๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ มีพระเมตตาประทานข้อทรงสันนิษฐานศัพท์ ซึ่งเป็นความรู้ มีประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งนัก ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

เรื่องวัดกกวัดเลา ข้าพระพุทธเจ้าสืบสาวอยู่ แต่ข้อความที่ตรัสเป็นแนวทางตีที่สุดสำหรับข้าพระพุทธเจ้าค้นคว้าถึงคำว่า ลาว ต่อไป ได้ผลถึงจะไม่ถูกก็แปลก กก และ เลา สองคำนี้ทางอิศานหมายความว่า ต้นกก และ ต้นเลา แต่เมื่อค้นหาคำซึ่งมีเสียงอย่างเดียวกันหรือเสียงใกล้เคียงกัน คงได้ความ คือ

กก ภาษาไทยถิ่นอิศานและไทยย้อยแปลว่า เดิม ต้น กอ เช่น กกไม้ . แปลว่า ต้นไม้ กกไผ่ แปลว่า กอไผ่ มักใช้เข้าคู่กับ กอ เช่น กอโดน แปลว่า ต้นโดน หรือต้นจิก ลูกกก แปลว่า ลูกหัวปี ภาษาชาวปักษ์ไต้ กกกอ แปลว่า ต้นวงศ์ เหล่ากอ คำว่า เหล่ากอ ตามความหมายที่เข้าใจกันก็คือลูกหลานหรือเชื้อสาย แต่เมื่อแยกแปลทีละคำ ก็เป็น พวกต้น เหล่าต้น กลายเป็นพวกต้นวงศ์ไป หาใช่เป็นพวกลูกหลานไม่

เลา ทางอิศาน นอกจากหมายความว่าต้นเลา ยังแปลว่า ทิวแถว เช่น เป็นเลา แปลว่า เป็นแถว

ทางพายัพ เลา แปลว่า งาม

ไทยย้อย เลา แปลว่าท่าน ว่าใหญ่

ในภาษาจีน เหล่า หรือ โหล่ หล่อ (เสียงชาวกวางตุ้ง ถ้าเสียงชาวแต้จิ๋วว่า เล้า ล้อ แปลว่า แพรโปร่ง แพรโล่) เล้าหรือคอกสัตว์ คุก มั่นคง ชื่อภูเขา ชื่อ ชาติโลโลหรือชาติลาว

ไทยขาว คำว่า เลา แปลว่าใหญ่ เช่น ผู้เลา หมายความว่า ผู้ใหญ่ แปลว่า ท่าน ใช้พูดเป็นสุภาพ ให้เกียรติยศ อย่างเช่น เลามาแต่ไหน คือท่านมาแต่ไหน ทางอิศานใช้อย่างเดียวกับไทยขาว แต่เสียงเป็น ลาว

