พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เมื่อคืนวันอังคารที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เวลาเที่ยงคืนล่วงแล้วกับ ๓๐ นาที หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย พระธิดาของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็นพระมารดา หม่อมเจ้าหญิงพรรณรายนั้นมีพระราชธิดาพระองค์แรกซึ่งประสูติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้วอีกพระองค์หนึ่ง

เมื่อประสูติได้ ๓ วัน และเมื่อมีพระชันษาครบเดือน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีสมโภชตามพระราชประเพณี ทรงวางพระราชหัตถเลขา พระราชทานพระนาม ประกอบด้วยคาถาพระราชทานพระพร ซึ่งทรงพระราชนิพนธเป็นมคธภาษา เขียนเป็นอักษรอริยกะ และดวงพระชาตาลงในพระอู่ พร้อมทั้งของทำขวัญอันมี ทองแท่ง เงินแท่ง เงินตรา ขัน และช้อนทองคำสำหรับเสวยน้ำ กับจี้มรกตสำหรับผูกพระศอจี้ ๑ ด้วย

พระราชหัตถเลขา พระราชทานพระนามและคาถาพระราชทานพระพรนั้น มีความดังนี้

สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูติจากหญิงแฉ่ พรรณราย ผู้มารดา ในวัน ๓ ๑๑ ๖ ค่ำ ปีกุนเบญจ๑๓ศก นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า จิตรเจริญ สิงหนาม

ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ ศุข พล ประฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตน์ ยศบริวารศฤงคาร ศักดานุภาพตระบะเดชวิเสศคุณ สุนทรศรีสวัสดิพิพัฒมงคลพิบูลยผลทุกประการเทอญ ฯ

ตั้งนามมาวัน ๖ ๑๑ ๗ ค่ำ บีกุนเบญจศก เป็นบีที่ ๑๓ ฤาวันที่ ๔๔๑๒ ในรัชกาลประจุบันนี้

คาถาพระราชทานพระพร

อยํ จิตฺตจรฺโติ ลทฺธนาโม กุมารโก
อโรโค สุขิโต โหตุ ทีฆายุโก สยํ วลี
อทฺโธ มหทฺธโน โภคี ยสฺสลี ปริวารวา
เดชวา ถามสมฺปนฺโน พหุ ชนปิโยปิ จ
สกฺกโต ครุกโต มานิโต จ พหูหิปิ
ตโต ปจฺจตฺถิเก สพฺเพ ชินาตุ อปราติโต

คำแปลคาถาพระราชทานพระพร

กุมารนี้จงเป็นผู้ได้นามว่าจิตรเจริญ จงไม่มีโรค มีความสุข มีอายุยืนยาว มีอำนาจลำพังตน มั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติ มีอิสสริยยศแลบริวาร มีเดชอาจหาญ บริบูรณ์ด้วยกำลัง และเป็นที่รักใคร่ของหมู่ชนมาก เป็นที่อันชนทั้งหลายมากสักการะเคารพนับถือ และจงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้แก่ผู้ใด มีชัยชำนะข้าศึกทั้งหลาย แต่ฐานนั้น ๆ ทุกเมื่อ เทอญ

คาถาที่พระราชทานพระพรแด่พระราชโอรสธิดานี้ แปลก ๆ กันทุกพระองค์ เข้าใจกันว่าจะพระราชทานตามลักษณดวงพระชาตา ด้วยมักจะตรงกับพระนิสสัย และความเป็นไปในพระชนม์ชีพ หรือมิฉนั้นก็พระราชทานแก้ส่วนที่เสียในพระชาตาของแต่ละพระองค์เป็นส่วนมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น พระองค์เจ้าจิตรเจริญมีพระชันษาได้ ๕ ปี กับ ๖ เดือน ตรัสเล่าในภายหลังว่า ทรงจำพระราชบิดาได้น้อยเต็มที จำได้แต่ว่าทรงพระภูษาแดง ประทับเสวยบนพระเก้าอี้หมุนถอยหน้าถอยหลังได้ และเคยได้เสวยน้ำชเอมในเวลาที่ขึ้นไปเฝ้า สิ่งของที่ประดับในพระที่นั่ง ก็ทรงจำได้แต่ว่ามีลูกโลกใหญ่หมุนได้ตั้งอยู่บนโต๊ะเตี้ยๆ เคยบรรทมบนพื้น เอาพระบาทถีบเล่น กับทรงจำได้ว่า ทรงสังเกตเห็นมีรูปภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ติดอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เก่า การที่ทรงจำได้นี้ เข้าพระทัยว่า เพราะสนพระทัยเรื่องรูปภาพมาแต่ทรงพระเยาว์นั้นเอง

เมื่อสิ้นรัชกาล บรรดาเจ้าจอมมารดาส่วนมากก็หมดบุญสิ้นที่พึ่งพากันตกทุกข์ได้ยาก จำเป็นต้องคิดอ่านขวนขวายหารายได้เพิ่มเติมไว้บำรุงเลี้ยงพระโอรสธิดาที่กำพร้าเหล่านั้น ด้วยไม่ทราบว่าการภายหน้าจะเป็นอย่างไร พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ก็ยังเยาว์พระชันษา แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถึงจะยังมีพระชันษาน้อยก็ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งนัก ทรงชุบเลี้ยงพระเจ้าน้องยาเธอไว้ใกล้ชิดพระองค์ แล้วทรงอบรมด้วยพระองค์เองไปตามที่ทรงสังเกตเห็นว่าเหมาะกับพระนิสสัย พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แทนสมเด็จพระบรมชนกนารถทุกอย่าง แต่ทรงเลี้ยงอย่างบังคับเคี่ยวเข็ญ ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ ไม่ปล่อยให้หมกมุ่นในความสุขสำราญและเหลิงกำเริบว่าเป็นเจ้า แต่ให้เสงี่ยมเจียมพระองค์ว่าเป็นข้าแผ่นดิน ด้วยทรงทราบดีว่าพระองค์เองนั้น ก็จะต้องทรงรับภาระอันหนักในการปกครองแผ่นดินต่อไป ถ้าหากพระเจ้าน้องยาเธอต่างเข้มแข็งสามารถในราชการแล้ว ก็จะเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้สนองพระเดชพระคุณ เป็นกำลังช่วยราชการแผ่นดินได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงทรงฝึกหัดให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการรับผิดชอบหนักเกินพระชันษามาแต่ทรงพระเยาว์ทุกองค์ แต่ถ้าพระองค์ใดละเลยราชการในหน้าที่ก็ต้องถูกปลดจากตำแหน่ง ถูกตัดเงินเดือนเช่นข้าราชการสามัญ ไม่มีการยกเว้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ตรัสเล่าถึงพระองค์เองในสมัยเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า ได้ทรงเรียนหนังสือขั้นต้นกับ ครอกป้าเพชร คือหม่อมเจ้าหญิงสารพัดเพชร ซึ่งเป็นพระธิดาอีกพระองค์หนึ่งของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ จนเมื่อทรงมีความรู้อ่านออกเขียนได้ เรียกว่า ขึ้นสมุด แล้ว ก็ได้ทรงศึกษาวิชาชั้นสูงขึ้นไปกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้เข้าทรงศึกษาในโรงเรียนทหารมหาดเล็ก ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้นให้พระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการได้เข้าศึกษาวิชา การสอนภาษาอังกฤษนั้น มีครูเป็นฝรั่งชื่อฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์ซัน ส่วนภาษาไทย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) แต่เมื่อยังเป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นผู้สอน โรงเรียนนั้นเรียกว่า คะเด็ดทหารมหาดเล็ก

