๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๕ กับวันที่ ๒๐ ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมาก

ข้อสำคัญที่สุดในหนังสือนั้น ซึ่งทำให้ฉันได้สติขึ้น ก็คือข้อที่ท่านว่ากวีแต่งคำขึ้นตามชอบใจ ฉันรู้ดีทีเดียว แต่ไม่ได้คิดไปถึงเลย เมื่อฉันยังหนุ่มๆ ไม่เห็นมีใครรู้ ว่าภาษาสํสกฤตมีอยู่ในโลกนี้ รวมทั้งตัวฉันด้วย บรรดาคำสํสกฤตเรียกกันว่า คำแผลง หมายใจว่าแผลงเล่นจากภาษาบาลี จนกระทั่งมีสมุดพจนานุกรมภาษาสํสกฤตเข้ามาถึงเมืองไทย จึงได้ลืมหน้าอ้าปากรู้กันขึ้น กว่าจะรู้ก็แผลงกันผิด ๆ ไปเสียงอม ไม่ใช่แผลงแต่ภาษาบาลี ภาษาอะไรๆ ก็พลอยแผลงเล่นไปด้วย ด้วยอำนาจการแผลงนี้นับเปนส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้ฉันคิดตีความในคำยืดคำย่นลางคำไม่ออก แต่ไม่เคยนึกไปถึงเลยว่าคำนั้นเปนคำแผลง ไม่ใช่คำเดิม

ข้อที่ตัวพยัญชนไขว้เขวกัน ท่านคิดว่าไขว้กันเพราะมีฐานอันเดียวกันนั้นก็มีจริง แต่ความไขว้เขวในทางไม่รู้ก็มีอยู่เหมือนกัน เช่น เราเขียนภาษาเขมร ลางคำเราก็เขียนตามหนังสือเขมร ลางคำเราก็เขียนตามเสียงเขมรอ่าน ซึ่งไม่เหมือนกับเราอ่าน จึ่งทำให้คำเดียวกันต่างตัวพยัญชนไป แต่ที่แท้เปนตัวเดียวกัน

อันภาษานั้นเปนสิ่งที่จะรู้ได้ยาก บ้านเมืองอยู่ใกล้กันภาษาก็เข้าปะปนกันจนพาหลง เช่น ทางไทยนำคำด้วย ประ ก็เข้าใจว่าเปนอันเดียวกับเขมร ซึ่งนำคำด้วย ผ ทางเขมรมีคำนำด้วย บัน ก็เข้าใจว่าเปนคำเดียวกับที่ไทยนำด้วย ประ จนสอนกันให้เขียนเปน บรร เพื่อให้เข้าได้ทั้งสองทาง ดั่งนี้เปนต้น

คำ บำบัด ซึ่งท่านสงสัย ฉันรู้มาจากเขมรว่า บัด แปลว่า หาย เหมือนหนึ่งชื่อเมือง บัดตัมบอง (ซึ่งเราเรียกว่า พัตตะบอง หรือ พระตะบองนั้น) เขาแปลว่าไม้เท้าหาย ว่ามีนิทาน (เห็นจะเปนเรื่องเดียวกับพระยาโคตรบอง) ถ้ายึดเอาคำนั้นเปนหลัก บำบัด (ซึ่งควรจะเปนบัมบัด) ก็แปลว่าทำให้หาย บัง บัญ บัน บัม ซึ่งเขมรใช้นำคำต่างๆ อยู่ ฉันแปลว่า ทำให้ เช่น บังคับ ทำให้คับ บันดาล ทำให้เปน เห็นว่าเหมาะกว่าจะแปลไปอย่างอื่น บัง บัญ บัน บัม ก็ได้กับ บํ แม้เขียน บำบัด ก็ไม่ผิด เห็นจะไม่ได้ยืดจาก ปัด

ขอบใจท่านที่ชี้คำ จรัส ให้ทราบว่าเปนคำเดียวกับ ตรัส ควรจะรู้แต่แลไม่เห็นจนท่านบอก เปนแต่สงสัยว่าทำไม จรัส จึ่งต้องเขียนสกด ส ขอบใจเทวดาซึ่งยังให้คงเปนสกด ส อยู่ ไม่มีใครแก้ให้เลอะเลือนไปเสีย

