วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ มกราคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม อันควรจะได้รับเมื่อเมล์วันเสาร์วันที่ ๓๐ ธันวาคม แต่ไม่ได้รับ และวันอาทิตย์ก็ไม่ได้ จึงกะว่าคงคลาดไปเป็นจะได้รับในเมล์วันอังคารวันที่ ๒ มกราคม แต่เมื่อถึงวันนั้นเช้าก็ไม่ได้รับ เขาเอามาส่งต่อวันพุธ เป็นอันช้ากว่ากำหนดไปมาก ครั้นถึงเมล์วันเสาร์ที่ ๖ มกราคม ก็ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑ มกราคม ต้องตามกำหนดซ้อนมาอีกฉบับหนึ่ง ซองบริสุทธิ์มีตราสั่งผ่านประทับหลังดวงเดียวทั้งสองฉบับ จึงจะได้กราบทูลสนองความตามลายพระหัตถ์ทั้งสองฉบับนั้นต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

พระดำริในเรื่องสร้างพัดแฉกงานั้นถูกต้องทุกประการ ข้อสำคัญอยู่ที่ถ้าเป็นกระแสพระราชดำริ ทำไมจึงตรัสใช้ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ทำ และถ้าเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีคิดทำถวายเอง ทำไมไม่ทำของซึ่งจะพึงทรงใช้อยู่ในพระที่นั่ง แล่นไปทำของวัดถวาย ความสงสัยในเรื่องนี้ก่อนที่จะทูลมาก็ได้นึกถึงพระยามหานิเวศน์ (กระจ่าง) ว่าถ้าถามดูก็คงจะได้รู้ความ ถึงจะเกิดทันหรือมิทันก็คงจะบอกให้สิ้นข้อกังขาได้ ด้วยเป็นผู้เอาใจใส่อยู่ในทางโบราณคดีคนหนึ่ง แต่ก็ตายไปเสียหลายปีแล้ว เป็นอันสิ้นทางที่จะเอาความแน่ได้ อย่างไรก็ดี พัดแฉกงานั้นไม่ได้ทำขึ้นสำหรับตำแหน่งสังฆปรินายกเป็นแน่

ดีใจเป็นล้นพ้น ที่ได้ทราบว่าพัดแฉกถมปัดนั้นยังอยู่จะดูได้ ขอถวายบังคมอนุโมทนาที่ได้ทรงติดตามมาประดิษฐานไว้ให้ดูได้ พระศุภรัตน์คนอ้วนๆนั้น เคยได้ยินเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เรียกว่า “จ้อย” ชื่อเดิมคงชื่อจ้อย ดูไม่สมกับตัวเลย เว้นแต่เสียง

พระยาทิพโกษา (สอน) เห็นหายหน้าไป นึกว่าตายแล้ว แต่สืบได้ความว่ายังอยู่ หากเจ็บออดแอดจึงได้หายหน้าไป หนังสือประวัติสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระยาทิพโกษาคงส่งมาให้ จะต้องไปเยี่ยมเยียนและขอบใจเขา เป็นผู้ที่ได้คุ้นเคยกันมานานแล้ว

เรื่องแก้หนังสือ ที่แก้ด้วยตั้งใจจะให้พริ้มเพราะขึ้นนั้นก็ทำเนา แต่ที่แก้ด้วยตนไม่เข้าใจสำคัญว่าหนังสือเขียนผิด เช่น เคยเห็นแก้ “หาบโพล่” เป็น “หาบโลห์” นั้นเต็มทีมาก พระดำรัสในเรื่องแก้คำ ที่ว่าคำ “พระบรมราชโองการ” เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้น สะดุดสะดุ้งในใจมาก ด้วยยังไม่เคยทราบ แม้โปรดบอกให้พิสดารพอจะเข้าใจได้ดีกว่าเท่าที่ตรัสมาแล้วนั้น จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ได้เคยเห็นตรา “พระบวรราชโองการ” รูปเดียวกับพระราชลัญจกร “พระบรมราชโองการ” เว้นแต่ขนาดย่อมกว่า และไม่มีทีว่าเป็นหนังสือพราหมณ์สามตัว ซึ่งเหมือนเลขอารบิค ๑๒๐ นั้นด้วย เข้าใจว่าเกี่ยวกับเรื่องพระบรมราชโองการนี้

