- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านข้อความที่ทรงพระเมตตา ประทานมาในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๔ เดือนนี้ ได้รับความเพลิดเพลินในความรู้ สว่างเป็นอันมาก พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
ที่ทรงสันนิษฐานเรื่อง ตัวผีเสื้อ และคำว่า ผีเสื้อสมุท ผีเสื้อยักษ์ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ ได้มีผู้บอกเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ที่ผีเสื้อมั่วสุมจับกลุ่มกันนั้น เพื่อตอมกินน้ำ และมีคติทางภาคอีศานว่า ตัวผีเสื้อบินมาเป็นกลุ่มมาก ก็คือแสดงลางร้าย ว่าจะมีเหตุเภทภัย เช่นเกิดโรคระบาดขึ้นเป็นต้น ชาวภาคอีศานจึงหวั่นหวาดมากเมื่อเห็นผีเสื้อจับกลุ่ม ที่ทรงสันนิษฐานว่า ผีเสื้อ คือ ผีเชื้อโรค ก็เข้ากับเหตุผลที่ประทานมาได้สนิท ส่วน ผี ผีเสื้อสมุท ลางทีจะด้วยเหตุที่เป็นผู้รักษากรุงลงกาทางน้ำ เข้าทำนอง พระเสื้อเมือง ซึ่งต้องเป็นเชื้อวงศ์ที่เป็นที่ไว้วางใจ จึ่งได้ใช้คำว่า ผีเสื้อสมุท ไม่ใช้คำว่า ยักษ์ เฉย ๆ เหมือนกับยักษ์ตัวอื่น ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามชาวอีศานว่า ยักษ์ เรียกว่าอะไร ก็ชี้แจงว่าเรียกว่ายักษ์เหมือนกัน แต่ลางทีก็เรียกว่า ผีเสื้อยักษ์ เป็นชะนิดคำซ้อน ที่ผีเสื้อยักษ์มักเกี่ยวกับน้ำ น่าจะมาจากคำว่า รากษส ซึ่งแปลกันว่า รักษาน้ำ ในชาดกมีเรื่องผีเสื้ออยู่บ่อย ๆ มักเกี่ยวกับเรื่องรักษาดูแลสระน้ำ ได้ความว่า แปลมาจากคำ รากษส รูปคำเหมาะกันดี เพราะมีหน้าที่รักษาดูแลสระน้ำอย่างเดียวกับ พระเสื้อเมือง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบ้านเมือง ที่บาลีใช้คำว่า รากษส ก็คงมุ่งไปในเรื่องรักษาสระน้ำ คำว่า ผีเสื้อ มักเกี่ยวกับน้ำ และมักเป็นตัวเมีย น่าจะ เนื่องมาจากเรื่องผีเสื้อสมุทในรามเกียรติ์ และเรื่องในชาดก เพราะฉะนั้น ถ้าจะแปลผีเสื้อยักษ์ ว่า ผีเชื้อยักษ์ ผีเสื้อน้ำ ก็ ผีเชื้อน้ำ ความได้สนิทชัดดี ไม่มีที่สงสัยอะไรอีก
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยในกระแสพระดำริ ในคำว่า แรง สิง และ เพลง ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นดูในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอื่น ไม่พบเค้าเงื่อนว่า คำ เพลง หรือคำอื่นในพวกเดียวกัน เป็นคำเดิมในภาษาไทย ที่ประทานคำเขมรมา เป็นแน่ว่ามาจากภาษานี้ ข้าพระพุทธเจ้าชอบใจคำ ละเบง ที่ตรัสว่าใกล้กับ เพลง เปลง แต่พยัญชนะกลับกัน เข้าลักษณะที่ในภาษาฝรั่งที่เรียกว่า Metathesis เกิดเพราะใจเร็ว แต่อวัยวะในปากกลับตัวไม่ทัน เวลาออกเสียงจึงกลับกัน อย่างคำว่า Baranasi เป็น Benares หรือ Brunei กับ Borneo ข้าพระพุทธเจ้าลองหาคำชะนิดนี้ในภาษาไทย ก็พบอยู่ไม่กี่คำ เช่น เหยี่ยว กระไต คือ ตะไกร กะตุด คือ ตะกรุด ในภาคอีศานเรียก ตะกร้อ ตะกร้า ว่า กะต้อ กะต้า เมื่อปีกลายนี้ เจ้าหน้าที่นำต้นฉะบับตัวพิมพ์ดีดในจดหมายเหตุพระราชหัตถ์เลขา มาถามคำ โรมา ในความว่า โรมาบนหลังหีบ คืออะไร ความในนั้น ส่อให้เห็นว่าเป็นแก้วหินชะนิดหนึ่ง ก็ได้ความว่า โมรา นั่นเอง ซึ่งผู้พิมพ์ใจเร็วไปกว่าเขียน เสียงจึงกลับกัน ได้มีผู้อธิบายคำ สังกะสี ให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า สังกะ แปลว่า ขาว สังกะสี แปลว่า สีขาว เป็นเพราะเสียงกลับกัน แต่เท่าที่ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตมา คำที่กลับกัน มักมีตัว ร ล แซกอยู่ เพราะ เสียงสองตัวนี้เป็นเหตุ ส่วน สังกะสี ไม่น่าจะกลับกันได้ ด้วยไม่มีเสียง ร ล เลย และคำว่า สังกะ ใกล้กับ Zinc ในภาษาฝรั่งมาก ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นที่มาไม่พบ
ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นคำว่า โล่ ในภาษาไทยต่าง ๆ ไม่พบ แต่ในภาษาจีนมีคำว่า โหล หรือ หลู ในเสียงกวางตุ้งและแคะ โล้ และ ล่อ ในเสียงแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ลู ในเสียงไหหลำ แปลว่า โล่ขนาดใหญ่ แจวท้ายเรือ (ซึ่งคงจะตรงกับคำว่า โล้ ในภาษาไทย) คำนี้ น่าจะไม่ใช่คำของเดิมในภาษาจีนเพราะใช้เขียนได้ถึงสองรูป แต่ละรูปก็มีคำแปล โดยปกติของคำเป็นอื่นหาได้มีความหมายเจาะจงว่าโล่ขนาดใหญ่เท่านั้น เป็นทำนองอาศัยเสียงอ่าน มากกว่าจะเป็นคำแปลเดิมที่ว่าโล่ เมื่อเอาเข้าประกอบกับคำอื่น ก็แปลเป็นอื่น ห่างไกลออกไป ไม่เกี่ยวข้องกับโล่สักแห่งเดียว ทั้งคำว่า โล่ ในภาษาจีน ก็มีคำอื่นใช้โดยปกติอยู่แล้ว หาได้ใช้คำนี้ไม่ จะว่าจีนได้คำไปจากภาษาไทยเดิม ก็ยังค้นหาคำไม่พบ ภาษาอื่นที่เป็นเพื่อนบ้าน มีเขมร ญวน และมลายู คำว่า โล่ ก็ใช้คำอื่น ส่วนในบาลีและสํสกฤต คำว่า โลห์ ใช้ขยายความเลื่อนมาเป็น โล่ดั้ง ก็ไม่มีเค้า ในคัมภีร์อภิธานปฺปทีปิกา ให้ไวพจน์คำ โล่ ไว้สามคำ คือ เขฏกํ ผลกํ จมฺมํ คำทั้งสามนี้ อาจารย์ชิลเดอร์แปลไว้ว่า โล่ เท่านั้น ส่วน เขน ในคำภีร์เดียวกันให้ศัพท์ อิลฺลีกรปาลิกา ทั้งสองคำ อาจารย์ชิลเดอร์ แปลว่า ดาบ ความไม่ไปในทางว่า โล่ คำว่า โล่ ในภาษาเขมร ใช้ว่า เขล ญวนใช้ว่า Khien, La Môc ไทยคำที่ใช้ว่า Khen ในภาษาไทยถิ่นอื่น ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบคำว่า โล่ ว่า เขน โดยตรง ในไทยนุง เรียกโล่ว่า tang pai เป็นคำจีน แปลว่า ป้ายหรือแผ่นหวาย ซึ่งในพจนานุกรมจีนเล่มหนึ่งสันนิษฐานคำว่า tang จะมาจาก rattang ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่าหวาย ไทยขาว เรียกโล่ว่า thangte, kep ta้ng และ thang คำเหล่านี้เสียงใกล้ไปทางดั้ง ในภาษาอาหม