วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๙ นาฬิกา หม่อมฉันยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรที่มากับเมล์วันอาทิตย์ที่ ๑๙ จึงลงมือเขียนจดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับนี้ เพราะจะรอรับลายพระหัตถ์แล้วจึงเขียนเกรงจะไม่ทันส่งไปรษณีย์ในบ่ายวันอังคารนี้เอง

ข่าวเบ็ดเตล็ดทางปีนัง

เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ พฤศจิกายน อุบาสิกายอหยาคน ๑ ทอดกฐินที่วัดศรีสว่างอารมณ์ หม่อมฉันไปช่วยนำสวดถวายกฐินและพวกหม่อมฉันก็พากันไปช่วยจัดดอกไม้ประดับที่บูชา ทอดกฐินเสร็จแล้วเขาเลี้ยงพระทั้งที่จำพรรษา ณ วัดนั้นและนิมนต์มาจากวัดอื่นในปีนังไม่เลือกว่าธรรมยุติหรือมหานิกาย กฐินที่เขาทอดถวายเครื่องบริขารมาก ถ้าคิดราคาเห็นจะหลายร้อยเหรียญ เป็นของให้ไปซื้อมาจากกรุงเทพฯ โดยมาก เพราะของถวายพระมิใคร่มีขายในปีนัง หม่อมฉันเพิ่งได้พบพูดกับอุบาสิกา เจ้าของกฐิน เป็นหญิงหม้ายมั่งมีพูดไทยได้คล่อง พวกผู้หญิงจีนชั้นคฤหบดีที่ในปีนังเป็นยอหยาเช่นนี้แทบทั้งนั้น ที่เป็นผู้หญิงเจ๊กมีน้อย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นหม่อมฉันเพิ่งคิดเห็น เป็นเพราะแต่โบราณพวกจีนที่มาหากินตามต่างประเทศมาแต่ผู้ชาย เมื่อตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ไหนก็ได้หญิงชาวเมืองเป็นภรรยา ก็ชาวเมืองปีนังเป็นมลายูถือศาสนาอิสลามเป็นพื้นรังเกียจจีนด้วยต่างศาสนา พวกจีนจึงมักไปแต่งงานกับผู้หญิงไทยชาวมณฑลภูเก็ต ลูกที่เกิดด้วยผสมพงศ์ (เห็นจะเป็น) มลายูเรียกลูกผู้ชายว่า “บ้าบา” เรียกลูกผู้หญิงว่า “ยอหยา” ไม่นับว่าเป็นจีนแท้ จีนผสมพงศ์สืบสกุลด้วยสมรสกันเกิดบุตรหลานเป็นชาวปีนังทุกวันนี้ ถ้าจะว่าเป็นเชื้อไทยทั้งนั้นก็ว่าได้ ต่างแต่เป็นชั้นชิดบ้างห่างบ้าง ที่ยังรู้ภาษาไทยอยู่ก็มาก

พระเปรียญวัดราชประดิษฐ์ ที่มาอยู่วัดศรีสว่างอารมณ์รูปหนึ่ง เธอถามหม่อมฉันว่า เพราะเหตุใดที่วัดราชประดิษฐ์จึงมีพระฐานานุกรมนอกจากของเจ้าอาวาสอีก ๓ รูป คือพระธรรมธร พระวินัยธร และพระสังฆรักษ์ เธอได้สืบถามที่ในกรุงเทพ ฯ เขาบอกว่าเพราะวัดราชประดิษฐ์เป็นพระอารามหลวงชั้นที่ ๒ จึงมีฐานานุกรมมากกว่าชั้นต่ำ เธอยังสงสัยอยู่ หม่อมฉันบอกอธิบายได้แต่ตามเคยรู้เห็น ว่าฐานานุกรมนั้นเป็นตำแหน่งสำหรับตัวพระราชาคณะพระครูเจ้าอาวาส มีใช้สำหรับวัด มีฐานานุกรมตั้งประจำวัดแต่วัดพระเชตุพนกับวัดบวรนิเวศ ก็นับว่าเป็นฐานานุกรมของพระอัฐิสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ และสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯกับสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ ฯ ถ้ามีฐานานุกรมสำหรับวัด ที่วัดราชประดิษฐ์ก็เห็นจะเป็นแบบเกิดขึ้นใหม่ซึ่งหม่อมฉันไม่ทราบว่ามีมูลมาอย่างไร เมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงบ้านแล้วจึงนึกขึ้น ว่าหรือจะเป็น “ฐานาหม้าย” ของพระพรหมมุนี (แย้ม) ยังมีตัวอยู่ แต่ผู้บอกจะเข้าใจผิดไปว่าฐานานุกรมสำหรับวัด

