- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ ทรงพระเมตตาประทานข้อความบางอย่างซึ่งเกี่ยวกับภาษาเขมร และตรัสถามถึงคำ ไม้กางเขง ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้พบบ้างหรือเปล่าว่าเป็นสิ่งอันใด ทั้งนี้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯหาที่สุดมิได้
ที่ตรัสเล่าถึงภาษาเขมรว่าเขียน กรม ต้องใส่สระ อุ ให้เป็น กรุม จึงจะอ่านว่า กรม ได้ เป็นเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้าขันในใจ แต่เมื่อมานึกถึงภาษาไทยที่เขียน กรอ-ม ให้อ่าน กรม หาใช่อ่านว่า กรอม ไม่ รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่า การออกเสียงของเขมรในคำนี้ ใกล้ต่อเสียงพยัญชนะและสระ ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปคำว่า กรอม มากกว่า กรม เสียงสระ ออ โอ และ อู สามตัวนี้ มักสับสนกันเสมอ เพราะที่ตั้งของเสียงอยู่ใกล้กัน ถ้าจีบริมฝีปากแต่น้อย และจีบเรื่อยไป จนริมฝีปากทั้งสองข้างเกือบจดกัน ก็จะเป็นเสียง ออ-โอ-อู โดยลำดับ เสียงที่เปล่งออกมาอาจเป็นเสียงคาบเส้นระหว่าง ออ กับ โอ หรือ โอ กับ อู ได้ นับไม่ถ้วนเสียง เสียงจึงได้เพี้ยนสับสนกันได้ ถ้าริมผีปากจดกัน เสียงที่เปล่งออกมาก็เป็น วู ไป เหตุนี้ในบางภาษาจึงแปลง อู เป็น ว ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นคำที่เสียงเพี้ยนไปในระหว่างสระทั้งสามนี้ ก็มีอยู่หลายคำ เช่น
ออ-โอะ | กรอม-กรม กล่อม-กลม น้อม-โน้ม อ่อน-โอน (ปักษ์ใต้) ก้อน-โง่น (อีศาน) กอง--โกง (พายัพ) ลอย-โล่ย (ญวน) |
ออ-อุ | น้อย-นุ้ย ห้อม-หุ้ม มอด-มุด ยอบ-ยุบ กระดุม-มะต่อม (พายัพ) กระต๊อบ (กระท่อม) -ตูบ (พายัพ อีศาน) |
โอ-อุ | ตาถลน--ตาหลุน (ปักษ์ใต้) ทก (ปักษ์ใต้)-กระตุก ปม--ปุ่ม โพน (อีศานว่าจอมปลวก)-พูน โต้ง(พายัพ)-ทุ่ง ข้น-ขุ้น(พายัพ) ถง(พายัพ)-ถุง คง-คุง จง-จุ่ง ฟัง-ฟุ้ง ม่ง--มุ่ง |
คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่เขมรออกเสียง โอะ โดยกำหนดเขียนเป็นสระ อุ คงเป็นเพราะออกเสียง อุ เพี้ยนเป็นเสียง โอะ น่าจะไม่มีเสียง อุ ที่เป็นเสียงแท้ ส่วนในภาษาไทยเสียง อุ มีใช้ แต่เสียง โอะ ซึ่งอยู่คาบเส้นระหว่าง ออ กับ โอ ไม่มีใช้ จึงอนุโลมใช้เสียง ออ แทน ตามตัวอย่างคำที่ถวายมาข้างต้น ปรากฏว่ามีเสียงสับสนกันอยู่มากคำ น่าจะเกิดเพราะออกเสียงเพี้ยนไป เช่น คุง เพี้ยนมาเป็น คง แต่ก็จับเค้าไม่ได้แน่ เพราะ กุม ในหนังสือคำฉันท์ เสือโค เขียนเป็น กม (ครุบคั้นกินกม) ไป
