๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑

กรมศิลปากร

วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม รวม ๒ ฉะบับ ทรงพระเมตตาประทานเรื่องคำต่าง ๆ ที่ทรงสันนิษฐาน เป็นพระเดชพระคุณลั่นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

หมูหลึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบประกาศขายน้ำมันหมูหลึ่งใช้ทาบาดแผล ข้าพระพุทธเจ้าได้ไต่ถามหรือค้นได้จากหนังสืออะไรจำไม่ได้ เพราะนานมาแล้ว ว่าเป็นสัตว์ที่มีอยู่ในแหลมมะลายู ฝรั่งเรียกว่า tapir และเรียกกันว่า ตัวสมเสด หรือ ประสมเสรจ เพราะว่ามีสีแปลก คล้ายประสมเอาไว้เสร็จ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่สู้จะสมเหตุ เพราะตัว tapir ที่ข้าพระพุทธเจ้าเห็น รูปร่างคล้ายสุกรแต่โตกว่ามาก ขาล่ำสันแต่สั้น ปากยื่นเป็นงวงออกไปเล็กน้อย ส่วนปลายเท้าเป็นนิ้วมีเล็บ ลักษณะคล้ายกับที่ประทานมา คำว่า หมูดิน ที่เรียกกันทางเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าพบแต่คำว่า หมาหลิน ในภาษาไทยใหญ่ แปลไว้ว่า fox ซึ่งมักแปลกันว่า สุนักข์จิ้งจอก ในหนังสือเรื่องชาดก มักมีเรื่องสุนักข์จิ้งจอกบ่อยๆ ในที่นี้แปลจากคำว่าสิงคาล ในภาษาบาลี ตรงกับ jackal ในภาษาอังกฤษ คงไม่ใช่สุนักข์จิ้งจอกซะนิดที่ฝรั่งเรียกว่า fox เพราะลักษณะรูปร่างและขนาดผิดกันมาก

มานเมียน ข้าพระพุทธเจ้าเปิดดูในปทานุกรม แปลคำ ระเมียน ว่าน่าดู งาม ว่าเป็นคำมาจากภาษาเขมร ส่วนคำว่า ทัมวล บเมี้ยน ทางภาคอิศาน ทัม คือทำ วล แปลว่า รกรุงรัง ยุ่ง บเมี้ยน แปลว่า ไม่เก็บงำ ก็จะเป็นความเดียวว่า เก็บไม่มิดชิด ซึ่งคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มิด กับ เมี้ยน จะเป็นคำเดียวกัน อย่างแนวเทียบว่า ขีดเขียน ทัมวล กับ ทังวล จะเป็นคนละคำ เพราะ ทังวล ทำงน ทำวน ในปทานุกรมแปลว่า กังวล ห่วงใย ว่ามาจากภาษาเขมร ความไม่ได้กัน ทัมวล ที่สกดด้วย ล บางทีจะเป็นเพราะจะเขียนรูปให้เป็นอย่างบาลี ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบเขียน ดอน เป็น ดร ก็มี คำว่า หนองหาร มีผู้แก้เป็น หาน ให้เข้ารูปกับ ละหาน ที่แท้เป็นเพราะหนังสือชาวอิศานชอบเขียน น เป็น ร เดียรดาษ อีกคำหนึ่ง ซึ่งไม่มีในภาษาบาลีหรือสํสกฤต ถ้าลองเปลี่ยน ร เป็น น เป็น เดียนดาษ เสียงก็ใกล้กับคำว่า ดื่นดาด มาก ในปทานุกรมมีคำว่า กระมวล แปลว่า ตำบล และว่า ตระมวน ก็ใช้ ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นหาดูรูปของคำก็น่าจะเป็นตำบลนั้นเอง โดยเขียน ตำ เป็น ตัมบล แปลง บ เป็น ว อย่าง เบ่อ-เว่อ บิ่น-วิ่น เป็น ตัมวล อีกชั้นหนึ่ง และเติม ร ตัดพยางค์ของคำผิด กลายเป็น ตระมวล ไป ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าสันนิษฐานมานี้ การผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ

พิมาย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นในหนังสือฝรั่งสันนิษฐานไว้สองนัย คืออย่างหนึ่งว่า เพี้ยนมาจาก พิมาน ซึ่งถ้าออกเสียง น ขึ้นนาสิกมาก เสียง มาญ ก็เพี้ยน เป็น มาย ได้

อีกอย่างหนึ่งว่ามาจาก วิมายะ อันเป็นชื่อของพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งของมหายาน ตรงกับที่ประทานมา อย่างหลังนี้สนิทกว่า เพราะได้ทราบเกล้า ฯ ว่าประสาทพิมายเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนคำว่า มากมาย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นคำซ้ำชะนิดแปลงเสียงให้สดวกที่เป็นอยู่ในภาษาไทย เช่น หลากหลาย ฝากฝ่าย เตรด ในคำว่า พาหุรัตน์ตรัสเตร็จ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าน่าจะเป็นคำเดียวกับ เก็จ ในความที่แปลว่า แก้วประดับ แต่ก็ตกอยู่ในฐานเดา การจะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในกฎหมายเก่าอยู่สามคำ คือ มายุมแปลง ในความว่า ชายหญิงพากันไปก่อน ยังมิได้แต่งงานบริคลนั้น ท่านว่าให้ชายนั้นแต่ง มายุมแปลง ไหว้พ่อแม่แห่งหญิงนั้นโดยคำนับ คำว่า มา น่าจะเป็นคำเดียวกับ สมา หรือ ขมา เพราะบางแห่งก็เขียนอย่างนี้ ยุม ภาษาไทยถิ่นอิศานแปลว่า ยอม แปง ภาษาถิ่นอิศานว่าไหว้ ในภาษาไทยอาหมว่า เคารพต่อผีหรือวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ความทั้งหมดน่าจะหมายความว่า ยอมไหว้ผีปู่ย่าตายายของฝ่ายหญิงเป็นการขมาโทษที่ล่วงเกิน

บก ท่านว่ามันทำให้ลูกหลานท่าน นมบกอกพร่อง ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบแต่คำว่า ตก เมื่อมาพบของเก่าใช้คำว่า บก ดั่งนี้ ได้ความสนิทกว่า ตก เพราะ บก ก็แปลว่า แห้ง และมีคำหลังว่า พร่อง เข้าคู่เป็นบังคับไว้ด้วย

ชา จักกล่าวมูลคดีวิวาท อันจะให้บังเกิดความด้วยแบ่งปันบานแผนก $\left. \begin{array}{}\mbox{หมู่ } \\[1.4ex]\mbox{ชา }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ กันตามฝ่าย $\left. \begin{array}{}\mbox{ทหาร } \\[1.4ex]\mbox{พลเรือน }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ คำว่า ชา ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำแปลไม่พบ ถ้าตีความในประโยคข้างต้น ก็คล้าย ๆ กับจะมีความหมายว่าแบ่งปันแผนกเป็นหมวดหมู่กัน และให้เสมอกัน เท่ากัน คงจะไม่ใช่คำเดียวกับคำว่า กำหนด กฎชา ซึ่งในภาษาจีนมีคำคล้ายคำว่า ชา แปลว่า กำหนด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