เลยคิดต่อไปถึงการตั้งพระราชาคณะแต่ปางก่อน สังเกตในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่พระราชาคณะกับวัดที่สถิตประกอบกัน คือตำแหน่งนั้นต้องอยู่วัดนั้น เช่นสมเด็จพระสังฆราชย่อมอยู่วัดมหาธาตุ สมเด็จพระวันรัตย่อมอยู่วัดป่าแก้วเจ้าพระยาไทย พระพุทธโฆษาจารย์อยู่วัดพุทไธสวรรย์ เป็นต้น ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ชั้นเดิมดูก็จะให้เป็นเช่นนั้น คือวัดมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพนเป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตน ชั้นเจ้าคณะรองก็อยู่วัดระฆัง วัดสระเกษ และวัดราชบูรณ เป็นต้น พระมหาเถรองค์ใดได้เลื่อนเป็นตำแหน่งใดก็ย้ายไปอยู่วัดสำหรับตำแหน่งนั้น คิดดูรายตัวก็ออกประหลาดวัดมหาธาตุสมเด็จพระวันรัตน (เฮง) องค์เดียวที่บวชวัดนั้น และได้ครองอยู่วัดนั้น วัดพระเชตุพนก็มีแต่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตพระองค์เดียว นอกจากนั้นไปจากวัดอื่นทั้งสิ้น ถึงวัดหลวงชั้นรองลงมาอันมีกำหนดวัดว่าเป็นวัดที่สถิตของพระราชาคณะหรือเป็นวัดน้อยสำหรับแต่พระครูเป็นเจ้าอาวาส วัดใดว่างเจ้าอาวาส ถ้าเป็นวัดพระราชาคณะก็ทรงตั้งพระราชาคณะไปครอง หรือเลือกพระราชาคณะที่มีซ้อนตัวอยู่ในวัดอื่นไปครอง การตั้งพระราชาคณะแต่ก่อนจึงมีการพระราชทานเครื่องบริขาร แล้วแห่ย้ายไปอยู่วัดใหม่ อย่างเราได้เคยเห็นมามากกว่ามาก ที่ตั้งพระราชาให้คงอยู่ในวัดเดิมมีน้อย มักทรงตั้งแต่ผู้ทรงคุณวิเศษเป็นวิสามัญ เช่นสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระอมรโมลี อยู่วัดบวรนิเวศ อีกสถานหนึ่งก็ตั้งเปรียญในวัดที่ต้องปกครองพระสงฆ์มากให้เป็นพระราชาคณะอยู่วัดนั้น ดังเช่นวัดมหาธาตุและวัดพระเชตุพน มีอัตราพระสงฆ์ ๑๐๐๐ รูป กำหนดการปกครองเป็น ๔ คณะ จึงมีเกณฑ์พระราชาคณะ ๕ รูปทั้งเจ้าอาวาส รองลงมาเช่นวัดสุทัศน์ มีพระราชาคณะ ๓ รูปทั้งเจ้าอาวาส พระราชาคณะจึงล้วนมีหน้าที่เฉพาะตัว เช่นครองวัดหรือครองคณะสงฆ์ เป็นประเพณีทั้งในประโยชน์พระศาสนาและในส่วนตัวพระราชาคณะ แต่จำเนียรกาลนานมาประเพณีนั้นเสื่อมทรามลงโดยลำดับจนเกือบจะกลายเป็นพระบวชอยู่วัดไหน ใครดีก็ได้เป็นพระราชาคณะอยู่เป็นเครื่องประดับในวัดนั้น จำนวนควรมีวัดละกี่รูปก็ไม่เป็นยุติ คิดดูน่าเสียดายประเพณีเดิม ที่ทูลเรื่องพระราชาคณะนี้เพราะคิดหาเรื่องอื่นสำหรับทูลบรรเลงในสัปดาหะนี้ไม่ออกจึงบ่นถวาย

อนึ่ง คำที่เรียกว่า “พระราชาคณะ” กับที่เรียกว่า “พระครู” พิเคราะห์ดูเดิมน่าจะหมายความต่างกันด้วยหน้าที่ มิใช่ต่างกันด้วยชั้นยศ เช่นพระยากับพระ สันนิษฐานว่าเดิมเจ้าอาวาสวัดหลวงแต่จะเป็นพระครู ต่อได้ว่าคณะจึงจะเป็นพระราชาคณะ ส่วนฐานานุกรมนั้นเป็นแต่ผู้ช่วย มีเรื่องปรากฏมาว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชปรารภว่าการเปรียญที่ได้เป็นพระราชาคณะไม่ใคร่สันทัดการปกครอง ทรงแนะนำให้ตั้งเปรียญเป็นฐานานุกรม ใช้ประเพณีนั้นมายุค ๑ ยกตัวอย่างดังเช่นพระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาศก็เคยเป็นปลัดของพระวันรัตน (ทับ) เมื่อเป็นที่พระอริยมุนี และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบุรณก็เคยเป็นปลัดของพระปิฎกโกศล ครั้งรัชกาลที่ ๔ พระราชาคณะผู้ใหญ่มักตั้งพระที่ถนัดกิจการบังคับบัญชาเป็นพระครูปลัด “ยกตัวอย่างดังเช่น พระมงคลเทพ (ใจ) วัดพระเชตุพนก็ได้เป็นพระราชาคณะเพราะเป็นพระครูปลัดของพระพิมลธรรม (อ้น) เป็นเหตุให้มีพระราชาคณะยกมากขึ้นด้วยประการฉะนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