ระหว่างที่ทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงรับมอบหมาย ให้มีหน้าที่ ไปทรงจุดเทียนแทนพระองค์ในพระราชพิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สำคัญ และไปประเคนของเลี้ยงพระฉันเวรทุกวัน พระฉันเวรนั้น คือพระสงฆ์ที่ทรงนิมนต์เปลี่ยนเวรกันวันละ ๕ รูป เข้ามาฉันอาหารที่พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ คือพระที่นั่งองค์ที่มีเกยอยู่ริมกำแพงแก้ว หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อทรงประเคนแล้วก็สิ้นหน้าที่ เสด็จไปเที่ยวได้ตามพระทัย ไปเข้าวงปี่พาทย์ที่เขาประโคมพระฉันอยู่นั้น เมื่อฟังจนพอเข้าพระทัยบ้างแล้วก็ขอเขาลองตีฉิ่งบ้าง หัดตีกลองแขกบ้าง หรือมิฉนั้นก็เสด็จเข้าไปในวัดพระแก้วทอดพระเนตรรูปเขียนตามพระระเบียง สังเกตจำไว้ กลับมาตำหนักก็ใช้ดินสอขาวทรงเขียนบ้าง ที่บานตู้ซึ่งทาสีน้ำเงินอ่อน ด้วยสีน้ำมัน เป็นรูปเขี้ยวกางท้องยุ้งพุงกระสอบ ตั้งพระทัยจะเลียนแบบบานประตูวัดพระแก้ว แต่ความจริงนั้นไม่เหมือนเลย เป็นแต่พอรู้เค้าว่าพยายามจะทรงเขียนอะไรเท่านั้น ครั้นเห็นเจ้านายพี่ๆ ที่ทรงพระเจริญกว่า ท่านทรงเขียนรูปอะไรต่ออะไรกัน ก็นึกชอบพระทัย ถึงกับหาสมุดเล่มหนึ่งพกไปทรงเขียนบ้าง ผู้ใดเป็นช่างก็ติดเขา เช่นที่ตรัสเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งมีฝรั่งชาวออสเตรียคนหนึ่งชื่อนายไปยา เข้ามาบวชเป็นเณรอยู่ที่สำนักพระมหาเอี่ยมวัดพิชัยญาติ ครั้นสึกออกมาก็มาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นายไปยาคนนั้นเป็นช่างเขียน จึงตรัสสั่งให้เขียนพื้นที่ทุกสถาน เล่นเอาฉันอลิ้มอเลี่ยประจบเขาแทบตาย ด้วยอยากได้วิชาของเขา ตอนที่ทรงผนวชเป็นสามเณร ก็ไปทรงติดพระครูปั้นวัดบวรนิเวศ ด้วยท่านเป็นช่างเขียน แต่ครั้นพระครูปั้นสึกออกมารับราชการอยู่กรมพระคลังข้างที่ พระมารดาไม่โปรดให้ติด จึงทรงจัดนายสายซึ่งเป็นช่างผีมือดี เป็นบุตรพระนมของพระองค์เจ้ามงคลเลิศ มาให้ติดแทน นายสายก็สู้อุตส่าห์คอยติดสอยห้อยตาม นายสายผู้นี้ภายหลังเรียกกันว่าเจ้ากรมสาย ด้วยได้รับตำแหน่งเป็นจางวางกรมช่างสิบหมู่ ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาจินดารังสรรค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่ามีพระนิสสัยใฝ่ไปทางการช่างเช่นนี้ ก็พอพระราชหฤทัย ทรงส่งเสริม ด้วยพระองค์เองก็โปรดการช่าง มีพระราชดำรัสสั่งให้เขียนอะไรต่ออะไรถวายเป็นนิจ ตรัสเล่าว่า คราวหนึ่งตรัสสั่งให้เขียนรูปพระเจ้าแผ่นดินพม่า ซึ่งทอดพระเนตรเห็นในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง อะไรทำให้เข้าใจไปในเวลานั้นก็จำไม่ได้ว่าพระนามเม็งดงเม็ง เขียนเสียเหื่อแตกทุกขุมขน ขออย่าได้เข้าใจว่าเหมือน เป็นแต่ดีกว่าที่เคยเขียนมาแล้วเท่านั้น เมื่อครั้งตามเสด็จไปเมืองสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ก็โปรดเกล้า ฯ ให้เขียนกองหินแลงที่เสด็จไปทอดพระเนตร สมมตขึ้นเป็นที่ว่าปราสาทเขมร และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดเพชรบุรี ก็โปรดเกล้าฯ ให้เขียนหิน หมวกเจ๊ก ที่เขาลูกช้าง ที่เรียกว่า หมวกเจ๊ก นั้น เพราะหินข้างหนึ่งมีสัณฐานข้างบนกว้าง ข้างล่างเล็กเรียวดุจหมวกเจ๊กตั้งอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง ครั้งนั้นทรงพระเจริญพอที่จะเขียนถวายได้เหมือนแล้ว จึงทรงปิดไว้ในสมุดซึ่งจดรายวัน ภายหลังเมื่อตามเสด็จไปที่ไหนก็ทรงเขียนแผนที่ที่นั่นถวายให้ทรงปิดสมุดโดยไม่ต้องตรัสสั่ง

การที่ทรงมี แวว ว่าจะเป็นช่างเขียนผู้สามารถ มีหลักฐานปรากฏออกไปถึงต่างประเทศก็ครั้งหนึ่ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ กำหนดจะมีสุริยอุปราคาจับหมดดวงเห็นได้ในกรุงเทพ ฯ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลาเที่ยงแล้ว ๘ บาท โหรฝรั่งจึงขอเข้ามาตั้งกล้องดูสูรย์เช่นเคย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มาตั้งที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แลในครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ แจกกระดาษแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการซึ่งเข้าไปประชุมอยู่ ณ ที่นั้น ให้เขียนรูปสูรย์ประกวดกัน จัดเลือกพระบรมวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นกรรมการตัดสินคณะหนึ่ง ผลการตัดสินครั้งนั้นมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ๓ พระองค์ แต่จำได้เพียง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระองค์ ๑ กับกรมหมื่นทิวากรวงศประวัติอีกพระองค์ ๑ ทรงเขียนระบายด้วยดินสอสีงดงามเรียบร้อย พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ขณะนั้นพระชั้นษา ๑๐ ปี ทรงเขียนประกวดด้วยเหมือนกัน แต่เขียนด้วยดินสอคำ ขีดหยาบๆ พอเป็นรูปลักษณรัสมี จึงตกอยู่ในประเภท โยนลงตะกร้า โหรฝรั่งที่มาตั้งกล้องสนใจในรูปที่ประกวดเหล่านั้น ขอดูแล้วเก็บเอาไปด้วย ต่อมาได้เขียนรายงานเรื่องสุริยอุปราคาครั้งนั้น ลงในหนังสือทางโหราศาสตร์เล่มหนึ่ง นำภาพประกวดครั้งนั้น ซึ่งเขาเห็นว่ามีรูปลักษณะตรงกับความจริงที่สุด ลงแสดงเป็นภาพประกอบเรื่องด้วย ๒ ภาพ มีพระนามผู้เขียนกำกับไว้ข้างใต้ ภาพหนึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ผู้ซึ่งในปัจจุบันนี้ คนทั่วไปยกย่องถวายพระเกียรติยศเป็น พระบิดาแห่งการต่างประเทศ แต่ผู้ที่สนใจในวิชาโหราศาสตร์ พากันยกย่องด้วยว่าทรงเป็นโหรเอกของเมืองไทย อีกภาพหนึ่งเป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าจิตรเจริญซึ่งเมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น ก็ได้รับตำแหน่งเป็น นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ พระชันษาครบกำหนดโสกันต์ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โสกันต์พระราชทานเป็นงานใหญ่ มีแห่รอบนอก (คือแห่ออกไปในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก) ทั้งพระราชทานเครื่องประดับพระเกียรติยศเพิ่มเป็นพิเศษหลายประการ แล้วมีงานพระราชทานเลี้ยงแด่พระบรมวงศษนุวงศ์ที่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร มีพระราชดำรัสชี้แจงถึงเหตุที่มีงานโสกันต์ใหญ่กว่าปกติครั้งนั้นว่า การที่ได้ทำการโสกันต์ใหญ่ในครั้งนี้ (ฤๅจะว่าโสกันต์อย่างกลางจะถูกกว่า) เพราะเห็นว่าจิตรเจริญเป็นลูกของน้าฉัน ควรนับว่าเป็นน้องอันสนิทขึ้นอีกชั้น ๑ ตัวฉันเองเล่าซึ่งได้มียศเป็นเจ้าฟ้าใหญ่ยิ่ง เหมือนกับเจ้าฟ้าซึ่งพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า ฤาพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าเต็มที่ มีการราชประเพณีต่าง ๆ คือโสกันต์มีเขาไกรลาสเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ก็เป็นไปเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาเมตตายกย่องขึ้นให้มียศศักดิ์ถึงเพียงนี้ เป็นพระเดชพระคุณติดอยู่ ไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อจะเทียบตัวฉันเองกับจิตรเจริญ โดยชาติตระกูลก็เสมอกัน ไม่สูงไม่ต่ำ เป็นอย่างกันทีเดียว ก็เมื่อฉันได้มีการโสกันต์ใหญ่ที่สุดแล้ว ก็เห็นว่าควรจะให้ยศโสกันต์ขนาดกลางนี้กับจิตรเจริญ ซึ่งเป็นผู้คล้ายคลึงกันกับฉัน ให้มียศมากขึ้น เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาแก่ฉันแล้ว ซึ่งว่ามานี้จะตั้งใจขอโทษแก่เจ้านาย ซึ่งฉันได้โสกันต์ให้ในแผ่นดินปัตยุบันนี้ ซึ่งไม่ได้ทำการใหญ่นั้น เพราะเห็นว่าเป็นการลำบากมากนัก ซึ่งทำการใหญ่ครั้งนี้ก็เพราะเหตุมีมาดังเช่นว่ามาข้างต้นนั้นแล้ว ขออย่าให้มีความเสียใจเลย

เมื่อมีพระชันษา ๑๓ ปี ก็ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใน พ.ศ. ๒๔๑๙ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นผู้ให้ศีล แล้วไปทรงจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ประทับที่กุฎีหมู่ที่ ๓ คณะกุฎีฟากข้างวิหารพระศาสดา ระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงหัดเทศน์มหาชาติตามประเพณี ได้ถวายเทศน์กัณฑ์มหาราชอันเป็นกัณฑ์ใหญ่เทศน์ยาก ในงานประจำปีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นที่พอพระราชหฤทัยมากกว่าเทศน์เพราะเรียบร้อยดี อักขระไม่ซ้ำ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเพิ่มเป็นพิเศษอีก ๕ ชั่ง อันเป็นจำนวนที่มากกว่าที่เคยพระราชทานเพิ่มแก่ผู้อื่นมาแล้วหลายเท่า นอกเหนือเงินประจำกัณฑ์ ๑๐ ตำลึงและเครื่องบริขารตามปกติ

