๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่ส่งหนังสือเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ ๓ ไปให้อ่าน ได้อ่านแล้ว ได้ส่งคืนมาให้ในบัดนี้แล้ว

อ่านพบความวิรุทธในหนังสือนั้นอยู่หลายแห่ง ที่รู้ว่าผิดแท้ทีเดียวก็มี ที่เปนแต่สงสัยว่าจะผิดก็มี อย่างไรก็ดี คิดว่าบอกให้ท่านทราบไว้จะเปนดี เผื่อมีโอกาสที่จะได้ตีพิมพ์ใหม่ แห่งที่ท่านสามารถจะแก้ได้จะได้แก้เสียให้ถูก ดั่งจะชี้ให้ทราบต่อไปนี้

-ในท้องความ-

หน้า ๔ บรรทัดที่ ๑๕ (นับลง) ที่มีความว่า คาบรักทาบสุพรรณนพมาศ คำ คาบ สงสัยว่าพิมพ์ผิด เพราะไม่ได้ความ แต่ที่ถูกควรจะเปนอะไรก็คิดไม่เห็น จะต้องอาศัยสอบต้นฉะบับ ถ้าหากมีอยู่ที่ไหน

หน้า ๒๑ บรรทัดที่ ๑ คำว่า ต้นไม้เพศ ต้องเปน ต้นไม้เทศ หมายความว่าต้นไม้อย่างต่างประเทศ ตัวอย่างที่พิมพ์ถูกมีอยู่ในหน้า ๑๔ บรรทัดที่ ๑๕ กับหน้า ๑๕ บรรทัดที่ ๒

หน้า ๒๗ บรรทัดที่ ๑๑ ที่ว่า กึ่งฐานบัวชั้นบนเปนที่ตั้งมหาบุษบก คำ กึ่ง สงสัยว่าจะเปน ถึง ด้วยจะเปนความดีขึ้นมาก

หน้า ๓๗ บรรทัดที่ ๓ คำ นั่งทับผนังเชิง ที่ถูกจะต้องเปน นั่งพับพนังเชิง (พนัง คือ แพนง)

-ในอธิบายตอนหลัง-

หน้า ๔๒ บรรทัดที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๓ คำว่า...หอราชพงศานุสร โปรดให้พระอาจารย์อินเขียนเรื่องพระราชประวัติ... ที่หอนั้น ดูไม่เห็นว่าเปนฝีมือพระอาจารย์อินเขียน ฝีมือพระอาจารย์อินเขียนปรากฏอยู่แต่ในหอราชกรมานุสร จะบอกให้ท่านทราบว่าที่กล่าวยืนยันเช่นนั้นได้ด้วยเหตุใด เหตุที่ฉันใฝ่ใจในการช่าง ท่านผู้ใดที่มีฝีมือดี แม้ท่านจะตายไปแล้วแต่ก่อนเกิด ฉันก็ดูฝีมือท่านเก็บเอาตรงที่ชอบใจเปนครู จึ่งย่อมชินอยู่ในฝีมือของช่างผู้มีฝีมือดีทั้งหลาย ด้วยเหตุดังนั้นท่านผู้ใดที่มีฝีมือดี ฉันรู้จักจำฝีมือได้ทุกท่าน อย่างเดียวกับที่ท่านจำลายมือเขียนหนังสือของคนที่สำคัญได้ฉะนั้น

หน้า ๕๓ บรรทัดที่ ๒ ที่ว่า พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (อธิบดีกรมช่างสิบหมู่) หล่อพระเจดีย์ นั้นจริงอยู่ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเปนผู้หล่อ แต่ไม่ใช่หล่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ ๕ ท่านหล่อแต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ โดยพระราชดำรัสสั่ง เสร็จแล้วทรงบรรจุพระธรรม ซึ่งโปรดให้พระราชาคณะเลือกเขียนที่ดีพึงใจถวายและประดิษฐานไว้ในพระพุทธมณเฑียร ซึ่งสร้างขึ้นในสวนศิวาลัย เมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่พระพุทธมณเฑียรนั้นสร้างด้วยวิธีอย่างขัดแตะถือปูน ครั้นเสาขาดก็ทรงตัวอยู่ไม่ได้ จะพังลงในรัชกาลที่ ๕ จะทรงสร้างใหม่ก็ไม่มีประโยชน์พอกับเงินที่จะเสียไป จึงโปรดให้รื้อเสีย พระเจดีย์นั้นจะเชิญไปรักษาไว้ที่ไหนฉันไม่ทราบ จนกระทั่งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงโปรดให้เชิญมาประดิษฐานไว้ในพระพุทธปรางคปราสาท ซึ่งเปนหอพระเทพบิดรอยู่บัดนี้ แต่ภายหลังก็ถูกไฟไหม้ละลายสูญไปเสียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

หน้า ๕๓ บรรทัดที่ ๑๖ ถึงที่ ๑๗ ซึ่งลงความไว้ว่า หลวงสิทธินายเวร (บุศ) เป็นผู้จ่ายน้ำรัก สงสัยว่าจะไม่ใช่หลวงสิทธินายเวร (บุศ เพ็ญกุล) ด้วยนายบุศเวลานั้นแต้มยังต่ำหนัก ไม่สมกับที่จะมีหน้าที่ใหญ่เปนผู้จ่ายน้ำรักทั่วไป เจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู โชติกเสถียร) เขาเปนข้าหลวงเดิม และเปนหลวงสิทธินายเวรมาก่อน เขามีแต้มสูงกว่า แต่เวลานั้นเขาจะเปนอะไรอยู่จำไม่ได้ สงสัยว่าจะเปนเขา แต่จะสอบถามใครที่นึกได้ก็ตายเสียหมดแล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