วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ มกราคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันเสาร์ที่ ๓๐ ธันวาคม เป็นกำหนดเมล์ คิดว่าจะได้รับลายพระหัตถ์เวรแต่ก็หาได้รับไม่ นึกว่าเป็นคราวคริสต์มาสและขึ้นปีใหม่ฝรั่ง เห็นจะมีหนังสือมากเขาจ่ายไม่ทัน คาดว่าวันอาทิตย์คงได้รับ แต่ก็หาได้รับไม่ คงเป็นอันคลาดไปเมล์หนึ่ง เห็นจะไปได้รับเอาวันอังคารวันที่ ๒ มกราคม จะรอรับลายพระหัตถ์ก่อนไม่ได้ จะทำหนังสือเวรถวายไม่ทันจำต้องเขียน จึงจะเป็นแต่บรรเลงเรื่องต่างๆ ถวาย ไม่มีสนองลายพระหัตถ์ในนี้

บรรเลง

ข้าวปั้นย้อมสีเซ่นแม่ซื้อ เมื่อได้ทูลถามมาแล้วไม่ได้ความ จึงสืบสวนทางอื่นต่อไป หมายใจว่าทางโหรเขาจะมีตำรา สอบถามไปเขาก็ค้นคว้าแต่ก็หามีไม่ เขาจึงวิ่งสอบถามชาวบ้านที่เคยทำ ได้ความดังรายงานซึ่งคัดมาถวายนี้ รายงานของหลวงไตรเพทได้ความละเอียดดีกว่ารายงานของพระยาโหรา เมื่อให้หญิงอามคัดรายงานนั้นเพื่อจะส่งมาถวาย เธอจึงบอกว่าตัวเธอเองยายก็เคยทำให้ ให้รู้สึกสลดใจว่าเมื่อเที่ยวสืบสวนอ้อมค้อมไปเปล่าๆ ที่แท้ในบ้านเราก็มีผู้รู้การกระทำนั้นอย่างดี จึงให้หญิงอามไต่ถามจดมาให้ เพราะจะไล่เลียงเอาด้วยตัวเองลำบากด้วยหูไม่ดี หญิงอามจดมาให้ว่าทำข้าวเป็นสี่ปั้นไม่ย้อมอะไร คงเป็นสีขาวปั้นหนึ่ง คลุกขมิ้นเป็นสีเหลืองปั้นหนึ่ง คลุกขมิ้นกับปูนเป็นสีแดงปั้นหนึ่ง คลุกเขม่าก้นหม้อเป็นสีดำปั้นหนึ่ง แล้วเอาใส่ฝาละมีไปที่ตัวเด็ก หยิบเอาทีละปั้นวนรอบตัวเด็ก และกล่าวคำฟาดเคราะห์ด้วยว่า “แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อหัวกระได แม่ซื้อใต้ที่นอน เชิญมาเอา (ก้อน) ข้าว ขาว เหลือง แดง ดำ } ของลูกไป อย่าให้กินข้าวขม อย่าให้กินนมราก อย่าให้นอนสะดุ้งนอนหวาด หายเจ็บหายไข้” ว่าดั่งนี้ทุกปั้นข้าว แล้วเอาไปขว้างข้ามหลังคาเรือนซึ่งเด็กอยู่สามปั้น โยนลงไปที่พื้นดินปั้นหนึ่ง แล้วเอาน้ำล้างฝาละมีเทราดตามลงไปด้วย และเมื่อโยนข้าวแต่ละปั้นนั้นร้องกู่ว่า “วู้” เป็นการเรียกด้วย เป็นเสร็จพิธีเท่านั้น สังเกตคำฟาดเคราะห์มีสัมผัสขัดกันก็มี สงสัยว่าจะเคลื่อนคลาดตกหายไปเสียบ้าง ด้วยไม่ได้ทำมานานแล้วจะหลงลืมไป เหตุที่เลิกก็เพราะมีคนมากทักว่าไม่ควรทำ เคยตัวแม่ซื้อ ประเดี๋ยวแม่ซื้ออยากกินข้าวก็จะมาทำให้เด็กเจ็บ ที่ว่าดังนี้ก็เพราะทำเมื่อเด็กไม่สบาย แม่โตเห็นว่าคำกล่าวนั้นควรแก่เหตุผล จึงห้ามให้เลิกทำเสีย พิธีอันนี้ไม่ใช่คิดทำกันขึ้นในเมืองเรา ได้ความจากพราหมณ์สัตยานันทบุรีสวามี ว่าทางอินเดียก็ทำกันเหมือนกัน แต่ข้าวปั้นสีดำนั้นพิโยกพิเกนมาก ต้องเผาแกลบเอาถ่านแกลบมาคลุก ไม่ได้ใช้เขม่าหม้ออย่างเมืองเรา ข้อนี้พิจารณาไปก็เห็นเหตุ ด้วยทางอินเดียเขาใช้หม้อโลหะ ทั้งขัดให้สะอาดอยู่เสมอทุกวัน ไม่มีเขม่าก้นหม้อจะใช้อย่างเมืองเรา แต่ข้อที่ทำไมข้าวจึงต้องย้อมเป็นสีต่างๆ นั้น คิดไม่เห็นเหตุนอกจากว่าย่อมให้ดูงาม อย่างเดียวกับขนมสำหรับพระ ซึ่งฝ่าพระบาทกราบทูลว่า “สึก” ในคำฟาดเคราะห์มีคำว่า “ของลูก” อยู่ในนั้น แสดงว่าเป็นการที่แม่ทำให้แก่ลูก ใครอื่นจะมาทำให้แก่เด็กหาถูกไม่

