๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องถ้อยคำต่าง ๆ ได้รับแล้ว

พวกคำคู่ ซึ่งท่านนึกขึ้นได้ ๘ วิธีผสมกันนั้นถูกทั้งสิ้น ฉันคิดว่ามีอีก และคิดว่ามีอีกมากอย่างด้วย ฉันเห็นด้วยท่านว่าคำคู่เกิดแต่พูดพุ่งไปก่อน แล้วจึ่งเก็บเอาไปใช้เปนมีความหมายในภายหลัง

คำที่ซ้ำกันตรง ๆ ก็มีอีกวิธีหนึ่ง เช่น เล็กเล็ก โตโต ไม่ใช่มีแต่ไทย พม่าก็มีคำ แงแง ถึกถึก มลายูก็มี กจิกจิ ตรงกับ เล็กเล็ก คำที่ตรงกับ โตโต จะมีหรือไม่มีฉันไม่ทราบ คำว่า ลูกแง โคถึก นี่ประกอบด้วยคำพม่า

คำที่ประกบกับสี เข้ากับขาวพูดว่า ขาวจ๊วก ก็มี ขาวจั๊วะ ก็มี ท่านหาคำแปลมาได้ดีมาก คำที่ประกอบกับเหลือง ไม่ใช่มีแต่ เหลืองอ๋อย เหลืองจ๋อย ก็มี เหลืองจ้อย ก็มี ถ้าเดินตามทางนี้ เขียวอี๋ จะต้องเปน เขียวจี๋ ก็ได้ เขมรมีคำ ขจี แปลว่าอ่อน และเคยประกอบ คำว่า เขียวขจี แปลว่า เขียวอ่อน อันนี้ก็เป็นแนวเดียวกัน ไปได้กับ เหลืองห่อย ซึ่งหมายความว่าเหลืองอ่อน แต่ที่จริงคำ อ๋อย ห่อย ใกล้ไปข้างน้อย แม้จะเปนเหลืองน้อย ก็คงเปนเหลืองอ่อนอยู่นั้นเอง แต่นี่ติดจะเดาหลายชั้นเกินไปหน่อย

คำ กะจ้อยร่อย กะจิริด ท่านคิดว่า ร่อย เปน น้อย ริด เปน นิด ฉันเห็นเปนถูกแล้ว แนวเดียวกับ ไหน ไร เช่นพูดมาก่อนแล้ว

ขอบใจท่านที่บอกคำไทยซึ่งใช้กันทางพายัพอีศาน ให้ทราบหลายคำ เห็นคำกระต่ายขูดมะพร้าวเรียกว่า แมว เข้ารู้สึกเห็นขันมาก นิทานพระยามนตรีไปเป็นข้าหลวงปักษ์ใต้ก็มีเรื่องกระต่ายขูดมะพร้าวเหมือนกัน

จึงจำจะต้องเล่าต่อ เมื่อนายศรีแก้วเอาใบมะพร้าวมาให้พระยามนตรีแล้ว พระยามนตรีก็ฉุน นายศรีแก้วก็ฉุน ข้างพระยามนตรีฉุนว่าจะเอาลูกมะพร้าววิ่งไปเอาใบมะพร้าวมาให้ ข้างนายศรีแก้วฉุนว่าจะเอาใบมะพร้าว ครั้นเอามาให้ กลายเปนว่าจะเอาลูก เมื่อได้ความเข้าใจแล้วนายศรีแก้วเอาลูกมะพร้าวมาให้ ที่นี้พระยามนตรีสั่งนายศรีแก้วให้ไปหากระต่ายมาให้ตัวหนึ่ง คราวนี้นายศรีแก้วตกใจมาก ด้วยคิดเห็นว่าจะหาไม่ได้ เที่ยวได้วิ่งไปตามบ้าน ถามหาว่าใครจับกระต่ายมาเลี้ยงไว้บ้าง ชาวบ้านเขาพากันเห็นขัน เขาถามว่าจะเอาไปทำไม นายศรีแก้วก็บ่นบอกว่าเจ้าคุณท่านจะเอา จะเอาไปทำไมก็ไม่รู้ เที่ยวหาไปจนถึงบ้านหญิงมลายูซึ่งเขาเคยเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ หญิงคนนั้นฉลาดหน่อย จึ่งถามนายศรีแก้วว่าท่านจะเอากระต่ายนั้น ท่านกำลังทำอะไรอยู่ นายศรีแก้วบอกว่าท่านกำลังจะแกงไก่ หญิงมลายูนั้นเข้าใจ ร้องว่า อา เล่กคู้ด เล่กคู้ด นายศรีแก้วเชื่อกลับมาบ้าน เอาเหล็กขูดไปให้พระยามนตรี เป็นการสำเร็จเรียบร้อย ไม่เกิดถ้อยร้อยความ ประหลาดดี เราเห็นเปนกระต่าย ทางพายัพเขาเห็นเปนแมว แต่ทางปักษ์ใต้ไม่เห็นเปนสัตว์เลย