เรื่องร้านม้าซึ่งทรงพระวินิจฉัยต่อแต้มนั้น เห็นว่าถูกทุกประการ ศพที่จะพึงเห็นเป็นปฏิกูลเกล้ากระหม่อมก็เคยจัด ให้งดการรับแขกอาบน้ำศพเสียสิ้น ให้แขกนำพวงหรีดไปทอดเมื่อยกศพขึ้นตั้งที่แล้ว จะกราบทูลเรื่องตารางเหล็กที่เผาศพ ฝ่าพระบาทคงทรงสังเกตได้ว่ามันเป็นหกเสา นั่นบอกอยู่ในตัวเองว่าเดิมปักเป็นสองห้องยาวตามหีบแล้วเผาศพ โกศจึงร่นเข้ามาเป็นสี่เหลี่ยมให้เหมาะกับโกศ เสาตารางสองด้านจึงได้ยัดกันยิบอยู่ ทีหลังการเผาศพหีบ คนเผาก็อวดดี ว่าแม้ปักตารางเป็นสี่เหลี่ยมก็เผาได้ แต่ที่หัวท้ายหีบออกไปยื่นเย้ออยู่น่าเกลียด ที่สุดนั้นไม่คำนึงถึง เดี๋ยวนี้ค่าที่ปักตารางกันเป็นสี่เหลี่ยมเสมอ ก็เลยกลายเป็นทำตารางเหล็กมีแต่สี่เสา ด้วยเหตุที่ตารางเหล็กมีหกเสานั้นแหละ เป็นทางที่ส่อให้เห็นว่าประเพณีแต่ก่อนเผาศพหีบกันทั้งนั้น เพิ่งมาร่นเป็นสี่เหลี่ยมให้เหมาะแก่การเผาศพโกศกันขึ้นทีหลัง จึงใคร่จะทราบว่าศพโกศมีขึ้นเมื่อไร และเอาอย่างประเพณีของใครมา แม้พระศพพระพุทธเจ้าอันนับว่าสูงที่สุดแล้ว ก็เห็นทำใส่หีบกันมาทั้งนั้น

พระดำรัสเล่าถึงการศพนายฮ่องตัด เข้าใจว่าไม่ใช่ลูกเขยพระยารัตนเศรษฐี คนที่ตรัสเล่าถึงเขาแต่งงานสมรสเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะมีกล่าวถึงลูกผู้ตายเดินตามศพ คนที่แต่งใหม่จะมีลูกเดินตามศพหาได้ไม่ การศพนั้นถึงว่าเป็นประเพณีฝรั่งปนอยู่ก็ทำให้เกิดความรู้ได้ดี อาจแยกได้ว่าสิ่งใดที่ฝรั่งเขาไม่ทำกัน สิ่งนั้นก็เป็นประเพณีจีน ในการที่มีฤกษ์เผาศพลงเรือนและเดินไปสู่ทิศที่เป็นมงคลก่อนนั้น ก็มาต้องกับฤกษ์ยาตราในการมงคลของเรา การศพของเราแต่ก่อนทีก็จะมีฤกษ์ยาตราด้วยกันเหมือนกัน การแต่งตัวอย่างหรูหราก็มาต้องกับประเพณีของเรา เช่น พระเมรุใหญ่แต่ก่อนก็แต่งเต็มยศเกี้ยวลาย การแต่งไว้ทุกข์เพิ่งจะมีขึ้น แต่งดำนั้นรู้เป็นแน่ว่าเอาอย่างฝรั่ง ส่วนการแต่งขาวเดิมเข้าใจว่าเอาอย่างจีน แต่ทีหลังมาทราบว่าทางจีนเขาไม่ได้แต่งขาวดุจตรัสเล่าว่าเขาแต่งไว้ทุกข์ด้วยผ้าย้อมฝาด เพราะฉะนั้นในการที่เราแต่งไว้ทุกข์เครื่องขาว จะเอาอย่างใครมาก็น่าสงสัยอยู่มาก

