- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๘๑
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ได้รับแล้ว เรื่องชื่อคำนั้นเปนดั่งนี้
๑. คำ ดำ ๆ แดง ๆ ฉันเห็นเปนพหุพจน์เหมือนกัน หมายความว่าดำหลายแห่ง แดงหลายแห่ง ที่ฉันไม่ได้ออกความเห็นมาว่า พหูพจน์ควรจะเรียกว่าอย่างไรนั้น เพราะไม่ทราบว่าไวยากรณ์ไทยเขาเรียกว่าอะไร ควรจะเรียกตามเขาไป ด้วยจะเปนการง่ายแก่ผู้เรียน แต่ถ้าไม่ดีมาก ทีก็ควรจะฝืน โดยเจตนาให้เขามาตามเรา คงไม่ขัดข้อง เพราะได้ทราบจากลูก ซึ่งเปนนักเรียน บอกว่าเขาแก้เปลี่ยนไวยากรณ์อยู่เสมอ
๒. คำ เดิม กับ เติม อันใกล้กันมากนั้น ฉันก็คิดหาคำเปลี่ยนแทนได้เปน เดิม กับ เสริม แต่เห็นไม่ดี จึ่งชวนให้ใช้ เดิม กับ ยืด ส่วนเสริมนั้นดูเปนควรจะใช้ในคำอย่างอื่น เช่น ประจวบ ประจง เปนต้น พวก ยยิ้ม รริกรรี่ ของท่านก็ดูเปนพวกคำเสริมเหมือนกัน
๓. บนบาน ลนลาน แซกแซง ดูเปน คำซ้อน
มีความเห็นเกิดขึ้นใหม่ว่า คำ กำนน กำนล อาจเปนคำเดียวกับ กำนัล คำ กำนัล อาจออกจากคำ คัล ที่ใช้อยู่กับ บังคัล บังคมคัล เคียมคัล ก็ได้ หมายความว่า ของที่เอามาให้เมื่อมาไหว้
คำ ยิงธนูแพ้เลี้ยง ตามที่จดให้ไปก็ได้ตรวจสอบกับต้นฉะบับกฎหมายแล้ว เปนคำอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ตอนกล่าวถึงพระราชพิธีต่าง ๆ คำ ยิงธนูแพ้เลี้ยง อยู่ในพวกการเล่นหน้าพลับพลา รวมกันอยู่กับหม่งครุ่ม ซ้ายขวา คุลาตีไม้ เล่นแพนไต่เชือกหนัง ลอดบ่วง พุ่งหอก ยิงธนูแพ้เลี้ยง สิ่งเหล่านี้ที่ยังคงอยู่จนได้เห็นก็มี ที่คงอยู่แต่ตัดน้อยไปก็มี ที่ชื่อเปลี่ยนไปแล้วก็มี ที่เลิกเสียแล้วไม่เคยเห็นก็มี ที่มีไม่เหมือนกล่าวในกฎมณเฑียรบาลก็มี เข้าใจว่าเปนของเติมขึ้นใหม่ อันกฎมณเฑียรบาลนั้น พูดสั้นที่สุด เข้าใจว่า เพราะพูดถึงสิ่งที่เคยพบเคยเห็นอยู่ช่ำชอง พูดนิดเดียวก็เข้าใจกันได้ แต่นานมา การเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้คนภายหลังไม่เข้าใจในถ้อยคำซึ่งกล่าวไว้นั้น มีผู้มีความคิดพยายามจะแปลกันมามากแล้ว แต่ก็แปลออกบ้างไม่ออกบ้าง แม้คำที่เชื่อว่าแปลออก ก็ไม่มีหลักที่จะพึงรู้ได้ว่าถูกหรือผิด อันคำ ยิงธนูแพ้เลี้ยง