๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกฉงนถึงตุ๊ดตู่มานานว่าเป็นสัตว์ชะนิดไร ที่ตรัสว่าทรงได้ยินชาวพายัพเราเรียกตุ๊กแกว่าตุ๊ดตู่ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าหายฉงนใจ เพราะว่าโดยเสียงและความหมายที่ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกะบอกไม้ก็เข้ากันได้กับตุ๊กแก ข้าพระพุทธเจ้าลองเก็บคำที่เป็นสองพยางค์ อย่างคำว่า ตุ๊ดตู่ ก็มีพวกที่เป็นเสียงทำนองเดียวกันอยู่หลายคำ เช่น อุดอู้ คุดคู้ กุดกู่ ครูดครู่ คำในตัวสกดแม่อื่นก็มีพยางค์หลังเป็น แม่ ก กา หรือ เกย เช่น หรูบรู่ วุบวู่ บุบบู้ รุกรุย ปุกปุย ขยุกขยุย โทนโท่ โดนโด่ โปนโป ร่องรอย หยอกหยอย ตองตอย คำเหล่านี้แม้จะใช้ควบคู่แยกแปลตัวหลังมักไม่ได้ความ แต่ก็มีบางคำที่แยกใช้ได้เป็นภาษาทั้งสองคำ เช่น บุบบู้ และ โปนโป ร่องรอย เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปจังหวัดอุบลปีกลายนี้ ไปได้ยินชาวอุบลใช้คำว่า อยู่ ในความว่า หยุด กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า คำคู่ชนิดนี้ ที่แปลเอาความในคำหลังไม่ได้ ในบางคำอาจเป็นคำใช้อยู่ในภาษาอีกถิ่นหนึ่ง อย่างคำว่า หยุดอยู่ นี้เป็นตัวอย่าง ก็ผเอิญพบคำว่า หมี ในภาษาไทยใหญ่ แปลว่า ดำมืด ใกล้คำว่า ดำมิดหมี พบคำในภาษากวางตุ้ง เหม่ แปลว่า หาง ที่สุด ปลาย ก็มาใกล้คำว่า หมิ่นเหม่ และ เหม่นเหม่ (ใช้ในประกาศสงกรานต์ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘) ใน มหาชาติคำหลวง มีคำว่า ทางนี้ปัดไปเน่ง ความใกล้ไปในความว่า แน่ ซึ่งมีคำคู่ว่า เน่งแน่ เมื่อได้เค้าดังนี้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเลื่อนออกต่อไป ก็ได้ผลแปลก ๆ ออกไปอีก ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่งในข้อคิดของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งจะกราบทูลต่อไป ด้วยอาจเป็นความคิดเห็นที่หมิ่นเหม่ก็ได้

ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจด้วยเกล้า ฯ ว่า คำเป็นสองพยางค์นี้ ในชั้นเดิมจะเป็นคำซ้ำเสียงเดียวกัน เช่น เสียงร้อง จีดจีด แต่การเปล่งเสียงซ้ำอย่างนี้จะไม่สะดวกในการออกเสียงเท่ากับออกเสียงว่า จีดจี เพราะอวัยวะที่ออกเสียงในปากกลับตัวไม่ทัน ถ้าพูดเร็ว ๆ เข้า เสียงตัวหลังก็ต้องแปรไป ในอาการที่จะผ่อนเสียงให้สะดวกเข้า ภาษาคงจะถือเอาคำสองเสียงนี้ มาใช้หมายความถึงสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น จีด และ จี จิ ใช้เป็นชื่อเสียงสัตว์ในจำพวกจิ้งหรีดขนาดเล็กสองชะนิด ว่า ตัวจีดและตัวจี เมื่อเป็นเช่นนี้ คำเช่น หลีกลี้ ขุกคุ้ย โป่งโป และคำอื่น ๆ ก็น่าจะมีกำเนิดมาจากคำเดียวกันก่อน แล้วแปลงเสียงให้เพี้ยนไปนิดๆ เพื่อใช้แก่สิ่งที่อยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน

ถ้ายกเอาคำอย่าง ขุดตุ่ย ตุ๊กตุ่ย หลุดลุ่ย เป็นแนวเทียบ คำว่า ทุดถุย ก็ต้องเป็นคำเดียวกัน ถ้าแปลงเสียง ลุ่ย เป็นลอยได้ ถุย ก็เป็นถ่อยได้ เพราะ น้อย ในเสียงชาวปักษ์ใต้ยังเป็น นุ้ย ได้ เมื่อเอาคำว่า ลุย-ลอย ถุย-ถอย นุ้ย-น้อย ทั้งสามนี้ มาตั้งเป็นแนวเทียบ คำว่า จุ้ย-จ้อย ซึ่งใช้เป็นชื่อคนก็น่าจะเป็นคำเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรารภเรื่องนี้แก่ท่านผู้หนึ่ง ท่านผู้นั้นก็คิดว่า คำว่า นุด ที่ใช้เป็นชื่อคน และเขียนเป็น นุช ให้เข้ารูปบาลี ก็คงจะมาเข้าแนวเทียบ หลุด-ลุ่ย-ลอย เป็น นุด-นุ้ย-น้อย ได้ และคำว่า น้อง หนู ก็คงเป็นคำในพวกเดียวกัน เพราะ นุดหนู ก็มี ตุ๊ดตู่ เป็นแนวเทียบ น้องน้อย ก็มี ร่องรอย กองกอย เป็นแนวเทียบ ตลอดจนคำว่า นิดหน่อย นุด กับ นิด มีเสียงสระอยู่ในระดับเดียวกัน อย่าง จุกจิก กรุ่งกริ่ง ซุบซิบ นุ่มนิ่ม ฉะนั้น นุดนิด ก็เข้าแนวกันได้ ข้าพระพุทธเจ้ายังคิดนึกต่อไป ถึงคำว่า ด้อย ต้อย กับ น้อย ก็เป็นคำมีเสียงพยัญชนะอยู่ในวรรคเดียวกัน , เป็นเสียงเกิดที่ฟันด้วยกัน น่าจะเป็นคำที่มาจากแหล่งเดียวกัน ตามที่กราบทูลมานี้ เป็นความคิดเลื่อนลอยของข้าพระพุทธเจ้า เมื่อนึกไปก็ย่อมเห็นไปเช่นนั้น ทั้งนี้แล้วแต่จะทรงพระเมตตาปรานี

ที่ทรงแนะให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาถึงคำที่มีคำว่า กระ หรือ กะ นำ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้า ฯ พิจารณาเห็นว่า คำที่มี กระ หรือ กะ นำนั้น น่าจะมีเหตุที่มาเป็นหลายสถาน และเกิดเพราะหลงตัวสกดไปดั่งที่ตรัสไว้ ในจำพวกคำเรียกชื่อนกตามที่ข้าพระพุทธเจ้าจดไว้ได้ก็มี

นก – จิบ จาบ จอก ทุง ทา ยาง เรียน สา

ในจำพวกผัก มี

ผัก – จับ เฉด โฉม ชาย พังโหม และ สัง

ในจำพวกลูก มี

ลูก – เดือก ดุม สุน (ในภาษาไทยโท้และไทยขาว และญวน เรียกอาวุธที่ขว้างไปได้ไกลว่า ซุง หรือ สุง)