ผลจากการที่ทรงหัดเทศน์มหาชาติครั้งนั้น ยังได้ประโยชน์ในภายหลังอีก เมื่อกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงรวบรวมพิมพ์หนังสือเทศน์มหาชาติขึ้น ก็ได้ทรงช่วยตรรจสอบทานกัณฑ์มหาราชถวาย ทั้งยังทรงจดแหล่จัดพล พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ซึ่งทรงจำไว้ได้ขึ้นพระทัยเพิ่มเติมถวายด้วย นอกจากนั้นภายหลังยังเคยทรงถ่ายทำนองถวายพระนักเทศน์รูปหนึ่ง ซึ่งกล้าพอที่จะมาทูลขอหัด ด้วยหาผู้รู้อื่นสอนให้ไม่ได้แล้ว

ทรงเล่าไว้ว่า เมื่อทรงลาผนวชสามเณรแล้ว ก็ได้เริ่มทรงศึกษาวิชาสำหรับ ขัตติย ที่วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีการขี่ม้า การใช้อาวุธต่าง ๆ เช่น ยิงปืน ฟันดาบ เป็นต้น นอกจากนั้นก็ทรงพระเมตตาสอนโบราณคดี ราชประเพณี ประทานด้วยพระองค์เอง จนทรงได้ความรู้ในวิชาเหล่านั้นเป็นหลักทำราชการต่อมา ตรัสอวดว่า เป็น คนโปรด เช่นเมื่อทรงทราบว่าจะได้ทรง รับกรม ก็ดีพระทัยยิ่งนัก ทรงจัดการทำเสลี่ยงด้วยผีมือประณีตงดงามเป็นพิเศษ ประทานเป็น ของสมโภชเจ้านายทรงกรม ไว้ใช้เสลี่ยง ๑ และในระหว่างนี้ก็ได้ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ทรงใช้ชีวิตอย่างทหารแท้ๆ มีเข้ารับการฝึกหัด อยู่เวรรักษาการเช่นทหารสามัญทั้งปวง หลังจากทรงผนวชแล้วนี้ ก็ทรงย้ายออกมาประทับอยู่ที่หอนิเพธพิทยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ทางทิศตะวันตก

มีเรื่องเกล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรกล่าวถึง ด้วยได้กลายเป็นเรื่องสำคัญในพระประวัติต่อมา คือใน พ.ศ. ๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งทางบกและทางเรือตามลำแม่น้ำแควน้อยจนถึงไทรโยค พระองค์เจ้าจิตรเจริญตามเสด็จไปด้วย ในฐานะทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ติดพระทัยในความงามของไทรโยคเป็นอันมาก จนภายหลังก็ยังตรัสรำพันถึงอยู่เนือง ๆ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๑ เมื่อจัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นใหม่ ๆ สมเด็จเจ้าฟ้กรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทรงจัดให้ทหารมีงานรื่นเริงถวายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในงานนั้นมีคอนเสิต ซึ่งวงดุริยางค์ไทยของทหาร ซึ่งพึ่งฝึกหัดจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้บรรเลง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศฯ ทรงอำนวยการจัดเรื่องเล่นดนตรีนั้น เผอิญในปลายปีนั้น มีกำหนดว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปไทรโยคอีกเป็นครั้งที่ ๒ จึงทรงพระนิพนธ์บทร้องรำพันถึงไทรโยคที่ได้เคยตามเสด็จไปในครั้งก่อน พร้อมทั้งปรับปรุงทำนองเพลงเขมรกล่อมลูก เดิม ขึ้นเป็นทางอย่างใหม่ให้เหมาะสมกับบท เพื่อให้มีอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้นักร้องนักดนตรีขับร้อง และบรรเลงถวายในงานนั้น เป็นเหตุให้ผู้ฟังติดใจเรียกกันว่า เขมรไทรโยค กลายเป็นเพลงที่รู้จักและนิยมกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีพระนามว่า สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าอีก ๒ ปี กรุงเทพฯ จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี สมควรจะเตรียมจัดงานฉลองพระนคร และฉลองพระแก้วมรกตด้วย วัดพระแก้วชำรุดทรุดโทรม โปรดให้ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นนายด้านอำนวยการซ่อมสนองพระเดชพระคุณมากบ้างน้อยบ้างทั่วกัน พระองคเจ้าจิตรเจริญ ขณะนั้นพระชันษา ๑๗ ปี โปรดให้มีหน้าที่ซ่อมหอพระคันธารราษฎร์ ทั้งภายนอกภายในทั้งสิ้น ซ่อมแลทำซุ้มพระเจดีย์ลังกาประดับกระเบื้องใหม่ ซ่อมทำรูปยักษ์หน้าพระอุโบสถคู่หนึ่ง ตรัสเล่าว่าทำการซ่อมวัดพระแก้วครั้งนั้นสนุกเพลิดเพลินเหลือเกิน ด้วยบรรดาช่างผีมือดีทั้งหลายทุกประเภทมาประชุมพร้อมกันหมด ได้เห็นวิธีการทำงาน ได้ฟังเขาคุยกัน ถกเถียงกัน ได้ช่วยพระอาจารย์ต่างๆ เขียนภาพ ในที่สุดได้ทรงเขียนภาพมัจฉชาดกที่ผนังในหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายด้านด้วยฝีพระหัตถ์เอง แล้วอาสาช่วยประดับมุกเช็ดหน้าพระทวารพระพุทธปรางค์ ๑ วง ทั้งทรงรับแต่งโคลง รามเกียรติ์ ด้วย

เมื่อเสร็จงานแล้ว จึงทรงได้ความรู้ความชำนาญมาก เหมือนได้เข้าโรงเรียนการช่างที่ดีที่สุด ตรงกับคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า ไข้เป็นครูของหมอ งานเป็นครูของช่าง ผู้ที่สนองพระเดชพระคุณในการซ่อมวัดครั้งนั้น ได้พระราชทานประกาศนียบัตรและเหรียญที่ระลึกเป็นรางวัลความชอบตามลำดับชั้นทั่วกัน พระองค์เจ้าจิตรเจริญได้พระราชทาน ๓ รางวัล คือ เหรียญทองคำ ๑ เหรียญ ในการซ่อมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งทรงเป็นนายด้านตามพระราชดำรัสสั่ง เหรียญเงิน ๑ เหรียญ ในการที่ทรงแต่งโคลง รามเกียรติ์ ๑ ห้อง ตอน สุกสารปลอมพล และเหรียญทองแดง ๑ เหรียญ ในการที่ทรงช่วยประดับมุกเช็ดหน้าพระทวารพระพุทธปรางค์

การซ่อมวัดพระแก้วครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ชำนิชำนาญ เคยปฏิบัติราชการกันมาก่อน ออกจะดูหมิ่น ว่าไม่มีท่าทางว่าจะแล้วเสร็จทันกำหนดได้ ทั้งผู้ที่โปรดให้เป็นหัวหน้าทำการสนองพระเดชพระคุณก็ล้วนแต่มีพระชันษาน้อย ยังไม่เคยแสดงความสามารถให้ปรากฏเสียโดยมาก เข้าตำรา คบเด็กสร้างบ้าน ทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระวิตกและห่วงไยยิ่งนัก ว่าถ้าไม่แล้วเสร็จทันกำหนดจริง ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงมีพระราชหัตถเลขา หมั่นทรงกำชับพระเจ้าน้องยาเธออยู่เนือง ๆ ดังนี้

(สำเนา)

พระราชหัตถเลขา

ขอแจ้งความถึงเจ้านายทั้งปวง บันดาซึ่งมีใจภักดีซื่อตรงรู้พระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นต้นบรมราชวงษ์มาแต่ก่อน ได้รับอาสาทำการซ่อมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นด้านๆ กอง ๆ ทั้งปวง ให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้ลงมือซ่อมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การก็แล้วไปบ้าง ที่ยังค้างก็มาก คิดคำนวณดูวันคืน ที่จะถึงกำหนดการฉลองก็ยังมีอยู่เพียง ๑๒ เดือนถ้วนเท่านั้น ถ้าจะคิดตามกำหนดเดิม ที่ว่าจะให้แล้วก่อนงาน ๖ เดือน ก็ยังมีเวลาอีก ๖ เดือนเท่านั้น

บัดนี้ฉันขอเตือนเจ้านายทั้งปวง ให้รฤกถึงการของตัว รีบเร่งทำการ อย่าได้นอนใจ ถ้าผู้ใดขัดข้องประการใดให้มาบอก ถ้าผู้ใดจะทำการไปไม่ไหว ให้เร่งมาบอกคืนการเสียในเวลานี้ จะได้หาผู้อื่นทำต่อไป ถ้าผู้ใดนิ่งเฉื่อยแฉะเก็บการไว้เปล่าๆ ถึงกำหนดการไม่แล้ว ฉันมีความเสียใจมาก ที่จะต้องถือว่าคนนั้นเหมือนอย่างพี่น้องสูบฝิ่นเสียคนหนึ่ง การที่บอกมานี้เป็นความจริง ขอให้คิดตริตรองให้จงดี

