- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระเมตตาประทานคำทักท้วงบางคำนั้น เป็นประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เช่น คำว่า ปิไส ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้คิดไปถึงคำว่า แทงวิไส เพราะข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ถึงการเล่นชะนิดนี้ว่าเป็นการเล่นชะนิดใด เมื่อทรงตั้งข้อสังเกตในคำ วิไส ว่าจะมาจาก ปิไส ข้าพระพุทธเจ้าก็มานึกถึงคำว่า prisi ในภาษามลายู ที่แปลว่า โล่ ซึ่งเป็นคำต้นในสามคำที่ได้ถวายไป ว่าใกล้กับคำว่า ปิไส มาก เพราะ อี—ไอ มักเพี้ยนกันได้ ในชั้นตัน ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นคำมลายูในถิ่นปัตตานี ว่าจะมีคำที่ออกเสียงในมลายูอื่นเป็น อี แต่ในปัตตานีออกเสียงเป็น ไอ ก็ไม่พบ เพราะคำภาษาถิ่นปัตตานี ข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่น้อยคำ การถ่ายเสียงของคำมลายูเป็นตัวอักษรโรมันมักไม่อยู่ที่พจนานุกรมภาษามลายู—อังกฤษ ต่างคนทำก็ใช้ถ่ายเสียงด้วยตัวโรมันต่างกัน แม้แต่ในเล่มเดียวกันก็ต้องค้นดูหลาย ๆ แห่งในคำที่เห็นว่าจะเพี้ยนไปได้ ในคำว่า โล่ พจนานุกรมภาษามลายูอังกฤษฉะบับของ Marsden เขียนว่า prisi ครั้นมาค้นดูในฉะบับของ Wilkinson เขียนเป็น perisai ตรงกับ ปิไส เป็นแน่ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ถึงการเล่นแทงวิไสด้วย ว่าเป็นการเล่นชะนิดใด
เรื่อง เงือก ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยนึกไปถึง เงือกคน จึงทำให้ข้อวินิจฉัยของข้าพระพุทธเจ้าบกพร่อง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ในคำเดิมจะมีแต่ เงือกงู ซึ่งเป็นชะนิดคำซ้อนความเดียวกัน มาภายหลังได้คติเรื่องสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา ก็คิดหาคำใช้โดยอาศัยคำว่า เงือก ที่มีอยู่แล้ว และแปลว่างูมาใช้แทน แต่เติมคำว่า คน เพื่อให้ทราบว่าเงือกในที่นี้ ไม่ใช่หมายความถึง เงือกงู เป็นความรู้ ให้ทราบถึงการคิดคำใช้ และเรื่องความหมายของคำย้ายที่จากเดิมมาเป็นความหมายอย่างใหม่ ข้าพระพุทธเจ้าดีใจที่ได้สติจากที่ทรงทักท้วงมา
เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง อ้างถึงคำอธิบายในต้นเหตุมังกร ว่าได้เค้ามาจากจรเข้ เมื่อเวลาอ่านไม่ได้จดหนังสือซึ่งเป็นที่มาของเรื่องนี้ไว้ ข้าพระพุทธเจ้านึกไม่ออก แต่เมื่อมาระลึกถึงคำ เงือก ที่ไทยบางถิ่นแปลว่า จรเข้ และมังกร ความก็เข้ากันได้สนิทดีว่า เงือก หรือ มังกร ก็คือ จรเข้ นั่นเอง
จรเข้ ที่ข้าพระพุทธเจ้าว่ามาจากเขมรเป็นผิดแน่ จะเป็นด้วยอะไรไม่ทราบเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้สอบคำในภาษาเขมรเสียก่อน ผู้ที่บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า จรเข้ มาจากเขมร คงพุ่งแปลมาให้ ที่ประทานคำ เข้ ว่าชาวปักษ์ใต้ยังใช้เรียกกันอยู่ และทรงสันนิษฐานว่าจะเป็นคำไทยนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ นอกจาก จรเข้ เรียกว่า เข้ แล้ว ชาวปักษ์ใต้ยังเรียก ตะเฆ่ ว่า เข้ เหมือนกัน ที่ทรงเห็นว่า จรเข้ จเข้ และ ตะเฆ่ เป็นคำเดียวกัน เป็นแต่เขียนยักไปตามชะนิด ข้าพระพุทธเจ้าได้ความคิดเป็นความรู้อย่างหนึ่งว่า โบราณใช้วิธีเติมเสียงตัวหน้ายักเยื้องไปต่าง ๆ เพื่อให้เกิดคำในภาษามากขึ้น และการยักเยื้องเสียงนี้ ก็เป็นแนวไปตามคลองของเสียงที่อาจเพี้ยนไปได้ เป็นเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้ากำลังค้นอยู่
