๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๑ และวันที่ ๒๒ ธันวาคม รวม ๒ ฉะบับ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องพระแสงอัษฎาวุธ ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นหาและทั้งได้สอบถามผู้ที่มีความรู้ทางบาลี ก็ไม่ได้ความ ในที่สุดต้องพึ่งพราหมณ์ศาสตรี ให้ช่วยค้นในตำราหนังสือสํสกฤต ได้ค้นอยู่หลายเวลาก็ไม่ได้ความ เรื่องพระแสงอัษฎาวุธ คงกล่าวแต่อาวุธ ๑๐ อย่าง ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดบันทึกของพราหมณ์ศาสตรีถวายมาในซองนี้ด้วยแล้ว ที่ทรงสันนิษฐานว่า มีปืนอยู่ในพระแสงอัษฎาวุธจะเป็นของใหม่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ในชั้นต้นคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ปืน ในที่นี้ จะหมายความถึงปืนยา แต่เมื่อตรวจดูรายชื่อพระแสงอัษฎาวุธ ก็ปรากฏว่ามีพระแสงธนูอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พระแสงปืนจะเป็นชะนิดปืนยาไม่ได้ ต้องหมายความถึงปืนไฟ และได้ทราบเกล้า ฯ ว่า พระแสงปืน ในอัษฎาวุธเป็นพระแสงปืนคาบศิลาชุดข้ามแม่น้ำสะโตง ครามก็ชัดขึ้นว่าเป็นปืนไฟ ในจำพวก ทศาวุธ ของอินเดีย อาวุธลางชะนิดที่เป็นของเทวดา จะนำมาใช้เป็นอาวุธของมนุษย์โดยแท้ไม่ได้ เช่น สังข์ เป็นต้น และเมื่อตรวจดูรายชื่อพระแสงอัษฎาวุธ ก็ดูเป็นอาวุธที่ใช้ได้เกือบครบถ้วนชะนิด ขาดแต่ คทา ซึ่งไม่น่าเอามารวมด้วย ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า หลัก อัษฎาวุธ จะมาจากเทพศาสตราทศาวุธของอินเดีย เพราะมีตรีและจักรรวมอยู่ด้วย แต่จะเลือกฉะเพาะที่ใช้ได้เป็นปกติมีเพียงแปดชะนิดเท่านั้น และคงเป็นของคิดขึ้นในรุ่นหลัง จึงได้มีพระแสงปืนด้วย ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบเรื่องอาวุธปืนที่มีขึ้นในแหลมอินโดจีน ซึ่งฝรั่งเขียนไว้ว่า มีขึ้นเป็นครั้งแรกราวหกร้อยปีเศษเท่านั้น โดยอ้างหลักฐานเรื่องที่กล่าวถึงอาวุธปืนเป็นครั้งแรก อยู่ในตำนานต่าง ๆ เช่น

๑. ในพงศาวดารมอญว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๑ เมืองพะสิมต้านทานทัพพระเจ้าหงสาวดีด้วยใช้เรือต่างประเทศที่มีปืนประจำ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๑ ตราพญาใช้ลูกระเบิด จะทำลายพระเจ้าฟ้ารั่ว ก็ไม่ได้อ้างถึงเรื่องปืน

๒. พงศาวดารเหนือ มีกล่าวถึงเรื่องปืนเป็นครั้งแรก ก็ในตอนที่พระเจ้าพสุจราชไปขอช่างจากเมืองจีนมาหล่อปืนใหญ่

๓. พงศาวดารมะลายู ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๓ ถึง พ.ศ. ๑๘๔๓ กองทัพไทย มีรายาจูลันเป็นแม่ทัพ ยกไปตีรายาสุรัน ก็กล่าวแต่ว่า ใช้หอก ดาบและธนูด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่กล่าวถึงปืนไฟเลย

๔. ในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงปืนไฟเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๘ คราวสมเด็จพระราเมศวรเสด็จไปตีกรุงกัมพูชา

๕. ในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๑๙๐๓ กล่าวถึงปืนไฟไว้สองแห่ง คือแห่งหนึ่งว่า และปืนไฟพนักงานอินทราช อีกแห่งหนึ่งว่า ผู้เป็นนายทัพนายกองยกช้างม้ารี้พล พลดั้งดาบเขนเสโลโตมร ปืน ไฟหน้าไม้ธนูหอกทวนเป็นปีกออกไป ณ กลางแปลง

