มีเกี่ยวข้องพ้องพานกับหม่อมฉันอย่างหนึ่งอย่างใด เหตุที่เกิดรื่นรมย์คงเป็นเพราะเป็นข่าวเล่าถึงกรณีต่างๆ อันแสดงความสามัคคีและทำดีต่อกัน แต่ข่าวความเป็นไประหว่างต่างประเทศอื่นๆ ทั้งทางยุโรปและทางเมืองจีนในสมัยนี้ ดูมีแต่คิดร้ายหรือรบพุ่งฆ่าฟันกันนอกจากนั้นยังมีแต่ทิ้งสัจเสียศีล หลอกลวงยุแยงกันต่างๆ ล้วนแต่อ่านแล้วไม่เจริญใจ อ่านมานานเข้าก็เลยนึกออกเบื่อหนังสือพิมพ์ เพราะเหมือนเป็นทูตนำแต่อกุศลกรรมมาบอกทุกๆ วัน หรือมิฉะนั้นเปรียบว่าหนังสือพิมพ์เหมือนพระมาตลีขับรถพาพระเนมีราชไปทอดพระเนตรนรก ก็คงสลดพระหฤทัย จนเบื่อหน่ายแต่ก็ต้องนั่งดูไปฉะนั้น หนังสือพิมพ์ยุโรปมาถึงปีนังสัปดาหะละครั้งหนึ่ง ดูรูปภาพก็มักมีแต่การเตรียมตัวหนีลูกระเบิดและไอพิษที่ข้าศึกจะเอาทิ้งทางอากาศ มีรูปที่จับใจมากเมื่อคราวเมล์หลัง เป็นรูปกำลังตรวจเตรียมห้องใต้วิหารวัดคันทบุรีในประเทศอังกฤษ อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชอาชบิฉบมากว่า ๑๐๐๐ ปีแล้ว ต้องแก้ไขทำเป็นห้องสำหรับสมเด็จพระมหาสังฆปรินายกกับฐานานุกรมหลบหนีลูกระเบิด แม้พระราชวังบักกิงฮัมของพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน วิชาอาคีเต๊กก็คงจะต้องดัดแปลงแต่นี้ไป ด้วยบ้านเรือนที่จะสร้างใหม่ต่อไปข้างหน้าจำจะต้องมีห้องสำหรับหนีภัยเหมือนกับต้องมีครัวไฟ ลงปลายมนุษย์อาจจะต้องขุดรูอยู่ก็เป็นได้ มันน่าสังเวชด้วยประการฉะนี้ เมื่อกำลังร่างจดหมายนี้ได้หนังสือพิมพ์มา มีรูปทำนองอย่างหม่อมฉันปรารภจึงได้ตัดส่งมาถวายด้วย

เรื่องที่พระแต่งหนังสือเอาชื่อภาษาไทยไปแปลงเป็นภาษามคธนั้น หม่อมฉันสงสัยว่าจะเป็นมาแล้วแต่พระลังกาแต่งหนังสือมหาวงศ์ คงเอาคำภาษาสิงหลไปแปลงเป็นภาษามคธมีมาแล้ว พระไทยเป็นแต่เจริญรอยอาจารย์หาได้คิดขึ้นใหม่ไม่ หม่อมฉันสังเกตนามพระเจ้าแผ่นดินลังกา แม้เป็นทมิฬก็ใช้พระนามเป็นภาษามคธทั้งนั้น นึกได้ถึงชื่อราชธานีที่มาสร้างขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่ง ในหนังสือมหาวงศ์เรียกชื่อว่า “โปรันนะรุวะ” ดูไม่ใช่ภาษามคธ น่าจะเป็นชื่อแปลงมาแต่คำภาษาสิงหล

