๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ตามที่โปรดเกล้า ฯ ประทานลักษณะตราต่าง ๆ มาในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกจับใจและขำในใจมาก เมื่ออ่านถึงตอนที่ประทานพระอธิบายถึงลักษณะครุธในตราพระครุธพาห์ เป็นความรู้แปลกที่ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบ ดวงตราเหล่านี้ คนภายนอกที่จะได้มีโอกาสทราบเรื่องราวเห็นจะมีน้อยคน และต่อไปข้อความเหล่านี้น่าจะสูญ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระอนุญาตคัดสำเนาลายพระหัตถ์ฉะบับนี้รักษาเป็นหลักฐานไว้ที่ในหอพระสมุดฉะบับหนึ่ง เพราะ เป็นเรื่องความรู้ที่ควรรักษาไว้สำหรับคนรุ่นหลังได้ทราบ

ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกอยู่เสมอว่า ดวงตราเหล่านี้ฉะเพาะที่เลิกใช้แล้ว ถ้าได้ประทับเอาลวดลายมาเก็บรักษาไว้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์แก่การศึกษาโบราณคดี แต่ก็จนด้วยเกล้า ฯ ว่าจะไปขออนุญาตได้จากที่ใด และเมื่อเร็ว ๆ นี้คนที่รักษาเอกสารต่าง ๆ ในกรมเลขาธิการรัฐมนตรีซึ่งเดิมเป็นหอหลวง และที่ข้าพระพุทธเจ้าไปขอคัดสำเนาพระราชสารคำหับมา ได้มาสอบถามข้าพระพุทธเจ้าถึงเรื่องพระราชสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีนและฝรั่ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ยังหอหลวงว่าทำไมจึงมีแต่สำเนาคำแปลภาษาไทยเท่านั้น ส่วนต้นฉะบับภาษาเดิมไม่มีสักฉะบับเดียว และถามว่าจะมีพลัดอยู่ทางหอพระสมุดบ้างหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าก็ประหลาดใจ ถ้าไม่มีที่หอหลวงแล้วจะไปมีอยู่ ณ ที่ใด ข้าพระพุทธเจ้าขอพระเมตตาบารมีเพื่อทราบเกล้าฯ เรื่องนี้ด้วย

เรื่อง ตราโลโต ข้าพระพุทธเจ้าเปิดดูรูปสัตว์หิมพาน ปรากฏว่า โลโต มีลักษณะเหมือนราชสีห์ทุกอย่าง เว้นแต่ศีร์ษะคล้ายพญานาค มีหงอนเป็นลายกนกยื่นไปจากจมูก ส่วน สิงโต หรือ โต ก็ผิดกับราชสีห์ ที่มีศีร์ษะใหญ่ และมีเขาอย่างสิงโตจีน ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำ สิงโต ว่ามาจากคำอะไร สิง ก็คงเป็นคำเดียวกับ สิงห์ ส่วน โต มาจากภาษาอะไร ถ้าดูรูป โลโต ซึ่งมีลักษณะเหมือนสิงโต ก็น่าจะรวม สิงห์ และ โลโต เข้ากันเป็น สิงห์โลโต แล้วหดสั้นมาเป็น สิงโต แต่ก็เป็นเรื่องเดา ซึ่งยังไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบยืนยัน และทั้งได้ทราบเกล้า ฯ ว่า เขมรเรียกสิงโตว่า สิง บ้าง โต บ้าง แต่สิงโตหรือราชสีห์เป็นสัตว์มาทางตะวันตกของทวีปอาเซีย คำว่า โต ในเขมร คงจะไม่ใช่คำเดิม อาจนำมาจากภาษาอื่นก็ได้ ในภาษาจีนเรียกสิงโตว่า ไซ (แต้จิ๋ว) แต่ในเสียงชาวกวางตุ้งเป็น ซี ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าคงมาแต่ สีห เพราะสิงโตไม่มีในเมืองจีน แต่มาถึงคำว่า โต ที่ต่อท้ายคำ สิง เป็นอันจนด้วยเกล้า ฯ ว่ามาจากคำภาษาใด นอกจากจะอนุโลมเอาคำว่า โลโต มาเปรียบได้เท่านั้น

ที่ประชุมกรรมการชำระปทานุกรมได้ตกลงถือเอาพระอธิบายในเรื่อง คำหลวง ที่ทรงพระเมตตาประทานมาเป็นหลัก โดยให้อธิบายว่า คำประพันธ์บางอย่างที่ใช้สวดในราชการ เช่น มหาชาติคำหลวง คำประพันธ์ที่แต่งมีลักษณะอย่างมหาชาติคำหลวง คือนันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง พระนลคำหลวง ทั้งนี้ เป็นพระเดชพระคุณแก่กรรมการชำระปทานุกรมล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวาย พระมาลัยคำหลวง มากับหนังสือฉะบับนี้เล่มหนึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