๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ปส

กองวัฒนธรรม

วันที่ ๒ มกราคม ๒๔๘๑

คำว่าอัษฎาวุธนั้น จะเป็นคำไทยผูกขั้นใช้เอง หรือได้เก็บมาจากภาษามคธ ฝ่ายภาษาสันสกฤตไม่มีใช้ มีแต่คำว่า ทศายุธ คืออาวุธ ๑๐ อย่าง ปรากฏในเหล่าคัมภีร์ อาคม อันเป็นตำราฝ่ายลัทธิที่ยกย่องพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระเป็นเจ้าองค์อื่น แต่นั่นเป็นเรื่องพระแสงอาวุธของเทวดา ไม่ใช่ของพระเจ้าแผ่นดิน

ผมเคยได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่ม ๑ ของ ดร. โอปเปอร์ต ผู้เคยเป็นอาจารย์ภาษาสังสกฤตที่ Presidency College เมืองมัทราส ดร. โอปเปอร์ต อ้างคัมภีร์เวทไว้หลายตอนเป็นหลักฐานว่า ชาวอาริยะสมัยเวทรู้จักปืน แต่ผมอ่านหนังสือเล่มนั้นมาหลายปีแล้ว จึงจำได้แต่เพียงนี้ แต่เท่านก็พอให้เห็นว่า จะว่าปืนเป็นของใหม่ทีเดียว อาจมีเสียงคัดค้านได้

ครั้นจะรับว่าปืนเป็นของเก่า ก็น่าจะแปลกใจว่า ทำไมไม่นับเข้าในหมู่อาวุธสิบ (ทศายุธ) และในพวกอาวุธที่มักให้เทวรูปต่างๆ ถือไว้ ที่กล่าวถึงพระแสงอาวุธของเทวดาในที่นี้ ก็เพราะสังเกตได้อยู่ง่ายๆ ว่ามักประดิษฐ์เทวรูปไว้ให้ดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน หรือจะพูดกลับว่า พระเจ้าแผ่นดินในโบราณมักเอาเยี่ยงอย่างเทวรูป ก็ได้เหมือนกัน

ทศายุธ คืออะไรนั้น ตำรา อุตุตรกามิกาคม ตอนที่ ๖๘ และตำราปูรุวการณาคม ตอนที่ ๑๔ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า

วชฺรํ ศกฺตึ จะ ทณฺฑํ จ ขฑฺคํ ปาศํ ตถางฺกุศมฺ

คทา ตฺริศูลํ ปทฺมํ จ จกฺรํ เจติ ทศายุธมฺ

แปลว่า ทศายุธคือ วชิราวุธ หอกซัด ไม้ตะพด ดาพ บ่วง ขอช้าง ไม้ตะบอง ตรีศูล ดอกบัว แลจักร

ตำรา วิษฺณุธรฺโมตฺตรปุราณ กล่าวว่า พระแสงอาวุธของพระนารายณ์ คือ ๑. ศกฺติ (หอกซัด) ๒. ทณฺฑ (ไม้ตะพด) ๓. ขรรค ๔. บาศ ๕. ธง ๖. คฑา (ไม้ตะบอง) ๗. ตรีศูล ๘. ศังข์ ๙. เหติะ (ขวานชะนิด ๑) ๑๐. ภินทิะ (ดิ่ง) ๑๑. ลูกศร และ ๑๒. ธนู

ในหนังสือ Elements of Hindu Iconography ของโคปินาถราว ภาค ๑ ตอน ๑ ข้อความต่อจากหน้า ๕๙ เรียกว่า An Explanatory Description of the Technical Terms Employed in the Work นั้นกล่าวว่า อาวุธที่สำคัญๆที่พบในมือเทวรูปคือ ๑. ศังข์ ๒. เขฏก (เขน) ๓. ขฏฺวางฺก (กะดูกศอกหรือแข้ง) ๔. องฺกุศ (ขอช้าง) ๕. จักร ๖. ฏงฺก (เหล็กสะกัดหิน) ๗. บาศ ๘. ไม้ตะบอง ๙. พาณ (ลูกศร) ๑๐. ไฟ ๑๑. วชิราวุธ ๑๒. ขรรค ๑๓. ปรศุ (ขวาน) ๑๔. ศูล (หอก) ๑๕. ศกฺติ (หอกซัด) ๑๖. มุสล (ไม้ซ้อมข้าว) และ ๑๗. ไถ หนังสือเล่มนี้มีคำอธิบายลักษณและรูปของอาวุธเหล่านี้ด้วย จึงเห็นได้ว่าไม่กล่าวถึงปืนเลย

ได้สอบดูตำราอีกเล่ม ๑ คือ ราชาภิเษกปฺรโยค ของยาญิกเทวภัทร ซึ่งว่าด้วยพิธีการราชาภิเษก ตอนท้ายตำรากล่าวถึงการฉลองช้างต้นม้าต้นพระแสงอาวุธ ฯลฯ ที่พอจะนับเข้าในจำพวกพระแสงมีเพียง ๖ สิ่ง คือ ๑. พระขรรค ๒. กฺษุริกา (พระแสงดาพสั้น) ๓. เกทาร (แปลไม่ออก) ๔. พระแสงธนู ๕. กุนฺต (พระแสงหอก) และ ๖. กนกฑณฺฑ (ธารพระกรทอง) ไม่มีปืน

ที่ไม่กล่าวถึงปืนในบัญชีอาวุธเหล่านี้ คงเป็นด้วยเหตุอย่างเดียวกันกับที่ไม่กล่าวถึงอาวุธอีกพวก ๑ คือ ทิพยาสตร์ เช่น พรหมสตร์ เป็นต้น คือ หากว่าเป็นแต่ของสมมติขึ้นมากล่าวในทางวรรณคดี ก็ไม่น่าจะนับเข้าไว้ในบัญชีของจริงๆ จังๆ เป็นธรรมดาอยู่เอง หากว่าไม่ใช่ของสมมติ แต่เป็นของที่ได้มีใช้อยู่จริง ๆ เช่นอย่าง ดร. โอปเปอร์ต อ้างหลักฐานอธิบายไว้ในเรื่องปืนแล้ว ก็เป็นอาวุธวิเศษ ซึ่งว่าตามข้อความในหนังสือเรื่องโบราณ (อิติหาส=ปุราณ) พวกฤาษี (นักวิทยาศาสตร์ครั้งโน้น) ผู้คิดประดิษฐ์ สงวนไว้ไม่ให้แพร่หลายออกไปนอกวงบุคคลจำนวนน้อย ผู้ที่เห็นว่าสมควรได้รับอาวุธเหล่านั้น ไม่ใช่อาวุธสำหรับคนทั่วๆ ไป น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้ ไม่รู้จักสงวนวิชาไว้เหมือนอย่างพวกฤาษี ปล่อยให้ความรู้ที่ตนค้นคว้ามาได้ เป็นตำราคู่มือของบุคคลผู้สร้างอาวุธยุทธภัณฑ์ชนิดร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งทำให้โลกหวาดหวั่นต่อภัยสงครามอยู่ทุกวันนี้

ขอแสดงความนับถือ

ป.ส. ศาสตรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