แต่ยังมีวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่ง กลับกันกับที่เอาภาษาไทยไปแปลงเป็นภาษามคธ จะเลยทูลด้วยต่อไป หม่อมฉันเคยนึกว่าจะเป็นเพราะเหตุใดภาษาไทยที่ใช้กันตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จึงมามีคำภาษาสันสฤต และภาษามคธเข้ามาแทรกแซงปะปนมากขึ้นทุกที พิจารณาดูตามอายุหนังสือเก่าที่มีอยู่ประกอบกับเรื่องพงศาวดาร เห็นว่าชาวอินเดียที่มาเป็นครูเราแต่ดั้งเดิมคงเอาตำราศาสนาและวิชาต่างๆ อันเป็นภาษาสันสกฤตหรือภาษามคธมา มาสอนด้วยกระบวนแปลออกเป็นภาษาในพื้นเมืองให้คนเข้าใจ มีคำสำคัญในตำราที่หาคำภาษาพื้นเมืองแปลให้ความตรงกับคำในตำราไม่ได้ จึงเอาคำในตำราออกใช้ “ทับศัพท์” ไม่ต้องค้นตัวอย่างห่างไกล เช่นคำว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ และนิพพาน เหล่านี้ใช้ทับศัพท์เดิมทั้งนั้น มีคำแปลอย่างประหลาดยิ่ง ใช้ในการแปลพระปริยัติธรรมอยู่จนทุกวันนี้ คือแปลศัพท์ “สัตถา” ว่า “พระศาสดา” นี่แปลภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤต มิใช่แปลเป็นภาษาพื้นเมืองเลย พิจารณาในเรื่องพงศาวดารจึงแลเห็นเหตุ คือว่าในสมัยเมื่อใกล้ พ.ศ. ๑๕๐๐ เมืองเรารับพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานจากประเทศศรีวิชัยมาถือ มีอยู่ในจารึกที่เมืองลพบุรีว่า ในสมัยนั้นที่เมืองลพบุรีมีทั้งพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน และพระสงฆ์ฝ่ายหินยาน ชะรอยจะมาจากเมืองมอญซึ่งมีอยู่ก่อน นอกจากนั้นเขมรซึ่งได้เป็นใหญ่ได้ปกครองประเทศละโว้ คงให้พวกถือศาสนาพราหมณ์มาสอนไสยศาสตร์ ตำราของพวกมหายานและพวกถือศาสนาไสยศาสตร์เป็นภาษาสันสกฤต จึงเข้ามาระคนปนกับภาษาพื้นเมืองแพร่หลายในสมัยนั้น ครั้นเมื่อราวพ.ศ. ๑๕๐๐ พระสงฆ์ลังกาวงศ์เข้ามาฟื้นพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน เอาพระไตรปิฎกภาษามคธเข้ามาเป็นตำราแทนพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตของพวกมหายาน จะแปลศัพท์สัตถาไม่มีคำภาษาพื้นเมือง จึงต้องแปลเป็นภาษาสันสกฤตอันเคยใช้กันเป็นสามัญอยู่ในสมัยนั้น เห็นว่ามูลมีมาเพราะต้องทับศัพท์ด้วยไม่มีคำในภาษาพื้นเมืองดังกล่าวมานี้สถาน ๑ อีกสถาน ๑ พวกชาวเมืองที่เรียนรู้ภาษาสันสกฤตและมคธ อย่างที่เรียกว่า “พวกมหาบาเรียญ” ชอบเอาคำใน ๒ ภาษานั้นมาใช้ในเวลาพูดจาในระหว่างนักเรียนด้วยกัน คำพวกนี้เช่นเรียกพ่อแม่ว่าบิดามารดา ลูกเมียเรียกว่าบุตรภรรยาเป็นต้น อันเป็นแต่แปลคำอันมีในภาษาพื้นเมืองไปเรียกในภาษามคธสันสกฤต ชวนให้เห็นว่าเป็นคำของผู้รู้หลัก นักปราชญ์ก็เอามาใช้ตาม เพื่อแสดงตนว่าได้ศึกษา เมื่อชอบใช้กันเช่นนั้นแพร่หลาย ผู้ที่มิได้เล่าเรียนรู้ก็เลยเข้าใจกันว่า คำที่เอามาแต่ภาษาอื่นเช่นคำบิดามารดา เป็นภาษาผู้ดีมีศักดิ์สูงกว่าคำพ่อแม่ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญ ถึงศัพท์ภาษาเขมรที่เอาใช้ในราชาศัพท์ก็น่าจะเกิดเป็นทำนองเดียวกัน เพราะไทยเคยเป็นบ่าวเขมรเมื่อสมัยเมืองละโว้ ครั้นมาได้เป็นนายเขมรเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ตำรับตำราภาษาเขมรเข้ามาใช้มาก จึงใช้คำภาษาเขมรปะปนกับภาษาไทยด้วยอีกภาษา ๑ วินิจฉัยที่ทูลมานี้ขอให้ทรงพิจารณาดู