๖. พงศาวดารหลวงพระบาง ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๗ พระยาฟ้างุ้มไปตีเวียงจันทร์ ใช้ลูกปืนทองยิงเข้าไปในดงไผ่

๗. พงศาวดารเชียงใหม่ ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ พระยายี่บาเจ้าเมืองลำพูนมาตีเมืองคืนจากเจ้าเชียงใหม่ ใช้ลูกปืนทองยิง

๘. พงศาวดารเชียงแสน ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๑ เมืองเชียงตุงใช้ปืนใหญ่ต้านทานทัพจีน พ.ศ. ๑๙๔๔ เมืองพะเยาหล่อปืนทองเหลืองขนาด ๙๐ นิ้ว

พงศาวดารจีน ว่า จีนรู้จักใช้ปืน เมื่อราว พ.ศ. ๑๐๕๐ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน จนถึง พ.ศ. ๑๙๕๑ จีนมาตีตังเกี๋ย จึงได้ความรู้เรื่องดินระเบิดจากชาวตังเกี๋ย

สรุปความ หลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ด้วยเรื่องปืนเป็นครั้งแรกไม่เกิน พ.ศ. ๑๘๐๐ สักรายเดียว จึงสันนิษฐานว่า แหลมอินโดจีนรู้จักใช้ปืนไฟไม่เกิน ๒๐๐ ปีเศษ

เมืองกลัง เมืองกรัง และ เมืองแกลง ที่ประทานมา ทรงเห็นว่าเป็นชื่อซ้ำกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูก เพราะคำว่า กลัง และรวมทั้งคำว่า พงัน ฉลาง ฝรั่งว่าเป็นชื่อหมู่ชนชาวเงาะ ซึ่งทางสันนิษฐานว่า เดิมจะมาจากแดนตะวันออกเฉียงใต้ของอาเซีย แล้วยกเข้ามาอยู่ในแหลมอินโดจีน ถูกมนุษย์พวกอื่นซึ่งมาทีหลังขับไล่กระจายกันไปอยู่ในแดนต่าง ๆ จนถึงเกาะชวา และว่าพวกชวายังเรียกพวกเงาะนี้ว่า พวกกลัง พวกที่อยู่ตามชายทะเลฝั่งตะวันตกของแหลมมะลายู มลายูเรียกว่า พวกเซลัง หรือเซลัน ว่าเป็นพวกเดียวกับพวกชาวน้ำ ในปัจจุบันนี้ คำว่า ฉลาง หรือ ถลาง ซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนว่า Junk Ceylon ก็ว่ามาจากคำ เซลัง นี้เอง ส่วนคำว่า กลัง ถ้าคำเดิมเป็น ตรัง ก็ว่าตรงกับ ต้นลาน ในภาษาเขมร เมืองขลุง อีกคำหนึ่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นคำในพวกเดียวกับ กลัง

เรื่องชื่อเมืองมักเพี้ยน ผิดห่างคำเดิมได้ง่าย เพราะคำเหล่านี้ตามปกติก็ไม่ได้ใช้เป็นคำพูดในภาษา เมื่อต่างชาตินำเอาไปเรียกร้อง เสียงก็เพี้ยนไปตามถนัดออกเสียง และไม่มีความหมายของคำเป็นเครื่องบังคับ ครั้นต่อมา เมื่อแปลไม่ได้ความ ก็มักแก้รูปและเสียง โดยลากเข้าความอีกชั้นหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ายังจำกระแสพระดำริเรื่องคำ มฤต ที่แก้เป็น มะริด ไม่หาย ต่อมาได้พบฝรั่งอธิบายเป็นทางสันนิษฐานไว้ว่า เมืองมฤต ย่อมาจากคำว่า รักตมฤตติกา แปลว่า ดินแดง เพราะดินที่เมืองมฤตเป็นสีแดงโดยมาก ที่เดาอย่างนี้ ไม่ได้ทั้งหลักคำว่า มฤต ถ้าแก้เป็น มะริด เสียแล้ว ก็หมดหนทางเดา เมื่อเร็วๆ นี้ นายพืช เดชคุปต์ บุตรพระยาโบราณราชธานินทร์มาบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ตำบล รัฐภูมิ ในอำเภอกำแพงเพ็ชร จังหวัดสงขลา ที่ถูกเป็น รัตตภูมิ แปลว่า ดินแดง และอ้างประกาศพระราชพิธีตรุษของเก่าในรัชชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ก็เขียน รัตตภูมิ อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นอ่านดู ก็สมจริงเช่นนั้น คำว่า รัตตภูมิจะถูกแก้เป็นรัฐภูมิ ในเวลาไม่สู้ช้านี้เอง