แจ้งความเตือนมา ณ วัน ๕ ๑๕ ๖ ค่ำ ปีมเสงตรี๑๔ศก ศักราช ๑๒๔๓

(พระปรมาภิไธย) สยามินทร

ถึง เจ้านายที่เป็นน้องทั้งปวง ด้วยฉันส่งโปรแกรมย่อกำหนดงานมาให้

เธอคงจะเห็นกำหนดในนั้นว่าเป็นวันจวนแล้ว เพราะดังนั้นถ้าเธอยังอยากให้ฉันมีความเจริญยืนยาวสืบไป ขอให้เร่งงานของเธอให้แล้วทุกด้านทุกราย ฤาไม่เป็นธุระก็ขาดกัน

จดหมายมา ณ วัน ๕ ๓ ค่ำ ปีมเสงตรี๑๔ศก ศักราช ๑๒๔๓

(พระปรมาภิไธย) สยามินทร

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕ เป็นต้นไป ได้ทรงรับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็ก มียศเสมอ กัปตัน (นายร้อยเอก) ได้ทรงรับตำแหน่งเป็น ราชเอเดอแกมป์ (ราชองครักษ์) เป็นผู้กำกับการกรมทหารน่า เป็นผู้แทนผู้รับพระบรมราชโองการ ในระหว่างที่พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้รับพระบรมราชโองการทรงผนวช และเป็นผู้บังคับบัญชาทหารรักษาองค์วังน่า

ใน พ.ศ. ๒๔๒๖ พระชันษาได้ ๒๐ ปี ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะมีวังประทับอยู่ต่างหาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตำหนักและตกแต่งวังท่าพระ ซึ่งเดิมเคยเป็นวังของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นใหม่ พระราชทานเป็นที่ประทับ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตำหนักอีกหลังหนึ่งติดต่อกัน พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมเจ้าหญิงพรรณรายเสด็จออกมาประทับอยู่นอกวัง ณ ตำหนักหลังนั้นกับพระโอรสด้วยได้ ถึงกำหนดพระฤกษ์ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม เสด็จพระราชดดำเนินไปทรงรดน้ำพระราชทานในพิธีขึ้นวังใหม่โดยกระบวนพระราชยาน

ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โปรดเกล้า ฯ ให้มีพิธีสมโภชที่ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รุ่งขึ้นทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา) แต่เมื่อยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระกรรมวาจา แล้วไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ประทับอยู่ที่โรงพิมพ์เก่า ริมตำหนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ฯ

ก่อนจะทรงผนวช พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงเขียนหนังสือทูลพระมารดามอบทรัพย์สมบัติถวายเป็นทำนองพินัยกรรมฉบับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นประเพณีที่ทำกันมาในการบวช แต่ทรงเขียนไว้ดังนี้ (ดูหน้า ๑๒)

ครั้นจวนออกพรรษา ถึงกำหนดเวลาที่สมควรจะทูลลาสึก ก็กลับแสดงพระประสงค์ว่าจะทูลลาผนวชต่อไป มีเสียงเล่าลือกันอยู่แล้วว่าคิดจะทรงผนวชเลย ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกฐินที่วัดบวรนิเวศ ฯ ปีนั้น ขณะที่เสด็จเข้าไปประเคนไตรปี ก็ทรงซุกพระราชหัตถเลขาเขียนใส่เศษกระดาษลงในพระหัตถ์ พระองค์เจ้าพระจิตรเจริญ มีความว่า ขอให้สึกออกมาช่วยกันทำราชการ จึงทรงลาผนวชตามพระบรมราชโองการ

ใน พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชันษา ๒๒ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิศริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงกรม เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนแห่ไปยังวังท่าพระ ประทับ ณ ท้องพระโรง ให้อาลักษณ์อ่านประกาศตั้งกรม มีใจความว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชอนุชา อันพระมารดาเป็นพระกนิษฐา แห่งกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี นับเป็นพระราชอนุชาอันสนิทในสัมพันธพงศ์อีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นที่ทรงสนิทชิดชมแต่เดิมมา ประการหนึ่ง ส่วนพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญนั้นเล่า ก็ทรงพระสติปัญญารอบรู้ในราชกิจน้อยใหญ่ สามารถที่จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ต่างพระเนตรพระกรรณในราชการทั้งปวงได้ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงเที่ยงธรรม แลรักษาพระองค์ตามแบบอย่าง มิได้มีระแวงผิดพลั้งแต่สักครั้งหนึ่งเลย มีความจงรักภักดีอย่างยิ่งต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอันสนิท มีพระหฤทัยเจ็บร้อนด้วยราชการยิ่งกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของพระองค์ ได้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งเอเดอแกมป์หลวง แลได้ทรงบังคับการกรมทหารมหาดเล็กคราวหนึ่ง จนบัดนี้ได้ทรงบังคับการในกรมทหารรักษาพระองค์ ก็ทรงอุตสาหสอดส่องการในตำแหน่ง ฉลองพระเดชพระคุณโดยความสุจริต รอบคอบ แลทรงประกอบด้วยพระปัญญาแลความเพียรในการศิลปศาสตร์การช่างเชี่ยวชาญทำได้ด้วยพระหัตถ์ ได้ทรงทำการในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แลพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลการอื่น ๆ เป็นอันมาก เมื่อพระองค์เป็นพระราชอนุชาอันสนิท แลได้รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยฉนี้ ก็มิได้มีความกำเริบฟุ้งซ่าน ซึ่งจะให้ความทุจริตต่าง ๆ ตามมา แลให้เป็นที่รังเกียจแก่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการทั้งปวง มีพระอัธยาศัยอ่อนน้อมเรียบร้อยตามสมควร มีความเคารพต่อราชการกลัวความผิด ประพฤติพระองค์เหมือนข้าราชการอันมีความซื่อตรงจงรักภักดีอย่างยิ่ง ย่อมปรากฏแก่ใจผู้ซึ่งได้ทราบพระอัธยาศัยทั่วหน้า เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริ เห็นสมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณได้ จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนตำแหน่งยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์

พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว พระธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้าหญิงพรรณรายนั้น ประชวรสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยยิ่งนัก ด้วยเป็นพระเจ้าน้องนางเธออันสนิท คุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงพระราชดำริไว้ว่า จะทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมฝ่ายใน จะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณ ก็มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ กรมขุนขัติยกัลยา

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาทั้งกรมขุนขัติยกัลยาและกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ด้วยทรงพระราชดำริว่า เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ เป็นพระโอรสกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฝ่ายพระองค์เจ้าดาราวดี ซึ่งเป็นพระมารดาเจ้าฟ้าอิศราพงศ์นั้น เป็นพระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณายกย่องขึ้นเป็นเจ้าฟ้าตามความนิยมซึ่งมีมาแต่ก่อน แลโดยทรงพระกรุณาแก่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ผู้มีเชื้อตระกูลอันสูงศักดิ์ทั้งสองฝ่ายเป็นตัวอย่างมา

ครั้งนี้ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องนางเธอ กรมขุนขัติยกัลยา ซึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว แลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ เป็นพระธิดาแลพระโอรสแห่งหม่อมเจ้าพรรณราย ซึ่งเป็นพระธิดากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งปรากฏพระนามในราชการที่ใช้อยู่ในปัตยุบันนี้ ว่าสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ เพราะเป็นพระอัยกาแห่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างฝ่ายพระชนก พระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าน้องยาเธอทั้งสองพระองค์นี้ ก็เป็นพระราชธิดาพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ อีกประการหนึ่งเล่าพระมารดาของพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าน้องยาเธอทั้งสองพระองค์นี้ ก็ร่วมพระชนกกับกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี จึ่งร่วมพระอัยกาข้างฝ่ายพระราชชนนีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลเป็นพระเจ้าน้องยาเธออันสนิททั้งสองฝ่ายดังนี้ สมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศให้สูงขึ้นเต็มที่ตามซึ่งเคยมีแบบอย่างมาก่อน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ใช้คำนำหน้าพระนามว่า พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัติยกัลยาและพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์

และใน พ.ศ. ๒๔๓๐ นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงหน่วยทหารที่มีอยู่ขึ้นเป็นกรมอย่างใหม่ แบ่งออกเป็นทหารบก ๗ กรม ทหารเรือ ๒ กรม เจ้าฟ้ากรมขุนนริศ ฯ ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายพันเอก ผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระองค์ และในปีนี้เอง โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมทหารบกทหารเรือเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นกรมยุทธนาธิการขึ้น ครั้งนี้โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนนริศ ฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานใหญ่ใช้จ่าย