คำ อย่า อยู่ อยาก อย่าง ฉันสงสัยมานานแล้ว ว่าทำไมจึงนำด้วยตัว อ จำเพาะแต่สี่คำเท่านั้น ท่านอธิบายเปิดตาให้เข้าใจได้ว่าเปนอักษรกล้ำ ดีมาก ไม้ม้วน ๒๐ คำ ก็สงสัยเหมือนกัน ท่านเคยพิจารณามาหรือเปล่า ฉันแลไม่เห็นเหตุเลยจนบัดนี้

เรื่องระดับเสี่ยงสูงต่ำ นั้น ฉันได้ทราบจากหลวงราชนิธิวิมล เปนเด็กอยู่ที่บ้านฉันก่อน แล้วไปทำการอยู่ที่โคราช เขามาพูดให้ฟังว่าชาวเมืองนั้นเสียงกลับกันกับเรา ถ้าเราต่ำเขาก็สูง ถ้าเราสูงเขาก็ต่ำ ฉันไปถึงโคราชสังเกตตามก็เห็นจริงอย่างว่า เมื่อไปนั้นเปนเวลาดอกไม้บาน ได้ดอกไม้ชะนิดหนึ่ง อยากรู้ชื่อถามเขาว่านี่ดอกอะไร เขาบอกว่า ตาโนกโก๊ด ได้แก่ตานกกดทางเรา แต่เปนความจริงต้องยืนเสียงชาวบางกอกไว้ แขวงหัวเมืองย่อมจะหันเข้ามาหาเสียงบางกอกกว้างออกไปทุกที ในที่สุดเสียงและภาษาพื้นเมืองจะหายกลายเปนอยางกรุงเทพฯ ไปหมด นับว่าเปนความเจริญอย่างหนึ่ง

เรื่องวิสัญชนี ฉันออกจะไม่พอใจมาก เปนเครื่องหมายแบบสํสกฤตแท้ ๆ เขาไม่ได้ใช้เปนสระอะ ซ้ำตรงกันข้ามเสียด้วย สระอะเขานับเปนลหุ ถ้าใส่วิสัญชนีเข้ากลายเป็นครุ เรามาใช้เปนสระอะ แต่บังคับใช้ฉะเพาะ ภาษาไทย ภาษามคธสํสกฤตไม่ให้ใช้ ส่วนภาษาอื่นออกไปเช่นพะม่า มลายู เขมร มอญ ให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ไม่ทราบ ไม่มีใครบอก รู้สึกว่าลำบากมาก เห็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงใช้ในภาษาสํสกฤตซึ่งพระองค์ทรงนำมาใช้ใหม่ คนอ่านไม่ถูกจึงทรงใส่วิสัญชนีลงไป เช่น ตรุส ตะรุษะ เปนต้น ฉันคิดว่าเปนหน้าที่ของผู้อ่านจะต้องเรียนอ่านให้ถูก ไม่ใช่กิจของผู้เขียนจะต้องเขียนโอนเอนไปสำหรับให้คนไม่ได้เรียนอ่านถูก มีคำอีกถมไปซึ่งคนจะอ่านไม่ถูก และเขียนช่วยให้อ่านถูกก็ไม่ได้ ที่จริงมีคำโดยจำเพาะที่จะต้องใช้วิสัญชนี เปนต้นว่า ละเลย นี่ต้องใช้ ลลาย ไม่ต้องใช้ เขมรเขาเขียนยึดเอาแบบสํสกฤตทีเดียว เช่น ชำนิะ เขาลงวิสัญชนี ดำริห เขาลง ห การันต์ ตามแบบสํสกฤตใช้ตัว ห แทนวิสัญชนีได้ แต่เราเอาออกหมดด้วยเห็นว่าผิด

นึกถึงคำ งัวขัน ขึ้นมาได้ว่า เพราะเราเขียนผิดจึ่งได้เห็นขวางหนัก ที่ถูกคำ ขัน นั้นเปน ขาน ไก่ขัน ก็คือ ไก่ขาน หมายถึงขานยาม ทั้งคำอื่นก็มีใช้อยู่ถมไป เช่น ขานชื่อ หมายความว่าออกชื่อ ยืดเปน ขนานนาม หมายความว่าตั้งชื่อ คำใช้มีอยู่อย่างนี้ งัวร้องจะเปน งัวขาน ย่อมฟังคล่องขึ้นกว่าเก่ามาก แต่คำ ขนานนาม นี้หกหลังไปตีเอาคำ เรือขนาน แตก ควรจะเปน เรือขนัน หมายความว่าเรือผูกติดกัน ยืดจากคำ ขัน-ขันชะเนาะ ขนันปากหม้อ แห่งผีกุมารก็มีเปนพยานอยู่

คำถามเรื่อง อินทร์พรหม เรื่อง ซ่าง หรือ ซั่ง จะตอบมาต่างหาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