คำว่า “แม่ซื้อ” เกล้ากระหม่อมเคยคิดเห็นว่าควรจะเป็นชื่อคนที่รับร่อน ท่วงทีเป็นไปในทาง Godmother ของฝรั่ง ขัดอยู่นิดเดียวที่คำว่า “ซื้อ” ควรจะมีเงินด้วย แต่ก็ไม่มี ทีหลังจึงได้พบในคำจารึกวัดพระเชตุพนมีว่า “เราสู้ขอซื้อไว้ให้เป็นเบี้ยสามสิบสาม ค่าตัวตามสินไถ่ ในสามวันเป็นลูกผี พ้นสี่วันเป็นลูกของคน” จึงทราบแน่ว่าแต่ก่อนการรับร่อนก็มีเบี้ยเช่นเดียวกับการเผาศพ นั่นจะหมายถึงค่าซื้อหรือเช่าที่ป่าช้าเพื่อทำการเผาหรือฝังศพ อยากจะทึกทักเอาว่าที่คิดคาดนั้นถูกแล้ว แต่เหตุไฉนแม่ซื้อจึงกลายไปเป็นผี คิดดูก็คาดเห็นไปว่าเป็นด้วยกลัวผี เพราะไม่ว่าภัยอย่างใด เชื่อว่าผีทำให้ทั้งนั้น เพราะเหตุที่กลัวผีนั่นแหละ พาความเข้าใจให้กลายไปเป็นแม่ซื้อคือผี การกลัวผีนั้นเป็นอยู่หลายประเทศไม่ใช่แต่ชาวเรา ทางอินเดียก็มีเรื่องเล่าว่า ท้าวกํส ตาของกฤษณกุมาร ใช้นางยักษ์ชื่อ ปูตนา ให้ไปฆ่ากฤษณกุมารเสียแต่เมื่อเป็นทารก เหตุที่ให้ฆ่าเสียนั้น เพราะได้ยินเทวดาผู้รู้การณ์ไกล (เทวดาหมอดู) ทำนายว่า กฤษณกุมารนั้นแหละจะเป็นผู้ฆ่าท้าวกํสให้ตายตกไป โดยประสงค์จะรักษาชีวิตแห่งตนไว้ จึงสั่งให้ไปฆ่ากฤษณกุมารเสีย นางยักษ์ปูตนาผู้รับคำสั่งให้ไปฆ่านั้นจึงตกเป็นผีแม่ซื้อไปคนหนึ่ง อันรูปแม่ซื้อนั้นควรจะเป็นรูปที่น่าเกลียดนำกลัวเช่นยักษ์เป็นต้น แต่ไฉนในหลังแผ่นผ้ารูปท้าวเวสวัณซึ่งแขวนพระอู่เจ้านาย เขียนรูปแม่ซื้อหัวเป็นม้าตัวเป็นนาง เห็นเข้าก็ไม่รู้ จึงทำใจว่าจะต้องเรียนเรื่องแม่ซื้อให้รู้ ทีหลังจึงได้ไปพบในตำรายันต์ ปรากฏว่าแม่ซื้อนั้นตัวเป็นนาง หัวเป็นสัตว์พาหนะของเทวดาสัตตเคราะห์ เข้าใจว่านั่นคงเป็นความคิดของโหร เพราะถนัดเทวดานพเคราะห์ หัวคงเปลี่ยนไปตามวันที่เด็กเกิด แต่แผ่นผ้าที่แขวนพระอู่เจ้านาย เขียนเป็นนางหัวเป็นม้าเสมอไปนั้น คงเป็นด้วยช่างเขียนไม่รู้ ได้แผ่นผ้าของเจ้านายซึ่งประสูติวันจันทร์ไปเป็นอย่าง ก็เขียนตามนั้นไปยืนที่ โหรก็ไม่แนะให้ ทีก็จะไม่รู้เหมือนกัน อนึ่ง คำจารึกวัดพระเชตุพน ซึ่งมีคำว่า “ในสามวันเป็นลูกผี พ้นสี่วันนี้เป็นลูกของคน ตามคำนี้ควรที่การร่อนเด็กจะกระทำเมื่อพ้นสี่วันไปแล้ว ไม่ใช่ทำเมื่อแรกเกิด

ข่าวกรุงเทพ ฯ

หญิงเล็ก (ประภาวสิทธิ) มาบอกจะให้รดน้ำแต่งสมรสลูกชายเปรมกับนางสาวงามจิตต์ ลูกพระสารสาสนพลขันธ์ ในวันที่ ๒๒ มกราคม เวลา ๑๖.๑๕ นาฬิกา เป็นเหตุให้นึกถึงหญิงเพียร งานจะเป็นวันไรเวลาไร หญิงจงก็ยังไม่ได้บอก แต่ถึงจะพ้องกันก็ไม่เป็นไร พอจะพูดกันได้ ด้วยกันเองทั้งสองฝ่าย

เขามาบอกว่าจะเผาศพพระยาบริรักษ์ราชา คือ “ยุง” ที่วัดสังเวช วันที่ ๖ มกราคม จะต้องไป เพราะได้ล้อเลียนกันมามาก และเชื่อว่าฝ่าพระบาทก็คงพอพระทัยที่จะทรงทราบ จึงกราบทูลมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