อนึ่ง ในปีนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรรมการร่วมด้วยเจ้านายและข้าราชการอื่น ๆ มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช เป็นประธานจัดการตกแต่งรักษาความสอาดพระนคร มีคิดการขุดคู คลอง ซ่อมสร้างถนน เป็นต้น

ในปี ๒๔๓๑ ทรงมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกระทรวงยุทธภัณฑ์ และทรงทำงานในกรมโยธาด้วย ในปีนี้โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปสิงคโปร์ ปีนัง และพม่า พร้อมด้วยพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ และพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เพื่อทอดพระเนตรกิจการทั้งปวงทางฝ่ายทหาร กับทั้งการวางผังเมืองและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทางฝ่ายโยธา

เสด็จกลับมาแล้วไม่ช้าก็โปรดให้เป็นอธิบดีกรมโยธา ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้ทรงจัดวางระเบียบรวบรวมกรมกองอื่นๆ มาไว้ด้วย ตั้งขึ้นเป็นกระทรวงโยธาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้ทรงเป็นเสนาบดีพระองค์แรก กระทรวงโยธาธิการเมื่อแรกตั้งนั้น แบ่งเป็น ๕ กรม คือ

๑. กรมเบ็ดเสร็จ

๒. กรมบาญชี

๓. กรมการโยธา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ กอง

(๑) กองทำถนนสพานแลสนาม เป็นต้น แลอื่นๆ อันเป็นประเทศหนทางบกทั้งสิ้น แลทั้งดูแลตรวจตราซ่อมแซมเสมอไป

(๒) กองขุดคลองแลทำท่าน้ำทำเขื่อน แลอู่แลทำนบเป็นต้น แลอื่นๆ อันเป็นประเทศหนทางน้ำทั้งสิ้น แลทั้งดูแลรักษาซ่อมแซมเสมอไป

(๓) กองทำการสรรพก่อสร้างทั้งปวง อันเป็นที่อยู่ที่ทำการแลอื่นๆ มีตึก เรือน อนุสสาวรี กำแพง เป็นต้น แลทั้งดูแลรักษาซ่อมแซมของเหล่านั้นในสิ่งที่เป็นของกลางเสมอไป

(๔) กองทำการสรรพท่อทั้งปวง คือ ท่อน้ำ ท่อไฟ ท่อโสโครก เป็นต้น ที่ต้องฝังไปในดิน แลฝ้า แลดูแลการสูบน้ำ ทำไฟ แลทำสระ แลรักษาซ่อมแซมเสมอไป

(๕) กองตรวจภูมิประเทศ ทำแผนที่แม่น้ำ ลำคลอง แลหนทาง แลตรวจแร่ต่าง ๆ

๔. กรมช่าง ซึ่งแบ่งเป็น ๓ กอง คือ

(๑) กองช่างทำการในเครื่องไม้ เครื่องเหล็ก เครื่องศิลาแลอื่น อันประกอบแก่การแน่นหนาทั้งปวง

(๒) กองช่างต่าง สำหรับทำของประณีต เป็นของตั้งของใช้ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป

(๓) กองช่างทำการในสรรพพระราชพิธีหลวงทุกอย่าง ตามเวลาตามสมัยที่จะเกิดขึ้น

๕. กรมไปรสนีย์โทรเลข แบ่งเป็น ๒ กอง คือ

(๑) กองไปรสนีย์ สำหรับทำการส่งหนังสือราชการ แลหนังสือต่าง ๆ แลส่งของ ส่งเงินไปทั่วพระราชอาณาเขต

(๒) กองโทรเลข เป็นพนักงานทำสายโทรเลขทุกตำบล แลประจำการบอกโทรเลข แลตรวจตรารักษาซ่อมแซมเสมอไป

กระทรวงโยธาธิการมีหน้าที่คิดออกแบบแปลนและดำเนินการก่อสร้างของ กระทรวงทะบวงกรมอื่น ๆ ด้วย หรือถ้าจะออกแบบเองก็ต้องให้กระทรวงโยธาตรวจคุมรายการก่อสร้าง และควบคุมตรวจตัดราคาที่จะตั้งงบประมาณเบิกเงินจากกระทรวงพระคลังด้วย

ต่อมามีกรมรถไฟขึ้นด้วยอีกกรม ๑

โดยเหตุนี้ เจ้านายพี่น้องจึงทรงล้อ เรียกกันว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง เพื่อให้ทรงแก้ไขจัดวางระเบียบที่ยังไม่เรียบร้อย

ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเทนเจ้าพระยาพลเทพ ผู้ซึ่งชราภาพ ออกรับพระราชทานบำนาญ

พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดให้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้แทนเสนาบดีกระทรวงพระคลัง

พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นผู้รั้งตำแหน่งที่ผู้บัญชาการทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๒ กลับไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดา ขึ้นเป็นพระสัมพันธวงศเธอ พระองค์เจ้าพรรณราย

พ.ศ. ๒๔๔๘ ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง และในปีนั้นเองทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนกรมเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ์ โดยประกาศพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ ได้ทรงรับราชการในหน้าที่ราชการอันสำคัญมาเป็นอันมาก คือเป็นผู้ร่วมพระดำริด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช แลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ รวบรวมทหาร ตั้งกรมยุทธนาธิการ ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งใหญ่ในกรมนั้น ภายหลังได้รับราชการนอกตำแหน่งทหารเพิ่มเติมออกไป จนเป็นตำแหน่งอธิบดีกรมโยธา จัดรวบรวมการทั้งปวงเข้า จนภายหลังยกขึ้นเป็นกระทรวงโยธาธิการ ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนั้นเป็นคนแรก นับว่าเป็นผู้จัดการก่อสร้างตั้งกระทรวงนั้นขึ้นเป็นปฐม

ภายหลังเมื่อการพระคลังไม่เรียบร้อย จึงต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทรงย้ายตำแหน่งไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ภายหลังเมื่อจะจัดราชการกระทรวงกระลาโหม ก็ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงย้ายตำแหน่ง ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม ภายหลังเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการด้วย ครั้นเมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ เสด็จพระราชดำเนิรประพาศประเทศยุโรป ได้ทรงรับราชการสองหน้าที่ ทั้งเป็นผู้แทนเสนาบดีกระทรวงพระคลังด้วย จนเสด็จพระราชดำเนิรกลับ

ครั้นรัตนโกสินทรศก ๑๑๗ ได้ทรงกลับมารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม และเป็นผู้รั้งตำแหน่งที่ผู้บัญชาการทหารเรือ จนรัตนโกสินทรศก ๑๑๘ จึงได้กลับทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการตามเดิม ในศกนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง

การที่ต้องทรงย้ายรับราชการเป็นหลายกระทรวงนั้น เพราะทรงพระปรีชาสามารถอาจวางเนติแบบอย่างในราชการให้เป็นบันทัดฐานมั่นคง ดำเนิรในทางที่ควรที่ชอบได้ มีพระอัธยาศัยมั่นคงองอาจมิได้หวาดไหว ดำรงอยู่ในความสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ยังราชการนอกจากตำแหน่งก็ได้ทรงรับฉลองพระเดชพระคุณเพิ่มขึ้นอีกเป็นครั้งเป็นคราวเนือง ๆ อีกทั้งการช่างอันทรงสอดส่องด้วยสุขุมปรีชา หาหลักฐานเก่าใหม่ในนอกประเทศ วางแบบอย่างอันวิจิตรหาผู้เสมอมิได้ ได้ทรงทำการฉลองพระเดชพระคุณในการช่าง อันเป็นวิทยาส่วนพระองค์อีกแพนกหนึ่งเป็นอันมาก จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะดำรงพระเกียรติยศกรมหลวงได้

อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า แต่เดิมมามีพระราชอนุชา เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอสองพระองค์ บัดนี้ไม่บริบูรณ์เหมือนแต่ก่อน เป็นที่ว้าเหว่พระราชหฤทัย พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ควรจะดำรงพระยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ให้เป็นที่เจริญพระราชหฤทัยพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา เลื่อนพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมผู้ใหญ่ มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศ ฯ ทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ เกิดประชวรด้วยโรคพระหทัยโต เพราะทรงตรากตรำทำงานจนมีเวลาพักผ่อนน้อยไป แพทย์ประจำพระองค์แนะนำให้ทรงลาพักราชการรักษาพระองค์ ก็ไม่ทรงยอมด้วยห่วงใยในพระราชกิจที่ทรงปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณอยู่ และมิได้ทรงแพร่งพรายให้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ด้วยพระกตัญญูภาพ จนภายหลังมีอาการพระหทัยอ่อนด้วย ทรงเห็นว่าการปฏิบัติราชการในหน้าที่บกพร่อง จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ก็โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต

ในรัชกาลที่ ๕ นี้ ไม่ว่าจะทรงรับราชการแผ่นดินในกระทรวงใด ก็ทรงมีหน้าที่ออกแบบอย่างในทางช่างสนองพระเดชพระคุณร่วมไปด้วยอยู่เป็นนิจตลอดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระราชอัธยาศรัยละเอียดสุขุมยิ่งนัก ทรงประกอบพระราชกรณียกิจใดๆ ก็ทรงพิถีพิถันให้งดงามถูกต้องตามแบบแผนไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ ของเล่นหรือของจริง มีพระราชประสงค์จะทรงปรับปรุงและส่งเสริมศิลปกรรมของไทยทุกแขนงให้เจริญขึ้น ด้วยการนำศิลปกรรมของชาติอื่นมาเทียบเคียง โปรดให้ช่างคิดแบบอย่างถวาย ก็มักไม่สู้พอพระราชหฤทัย ไม่ถูกพระราชประสงค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศ ฯ นั้น จัดว่าเป็นช่างที่สามารถจะสนองพระเดชพระคุณให้ถูกพระราชหฤทัยได้ดีกว่าช่างอื่น ๆ แต่ก็มีที่เสียที่ ช้า ดื้อ และ เถรตรง จึงไม่ได้ราชการทันพระราชประสงค์ ต้องทรงพระพิโรธอยู่เนือง ๆ จนเป็นที่ขอดค่อนกันในสมัยนั้นว่าทรงเป็น ช่างดี แต่ไม่แล้ว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานตราประจำพระองค์ แก่พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นรูปราชสีห์ถือดาบ มีขอบประกอบด้วยอักษรจารึกเป็นพระธรรมดาถาว่า

กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ ปเคว ตํ ปริกฺขตํ

ซึ่งแปลว่า

สิ่งที่ทำแล้ว จะทำคืนไม่ได้ จงพิจารณาสิ่งที่จะทำนั้นก่อน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ทรงยึดพระพุทธภาษิตข้อนี้เป็นหลักธรรมประจำพระองค์มาตลอดพระชนมชีพ ทั้งทรงพยายามที่จะให้เป็นหลักธรรมประจำสกุลด้วย ฉนั้นเมื่อทรงทำการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นราชการแผ่นดินหรืองานส่วนพระองค์ ก็จะทรงทำไปอย่างสำรวมระมัดระวัง คิดทางได้ทางเสีย โดยรอบคอบก่อนเสมอ แต่ถ้ายังบังเอิญพลาดผิดไปรู้สึกพระองค์เมื่อใด ก็จะทรงพยายามบอกกล่าวขอโทษผู้ที่เกี่ยวข้องให้รู้กันทั่ว ๆ ไป ว่าสิ่งที่ทรงทำไปนั้นผิด ไม่ดี ไม่ควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง ที่ถูกนั้นทรงพบใหม่แล้วว่าควรจะเป็นอย่างไร ทรงประพฤติพระองค์เช่นนี้อยู่เป็นนิจ ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องสำคัญ ยิ่งในด้านการช่างก็ยิ่งทรงพิถีพิถันหนักขึ้น ด้วยทรงถือคติว่า ถ้าทำไม่ดี ไม่ทำเสียเลยดีกว่า ฉนั้น เมื่อทรงคิดแบบอย่างใด ๆ ถึงแม้จะทรงเขียนเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอพระทัย ก็ไม่ยอมวางพระหัตถ์ ทรงแก้ไขไปจนกว่าจะถูกพระทัยจนได้ ยิ่งเป็นงานทางด้านสถาปัตยกรรม ก็ยิ่งทรงระมัดระวังหนักขึ้น ตรัสว่าต้องระวังเพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย งานสถาปัตยกรรมที่โปรดทำมากก็คือแบบพระเมรุ ด้วยเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อใช้ชั่วคราว แล้วก็รื้อทิ้งไป เป็นโอกาสได้ทดลอง ได้ใช้ปัญญาความคิดแผลงได้เต็มที่ จะผิดพลาดไปบ้างก็ไม่สู้กระไร ต้องระวังอย่างเดียวแต่เรื่องทุนเท่านั้น

งานทางการช่าง ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศฯ ออกแบบถวายในรัชกาลที่ ๕ นั้น มีอาทิเช่น แบบธงต่าง ๆ แบบเครื่องแต่งกายทหาร แบบพระราชลัญจกรประจำครั่ง ประจำชาด เครื่องราชอิศริยาภรณ์ และเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ พัดรองในงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ ทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งปลูกสร้างอย่างแบบสากล ก็มีตำหนักและพระที่นั่งหลายแห่ง งานสถาปัตยกรรมแบบไทยก็มีศาลาต่าง ๆ พระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งทรงออกแบบตั้งแต่พระอุโบสถ พระที่นั่งทรงธรรม พระระเบียง ศาลาต่าง ๆ ตลอดจนรั้วราชวัตร และประตู รวมทั้งการตกแต่งทั้งสิ้น กับโบสถ์พร้อมทั้งสพานหน้าโบสถ์วัดราชาธิวาส เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ทรงรับหน้าที่ซ่อมแซมศิลปวัตถุซึ่งสร้างในสมัยก่อนที่ชำรุดอีกเป็นอันมาก

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนกรมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ตามประกาศพระราชดำริดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งสำคัญอันต้องการความสามารถอันสุขุม ได้ทรงจัดราชการให้สำเร็จไปได้ดังพระราชประสงค์ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมาเป็นหลายตำแหน่ง ต่อมาในเวลาเมื่อทรงรับราชการอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ครั้งสมเด็จพระบรมชนกนารถเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศยุโรปครั้งที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นที่ปฤกษาในที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครด้วยพระองค์หนึ่ง ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๕๒ เกิดพระโรคขึ้นภายในพระองค์ ไม่สามารถจะรับราชการในตำแหน่งให้บริบูรณ์ได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหน้าที่เสนาบดีกระทรวงวัง ก็โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยความดีความชอบสืบมา ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ มีพระโรคเบียดเบียนจนทรงรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญไม่ไหว ก็ยังทรงพระอุตสาหรับราชการในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการคิดทำแบบอย่างในงานช่างอันเป็นฝ่ายศิลปอย่างประณีตถวายอยู่เนือง ๆ ตามเวลาที่ต้องพระราชประสงค์ มีแบบอย่างพระโกษฐ พระบรมอัฐิ กับพระวิมานทองคำลงยาราชาวดี ที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลพระชฎามหากฐิน กับฐานพระแท่นมนังคศิลาเป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนพระองค์ก็ทรงรู้สึกว่า มีพระอัธยาศรัยต้องกันอยู่ในการต่าง ๆ เช่นในการโบราณคดีเป็นต้น ทั้งทรงเคารพนับถืออยู่ว่า มีพระสันดานอันซื่อตรงคงในสุจริตจารี มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทอยู่โดยปรากฏ สมควรที่จะยกย่องพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น จึงมีพระราชโองการดำรัสั่งให้เลื่อนกรมขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระ

ส่วนพระนามตามพระสุพรรณบัฏนั้น พระราชทานไว้ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระ (คำแปล)
นริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นเชื้อสายสืบเนื่องมาจากพระเจ้าแผ่นดิน
มหามกุฎพงศนฤบดินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ ทรงเป็นพระราชอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรเมนทรราชปิตุลา ทรงเป็นพระราชปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สวามิภักดิสยามวิชิต ทรงจงรักภักดีต่อสยามประเทศ
สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร ทรงดำรงไว้ซึ่งความสำเร็จและความรอบรู้ในสรรพศิลปะ
สุรจิตรกรศุภโกศล ทรงเป็นจิตรกรผู้เก่งกล้าสามารถจัดเจนเป็นเลิศ
ประพนธ์ปรีชาชาญโบราณคดี ทรงปรีชาชาณในการประพันธ์แลในโบราณคดี
สังคีตวาทิตวิธีจารณ์ ทรงจัดวิธีแห่งดนตรีการฟ้อนรำขับร้องและทำนองเพลง
มโหฬารสีตลัธยาไศรย ทรงมีพระอัธยาศัยกว้างขวางเยือกเย็น
พุทธาทิไตรยรัตนสรณานุวัตร ทรงนับถือพระรัตนไตรย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นสรณะ
ขัตติยเดชานุภาพบพิตร ทรงเป็นบพิตรผู้มีขัตติยเดชานุภาพ

คำแปลนี้พระเทพกวี (ประยูร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้แปล

ในตอนต้นรัชกาลที่ ๖ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ ฯ มีพระอนามัยไม่สมบูรณ์ เรียกได้ว่าสามวันดีสี่วันไข้ เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ จึงเชิญเสด็จให้ลองไปประทับที่บ้านของท่านที่คลองเตย ด้วยมีตัวอย่างที่ท่านก็ป่วยเช่นเดียวกัน แต่เมื่อย้ายไปจากวังบ้านหม้อ ก็กลับมีอนามัยสมบูรณ์ขึ้น ครั้นเมื่อไปประทับที่บ้านคลองเตยพักหนึ่งก็ค่อยทรงแข็งแรงขึ้นจริง ๆ จึงทรงซื้อที่นาแถวนั้นแปลงหนึ่ง แล้วซื้อเรือนไทยแบบโบราณซึ่งเจ้าของรื้อขายถูกๆ อยู่มากมาย ด้วยเป็นของล้าสมัย มาสร้างเป็นตำหนัก ในชั้นแรกก็ไปประทับเฉพาะในฤดูร้อน แต่ในที่สุดก็ต้องไปประทับเลย ด้วยเสด็จกลับมาวังท่าพระทีไร ก็ประชวรทุกที จึงเป็นแต่เสด็จเข้ามาประทับต่อเมื่อมีงานพระราชพิธีหรืองานพิธีส่วนพระองค์ ด้วยที่ตำหนักปลายเนิน คลองเตย สมัยนั้นยังเป็นแต่ท้องนาและสวนผัก ถนนก็ขรุขระ ปูอิฐกว้างเฉพาะล้อรถ ตำหนักก็คับแคบ และประทับอยู่อย่างคหบดีชาวชนบทเท่านั้น