เรื่องตราพระราชสีห์นั้นจะทูลอธิบายโดยพิสดารต่อไป แต่โบราณ วัตถุที่สำหรับเขียนหนังสือใช้กระดาษไทยทำด้วยเปลือกข่อยเป็นสีขาวสำหรับเขียนด้วยดินสอดำอย่าง ๑ เป็นสีดำสำหรับเขียนด้วยดินสอขาว หรือเขียนด้วยหรดานสีเหลืองอย่าง ๑ กระดาษที่ใช้เขียนสั่งราชการ เช่น ท้องตราเป็นต้น ใช้กระดาษขาวอย่างบางซึ่งทำเป็นแผ่น แผ่นเดียวหรือหลายแผ่นผนึกติดต่อกันไปจนเขียนหมดเรื่องหนังสือยาวหรือสั้น เสร็จแล้วม้วนเอาลงกลักไม้ไผ่ปิดผนึกส่งไป ถ้าจะเก็บไว้กับที่ก็เก็บไว้เป็นม้วน ๆ ข้อสำคัญต้องมีเป็นแบบในท้องตราหรือจดหมายนั้น คือ ๑) ขึ้นต้นต้องบอกชื่อผู้มีท้องตรา (หรือจดหมาย) เช่นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรี ๒) ชื่อผู้ที่จะรับท้องตรา ๓) เมื่อหมดความแล้วต้องบอกชื่อดวงตราที่ประทับ เช่นว่า “ประทับตราพระราชสีห์ใหญ่มาเป็นสำคัญ” ดังนี้ และประทับตราลงตรงนั้น เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๕ หาใช้ประเพณีลงชื่อด้วยลายมือเป็นสำคัญในสารตราไม่ ถือใบบอกหัวเมืองมีมาขึ้นต้นก็ลงชื่อเจ้าเมืองและกรมการรายตัว ถึงข้างท้ายเขียนว่า “ข้าพเจ้าพระยา ก. ประทับตรา (ของตัวเอง) เช่น เทวดานั่งแท่นมาเป็นสำคัญ ต่อลงไปถึงปลัดยกกระบัตร และกรมการตำแหน่งอื่นก็เขียนบอกชื่อและรูปตรา (ของตัวเอง) ต่อลงไปทุกคน เขาเล่าว่า ถ้ากรมการคนใดไม่เห็นชอบด้วยตามใบบอก อาจไม่ยอมลงชื่อประทับตราก็ได้ เป็นต้นคำที่มักพูดกันว่า “ไม่ลงตรา”

ตราพระราชสีห์มีหลายดวง คือ ตราพระราชสีห์ใหญ่ประทับสารตราเชิญพระบรมราชโองการดวง ๑ ตราพระราชสีห์กลางหรือราชสีห์เดินดง สำหรับใช้ชั่วคราวในเวลาสั่งการสงครามห่างกรุงเทพฯ ดวง ๑ ตราพระราชสีห์น้อยสำหรับประทับหนังสือซึ่งตัวเสนาบดีสั่งการ และมีที่ใช้ประทับข้างหลังสารตราที่ตรงรอยผนึกอีกอย่าง ๑ ยังมีตราพระราชสีห์แกะสำหรับประทับครั่งอีก ๒ ดวง สำหรับประทับผนึกกล่องสารตรา แต่เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สารตราใช้เขียนด้วยเส้นหมึกบนกระดาษฝรั่งและใส่ซองผลึกเสียแล้ว หาทันเห็นกระดาษเพลาม้วนใส่กลักอย่างแต่ก่อนไม่

ว่าถึงดวงตรา หม่อมฉันไปพลิกดูในกฎหมายเก่าทั้งทำเนียบศักดินาและพระธรรมนูญ มีแต่ว่าตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว หาจาระไนว่ามีตราใหญ่ตราน้อยอย่างใดไม่ แต่ตามคำที่เรียกมีแปลกอยู่ที่ตรากรมท่า ตราใหญ่เรียกว่า “ตราบัวแก้ว” ตราน้อยเรียกว่า “ตราบัวผัน” จึงสันนิษฐานว่าตราน้อยจะมีแต่มหาดไทย กลาโหมกรมท่าสำหรับประทับหนังสือสั่งหัวเมืองเช่นชี้แจง เป็นอย่างอรรถกถาและฎีกาของสารตราพระบรมราชโองการ อย่าง ๑ สั่งเรื่องคดีต่าง ๆ ตามหน้าที่มีในกฎหมายพระธรรมนูญ หรือว่าโดยย่อในหนังสือซึ่งมิได้อ้างพระบรมราชโองการ อย่าง ๑ จึงใช้ประทับตราน้อยมากกว่าตราใหญ่