เมื่อพิจารณาคำเหล่านี้ ปรากฏว่าจะถือเสียงสั้นเสียงยาวเป็นแน่ไม่ค่อยได้ ลางพวกเช่นไทยย้อยเป็น เลา ครั้นถึง เหล้า ในตัวโรมันกลับเติมสระให้เป็นเสียงยาวไป ในภาษาไทยถิ่นอื่นเช่นอาหม เมื่อถึงเสียงสระอะก็ไม่มีบอกสั้นยาว คงทิ้งไว้ให้อ่านเอง จะเป็นเสียงสั้นเสียงยาว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าแล้วแต่ความหมายของคำ ในภาษาไทยขาว เข้า กับ ข้าว ก็จดเป็นตัวโรมันไว้อย่างเดียวกัน ไม่บอกเครื่องหมายสั้นยาว นอกจากใช้เดา แต่เวลาพูดคงจะทราบได้ว่า เข้า หรือ ข้าว ลางที ข้าว จะออกเสียงไม่ยาวอย่าง ข้าว แต่จะไม่เป็นเสียงสั้นอย่าง เข้า จะอยู่ระหว่างกลางก็ทราบเกล้าฯไม่ได้ จะเป็นทำนองเเรยวกับสระอาในภาษาอังกฤษ เช่น Bangkok ถ้าไม่ทราบอ่านเป็น บังกอก ก็ได้ หรือ อเมริกา ถ้าอ่านให้ถูกเสียงเดิมก็เป็น อเมริกะ ครั้นแล้วเสียงมักยืดออกเป็นอเมริกา ด้วยลักษณะอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เลา กับ ลาว น่าจะเป็นคำเดียวกันได้ เมื่อเช่นนั้น กก กับ เลา อาจเป็น กก แปลว่า ต้นเดิม และ เลา ก็เป็น ลาว แปลว่าชื่อดั้งเดิมของชาติก็ได้ คำว่า ภูเขาเลาภา กา ในภาษาชาวอิศานหมายความว่า ขีดหมายเอาไว้เป็นเขตต์แดน เมื่อรวมกับ เลา รูปใกล้ไปในคำว่า ลาวกา หรือ ภูเขาลาวแดน หรือกลับเป็นแดนลาวก็น่าจะได้ แต่มาจนด้วยเกล้า ฯ ที่ชาวอิศานเรียก เลากา เป็น เฮากา แปลว่า แดนของเรา ลางทีจะลืมคำว่า ลาว ในคำเดิม เพราะนำมาใช้เป็นชื่อชาติโดยฉะเพาะ แล้วขยายความหมาย แปล ลาว ว่า คน ห่างออกไปเสียทางหนึ่ง ก็แก้คำ เลา หรือ ลาว เป็น เรา เพื่อให้แปลได้ ถ้าใช้คำแปลว่าใหญ่ หรือทิว ในความหมายของคำ เลา อีกนัยหนึ่ง ลาวกา ก็จะแปลได้ว่า เขตต์แดนที่เป็นทิวใหญ่ ได้อีกทางหนึ่ง ที่ในตำนานต่าง ๆ ทางเหนือ เช่น ตำนานสิงหนวัติ พงศาวดารเชียงแสน เป็นต้น มีพระนามกษัตริย์ครั้งเก่าก่อน ขึ้นต้นด้วยคำว่า ลาว เช่น ลาวจก ก็คงจะเป็นคำยกย่องว่า ท่าน หรือ ผู้เป็นใหญ่ แปลกอยู่อีกอย่างหนึ่งที่คำว่า ไต ไท ท้าวไทย มีผู้เห็นกันว่าจะเป็นคำเดียวกับ ไต๋ ในภาษาจีนซึ่งแปลว่าใหญ่ และซึ่งชาวอิศานเลื่อนมาใช้ความหมายว่า คน ก็เข้ารูปกับความหมายของคำว่า ลาว ที่แปลว่าใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้านึกเลยไปถึงคำว่า ลื้อ เซียนหลอ และ ละโว้ ลางทีจะเป็นคำเคียวกับ ลาว จะไม่มาจากคำว่า ละว้า หรือจากคำว่า ละโฮร์ ซึ่งเป็นภาษาปรากฤตเพี้ยนจากคำ ลว ในสํสกฤต มีผู้เห็นกันว่า ถ้ามนุษย์ประเทศไหนไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศใด ก็มักเอาชื่อเมืองเดิมไปตั้งชื่อให้ เช่น นิวยอก ในประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา ก็เป็นเพราะชาวเมืองยอก ในประเทศอังกฤษไปอยู่ก่อน จึงตั้งชื่อว่าดังนั้น ส่วนในแหลมอินดูจีน ที่บ้านเมืองมีชื่อเป็นภาษาบาลีและสํสกฤต อย่างเมืองที่มีอยูในประเทศอินเดีย ก็ว่าเป็นทำนองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นไปอีกอย่างหนึ่งว่าส่วนมากจะเป็นเรื่องลากเข้าความให้เป็นภาษาบาลีมากกว่าอย่างอื่น เมื่อพบชื่อใดในภาษาพื้นเมืองใกล้กับชื่อเมืองในอินเดียก็แก้รูปให้เข้ากัน หรืออีกอย่างหนึ่งเห็นลักษณะภูมิประเทศเข้าเค้ากับของอินเดียก็ตั้งชื่อให้ตามนั้น เช่น เรียกมณฑลยูนนานของจีนบางส่วนว่า คันธารรัฐ ผู้ตั้งชื่อจะเอาลักษณะที่อยู่เหนือที่สุดเป็นอย่างเดียวมาตั้งให้ คงไม่ใช่มีชาวอินเดียไปตั้งอยู่แล้วให้ชื่อ คำว่า ละโว้ ซึ่งภายหลังมาเป็นลพบุรี ก็จะเป็นลักษณะนี้ ตลอดจนพระนามกษัตริย์ ก็จะตั้งขึ้นเป็นอย่างพระนามกษัตริย์ในอินเดียที่เกี่ยวข้องกับเมืองนั้น กระทำให้เห็นเป็นแน่ว่า จะมาจากอินเดียเมืองนั้นเมืองนี้ เพราะยึดถือเอาพระนามกษัตริย์ที่ครองเป็นเครื่องยืนยัน

