๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

พระวิจารณ์เรื่องพระแสงอัษฎาวุธ และพระอธิบายเรื่องปืนที่ทรงพระ เมตตาตรัสประทานข้าพระพุทธเจ้าในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ เป็นความรู้หลายอย่างที่ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ทั้งนี้พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

๑. ดาบชะเลย ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นตัวอย่างในหอพิพิธภัณฑ์ มีรูปคล้ายง้าว ด้ามสั้น รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า เป็นดาบใหญ่ผิดแปลกกว่าดาบธรรมดาสามัญ ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า คำชะเลยนอกจากมีความหมายว่า พวกข้าศึกซึ่งจับเอามา คงจะหมายความว่า แปลกพวกหรือผิดแบบแผนที่ถือกันว่าถูกต้อง อย่างคำว่า ชะเลยศักดิ์ได้ด้วย พวกชะเลยที่จับมา ก็คงหมายความว่า พวกอื่นแปลกพวกของตน ตำราชะเลยศักดิ์ ก็คือตำราอื่นแปลกจากพวกตำราที่กำหนดไว้ เมื่อเปรียบเทียบกันดังนี้ ดาบชะเลย ก็น่าจะหมายความว่า ดาบแปลกพวก หรือผิดแปลกจากพวกดาบที่เคยใช้กันอยู่ คือเป็นดาบของชาวต่างประเทศ ทั้งนี้จะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

๒. ที่ตรัสว่า มีผู้ออกความเห็นคำว่า บน จะเรียกตามเสียงที่ลั่นธนูไปดัง ปึ๋น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าน่าจะถูก ในภาษามะลายูเรียกลูกธนูว่า อนักปัน อนัก ว่า ลูก ปัน ก็คงหมายถึงธนู ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ก็เรียกธนูว่า ปืน แต่ไทยนุงเรียกว่า ปันหน้า คำว่า หน้า คือหน้าไม้ในภาษาไทยสยาม แสดงให้เห็นว่า ปืน กับ ปัน เป็นคำเดียวกัน มีแนวเทียบ ครื้นครั่น เป็นตัวอย่าง เมื่อคำว่า ปืน หรือ ปัน ในภาษาไทยไปพ้องกับ ปัน ในภาษามะลายู ก็เป็นหลักฐานสนับสนุนคำว่า ปืน ว่าคงตั้งตามเสียง เพราะภาษาไทยกับภาษามะลายูเป็นคนละตระกูลภาษา และไม่ปรากฏมีลาดเลาว่า ปัน ในภาษาไทยนุงกับ ปัน ในภาษามะลายูจะเป็นคำที่ยืมเอาไปจากกัน แสดงว่า ปืน เป็นคำตั้งจากเสียงได้แน่นแฟ้นขึ้น อย่างเดียวกับคำว่า พ่อแม่ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้เพียรเก็บและจดเอาไว้ได้มากภาษาด้วยกัน ก็ปรากฏว่า ภาษาที่อยู่คนละทวีปเสียงก็ยังพ้องกันได้ บางภาษาก็กลับกัน เรียกพ่อว่าแม่ เรียกแม่ว่าพ่อ แสดงให้เห็นว่า เป็นคำต่างพวกต่างมี ไม่ได้ยืมกัน และคงตั้งจากเสียงที่เด็กเล็ก ๆ สอนพูดในทีแรก ซึ่งใช้ออกเสียงที่ริมฝีปากก่อน ถัดไปก็เป็นเสียงเกิดที่ฟัน คำว่า พ่อแม่ จึงมีเสียงอยู่ในอักษรเกิดที่ริมฝีปาก และที่ฟันทั้งนั้น

ทางภาคอิศาน นอกจาก ปืน ยังมีคำว่า ผา อีกคำหนึ่ง ในภาษาไทยถิ่นอื่น ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่พบ มีแต่คำว่า ป๋า ในภาษาจีนชาวกวางตุ้ง แปลว่าคันธนู มีเสียงและความหมายใกล้กับ ผา มาก ในภาษาไทยสยาม ผา คงเหลืออยู่เพียงเป็นคำซ้อนของปืนเท่านั้น

หน้าไม้ ในภาษาไทยถิ่นอื่นแทบทุกถิ่น เรียกว่า หน้า คำเดียวไม่มีคำว่า ไม้ ภาษาปักษ์ใต้เรียกกระสุน ทำด้วยไม่ไผ่ คล้ายหน้าไม้ ว่า นู คงจะเป็นคำเดียวกับ หน้า ในภาษาไทยถิ่นอื่น จีนเรียกหน้าไม้ว่า โหน่ (กวางตุ้ง) และ โน้ (แต้จิ๋ว) ภาษาญวนเรียกได้ทั้ง โน่ และ หน้า