ที่ตรัสถามรูปตรากระทรวงมุรธาธรนั้น ตอบทูลสารภาพว่าหม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว ลองนึกมา ๒ วันก็นึกไม่ออก เพราะตราดวงนั้นตั้งแต่รับจากพระหัตถ์แล้วก็ไม่ได้ถูกต้องอีกเลย แต่มีหลักอยู่อย่าง ๑ เมื่อหม่อมฉันทูลขอให้ท่านทรงคิดแบบต้นไม้เงินทองที่หม่อมฉันทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อรับสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จกรมพระยา ได้ถวายรูปตรากระทรวงมุรธาธรไปทำลายฐานถมยาด้านหนึ่งสำหรับตั้งต้นไม้เงินทองนั้น รูปคงยังอยู่ที่ตำหนักเชิงเนินทรงค้นดูเถิด

คำพม่าเรียกคนว่า “อู” นั้น เมื่อหม่อมฉันไปเมืองพม่าได้ถามอาจารย์พม่าคน ๑ ชื่อ อูโปกยา ซึ่งเจ้าฉายเมืองพามาให้ซักไซ้ประเพณีพม่า แกบอกอธิบายว่าแต่โบราณเขาใช้คำนำหน้าชื่อคนเป็นคู่ๆ คือคนผู้หลักผู้ใหญ่ชั้น ปู ย่า ตา ยาย ชายเรียกว่า “อู” หญิงเรียกว่า “ดอ” คนชั้นลุง ป้า อา น้า ชาย เรียกว่า “โก” หญิงเรียกว่า “มะ” คนชั้นพี่ ชายเรียกว่า “มอง” หญิงเรียกว่า “ไม” คนชั้นน้องชายเรียกว่า “งะ” หญิงเรียกว่า “มิ” แกว่าอย่างเดิมเป็นอย่างว่ามา แต่เดี๋ยวนี้มาเรียกฟั่นเฝือไม่ตรงตามแบบแผน พม่าอีกคน ๑ ชื่ออะไรลืมไปเสียแล้ว บอกหม่อมฉันว่าผู้ที่ได้คำอูนำหน้าชื่อนั้น ต้องเป็นผู้ใหญ่สูงอายุกว่า ๔๐ ปีขึ้นไปแล้วจึงจะเป็นอูได้ แต่สังเกตดูตามตัวคนที่รู้จัก คนหนุ่มอายุดูจะไม่ถึง ๔๐ แต่เรียกกันว่า “อู” ก็มี ชื่อพวกที่เป็นมนตรีดูก็เรียกว่า อู เป็นพื้น ดูจะกลายเป็นศักดิ์เช่นว่า “หม่อม” หรือ “ท่าน” หรือ “คุณ” ไปเสียแล้ว

หมวดเมืองปีนัง

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน มีงานฉลองชาติไทยที่สถานกงสุล นายประสิทธิ์ โลหนันท์ กงสุลเขาส่งก๊าดมาเชิญหม่อมฉันด้วย หม่อมฉันได้ไปด้วยกันกับหญิงเหลือเมื่อเวลาเช้า ๑๑.๓๐ น. ตรงตามเวลานัด ไปให้พรชาติไทยต่อกงสุลแล้วก็กลับมา ได้ยินว่าเมื่อหม่อมฉันกลับมาแล้วพวกฝรั่งที่รับเชิญก็ไปหลายคน มีการเลี้ยงแชมเปญกับของว่าง เสร็จงานตอนเช้าเวลาเที่ยงเศษ เวลาบ่ายเชิญนักเรียนไทยทั้งชายและหญิงที่มาเรียนอยู่ในปีนังไปเลี้ยงของว่างและกงสุลกล่าวสุนทรพจน์แก่นักเรียน เห็นลงในหนังสือเป็นภาษาอังกฤษยืดยาว แต่หม่อมฉันไม่ได้อ่านจึงไม่ทราบ

เรื่องค้นพิธีตรุษนั้นมาได้แหล่งใหม่ที่จะค้นอีกแห่งหนึ่ง ๑ จากท่านอาจารย์คุณรัตนพระลังกา ซึ่งครองวัดมหินทรารามอยู่ในปีนัง ว่ายังทำกันอยู่ในลังกาทุกปี เรียกว่าพิธีปริต ทำถึง ๗ วันจึงแล้ว หม่อมฉันขอให้ท่านเขียนเล่ารายการพิธีให้ฟัง ท่านรับไปว่าจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษมาให้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