เรื่องไวยากรณ์ ที่ตรัสเล่าว่า นักเรียนเยอรมันเขาพิจารณาไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เห็นว่าไม่ใช่เป็นไวยากรณ์ทำขึ้นสำหรับภาษาอังกฤษนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะในตำรานิรุกติศาสตร์ภาษาอังกฤษบางเล่ม เคยบ่นว่า ภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นภาษามีวิภัตติปัจจัยเหมือนภาษากรีกละตินสํสกฤตและเยอรมันก็จริง แต่ก็มีลักษณะเป็นภาษาใช้คำชะนิดติดต่ออยู่มากเหมือนกัน เช่น kind เอา un, ly, ness ไปติดต่อเข้าข้างหน้าข้างหลังเป็น unkindliness รูปตัวตั้งไม่เปลี่ยน และที่เป็นภาษาใช้คำโดดอย่างภาษาจีนภาษาไทยก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น I stay at home to-day ซึ่งนอกจากคำว่า stay ซึ่งอาจแปลงวิภัตติปัจจัยเป็น stays, stayed แล้ว นอกนั้นก็เป็นคำโดด ๆ ซึ่งจะเอาเข้าประกอบกับคำอื่นก็ไม่เปลี่ยนรูป ผิดกับภาษากรีกละตินและสํสกฤต ซึ่งแต่ละคำต้องแปลงรูปไปตามหลักไวยากรณ์ของเขา เขาว่าไวยากรณ์ที่ใช้สอนกันในภาษาอังกฤษ ได้แบบมาจากตำราไวยากรณ์กรีก ซึ่งรูปภาษาไม่เหมือนภาษาอังกฤษ เมื่อนำเอามาใช้เรื่องจึงยุ่งยาก ฝืนหลักภาษาที่แท้จริงของอังกฤษ ชาวอังกฤษและชาวยุโรปได้รับความเจริญมาจากกรีกและละติน จนชาติกรีกและละตินได้ชื่อว่าเป็นภาษา classic หรือภาษาแบบแผน เพราะฉะนั้นในเรื่องภาษา พวกนักปราชญ์ซึ่งมีความรู้ในภาษากรีกและละติน จึงยึดเอาหลักในสองภาษานี้ขึ้นมาวินิจฉัยในเรื่องผิดถูกของภาษาตน และตั้งหลักไวยากรณ์ในภาษาของตนให้อัดลงไปในแม่พิมพ์ของภาษาทั้งสองนี้ด้วย จนไวยากรณ์อังกฤษมีกฎข้อบังคับวางไว้มากมาย เป็นการยุ่งยากและทำให้ผิดหลักธรรมดาที่เป็นจริงในภาษาอังกฤษ นักปราชญ์เยอรมันคนหนึ่งเคยบ่นว่าภาษาเยอรมันมีไวยากรณ์ยุ่งยาก สู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะไม่มีไวยากรณ์ ไวยากรณ์ที่นี้หมายถึงกฎเกณฑ์เรื่องแปลงวิภัตติปัจจัย ส่วนภาษาใช้คำโดดมีแต่ syntax ซึ่งว่าด้วยการเรียงลำดับและระเบียบคำเข้าเป็นประโยค ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้บ่นถึงเรื่องตำราไวยากรณ์ภาษาไทย ให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ไวยากรณ์ภาษาไทยที่ใช้อยู่ เป็นไวยากรณ์ของภาษาฝรั่ง ไม่ใช่หลักในภาษาไทยเลย ไม่น่าจะนำเอามาใช้ เพราะคำในภาษาฝรั่ง เปรียบเหมือนสิ่งที่เขาปั้นเป็นรูปร่างสำเร็จอยู่ในใจผู้พูดแล้ว เช่น son ก็บอกเสร็จในตัว เท่ากับปั้นรูปมาเสร็จแล้วว่าเป็นลูกชายคนเดียว ผิดกับภาษาคำโดด เมื่อพูดว่า ลูก ก็ยังทราบไม่ได้ว่าเป็นลูกชายหรือลูกหญิง จะเป็นคนเดียวหรือหลายคน เท่ากับว่ายังไม่ได้ปั้นสำเร็จรูป จะสำเร็จรูปรู้กันได้แน่ ก็ต่อเมื่อเอามาเรียงเข้ากับคำอื่น ความในประโยคจึงจะบอกให้ทราบได้ เพราะฉะนั้นหลักภาษาไทยจึงอยู่ที่ syntax จะผิดถูกก็อยู่ที่การเรียงลำดับคำโดดๆลงไป ด้วยเหตุนี้ คำในภาษาใช้คำโดด จึงไม่มีคำที่เรียกว่านาม กิริยา วิเศษณ์ และอะไรต่ออะไรเหล่านี้ ซึ่งเป็นหลักของภาษามีวิภัตติปัจจัย จะมีก็แต่คำทำหน้าที่ของคำเหล่านี้ ในเมื่อเอาคำเหล่านั้นเรียงลำดับเข้าประโยคแล้วจึงจะทราบได้ ตามที่เขาอธิบายมานี้ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความคิดในเรื่องภาษาไทยขึ้นมาก และการที่จะแก้ไขก็เห็นยาก เพราะผู้มีภูมิรู้ในภาษา ก็เป็นนักปราชญ์ทางบาลี ความคิดนึกก็เป็นไปตามแบบภาษาบาลี คิดเห็นเป็นอื่นได้ลำบาก
