๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๒๙ เดือนก่อน ได้รับแล้ว

จะตอบท่านถึงเรื่อง ผีเสื้อตัวแมลง เท่าที่ฉันได้ทราบ ฉันขึ้นไปโคราช ได้เห็นที่ข้างทางในดงพระยาไฟ มีผีเสื้อมั่วสุมอยู่เปนกลุ่มๆ เกาะอยู่ก็มากบินโฉบฉาบอยู่ก็มี ที่มันมั่วสุมกันอยู่นั้นอยู่ต่ำ ๆ นึกอยากรู้ว่ามันตอมอะไร แต่ไปรถไฟซึ่งไม่มีโอกาสจะลงตรวจดูได้ ครั้นไปถึงโคราชจึงถามเขา แต่ได้ความไปเสียทางหนึ่ง ว่าพวกโคราชกลัวผีเสื้อกันนัก ถือกันว่าผีเสื้อมั่วสุมกันอยู่ที่ไหนเปนเครื่องหมายว่าที่นั้นมีโรคภัยไข้เจ็บ คนเดินทางเห็นฝูงผีเสื้อเข้าที่ไหนก็รีบเดินหนีไปเสียให้พ้น ไม่มีใครกล้าจะหยุดยั้ง โดยนัยนี้จะว่าผีเสื้อเปน ผีเชื้อ คือ ผีเชื้อโรคได้กระมัง อนึ่ง ผีเสื้อสมุทในเรื่อง รามเกียรติ์ ดูเหมือนที่กล่าวระบุไว้ว่าเปนญาติกับทศกรรฐ์ ถ้าเปนเช่นนั้นก็ไปเข้ารูป เชื้อเมือง นั้นอีก ผีเสื้อยักษ์ในเรื่องอื่น ๆ มีมาก แต่น่าจะแตกไปจากผีเสื้อในเรื่องรามเกียรติ์ นั้นเอง ทุกรายจำได้ว่าเปนยักษ์ตัวเมียและดุดันก็ตามเพศยักษ์

คำ ศักดิ์สิทธิ์ ควรจะมีภาษาไทย นึกๆ ก็นึกได้ว่ามีในเรื่องพระลอ ใช้ว่า แรง คือ ลองแต่ส่ำพอดี พอแรงผีแรงคน ดูก็เฉียดไป แต่ดีกว่าคำว่า เข็ด ซึ่งไปทางเปนกลัว เปนสำหรับคนชะนิดลูกช้างมากกว่าเปนสำหรับเจ้าผี

สิง ในภาษาเขมรก็มี ฝรั่งแปลไว้ว่า นอน คำไทยก็มีว่า องค์อสันยแดหวาวราฤทธิ์ สิงสถิตอยู่ในไศลหลวง จะเอาความว่านอนอยู่ที่เขาใหญ่อย่างฝรั่งแปลภาษาเขมรก็ไปได้เหมือนกัน

คำว่า เพลง นี้ มาแต่อะไรก็เปนยากที่จะตัดสิน แต่เปนแน่ว่า หมายถึงเสียง คำต่าง ๆ ซึ่งท่านเก็บมาเปรียบเทียบไว้ก็เข้าทีดีอยู่ ฉันได้ลองพิจารณาก็เอายุติลงเปนแน่ไม่ได้ แต่การพิจารณาก็ออกสนุก จึ่งจะแจ้งรายงานให้ท่านทราบไว้ด้วย ทีแรกได้ตรวจคำว่า เพลง ก่อน ในภาษาเขมรมีเหมือนกัน แต่เขียนเปน เภลง ถ้าเขมรจะอ่านคำว่า เพลง ของเรา จะต้องอ่านว่า เปลง ก็ไปเข้ารูปคำว่า เปล่ง ทำให้นึกได้ว่าตัวโขนคู่รำหางนกยูงออกเล่นเมื่อเบิกโรง เขาเรียกกันว่า ปะเลง จะหมายความว่าอะไรไม่ทราบ แต่ใกล้กับ เพลง เปลง มาก ได้เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรดูสอบคำ ปะเลง ไม่มี มีแต่ ปรแลง แปลให้ไว้ว่าเล่นสนุก คิดว่าเปนคำเดียวกัน ซ้ำาไปใกล้กันเข้ากับคำ บรรเลง ซึ่งปกติของเราเขียนแก้ ประ เปน บรร มีอยู่โดยมาก ได้เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรดูสอบอีกครั้งหนึ่ง พบคำ บันแลง คิดว่าเปนคำเดียวกับ บรรเลง นั้นเอง เขาแปลไว้ให้ว่าสิ่งที่ทำเพลินใจ ตกลงก็เหนได้แต่เพียงว่าเปนความหมายอันเดียวกันทั้งหมดนั้น ต่อไปก็จับคิดเอาคำ ระเบง คำนี้เปนชื่อพวกเล่นร้องรำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โอละพ่อ นั้นอย่างหนึ่ง กับมีคำนั้นประกอบอยู่กับคำอื่น เช่นว่า ระเบงเซงแซ่ เปนต้น ความก็เปนไปในว่าเสียง ที่เปนตัว ล ก็มี เช่น สำหรับละบอง ละเบงเฉงฉันท์ นี่ก็เปนว่าเสียงเหมือนกัน ใกล้กับ เพลง เปล่ง แต่พยัญชนะกลับกัน เอาหลังเปนหน้า พิจารณาได้เลอะเทอะอยู่ดั่งนี้ไม่ลงรูปอะไรเข้าได้

