๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒ ฉะบับ เรื่องคำต่างๆกับเรื่องไม้ม้วน ดูดูก็ราวกับบ้าจี้ เมื่อถูกสกิดเข้าก็ต้องลุกขึ้นเต้น แต่ที่จริงก็มีประโยชน์อยู่ด้วยกัน

คำว่า วัดวา หมายถึงที่อยู่ของพระสงฆ์นั่นก็อย่างหนึ่ง แล้วหมายถึงวัดด้วยไม้วาก็ได้อีกอย่างหนึ่งด้วย ในการวัดทางซึ่งชาวพายัพเรียกว่า วาคลอง นั้น เห็นจะหมายถึงไม้วา

จะบอกให้ท่านทราบด้วย มาตราวัดของกลมที่ว่ากี่กำนั้น เพื่อนกันเขาออกความเห็นว่า กำ คือ คืบโอบ อ้อม คือ วาโอบ เห็นว่าถูก

คำที่ยักเขียนตัวเปล่ากับ ห นำ นั้นมีมาก ดูเปนถ้าพ้องกันเข้าก็ยักเสีย เช่น น่า หน้า ล่า หล้า เล่า เหล้า ว่า หว้า (ต้นไม้) เปนต้น ไม่ใช่มีแต่ เง่า เหง้า

ได้ไปฟังชาวละครเขาเล่นเพลง เขาว่า พี่จะให้แหวนฮั่ง ฟังไม่เข้าใจ ต้องถามผู้รู้ว่า ฮั่ง แปลว่าอะไร เขาบอกว่า ฮั่ง คือ งั่ง แปลว่า ทองแดง (ชาวละครออกเสียง ง ไม่เปน เช่น เงิน ก็เรียกว่า เฮิน ที่เรียกชาวละครในที่นี้เพราะไม่ทราบแน่ว่าชาวเมืองอื่นในปักษ์ใต้จะเปนไปเหมือนกันหรือหาไม่) ฉันก็เข้าใจ เห็นเปนเก่าเต็มที ต้องกับคำเด็กร้องที่ว่า จันทรเจ้าเอย ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า ทั้งมาแปลออกจากคำพวกเล่นแปรธาตุ ว่าเอางั่งมาหลอมซัดยาให้เปนทองคำ ได้ถามว่างั่งเปนอะไร เขาอธิบายว่าเปนรูปต่าง ๆ เช่นเปนพระพุทธรูป แต่ไม่มีผ้าพาดนั้นก็เปนงั่ง จึงมาเข้าใจได้ว่างั่งก็หมายถึงเอาทองแดงมาหลอมซัดยาให้เปนทองคำเท่านั้นเอง ที่ตาพวกแปรธาตุแกเอารูปเก่า ๆ มาหลอม ก็เพราะแกสิ้นคิดหาทองแดงไม่ได้ คำว่า งั่ง หมายถึงคนไม่รู้จักประสีประสาอะไร เราก็พูดใช้อยู่อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

คำ กระเบื้องหน้างัว ของท่านดีนัก ฉันก็เคยคิดติดมาแล้วเหมือนกัน ไม่เห็นเหมือนหน้างัวที่ตรงไหนเลย ครันมาทราบความตามที่ท่านค้นพบ ลองแปลดูก็ได้ความ กระเบื้อง เปนคำไทย หมายความว่าดินเผา หน้า หมายความว่าแบนราบ เหมือนกันกับคำว่า ไม้หน้ากว้างศอกหนึ่งหนายาวสิบหกวา เปนยกหนึ่งพึงจำไว้ งัว แปลว่ากระเบื้อง ซ้ำกับคำต้น แต่เปนคำญวนหรือไทยขาว

คำ ปั้นหยา ปั้นหย่า สงสัยว่าจะเปนคำแขก แขกอะไรก็ไม่ทราบ คลับคล้ายคลับคลาว่ากฎีเจ้าเซนเขาเรียกว่า ปั้นหย่า หรือจะเปนชื่อมือทองเสียบไม้ ซึ่งเขานับถือว่าเปนพระเจ้าของเขา ซึ่งเก็บไว้ในกฎีนั้น เลยพาเอากฎีเปนชื่อปั้นหยาไป ก็จำไม่ได้แน่ แต่ความหมายที่ชาวบ้านใช้กัน ดูเหมือนจะหมายเปนชื่อหลังคา ชะนิดเอนเข้าหาอกไก่ทั้งสี่ด้าน ไม่มีจั่ว เหมือนกฎีเจ้าเซน แต่พระปั้นหย่าที่วัดบวรนิเวศหลังคาก็หาเปนเช่นนั้นไม่ เปนหลังคาอย่างจีน

คำที่เรียกละคอนจีนว่า งิ้ว ฉันไม่เคยพบหลักฐานอะไรมาเลย ว่าทำไมจึ่งเรียกเช่นนั้น จะเปนได้หรือไม่ว่า งิ้ว เปนของคิดเล่นขึ้นในวังก่อน พวก งิว คือขันทีเปนผู้เล่น

หนังสือโรมันนั้นเต็มที มีสระอยู่ห้าตัวเท่านั้น ฝรั่งพวกต่างๆ รับเอาไปใช้เขียนภาษาของตนอันมีสระมากออกไปก็ต้องผสม แล้วเอามาเขียนภาษาทางตะวันออกซึ่งมีสระแปลกออกไปอีก ก็ต้องคิดผสมไปอีกแปลกๆ การฟังเสียงก็ได้ยินไม่เหมือนกัน การผสมอักษรก็ต่างคนต่างคิด จำเปนอยู่เองที่จะต้องลักลั่นเปนไปต่าง ๆ จะเอาแน่เห็นหาได้ไม่ นี่ว่าถึงสระคำใช้ไม้ม้วน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