เรื่องคิดค้นหาที่มาของคำ ตามที่ตรัสว่าคิดหนักเข้าก็กลายเป็นเหลวไหลล้มละลายไป เป็นข้อที่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องดังกระแสพระดำริ เพราะหาหลักยืนยันไม่ได้ ด้วยภาษา เมื่อใช้มานาน ก็กลายเสียงและกลายความหมาย ยิ่งเป็นภาษาใช้คำโดดด้วย ลำพังเปิดดูพจนานุกรมไม่ได้แน่ ต่อเมื่อเข้ารูปประโยคแล้วจึงจะเห็น แต่พจนานุกรมเหล่านั้นไม่ให้ตัวอย่างประโยคที่ใช้ไว้ด้วยจึงยากแก่การค้นและสันนิษฐาน ที่เคยตรัสถึงข้อวินิจฉัยสันนิษฐานเรื่องโบราณคดีว่าเอาแน่นอนไม่ค่อยได้ เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะเมื่อต่อมา ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านเรื่องโบราณคดีที่นักปราชญ์ฝรั่งสันนิษฐานไว้ พบบางเรื่องเถียงกันบ่อย ๆ ไม่มียุติ อย่างชวา ที่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกเขมร จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ลงไปได้ว่าเป็นเกาะชวา สุมาตราหรือแหลมมะลายู ลางคนวินิจฉัยไปว่าเป็นเกาะบอรนิโอก็มี ดั่งนี้ พอจะเปรียบเทียบกันได้กับเรื่องสันนิษฐานศัพท์ ซึ่งมีทั้งที่ใกล้ความจริงและไกลออกไป

ดึกดำบรรพ์ ทรงสันนิษฐาน ดำ ว่าจะเป็น ล้ำ เข้ารูปกับ ดึก ได้อย่างสนิท ถ้าไม่ทรงสันนิษฐานคำว่า ดำ คือ ล้ำ และประทานมา ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เฉลียวใจถึงคำว่า บรรพ์ ว่าลางทีจะเป็นภาษาไทย หากถูกแปลงรูปลากเข้าหาภาษาสํสกฤตที่มีเสียงและความหมายใกล้กัน เพราะเมื่อมี ลึกล้ำ เป็นสองคำหน้าได้แล้ว คำหลังก็ควรจะเป็นคำภาษาไทยด้วย ทั้งภาษาสํสกฤตและบาลีคำว่า ก่อน ใช้ ปูรว และ ปพฺพ ส่วน บรรพ์ แปลว่า ท่อน ตอน อย่าง สักกบรรพ เป็นต้น ไม่มีแปลว่าก่อน หรือออกเสียงเป็น บรรพ์ นอกจากใช้อยู่แต่ในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าลองนึกหาคำไทยที่มีเสียงและความหมายใกล้กับ บรรพ์ ก็มีแต่ พ้น โพ้น พู้น แต่ความไม่สู้สนิท หรือคำเหล่านี้จะกลายความหมายห่างจากของเดิมมาแล้วก็ได้ แต่ค้นไม่พบ คงปรากฏแต่คำว่า มีน ในภาษาไทยทุกถิ่นแปลว่า เก่าแก่ ล่วงพ้นมานาน เสียงและความใกล้กับ บรรพ์ มาก ทั้งก็มีคำที่เข้าเป็นรูปประโยคแล้วว่า ลึกล้ำมึนนาน ใช้อยู่ในหนังสือภาคอิศานเป็นปกติ ค้นดูในภาษาจีนก็มีคำว่า ปุ๊น หรือ ปิ๊ง ในเสียงชาวแต้จิ๋ว และ ปั๊น ในเสียงกวางตุ้ง แปลว่า ราก ต้นเดิม เก่าแก่ บ่อเกิดเล่มหนังสือ (ปิ๊ง) เช่น ปั๊นก๊ก ว่า บ้านเกิดเมืองนอน ปุ๊นตี้ = ชาวพื้นที่หรือชาวพื้นเมืองเดิม ยิดปุ๊น ว่าบ่อเกิดจากอาทิตย์ คือญี่ปุ่น คำ ปั๊น หรือ ปุ๊น นี้ ถ้าปรับเข้ากับ บรรพ์ ก็มีเสียงใกล้กันมาก แต่ตกอยู่ในเดา