ตลอดรัชกาลที่ ๖ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ ฯ จึงทรงรับราชการแต่เพียงสนองพระเดชพระคุณในทางการช่างต่าง ๆ เช่น ออกแบบเครื่องราชูปโภค เครื่องราชอิศริยาภรณ์ พระเมรุที่พระราชทานเพลิงพระศพใหญ่ๆ แบบพัดรอง ภาพปกและภาพแทรกหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์ ธงประจำกองลูกเสือ เป็นต้น นอกจากนั้นได้สนองพระเดชพระคุณในราชการพิเศษ คือเป็นกรรมการสภาการคลังตรวจงบประมาณแผ่นดิน กรรมการตรวจแก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมการหอพระสมุด เป็นต้น

ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสชวนให้ทรงกลับเข้ารับราชการแผ่นดิน จึงได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ และเมื่อทรงจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงรับตำแหน่งเป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๖๙ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้สนองพระเดชพระคุณในทางการช่าง ดังเช่นที่เคยสนองพระเดชพระคุณมาแล้วในรัชกาลก่อน ๆ และได้ทรงพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดการแตกแยกกันขึ้นในทางการเมือง จนถึงมีการสู้รบกัน ขณะนั้นสมเด็จกรมพระนริศ ฯ กราบถวายบังคมลาไปประพาสตามลำแม่น้ำถึงเมืองลพบุรี แต่เสด็จกลับมากรุงเทพ ฯ ในงานพระราชพิธีกฐินหลวง พอดีเกิดเหตุการณ์ในขั้นรุนแรง จึงเสด็จออกไปหัวหินด้วยทรงถือตามประเพณีโบราณ ที่พระราชวงศ์จะต้องเสด็จเข้าไปอยู่ในที่ใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ในเมื่อมีเหตุร้ายภัยพิบัติ เพื่อถวายชีวิต เมื่อจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ สงขลา ให้พ้นจากมรสุมการเมือง ก็โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปด้วยโดยขบวนรถไฟ พร้อมกับข้าราชบริพาร แต่ไปประทับอยู่ที่หาดใหญ่ เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วก็มีพระราชดำรัสตรัสชวนให้เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ ด้วย เพื่อเสด็จไปประดับพระเกียรติยศ ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ในพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎร

ครั้นเมื่อถึงกำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินออกไปรักษาพระองค์ ณ ต่างประเทศ ก็มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเพื่อแก้ข้อข้องพระทัยในการที่ทรงพระวิตกว่าทรงพระชรา พระกรรณตึง และไม่ทรงทราบภาษาต่างประเทศดีพอที่จะวินิจฉัยความหมายหนักเบา เกรงจะปฏิบัติราชการบกพร่องนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นที่ปรึกษา และทรงช่วยเหลือในด้านภาษาต่างประเทศที่ไม่ทรงสันทัด ทั้งโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์เป็นผู้รับใช้ไปติดต่อกับรัฐบาล จึงจำต้องทรงรับตำแหน่งนั้น สนองพระเดชพระคุณตามพระบรมราชโองการตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจโดยระมัดระวังอย่างดี และทรงต่อสู้จนสุดพระกำลัง ในอันที่จะรักษาพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงทศพิธราชธรรมไว้ให้ปรากฏ และเพื่อช่วยให้ประชาชนชาวไทยทุกคณะทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ทรงพ้นจากตำแหน่ง ณ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ

พระราชกิจที่ได้ทรงปฏิบัติไปเป็นประการใด ก็ย่อมทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ดังปรากฏอยู่ในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานมาทางโทรเลข และการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานต้นไม้เงินต้นไม้ทองนั้น ก็เป็นเกียรติยศอันสูงสุด ที่พระเจ้าแผ่นดินจะพึงพระราชทานแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้

โทรเลขที่ดำเนินกระแสพระราชดำรัสและโทรเลข กราบบังคมทูลตอบมีดังนี้

TELEGRAM

From M.R. Smaksman To H.M.’s Private Secretary
Address : Cranleigh Address : Bangkok
Despatched 2 March 1935, 15.38 Received 3 March 2477, 3.50

His Majesty’s Private Secretary Bangkok,

According to His majesty the Kings command, please inform the State Councilor for the Royal Household His Majesty desires him to present gold and silver tress to His Royal Highness Prince Naris in accordance with tradition. At the same time please convey the following message from His Majesty the King to His Royal Highness Prince Naris, begin :

“I beg you to accept this present of gold and silver trees from me as a mark of my profound reverence and admiration for your fortitude and courage in the face of great difficulties also as humble offering to show my boundless gratitude for your every true loyalty to myself and the Royal House. I humbly beg you to forgive me for aiming at the trouble and sorrows that I may have caused you to feel.”

(Signed) Smaksman

คำแปลโทรเลข

จาก ม.ร.ว. สมัคสมาน ถึง ราชเลขานุการในพระองค์
ตำบล ครานเล่ฆ์ ตำบล กรุงเทพ ฯ
ส่ง ๒ มีนาคม ๑๙๓๕, ๑๕.๓๘ รับ ๓ มีนาคม ๒๔๗๗, ๓.๕๐

ทูล ราชเลขานุการในพระองค์ กรุงเทพฯ

โดยพระกระแสพระบรมราชโองการ โปรดแจ้งแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังว่า มีพระราชประสงค์ ให้ท่านรัฐมนตรีเชิญต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง ไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ตามราชประเพณี อนึ่งโปรดให้เชิญพระราชกระแสรับสั่งกราบทูลแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศดังต่อไปนี้

“หม่อมฉันขอให้ทรงรับเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินและต้นไม้ทองนี้จากหม่อมฉัน เพื่อเปนเครื่องหมายแห่งความเคารพและบูชาอย่างยิ่งของหม่อมฉัน สำหรับกำลังแห่งน้ำพระทัยและความมานะอดทนอย่างกล้าแข็งของพระองค์ ในการที่ได้เผชิญความยากลำบากอันใหญ่หลวงทั้งหลาย กับเพื่อเปนของขวัญสำหรับแสดงความรู้สึกอย่างเหลือล้นของหม่อมฉัน ในพระคุณของพระองค์ท่าน ในการที่ทรงมีความจงรักภักดีอย่างแน่แท้ต่อตัวหม่อมฉันและต่อพระราชวงศ์ หม่อมฉันขอประทานด้วยความนอบน้อม ได้โปรดให้อภัยแก่หม่อมฉันสำหรับความยากลำบากและความรันทดสลดใจซึ่งหม่อมฉันอาจทำให้พระองค์ได้ทรงรับมา”

(ลงนาม) สมัคสมาน

โทรเลขสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ ๓/๑๒/๗๗

สมัคสมาน โนล ครานเลฆ์

สำหรับกราบบังคมทูลพระกรุณา

ขอพระราชทานตอบพระโทรเลขวันที่ ๒ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีใจที่จะหาคำกราบบังคมทูลได้ ขอพระราชทานกราบถวายบังคมแทบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ และต้นไม้ทองเงินซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนั้น ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจแล้วจะนำไปถวายพระบาทสมเด็จพระบูรพมหาราชเจ้าไว้ ณ ประสาทพระเทพบิดร

(ลงพระนาม) นริศ

คำแปล

SMAKSMAN KNOWLE CRANLEIGH

For submission to His Majesty:

In reply to your telegram of the 2nd, I am too overcome to find words to express my deeply touched feelings. I most humbly beg to lay at Your Majestys feet my most profound gratitude. It is my intention to offer the gold and silver trees which Your Majesty graciously present to me as tribute to the memory of our August ancestors at the Pantheon.