ต่อไปนี้จะตอบคำถามเรื่องเครื่องบังหน้ากันศัสตราวุธ เรามีใช้อยู่เวลานี้สามอย่าง คือ

๑. เขน มีรูปกลม คำนี้อาจเปนคำมาแต่ภาษาบาลีว่า เขฏก ก็ได้ เดิมตัดเรียกแต่ เข ก่อน แล้ว น หลงแถมเข้ามาทีหลัง

๒. โล่ มีรูปสี่เหลี่ยมรีดุจแผ่นอิฐ คำนี้อาจ มาแต่ โลห ในคำบาลีก็ได้ คนเขียนเปน โล่ห์ ก็มี

๓. ดั้ง มีรูปแคบยาวห่อดุจกาบกล้วย ชื่อนี้เปนคำไทยหมายความว่าหน้า คือ เครื่องบังหน้า เหมือนช้างดั้งก็คือช้างหน้า เสาดั้งก็คือเสาหน้า (เรือนเราก่อนนี้ใช้ด้านขื่อเปนด้านหน้า ดู โบสถ์ วิหาร เปนอย่างเถิด)

ศัสตร ซึ่งใช้สำหรับกับเครื่องบังหน้าเหล่านี้เห็นจะไม่จำกัด แล้วแต่ผู้ใช้จะถนัดมือ แต่เท่าที่เคยเห็นมาในอายุฉัน ก็เห็นใช้กับดาบทั้งสามอย่าง แต่ในหนังสือแต่งที่เคยอ่านพบมีแปลก ๆ ออกไป เช่น เสโลโตมร ก็มี โตมร เปนแน่ว่าหอก เสโล จะเปนเครื่องบังหน้าหรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ ถ้าว่าตามรูปศัพท์ก็เปนก้อนหิน จะใช้เปนอาวุธขว้างหัวกันก็ได้ พลวานรของพระรามก็ว่าใช้ก้อนหินกับท่อนไม้ ที่ว่า แพนดั้งโตมร ก็มี แพน เห็นจะเปนแผ่น คือแผ่นดั้งกับโตมร นี่ปรากฏเปนว่าถือหอกถือโล่อย่างซูลู ที่ปรากฏเปนปกติ เช่นว่า ดาบเขนแขงขัน กูฟาดกูฟัน พินาศเนืองนือ ดังนี้ก็มี นี่เปนปกติอย่างชั้นหลัง

ฉันมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามใจท่าน แต่ก่อนนี้มียายแก่สวดมนต์เปนภาษาไทย คำสวดมนต์นั้นก็ไม่ใช่เลวไปทีเดียว ดูจะเปนผู้รู้แต่ง จะให้ตัวอย่างเท่าที่ฉันจำได้แต่เล็กน้อย เช่น ไหว้พระพุทธบาทพรรณนาลายลักษณมีว่า ยังมีกินนร รำฟ้อนซ้อนกัน นาคราชผาดผัน เล่นน้ำนที ยังมีป่าหิมพาน ขอบเขาจักรวาฬ วินันตกคิรี ลงท้ายว่า อหํวันทามิธาตุโย อหํวันทามิสัพพโส ทั้งเคยได้ยินคนโทษตารางพันนิจรักษาในกระทรวงวัง อันตั้งอยู่ข้างบ้านท่าพระ เวลาค่ำก็สวดมนต์กันทุกวัน ท้ายสวดมนต์ มีคำขอพรให้พระรัตนตรัยปกปักรักษาพระมหากษัตริย์และบ้านเมือง คำเหล่านี้ไม่ใช่ของเลว ฉันคิดว่าต่อไปจะต้องสูญหมด ถ้าสืบเก็บเอาเวลานี้ลางทีจะได้ไว้บ้าง หากได้มาจะใช้ตีพิมพ์เปนหนังสือเล็กน้อย เช่น สำหรับแจกกฐินก็ใช้ได้ ถ้อยคำจะได้ไม่สูญหายเสียหมด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