๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ทรงพระเมตตาประทานข้อความเพิ่มเติม ในเรื่องความวิบัติลางแห่งในหนังสือเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ที่ตรัสถึงคำว่า บาง กับ ลาง ใช้ปนเปกันอยู่ทั้งสองอย่าง ทรงพระดำริว่า บาง จะเคลื่อนมาจาก บ้าง นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ สอบสวนดูก็ไม่ได้ข้อความที่พอใจนัก ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียนว่า บาง แต่ที่ได้พบปะในหนังสือเก่ามักใช้ว่า ลาง คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นคำที่มีมาก่อน คำภาษิตที่ว่า ลางเนื้อชอบลางยา ถ้าเปลี่ยน ลาง เป็น บาง ก็ฟังขัด เพราะเป็นภาษิตติดปากสืบมา แก้คำไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นหลักฐานว่า ลาง คงถูกกว่า ข้าพระพุทธเจ้าเขียนว่า ลาง เมื่อไม่เผลอตัว แต่ด้วยความเคยชินกับคำว่า บาง มานาน มักจะเขียนเป็น บาง อยู่บ่อย ๆ ที่ตรัสว่าทรงใช้คำใดที่ประกอบคำ บาง เข้าไม่สนิท ก็ทรงยักไปใช้คำ ลาง เป็นถูกต้องตามหลักนิรุกติศาสตร์ที่ว่าภาษาอยู่ที่เสียงพูด ถ้าผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจความหมายตรงกัน นั่นคือภาษาที่แท้จริง เช่นคำว่า มารยา ปรนนิบัติ มารยาท มีผู้แก้เป็น มายา ปฏิบัติ และ มรรยา ให้สกดและออกเสียงอ่านตรงกับคำในสํสกฤตและบาลี ซึ่งเป็นที่มาของคำเหล่านั้น ก็เป็นหลงหลักข้อนี้

ข้าพระพุทธเจ้าสอบค้นคำ บาง และ ลาง ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ปรากฏว่า ถิ่นอิศานใช้คำว่า ลาง ส่วน บาง และ บ้าง ไม่มีใช้ บ้าง ใช้ว่า แด ถิ่นพายัพใช้เป็นสามัญว่า ซำ ใกล้กับ some ในภาษาอังกฤษมาก ซึ่งคงเป็นไปด้วยบังเอิญ ที่ใช้ว่า ลาง ก็มี เช่น ลางทีว่า ลางเตื้อ แต่ว่าใช้อยู่ในที่จำกัดไม่ทั่วไป จะเป็นทำนองเดียวกับลางเนื้อลางยา ในพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-ลาว ซึ่งสังฆราชบาดหลวงองค์หนึ่งทำไว้ จดไว้ทั้งคำว่า ลาง และ บาง มีทั้งสองคำ แปลความอย่างเดียวกัน ในภาษาไทยถิ่นอื่น ข้าพระพุทธเจ้าต้องอาศัยค้นหาคำอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ตรงกับความว่า บาง หรือ ลาง ก่อน แล้วจึงไปค้นหาคำไทย เพราะพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นเหล่านี้มักเป็นชะนิดใช้คำในภาษาฝรั่งเศสเป็นคำตั้ง ข้อลำบากที่คำในจำพวก บาง และ ลาง เป็นชะนิดคำประกอบช่วยความในคำอื่น ภาษาต่างๆ จึงมักมีใช้เป็นพิเศษต่างกันหลายรูป ยากแก่การเปรียบเทียบคำซึ่งมีความหมายให้ได้ตรงกัน ใน ภาษาไทยขาว ไทยนุงและไทยโท้ มีคำว่า (ไทยขาวเป็น ราง ก็มี) แปลว่า บ้าง ใด อะไร ใคร ส่วนคำว่า บาง คงมีแต่ที่แปลว่า ไม่หนาอย่างเดียว คำว่า บ้าง ไม่ปรากฏ ในไทยย้อยมีคำว่า บาง แต่แปลว่า พวกหนึ่ง เป็นความหมายไปในทางว่า ลาง ก็ได้บ้าง เช่นลางพวก ลางฝ่าย มีความหมายผิดกันนิด ๆ กับคำว่า พวกหนึ่งฝ่ายหนึ่ง ในภาษาอาหมไม่ปรากฏคำว่า ลาง และ บาง หรือ บ้าง มีแต่คำว่า มาง (บางทีจะอ่านว่า มัง ก็ทราบเกล้า ฯ ไม่ได้) ให้คำแปลว่า other หรืออื่น ไม่ตรงกันกับ ลาง หรือ บาง ในภาษาไทยใหญ่พบแต่คำในภาษาอังกฤษว่า sometime จดไว้ว่า มางเผามางปอก ซึ่งข้าพระพุทธเจ้านึกทียบคำไทยไม่ออก นอกจากมีคำว่า มาง เป็นเค้าอยู่เท่านั้น ในภาษาไทยคำที่ ในความหมายว่า ลาง ใช้คำว่า เย เช่นบางทีว่า เยที่ ครันถึงคำว่า บางคน ใช้ว่า เผยไก ครั้นถึงคำอย่าง หมูบางตัว ก็ใช้ว่า หมูอหลึ่ง (น่าจะเป็นหมูอันหนึ่ง เพราะคำว่า อัน ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ใช้ไม่จำกัดความเหมือนในภาษาไทยสยาม)

รวมความ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า คำในจำพวกนี้ จะมีอยู่หลายรูป ต้องทราบซึ้งในสำนวนที่เขาใช้กันอยู่ จึงจะได้ความชัด เท่าที่สอบสวนคงได้ความเพียงเป็นเงาๆ ว่ามีใช้ทั้ง ลาง และ บาง แต่ ลาง มีมากกว่า คงเป็นคำที่ถูกต้อง ในคำที่มีความหมายอย่าง ลางคน ลางที เป็นต้น ส่วนบาง จะเป็นคำเดียวกับ บ้าง ดั่งที่ทรงคิด และจะใช้ในลักษณะความอย่างที่มีอยู่ในภาษาไทยย้อย ลาง กับ บาง เมื่อว่าโดยหลักฐานการกลายเสียงก็ไปกันไม่ได้ เมื่อเช่นนี้ ลาง กับ บาง เดิมจะมีความหายต่างกันนิดๆ ในที่สุดก็เลือนมามีความหมายเท่ากัน ทั้งนี้การจะควรสถานไร แล้วแต่จะทรงพระเมตตาโปรดเกล้า ฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