(Signed) Naris

ถึงรัชกาลที่ ๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยประกาศพระราชดำริว่า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระอัยยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งสำคัญ อันต้องการความสามารถโดยสุขุม ได้ทรงจัดราชการให้สำเร็จไปได้ดังพระราชประสงค์ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมาเป็นหลายตำแหน่ง ดังมีข้อความปรากฏอยู่ในประกาศเมื่อครั้งทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง และพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระ นั้นแล้ว ต่อมาได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งอภิรัฐมนตรี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ ณ ต่างประเทศ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุม เป็นที่นิยมนับถือของปวงประชาชนโดยทั่วกัน ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทรงพระชราแล้ว ก็ยังได้ทรงช่วยราชการนานัปปการ เฉพาะอย่างยิ่ง โดยประทานความรู้ในศิลปวิทยาการ ตลอดจนภาษาและราชประเพณีซึ่งไม่มีผู้ใดให้ความรู้ได้ พระองค์ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีพระเมตตาอารีเป็นที่เคารพรักใคร่นับถือของพระบรมวงศานุวงศ์โดยทั่วกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคารพนับถืออยู่ ว่ามีพระอัธยาศัยอันซื่อตรง คงในสุจริตจารี มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่โดยปรากฏ สมควรที่จะยกย่องพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

ส่วนพระนามนั้น ก็คงเหมือนเมื่อครั้งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระทุกประการ นอกจากเปลี่ยน ปรเมนทรราชปิตุลา เป็น อัฐเมนทรราชอัยยกา ซึ่งหมายความว่า ทรงเป็นพระราชอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘

นับตั้งแต่ทรงพ้นจากตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา ก็มิได้ทรงเกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดินอีก เป็นแต่ทรงช่วยในเรื่องแบบอย่างทางการช่างที่ทรงพอพระทัย กับประทานความเห็นคำแนะนำ คำอธิบายในเรื่องราชประเพณี ขนบธรรมเนียม ศัพท์ภาษา แก่ผู้ที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติและผู้ที่สนใจใคร่รู้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯนั้น สนพระทัยในเรื่องประเพณีและภาษาต่าง ๆ ทางตะวันออกนี้มาช้านานแล้ว ถ้ามีเวลาว่างเมื่อใดก็ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองอยู่เป็นนิจ เช่นเคยทรงทดลองแปลหนังสือภาษาเขมรเล่น แล้วส่งไปประทานพระพินิจวรรณการ ขอให้ช่วยให้เปรียญผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรที่หอพระสมุดตรวจผลงานนั้น พระพินิจทูลมาดังนี้

หอพระสมุดแห่งพระนคร

ถนนน่าพระธาตุ กรุงเทพฯ

วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายต้นหนังสือพระราชพิธี บุณย์ราชาภิเษก กับ ร่างถอดและที่ยกใหม่มาพร้อมกับหนังสือนี้ เพื่อได้ทรงพิจารณายิ่งขึ้นไป ข้าพระพุทธเจ้า ได้คัดสำเนาไว้ด้วย ๑ ฉบับ การแก้ไขคราวนี้ พวกเปรียญเขมรทักอยู่คำเดียวที่พระนาม มุนีวงศ์ ว่าขีดข้างล่างนั้นไม่ใช่สระอุ เป็นขีดบังคับไม่ให้อ่านเป็น โม เท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงให้คัดเป็นมนี คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วควรเป็น มณี เสียทีเดียวจะดี

หนังสือเรื่องนี้ในกรมพระดำรง ฯ รับสั่งว่าจะทรงพิมพ์ประทานสงกรานต์ปีใหม่ และนัยว่าจะให้พวกเปรียญเขมรทำอภิธานคำยากๆ ที่ไทยกับเขมรตรงกัน แต่ไทยมักใช้ในพวกโคลงฉันท์ ห่างตาสามัญชน เช่นคำ ไถง แข เกิด ฉนำ เป็นต้น เมื่อได้ทำกันลงไปอย่างไรแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายมาทอดพระเนตรครั้งหลัง ได้ทราบเกล้า ฯ ว่าจะทรงถอดพระราชกำหนดบุณย์พระบรมศพ ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีเป็นล้นเกล้าฯ ด้วยฉบับที่มหาฉ่ำแปลและพิมพ์ไปแล้วนั้น อาศัยได้แต่ความรู้ลัทธิธรรมเนียม อาศัยเรียนภาษาหาได้ไม่ ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับสั่งให้ช่วยสอบกับพวกเปรียญเขมรมาโดยลำดับนี้ สังเกตว่าได้ความรู้หนังสือภาษาขอมขึ้นประมาณว่าราว ๑ ใน ๓ ของหนังสือภาษาขอมเล่มอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้เคยฝันไว้เลยว่าจะได้ศึกษาภาษาเขมร ฝ่ายพวกเปรียญเขมรเล่า ก็ว่าได้ความรู้ซึ่งตนเองเคยเทียบกับไทยไม่ได้มาก เดี๋ยวนี้พวกนั้นคอยเก็บร่างที่ทรงบันทึกประทานไป และร่างที่ข้าพระพุทธเจ้าสอบจากเขาแล้วบันทึกถวายมา เสียดายแต่เวลาพิมพ์ หาอักษรขอมพิมพ์เทียบไม่ได้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าพอจะขยับขยายได้ จะลองให้เขาถ่ายด้วยเป็นแม่พิมพ์สังกะสี พิมพ์อักษรขอมลงไว้ด้วย แต่การจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบเกล้า ฯ แน่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระพินิจวรรณการ

นอกจากนั้น ถ้าทรงค้นพบสิ่งใดแปลกใหม่ ก็มักมีลายพระหัตถ์ติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่สนใจในวิชาแขนงต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งตรัสเรียกว่า เพื่อนนักเรียน เช่นตรัสเรื่องมคธภาษา พระพุทธประวัติ พระวินัย กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ตรัสเรื่องดนตรีและภาษากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ตรัสเรื่องศัพท์ภาษาและประเพณีกับพระยาอนุมานราชธน ตรัสเรื่องการพระราชพิธีขนบธรรมเนียมเก่าในพระราชสำนักกับพระยาเทวาธิราช มีลายพระหัตถ์ติดต่อถึงกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ด้วยเรื่องต่าง ๆ ทุกๆ สัปดาห์ เรียกว่า หนังสือเวร หรือที่เรียกกันบัดนี้ว่า สาส์นสมเด็จ ทรงเขียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ จนถึงฉบับสุดท้ายซึ่งลงพระนามเมื่อคืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ เพื่อให้นำไปส่งในวันรุ่งขึ้น แต่วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์ แลพระองค์เองต้องตกอยู่ในฐานะที่ทรงหวั่นเกรงนักหนา คือเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ดำรงพระชนม์อยู่แต่องค์เดียวเป็นองค์สุดท้าย

ในระหว่างมหาสงครามครั้งที่ ๒ ระยะหลัง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ เสด็จไปประทับอยู่ที่เกาะลอย จังหวัดอยุธยา และที่พระราชวังบางปะอิน เพื่อให้สิ้นความห่วงใยของผู้อื่น จนเสร็จสงครามจึงเสด็จกลับมาประทับที่คลองเตยเช่นเดิม ต่อมาพระกำลังพระปัญญาก็เสื่อมลงทุกทีด้วยทรงพระชรา ด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือนอกจากโรคพระหทัยโต กับหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคประจำพระองค์ตลอดมา ก็ยังมีพระโรคเส้นพระโลหิตแข็งอีกอย่างหนึ่งด้วย สิ่งที่เคยทรงทำมาหลายสิบปี และยังเหลือให้ทรงทำอยู่อีกอย่างเดียว คือการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันนั้น ก็ต้องหยุดลงเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยบังคับพระสมองพระหัตถ์ให้เขียนไม่ได้แล้ว ต่อจากนั้นพระกำลังก็ทรุดโทรมอ่อนเพลียลงเป็นลำดับ จนถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๕ น. ก็สิ้นพระชนม์ไปโดยสงบ ด้วยพระหทัยหยุดทำงานเพราะชราภาพ พระชันษา ๘๓ ปี ๑๐ เดือน ๑๒ วัน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ทรงมีชายาคนแรก คือ หม่อมราชวงศปลื้ม ศิริวงศ ธิดาพระสัมพันธวงศเธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ตั้งแต่สมัยเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าจิตรเจริญ มีพระธิดากับหม่อมราชวงศปลื้มองค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าปลื้มจิตร ต่อมาหม่อมราชวงศปลื้มถึงแก่กรรม ทรงได้หม่อมมาลัย เศวตามร์ บุตรีพระสาครสมบัติ (เผือก) เป็นชายา มีโอรส ๒ องค์ คือ หม่อมเจ้าชายอ้าย กับ หม่อมเจ้าชายเจริญใจ เมื่อหม่อมมาลัยถึงแก่กรรมแล้ว ทรงได้หม่อมราชวงศโต งอนรถ ธิดาหม่อมเจ้าแดง งอนรถ เป็นชายา มีโอรสธิดากับหม่อมราชวงศโต ๖ องค์ คือ หม่อมเจ้าชายสาม หม่อมเจ้าหญิงประโลมจิตร หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร หม่อมเจ้าชายยาใจ หม่อมเจ้าชายเพลารถ หม่อมเจ้าหญิงกรณิกา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระศพทุกอย่าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวง ต่อท้ายงานพระเมรุพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๙๓ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอัฐิไปไว้บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มุขตะวันตก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทุกตระกูล นอกจากตรารามาธิบดี แต่โดยเฉพาะตราจักรีนั้น ได้พระราชทานชั้นพิเศษ ซึ่งดวงตราและสร้อยประดับเพชรเหมือนเครื่องต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้พระราชทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ตราประดับเพชรนี้ มีผู้ได้รับพระราชทานน้อยที่สุด

<ดวงจิตร จิตรพงศ์>

  1. ๑. ต่อมาเป็นพระธรรมธัชมุนี

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