หงส์ นั้นพอใจแล้ว ตกเปนไม่ว่าภาษาใด ๆ ก็วนเวียนอยู่ในตัว ห กับตัว ง ทั้งนั้น ในการที่ตัวเดิมเปนห่านแล้วแยกไปเปนตัวผีนั้นไม่ประหลาด เปนธรรมดาที่สิ่งใดนับถือกันหนักเข้าก็กลายไป เช่น ธาตุทั้งสี่ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเปนของธรรมดาแท้ ๆ นับถือกันหนักเข้าก็เกิดเปนผีมีตัวมีตน เปนพระธรณี พระพิรุณ พระพาย พระเพลิงไปได้

คำ กระยา ค้นหาไม่ได้เรื่องก็ต้องพักไว้ทีก่อน

น้ำสี่สระ ไม่ใช่ของลับ ตำราราชาภิเษกทุกฉะบับมีปรากฏอยู่ ไม่ควรเขียนให้ผิดเลย

ชื่อเมืองชื่อตำบลต่าง ๆ ฉันรู้สึกว่าเขียนผิดมากทีเดียว

เมือง ศีรษเกศ รู้สึกนานแล้วว่าเขียนผิด เมืองหัวผม จะได้ความอย่างไร จะต้องเปนเมือง ศรีสระเกศ คือ เมืองสระผมให้เปนสิริ ประเพณีโบราณไปทำอะไรมา ก่อนจะเข้าเมืองก็ต้องชำระกายให้สอาดก่อน เช่นในเรื่อง อิเหนา เมื่อไปรบศึกท้าวกระหมังกุหนิงกลับมา ก่อนเข้าเมืองก็ต้องลงสรงในสระนอกเมืองก่อน วัดสระเกศในกรุงเทพ ฯ เรานี้ ก็เข้าใจว่าเปนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ประทับพักสรงสนานสระพระเกศาที่นั่นก่อนเสด็จเข้าเมือง เมืองศรีสระเกศเปนเมืองปลายแดน คงจะเปนที่พักสระสนานที่นั้น เมื่อออกไปทำศึกกับเขมร

เมือง ขุขันธ์ เคยได้ยินมาแต่ก่อนเรียกว่า เมืองกุขัน ได้นึกว่าชื่อนี้เหมือนชื่อ กุขันพรานไพรใจกล้า ในเรื่อง รามเกียรติ์ (ฉะบับรัชกาลที่ ๑) แล้วมาภายหลังเห็นเขียนเปน เมืองขุขันธ์ ได้ถามเขาว่าแปลว่ากะไร เขาบอกว่าเมืองคนถ่อย ก็เปนแต่ฟังไว้ แต่ไม่สมัครใจเลย ท่านมาแนะนำ กุกัน ก็ไปเข้ารอยเดิม แต่จำต้องสงบไว้ที เพราะเราไม่รู้ว่าชื่อเดิมเขาจะหมายเอาอะไร

อำเภอตั้งใหม่ดูเหมือนอยู่ในจังหวัดนางรอง เรียกว่า อำเภอปลายมาศ ที่แท้ชื่อนั้นชื่อ ไพรมาศ เปนชื่อแม่น้ำ พลเมืองโดยมากเปนเขมร เขมรออกเสียง ไพร เปน เปรย แล้วคงไปถูกใครพูด ร เปน ล เข้าอีกซ้ำหนึ่ง จึ่งกลายเปน ปลายมาศ

ที่ตั้งด่านในแดนเมืองบัดตัมบองของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ติดต่อกันกับอรัญประเทศของเรา เราเรียกว่า ปอยเปต ตามฝรั่งเศส แต่ที่แท้ชื่อว่า บ้านปอดแปด

เมือง ปราจิณบุรี เปลี่ยนเขียนเปน ปราจีนบุรี ควรอยู่หรือไม่ แม้แต่ก่อนจะเขียนไว้ไม่ถูกก็ดี แต่เปนชื่อ อันว่าชื่ออะไรต่างๆ กระทั่งชื่อคน ถ้าเขียนไม่ถูก ควรจะเขียนเปลี่ยนไปใหม่ หรือควรคงไว้ตามเดิม ท่านเห็นอย่างไรในปัญหาอันนี้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