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในข้อที่ทรงเห็นว่า ตะ จะมาจาก ตัวเข้ โดยเสียง ตัว กร่อนเป็น ตะ ไป คำในจำพวกสัตว์ที่ขึ้นด้วยเสียง ตะ มีอยู่ในภาษาไทยสี่ห้าคำ คือ ตะกวด ตะขาบ ตะเข้ ตะโขง และ ตะพาบน้ำ ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตคำในภาษาไทยขาว เมื่อเรียกสัตว์ ก็เติม ตัว ไว้หน้าคำเสมอ ใช้ได้แก่สัตว์ทุกชะนิด ตลอดจน นก ปลา สัตว์เลื้อยคลานและแมลงด้วย ข้าพระพุทธเจ้ามาหยุดชะงักลงที่ตรงว่า ทำไม ตัว มาเป็น ตะ จึงมีอยู่ในภาษาไทยเพียงสี่ห้าคำเท่านั้น และทั้งเป็นจำพวกสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดด้วย
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระโอกาศ เพื่อกราบทูลนอกเรื่องไปถึงเรื่องไทยขาว ฝรั่งอธิบายไว้ว่า เป็นพวกผู้ไทยที่อยู่เหนือหลวงพระบางขึ้นไป ในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก แยกออกเป็นไทยขาว ไทยดำ และ ไทยลาย ตามสีกางเกงที่นุ่ง ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำว่า กางเกง ไม่พบ พบแต่คำว่า ส่ง ในภาษาไทยภาคอีศานและผู้ไทย เป็นเหตุให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงพวกลาวโซ่ง หรอลาวทรงดำ ว่าจะเป็นพวกผู้ไทยดำ แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาศที่จะสอบสวน เป็นที่น่าเสียดายมาก ว่าภาษาและขนบธรรมเนียมของลาวโซ่งจะต้องสูญสิ้นไปในเวลาเร็ววัน เพราะความเจริญในปัจจุบันแผ่ไปถึงแล้ว ถ้าได้ขอแรงกรมการอำเภอ ช่วยจดไว้ในเวลาว่างและจดตามที่กำหนดแนวไว้ให้ถาม ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร มาเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตัวหนังสือของลาวโซ่งมาให้ผู้รู้พิจารณา ชี้แจงว่าเป็นหนังสือของพวกผู้ไทย เป็นอันทราบได้แน่ว่าลาวโซ่ง ก็คือผู้ไทยพวกหนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้เรื่องรูปกินนรตัวเมียมีสองอย่าง พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ เป็นที่สุด ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเฉลียวใจมาแต่ก่อน ส่วนกินนรตัวผู้มีรูปอยู่น้อยนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่เคยเห็น นอกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปพบลายตู้ในหอพระสมุดวชิรญาณแห่งหนึ่ง มีรูปท่อนบนเป็นนางท่อนล่างเป็นจำพวกสัตว์เนื้อ สอบถามว่า เรียก กินนรเนื้อ สอบถามหาความรู้ต่อไปก็ไม่ได้อะไร และเรื่องทางอินเดีย ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยพบ ทำนองจะคิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อทีหลัง ตามความนึกคิดของผู้วาด มากกว่าจะมีอยู่แล้วในตำราของเดิม
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์