เรียก โล่ ว่า dang เป็นคำเดียวกับ ดัง ที่แปลว่า จมูก ซึ่งในไทยขาวก็เป็น dang เหมือนกัน คงจะเป็นคนละคำกับ ta้ng ในไทยขาวที่แปลว่า โล่ เมื่อคำว่า โล่ เขน ดั้ง มีอยู่ในภาษาต่าง ๆ ดั่งนี้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารวนเรใจ ถือเป็นแน่ว่าคำเดิมเป็นภาษาไหนก็ยังไม่ถนัด เพราะตัวอย่างที่ค้นพบ ไม่พอจะลงสันนิษฐานปักลงไปให้แน่น เลยทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยไปถึงคำ เสโล่ ว่าบางทีจะเป็นคำโดด ๆ คือ เส กับ โล่ ผสมกัน แต่ค้นศัพท์ผสมชะนิดนี้ไม่พบ ในภาษามลายู โล่ ใช้ว่า Prisi, Sêlukong (โล่ขนาดยาว) และ Tamin ในคำที่สอง ถ้าไม่มี kong (ซึ่งในมลายู แปลว่า โค้งกงเรือ) อยู่ข้างท้าย ก็จะปรับเข้ากับ เสโล่ ได้ ได้มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เสโล่ ทำด้วยแผ่นโลหะหรือหวายถัก รูปกลมโค้งมีที่มือจับด้ามหลัง ถ้ามีปุ่มแหลม ๆ อยู่ที่หน้าเสโล่ เป็นชะนิดเสโล่ของชวา ถ้าจะปรับคำว่า เสโล่ เข้ากับ เสลุกง ในภาษามลายู โดยแยกแปล กง ว่า ก่ง โค้ง ก็น่าจะเข้ากันได้สนิท
ขณะข้าพระพุทธเจ้าค้นคำว่า โล่ ได้พบคำภาษาจีนอีกสองคำ คือ เซี้ยง ในเสียงจีนกวางตุ้ง แปลว่า อาวุธ เห็นจะปรับเข้ากันได้กับคำว่า แสง ในภาษามอญ ก็มีคำว่า แสง คำนี้จะมาเกิดเสื่อมไป เพราะได้คำว่า อาวุธ มาใช้เป็นคำรวมเรียกจำพวกไม้พลองตะบองสั้น ปืนผาหน้าไม้และหอกดาบ ยังอีกคำหนึ่งคือ จิ๋น ในเสียงกวางตุ้ง แปลว่า ลูกศร บางทีก็ใช้ว่า กุ่งจิ๋น (กุ่ง แปลว่า คันศร ใกล้กับคำว่า ก๋ง หรือ กุ๋ง ในภาษาไทยภาคอีศานและอาหม แปลความเดียวกัน) ข้าพระพุทธเจ้ามานีกถึงคำ จมื่นก่งศิลป ว่าถ้าเทียบกับคำ กุ่งจิ๋น ในภาษาจีน ใกล้กันมากทั้งเสียงและความหมาย ดีกว่า ศิลป ซึ่งไม่ปรากฏว่าใช้หมายความว่าศรในภาษาสํสกฤต
เรื่องสวดมนต์ภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยในกระแสพระดำริทุกประการ ว่าควรจะเก็บรวบรวมไว้เสียแต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้นึกถึง เพราะไม่เคยได้ยิน แต่เมื่อทรงอธิบายประทานมาก็ชอบใจ เพราะเป็นของดี ไม่ควรจะปล่อยให้สูญ ครั้นเมื่อสอบถามผู้อื่นดูหลายคน ก็ไม่เคยได้ยิน นอกจากพระพินิจวรรณการ ว่าเคยได้ยินเมื่อเด็ก แต่จำไม่ได้เสียแล้ว รับจะสืบให้จากที่บ้านเมืองสุพรรณ เชื่อว่าคนผู้แก่ผู้เถ้าคงจะจำกันไว้ได้บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าพยายามสืบสวนต่อไปก็คงหาได้ จะยังไม่สูญไป๑
ในลายพระหัตถ์หน้าท้าย ทรงอ้างถึงพันนิจรักษา ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า เป็นชื่อตำแหน่งบรรดาศักดิ์ชั้นหัวพันในกระทรวงวังหรือเป็นชื่อสถานที่
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
-
๑. ดูภาคผนวกท้ายเล่มนี้ หน้า ๒๗๕ ↩