หนังสือแจกงานศพพระยาพิพิธสมบัติ (ปุย) นั้น น่าเบื่อที่ต้องทรงกระทำแล้วไม่รู้แล้ว

เบ็ดเตล็ดในกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๓ มกราคม หญิงกุมารีมาให้รดน้ำผูกมือ ในการที่มีอายุครบ ๒ รอบ เธอเอาด้ายมาให้ ว่าเด็จพ่อประทานมาให้ผูกมือสองเส้น เส้นหนึ่งยาวพอผูกให้ได้ แต่อีกเส้นหนึ่งสั้นผูกไม่ถึง ข้อมือโตเต็มที เกล้ากระหม่อมก็เอาด้ายของเกล้ากระหม่อมผูกให้แทน บอกเธอว่าดีแล้ว ของพ่อเส้นหนึ่ง ของอาเส้นหนึ่ง

ในโอกาสเดียวกันนี้ หญิงจงเอาการ์ดรดน้ำหญิงเพียรมาให้ด้วย กำหนดวันที่ ๒๒ ธันวาคม เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา หญิงเล็กประภาวสิทธิมาบอกไว้ให้รดน้ำลูกชายวันเดียวกัน แต่เป็น ๑๖.๑๕ นาฬิกา มีเวลาห่างกันอยู่ ๑๕ นาที แต่หญิงจงเธอบอกว่าทางหญิงเพียรนั้นไม่เป็นไร ช้าไปหน่อยก็ได้ ก็เป็นได้กัน ไม่มีอะไรขัดข้อง

กราบทูลผิดไป ที่ว่าพระยาบริรักษ์ราชา คือ “ยุง” ที่แท้ “ยุง” คือพระยามหิมานุภาพ ชื่อ เป๋า พระยาบริรักษราชานั้นชื่อ เจ๊ก

เขาลงหนังสือพิมพ์ว่า วันที่ ๑๔ มกราคม เวลา ๑๗ นาฬิกา จะเผาศพพระสาธุศีลสังวร ที่วัดมกุฎกษัตริย์ กราบทูลมาให้ทรงทราบ เพราะหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเขาไม่ส่งมาปีนัง ซึ่งอาจทรงทราบข่าวได้

ขอถวายบังคม ที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานส้มจั๊ฟฟาเข้าไป นายเติมมหาดเล็กได้นำไปให้ ได้รับไว้แล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ดีนัก

เมื่อวานนี้ ลูกๆ ลากเอาหญิงกุมารี กับชายใหม่ ชายปาน และหลานแมว หลานหมู หลานมอด หลานมด ไปเลี้ยงของว่างกันที่บ้านปลายเนิน ได้ความสนุกสนานหมดด้วยกันทุกคน

ที่กรุงเทพฯ ปีนี้หนาวอย่างยิ่ง ทั้งหนาวอยู่นานหลายวันด้วย ไม่เคยเป็นเช่นนั้นมาเลย ไม่สบายอย่างเอก เพิ่งจะค่อยคลายลงเมื่อวานนี้ หวังว่าที่ปีนังจะไม่สู้กระไร ไม่ถึงเดือดร้อนกัน ด้วยอยู่กับทะเล หนังสือพิมพ์เขาก็ว่าที่สงขลาเป็นร้อนกว่าที่อื่น ที่เชียงรายนั้นหนาวตกขอบ ไม่ไหว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