มหาด ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อดังที่ทรงสันนิษฐานว่า จะเป็นคำไทย ไม่ใช่คำบาลี แต่ค้นยาก เพราะถ้าเป็นสองคำรวมกัน เสียงมักกร่อนและกลมกลืนเพี้ยนไปได้มาก จับเค้าไม่ใคร่ได้ถนัด

ตัว ฮ ทรงสันนิษฐานว่าจะทำขึ้นสำหรับพูดเพี้ยน อ เป็น ฮ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริอย่างยิ่ง เพราะคำขึ้นต้นด้วยเสียง ฮ ในภาษาไทยถิ่นต่างๆ ไม่มีโดยตรง นอกจากใช้แทนเสียง รและ ง หรือเสียงใน วรรค ก ในลางถิ่นเท่านั้น คำที่มีอยู่ในภาษาไทยสยามขึ้นต้นด้วยตัว ฮ ก็มีใช้อยู่น้อยคำ

ที่ตรัสเล่าถึงโรงเรียนสอนใบ้ด้วยวิธีเป่าลมลงบนฝ่ามือ เพื่อให้ทราบฐานกรณ์ของเสียง แปลกและน่าพิศวงมาก ข้าพระพุทธเจ้าทดลองดูบ้างเกิดความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องออกเสียง เช่นเสียง ง น น ม เป็นนาสิก เมื่อเปล่งเสียงออกมา ลมจะไม่สัมผัสฝ่ามือเลย เป็นเครื่องพิศูจน์ได้ว่า เสียงของอักษรสี่ตัวนี้ลมออกทางจมูก

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ฯ ที่ทรงพระเมตตาตกเติมและแก้คำในร่างที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายไป

คำราชาศัพท์ใช้กับสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงทักคำว่า ทรงเสวย เป็นความผิดของข้าพระพุทธเจ้า ที่นำ ทรง ไปใช้เข้ากับคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจจะเขียนว่า สรงเสวย แต่จะเป็นด้วยเขียนผิดเองหรือคนพิมพ์ผิดไปก็ไม่ทราบเกล้าฯ ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า ทางราชการประกาศให้ใช้ศัพท์สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเสมอชั้นหม่อมเจ้า จะเป็นเพราะตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่มีมานาน คนรุ่นหลังคงใช้ไม่ถูก แม้แต่ข้าพระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่แน่ใจ ถึงต้องกราบทูลถามขอพระเมตตา ให้เป็นการรบกวนพระสำราญโดยใช่เหตุ ที่ทางราชการประกาศบอกวิธีใช้เพื่อให้ถูกต้องเป็นดีกว่าเฉยไว้ จนใช้ผิด ๆ พลาด ๆ ไปมากแล้วก็แก้ไขยาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