กระเบือ ก็น่าจะมาจาก ครกเบือ แต่บางท่านว่า เสียงกร่อนไปจาก เข้าเบือ

ในคำที่มี มะ นำ ที่ทรงสันนิษฐานว่า จะมาจาก หมาก นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อแน่ว่าคงเป็นเช่นนั้น เพราะในหนังสือเก่า ที่ใช้เรียกผลไม้ว่า หมาก เช่น หมากขาม ก็ยังมี ในภาษาจีนเรียกต้นไม้ว่า หมัก ในเสียงกวางตุ้งและในสำนวนชาวกวางตุ้งนั้นเอง ถ้าเรียกชื่อผลไม้ ก็มักเติมคำ หมัก ไว้ข้างหน้า เช่น ลูกสาลี่ ก็เรียกว่า หมักลี่ (ผลสาลี่เนื้อเป็นทราย กวางตุ้งเรียกว่า ซาลี้ ซา แปลว่า ทราย) ในภาษาไทยขาว ถ้าออกชื่อลูกไม้ ก็เติมคำ หมาก ไว้ข้างหน้า แต่แปลกที่กินผลไม้ว่า กินหมาก ส่วนส้มมะขาม น่าจะมาจากส้มหมากขาม เพราะชื่อผลไม้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ส้ม ก็ยังมีคำว่า มะ อยู่ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเดินทางไปภาคอีศาน คนใช้เก็บเม็ดมะกล่ำมาให้ข้าพระพุทธเจ้าดู บอกว่า แปลก ที่คนแถวนี้เรียกว่า หมากล่ำ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงเรื่องตัดตัวสกดผิด ที่หลง ก ในคำว่า หมาก แล้วเอาเข้าไปต่อเข้ากับ ล่ำ กลายเป็น กล่ำ ไป

ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ผลไม้ทีมีคำ มะ นำหน้าจะเป็นผลไม้ที่มีมาแต่เดิม คำ มะ จึงได้ติดมาด้วยเป็นชื่อผลไม้ ภายหลังน่าจะเลิกใช้หรือลืมคำแปลเดิมเสียแล้ว เพราะนำเอาคำว่า หมาก ไปใช้เรียกผลไม้ชะนิดหนึ่งที่คู่กับพลูโดยฉะเพาะ จะนำไปใช้เรียกผลไม้อื่นก็ขัดข้อง เมื่อได้ผลไม้ชะนิดอื่น ๆ เข้ามาใหม่ ก็เลิกใช้ มะ นำหน้า เช่น ผลเงาะ ชมพู่ ทุเรียน ละมุด แต่ในถิ่นพายัพซึ่งยังคงใช้ มะ เป็นชื่อผลไม้อยู่ ก็ยังเติมคำว่า บ่า ไว้หน้าชื่อผลไม้ชะนิดนี้อยู่ เช่นผลเงาะ ว่า บ่าเงาะ ชมพู่ ว่า บ่จมปู ทุเรียน ว่า ถั่วเลียน และ ละมุด ว่า บ่ามุด

ในเรื่องคำที่เติม กระ หรือ กะ ข้างหน้า นอกจากตัดตัวสกดในแม่กก ผิด ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ว่าฯ น่าจะมาอีกทางหนึ่ง คือ คำเช่น โตกตาก ถ้าออกเสียงว่า โตกะตาก เสียงจะคอนกัน ไม่สะดวกในการออกเสียง จึงต้องเติมกะ เข้าข้างหน้าอีกเสียงหนึ่งให้ถ่วงเท่ากัน เป็น กะโตก กะตาก ขึ้น เป็นทำนองเดียวกับ สะกิด สะเกา ขะโมยขะโจร ตะหมูกตะปาก ทะแกล้วทหาร ซึ่งเติมในคำหลัง ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้ฟังคำท่องคำว่า พระสูตร พระวินัย เป็น พระวิสูตร พระวินัย โดยประสงค์ที่จะถ่วงเสียงที่เปล่งออกมาให้เท่ากัน เพื่อความสะดวกในการออกเสียงและให้ฟังเพราะ ไม่ขัดหู เมื่อมีการเติม กะ ขึ้นได้ในคำที่เป็นแม่ กก ก็เกิดเป็นโรคติดต่อมาถึงคำในแม่อื่น เช่น กะตุ้งกะติ้ง กะดำกะด่าง ซึ่งเกิดเพราะเข้าใจผิดในแนวเทียบ เช่น เขียน จำนง ชีวิต นิมิต อนุญาต สันโดษ เป็น จำนงค์ ชีวิตร์ นิมิตร์ อนุญาติ สันโดด โดยอาศัย อนงค์ จิตร์ มิตร ญาติ และ โดด เป็นแนวเทียบ หรือเขียน บิณฑบาต เป็น บิณฑบาตร์ โดยอาศัยแนวเทียบผิด เพราะสำคัญว่าเกี่ยวข้องกับบาตร์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