ตามที่มีพระเมตตาตรัสบอกว่า เนียง ในหนังสือเขมรเขียนว่า นาง แต่อ่านว่า เนียง พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้า ฯ เรื่องหนังสือของเขมรที่เขียนอย่างหนึ่ง แต่อ่านอีกอย่างหนึ่งแต่เงาๆ เมื่อทรงทักขึ้น จึงได้สอบถามผู้ที่เขารู้ภาษาเขมร ก็ได้ความว่า ถ้าเป็นพยัญชนะโฆษะแจกลูก ถึงสระ อา ก็ให้อ่านว่า เอีย ครั้นซักต่อไปถึงเรื่องออกเสียงเป็นโฆษะแสะอโฆษะ ก็ไม่ได้เสียงที่แท้จริง กลายเป็นออกเสียงตามตำราว่าถ้าอ่าน กอ ก็เป็นอโฆษะ ถ้าอ่าน โก ก็เป็นโฆษะ ซึ่งถ้าว่าถึงลักษณะเสียง กอ และ โก ก็เป็นชะนิดอโฆษะทั้งคู่ เป็นทำนองเดียวกับภาษาไทย ที่ว่าเสียง ค เป็นโฆษะ ที่ถูกเสียง ค ก็เท่ากับ ข เป็นอโฆษะด้วยกันทั้งคู่ ต่อออกเสียงเป็น g จึงจะเป็นโฆษะ ในเรื่องเสียงอาเพี้ยนเป็น เอีย อย่าง นาง-เนียง ก็มีคำอื่นที่เป็นภาษาไทยอยู่สองสามคำที่เพี้ยนกันได้ เช่น อย่าง-เยียง พ่าง-เพียง ราบ-เรียบ ขว้าง-เขวี้ยง วัง-เวียง ช้าง (จ๊าง-พายัพ ซ้าง-อีศาน)-เจี๊ยง(กวางตุ้ง) เซี้ยง(แคะ) ในภาษาญวนเรียก นาง ว่า หน่าง ระดับเสียงใกล้ไปทางไหหลำ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าลำเอียงไปในทางที่ว่า นาง เป็นคำในตระกูลภาษาไทยจีนมากกว่าเป็นคำในตระกูลมอญเขมร
ที่ตรัสถึงเรื่องทรงฟังเขมรพูดกัน ฟังได้ยาก ไม่เหมือนอ่านหนังสือ ข้อนี้เห็นจะเป็นด้วยกันทุกภาษา ข้าพระพุทธเจ้าเคยปรารภกับชาวอังกฤษคนหนึ่ง ว่าข้าพระพุทธเจ้าฟังชาวอังกฤษต่ออังกฤษพูดกันไม่สู้ออก เขาบอกว่าเวลาฝรั่งต่อฝรั่งพูดกัน พูดกันเป็นอย่างปกติ ผู้ที่ไม่คุ้นเสียงต่อภาษานั้น ก็ฟังไม่ออก อย่างเดียวกับที่เขาฟังคนไทยพูดกัน ก็ไม่ออกเช่นเดียวกัน ต่อเมื่อชินกันไปนาน ๆ จึงจะเข้าใจ เขาว่าไม่ใช่แต่ภาษา ถึงรูปร่างหน้าตาก็เช่นเดียวกัน ได้เห็นคนไทยผาด ๆ ไป ก็จำหน้าไม่ค่อยได้ เพราะดูเหมือนกันไปหมด ข้อนี้คงเป็นจริง เพราะข้าพระพุทธเจ้าเห็นหน้าฝรั่งบางคนครั้งเดียว ก็จำไม่ได้เหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าเคยไปดูภาพยนต์พูดได้ ฟังเสียงไม่ออกเป็นส่วนมาก แต่เด็กหนุ่ม ๆ ที่ดูบ่อยๆ ฟังได้ดีกว่า ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามผู้ที่ไปอยู่ในประเทศอังกฤษมานาน ก็ว่าทีแรกฟังไม่ออกหมด ต่อฟังไปนาน ๆ ก็จับเค้าฟังออกได้โดยมาก ที่ตรัสถึงเรื่องเขมรพูด ก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน
คำว่า กางเขน ตรัสถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบบ้างหรือเปล่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยพบและได้สอบค้นในภาษาไทยต่างๆ ก็ไม่ปรากฏว่าเขาเรียก cross ว่าไม้กางเขน ตลอดจนนกกางเขน ก็เรียกเป็นอื่น หาได้เรียกว่า กางเขนไม่ ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตนกกางเขนเวลาร้องมักยกหางและกางปีก ผิดกว่านกอื่น จะว่า กางเขน มาจาก กางแขน ก็ไม่มีเหตุผลยืนยันได้เพียงพอ ว่าทำไมจึงเพี้ยนเป็น เขน ไป และทำไมจึงไมเรียกว่า กางปีก แทนคำว่า กางแขน ในภาษาไทยถิ่นต่างๆ คำว่า เขน แปลว่า ปีก ก็ไม่มี คงมีแต่ ขิน ในภาษาอาหม แปลว่า อาการที่นกสลัดขน ส่วนคำว่า ไม้กางเขน ถ้าเทียบกับ กางหัน ในเรื่องเสียง ก็เข้ากันได้สนิท เพราะเสียง อา-เอ ก็มี หัน (พายัพ) -เห็น (อีศาน สยาม) ควัก-เควก (ปักษ์ใต้) เป็นแนวเทียบ ข กับ ห ก็มี ข่ม-ห่ม ยิ้มขัว-ยิ้มหัว ขนตาง (อาหม) -หนทาง ข่าย-หาย (พายัพ ปักษ์ใต้) ขื่น-หึน (ปักษ์ใต้) เป็นแนวเทียบ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเชื่อด้วยเกล้า ฯ ว่า กางเขน กับ กางหัน น่าจะเป็นคำเดียวกัน ด้วยมีแนวเทียบในเรื่องเสียงเป็นหลัก ถ้าจะแปล ก็ว่าไม้ที่กางขวางและหมุนได้ (หัน ทางปักษ์ใต้ว่ากลับว่าหมุน) ทางพายัพเรียกไม้กางเขน ว่า ไม้ไขว่เกี๋ยง ไม้กางหัน ว่า ไม้ก้องแก้ง ส่วนทางอีศานเรียกว่า กางเขน ซึ่งได้ความว่า ได้คำไปจากใต้ ไม่ใช่คำถิ่นของพื้นเมือง และคำว่า กางหัน ก็ว่าไม่มีใช้ เพราะไม่มีใครใช้ไม้กางหันในถิ่นนั้น
เกี๋ยง หรือ แก้ง ในภาษาถิ่นพายัพ แปลไว้ว่า กากะบาท หรือก่ายไขว้กัน แปลกที่สองคำนี้คล้ายกับคำในภาษาไทยสยามอยู่สองสามคำ คือ คำว่า แกงแนง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเดาว่า เป็นลักษณะที่วางไม้ระแนงก่ายกัน ตะแลงแกง ใน คำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ว่า ทางแยกเป็นสี่แพร่ง แกงได ซึ่งขีดเป็นรูปกากะบาท แก่ง แย่ง แข่ง (กิริยาที่แก่งแย่งกัน) ในถิ่นอีศาน ทางแยกว่า ทางแคง ซึ่งคงเป็นคำเดียวกับ เกี๊ยง หรือ แกง ของพายัพ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกเลยไปถึงคำว่า ชายไหวชายแครง ซึ่งอาจแปลว่า ชายที่แยกแตกออกเป็นสองทาง ก็น่าจะได้ ชายไหวชายแครง จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวของเครื่องประดับ สุดแล้วแต่อยู่ตอนไหน มีชายแยกและไหว ก็เป็นชายไหวชายแครงได้ ที่ แคง มากลายเป็น แครง ก็มีตัวอย่างเป็นแนวเทียบ เช่น ตะแกรง ซึ่งอาจเป็นคำเดียวกับ แกง หรือ แก้ง เพราะมีลักษณะก่ายกันเป็นตา ๆ ส่วนปักษ์ใต้เรียกตะแกรงว่า แร่ง ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลนอกทางเรื่อง ไม้กางเขน แต่เมื่อค้นหาคำนั้น ไปเจอคำอื่นก็เกิดความคิดอย่างอื่นแซกเข้ามา อดที่จะกราบทูลไว้ไม่ได้ ทั้งนี้การจะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
พระปทุมเทวาภิบาล ไปเที่ยวเมืองตังเกี๋ยตอนต่อแดนกับจีน ได้จดภาษาไทยโถ หรือไทยโท้ มาให้ข้าพระพุทธเจ้าหลายคำ ในคำเหล่านี้มีอยู่คำหนึ่ง คือ คำว่า มันหมู ภาษาไทยโท้ว่า ปี้หมู คำว่า ปี้ คงตรงกับคำว่า พี ในภาษาไทยสยาม ซึ่งใช้ซ้อนกับคำ มัน ว่า อิ่มหมีพีมัน แต่ พี มากลายความหมายเป็น อ้วน ไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์