คำว่า สยามกุก ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบเรื่องสันนิษฐานคำว่า กุก ในหนังสือฝรั่ง เป็นเรื่องที่เถียงกันมาก คนหนึ่งว่ามาจากพระนามกากวัทท์ ซึ่งเป็นพระราชบิดาพระเจ้ากาฬวรรณดิส ซึ่งในพงศาวดารเหนือว่าเป็นผู้สร้างเมืองละโว้ เหตุผลฟังไม่สนิทและคงจะเป็นด้วยเหตุที่เคยโต้เถียงกันมายังไม่ยุติกันนี้ ศาสตราจารย์เซเดส์ จึงไม่กล้าถวายความเห็น

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถามศาสตราจารย์เซเดส์ถึง ชวา ว่า เวลานี้ยุติกันว่าที่ไหนแน่ ศาสตราจารย์เซเดส์ตอบมาว่า เป็นปัญหาที่ยากเข็ญมาก ตอบไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหนแน่ ได้บอกหนังสือให้ข้าพระพุทธเจ้าดูเล่มหนึ่ง ซึ่งวินิจฉัยเรื่องชวาไว้อย่างพิสดาร แต่ข้าพระพุทธเจ้าดูไม่ออก เพราะเป็นภาษาวิลันดา เพียงแต่คำในปัจจุบัน ดั่งคำ แพรกบ้านนาย ที่ตรัสประทานมา ข้าพระพุทธเจ้ายังหลงผิดเป็น แพรกบ้านใน มานาน ถ้าถึงคำอย่าง ชวา หรือ สยามกุก ซึ่งเป็นเรื่องโบราณนานไกล เรื่องเดาผิดคงมีมากและยากไม่น้อย

เลา ที่ทรงเทียบกับคำว่า เรา เป็นเรื่องจับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เรา ในชั้นเดิมจะแปลว่าใหญ่ ครั้นเมื่อแยกความหมายก็เลยแยกเสียงให้ผิดกันอีกชั้นหนึ่ง ตลอดจนคำว่า เหล่า ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันด้วยอีกคำหนึ่ง

คำที่ใช้เรียกบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเคยกราบทูลไปว่า ไทยถิ่นต่าง ๆ ใช้ว่า เก๋า และในตำราอนันตวิภาค มีคำว่า เค้า แปลว่า ข้า คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เก๋า คำนี้ น่าจะมากลายเสียงเป็น เขา ที่ใช้พูดกันเป็นสามัญ เรียกตัวผู้พูดเอง เป็นคนละคำกับ เขา ซึ่งใช้แทนบุรุษที่สาม

ตามที่ทรงตัดหนังสือพิมพ์เรื่องให้ใช้คำพูดกับสมเด็จพระสังฆราชมียศเสมอชั้นหม่อมเจ้าประทานมานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจดูประกาศตั้งสมเด็จพระสังฆราชของเก่า รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่าผิดกัน และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็มีพระนามโดยฉะเพาะจารึกในพระสุพรรณบัตร ปัญหาเรื่องสมเด็จพระสังฆราชทรงเซ็นพระนามที่ขัดข้องก็หมดไป

ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า เสา ในภาษาไทยอาหม แปลไว้ว่า เสา เครื่องยัน ค้ำ จุน และถ่อเรือ สองคำหลังน่าจะตรงกับคำว่า เส้า ที่ในกลอนใช้ว่า ก้อนเส้าหรือจะเท่าพระเมรุไกร ทำให้เข้าใจผิดได้ว่า เส้า แปลว่า หิน อันเป็นความหมายย้ายที่ ส่วนที่แปลว่า ถ่อเรือ จะตรงกับคำที่ใช้ว่า กระทุ้งเส้า ถ้าเป็นเช่นนั้น เดิมจะมีถ่อด้วยในตัว ครั้นภายหลังมาใช้ในที่ซึ่งไม่ต้องค้ำถ่อ แต่ไม้เส้าคงเหลือติดมาอยู่ ในปทานุกรมแปลคำ เส้า ไว้ว่า ไม้เท้า ไม้ยาวสำหรับค้ำ พะเนียดนก ไม้หลักที่ปักอย่างกันเส้า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เส้า กับ เสา เป็นคำเดียวกัน หากแต่แปลงเสียงให้เพี้ยนเพื่อใช้หมายความให้ต่างออกไปเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