คำที่ใช้เรียกธนู ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ยังมีคำอื่นเรียกได้อีก เช่น ภาษาไทยคำที่เรียกคันธนูว่า ก่ง เรียกลูกธนูว่า ลิ่ม ในภาษาจีน กุ่ง (กวางตุ้ง) หรือ เกง (แต้จิ๋ว) แปลว่า คันธนู ลูกธนูว่า กุ่งจิ๋น (กวางตุ้ง) หรือ เกงจี่ (แต้จิ๋ว) คำว่า กุ่งจิ๋น เทียบกับคำว่า ก่งศิลป ก็ใกล้กันมาก ไทยพายัพและอิศานเรียกคันธนูคันกระสุนว่า ก๋ง ไทยใหญ่เรียกหน้าไม้ว่า ก้อง คำว่า ก้อง ที่แปลว่าคันธนู ถ้าเทียบกับคำว่า โก่ง หลังกุ้ง หลังโกง โค้ง คุง ฮุ้ง รุ้ง ก็แปลกที่เสียงและความหมายคล้ายคลึงกันทุกคำ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ตั้งคำจากที่มาคำเดียวกัน

คำว่า ปืนไฟ ในภาษาไทยต่าง ๆ มักเรียกกันต่าง ๆ เช่น ไทยอาหมเรียกว่า ก้อง คงจะเป็นคำเดียวกับ กล้อง เรียกปืนเล็กว่า ก้องน้อย ปืนใหญ่ว่า ก้องหลวง ไทยใหญ่เรียก ก้อง อย่างเดียวกัน เรียกหอกปลายปืนว่า ก้องสบหอก คือก้องที่ปากมีหอก ส่วนปืนใหญ่เรียกว่า อาม็อก ตรงกับคำทางพายัพและของพะม่า ลางทีจะได้มาจากคำของพะม่า

ไทยทางตะวันออก คือ ไทยนุง ไทยโท้ และไทยขาว เรียกปืนไฟว่า ซุ่ง ไทยย้อยว่า จ้อง ญวนเรียกว่า ซุ้ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า กระสุน ในภาษาไทยจะมาจาก ลูกซุ้ง ตัว ก ในคำว่า ลูก จะหลงมาอยู่กับ ซุ้ง กลายเป็น กะซุ้ง และ กะสุน ปืนไฟเป็นของใหม่ คำที่ใช้เรียกจะต้องคิดหาคำขึ้นใหม่ คำจึงพ้องกันเป็นพวก ๆ

ในภาษาไทยสยาม ยังมี สินาด อีกคำหนึ่ง คำนี้มีอยู่ในภาษามอญและภาษาข่าแทบทุกพวก เป็นแต่เพี้ยนเสียงเป็น ลิลาด ชินาด และอื่น ๆ ในบางถิ่นคำนี้จะเป็นของในภาษาตระกูลมอญ-เขมร เพราะไทยถิ่นอื่นไม่ปรากฏว่ามีใช้คำว่า สินาด เลย

ปืนบาเรียม ในเขมร ก็มีคำว่า เมริม ในมะลายูมี มาเรียม แปลว่าปืนใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบว่า คำนี้มาจากภาษาโปรตุเกต แต่ค้นหาหลักฐานอีกไม่พบ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ปืนบาเรียม คงจะเป็นปืนใหญ่ของเก่าที่มักจมฝังดินอยู่ จะถูกผิดสถานไร ขอประทานทราบเกล้า ฯ ส่วนคำว่า ปืนจ่ารง มณฑก นกสับ เป็นปืนอะไร ขอพระเมตตาทราบเกล้า ฯ ด้วย

๓. ที่ประทานคำว่า นครเขลาง และ แม่กลอง มานั้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเป็นคำใน พวก กลัง ตรัง ดังตรัสประทานมา แสดงให้เห็นว่าคำๆเดียวกัน เมื่อกระจายออกไป เสียงก็เพี้ยนไปตามท้องถิ่น และคำนั้นเมื่อเรียกเพี้ยนออกไป ใกล้กับเสียงคำอื่นที่มีความหมายแปลได้ ก็ถูกแก้เสียงลากเข้าความไปตามคำนั้น คำที่แท้จริงของเดิมก็อาจหายไป หมดเค้าที่จะค้นคว้าหาคำเดิมได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