ท่านเดาว่า ยิงธนูแพะเลี้ยงผา ตามความเห็นฉันเห็นว่า แพ้ อาจเปน แพะ ได้อยู่ เพราะแพะเปนสัตว์เลี้ยง อาจหยิบฉวยเอามาเปนเป้าได้ง่าย แต่เลียงผาเปนสัตว์ป่า จะหามาเปนเป้าได้ยาก ทั้งขาดคำว่า ผา ไปเสียด้วย ถ้าจะแปลความไปว่า เมื่อการขันแข่งพุ่งหอกยิงธนู แพ้ชะนะกันแล้วเลี้ยงอาหาร จะได้หรือไม่ ท่านจะเห็นเปนประการใด ฉันคิดว่าสนิทกว่าที่ แพ้ จะเปน แพะ และ เลี้ยง จะเปนเลี้ยงผา
เรื่องพระแสงอัษฎาพานร ผิดอยู่ที่ฉัน ไม่ใช่ท่าน ฉันควรจะบอกท่านให้เข้าใจว่า เปนพระแสงเล่มเดียว แต่หาได้บอกไม่ ทั้งที่ฉันบอกว่าเปนรูปพระยาพานรนั้นก็ผิดถนัดใจ จำได้คลับคล้ายคลับคลาไป ตามที่ท่านสอบเรื่องในคำจารึกมาได้ก็ควรจะเปนลิงสามัญ ไม่ใช่พระยาพานร ไม่เกี่ยวแก่พระราม ซ้ำท่านสอบถามได้ความว่าที่ฝักพระแสงก็เปนรูปลิงสามัญ เปนอันลงกันได้หมดดีทีเดียวแล้ว ในการที่ท่านค้นหาเรื่องในพระคัมภีร์เพื่อสอบนั้น เหมือนค้นหาเข็มในห้องพระมหาสมุท จะค้นพบไม่ได้เปนอันขาด เว้นแต่จะได้เคยพบเห็นมาก่อนแล้ว
มังศรี หรือ มารศรี เปนพานรี (ไม่ใช่กไกรหนีบหมาก) มีที่ใช้สองอย่าง คือใส่หมากในพานหมากอย่างหนึ่ง กับรองสังข์อีกอย่างหนึ่ง ฉันเข้าใจว่าเดิมเปนของใช้ใส่หมาก ที่ใช้รองสังข์นั้นเปนแต่ยืมเอาไปใช้ ด้วยเปนพานรี เหมาะที่จะรองสังข์ ฉันได้เคยพิจารณาชื่อ คำว่า ศรี เราหมายความว่าหมาก เช่น พระศรี พระสุพรรณศรี เห็นว่าเปนคำมาแต่ สิริ แห่งภาษามลายู ซึ่งเขาหมายว่า พลู เหตุที่ทำให้ผิดหมาย ก็เพราะหมากคำสำหรับเคี้ยว ทางมลายู เขาเอาหมากสงซอยห่อไว้ในใบพลูประกอบทั้งปูนและอื่นๆ เปนคำ ๆ เขาหมายถึงกินพลู แต่เราเรียกกินหมาก ความหมายแห่ง สิริ จึงเคลื่อนไปเปนหมาก ซ้ำเอาไปนาบเข้าเปนคำสํสกฤตเสียด้วย จึงกลายเปน ศรี ส่วนคำ มาง นั้น พวกไทยที่เขาเคยไปเปนข้าหลวงทางเมืองอุบล เขาบอกว่า มาง หมายความว่าเรือ จะผิดถูกอย่างไร ฉันเองไม่ทราบ แต่เข้าทีที่แปลเชิงติดกับจานสำหรับใส่น้ำซอสของฝรั่ง ก็ดูเหมือนฝรั่งเขาเรียกเรือเหมือนกัน
เสน่า พระแสงเสน่า ฉันเห็นตรงกับมีดเหน็บ (ไม่ใช่ธนูหอก) จะเปนภาษาอะไรไม่ทราบ มีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กั้นหยั่น พระแสงกั้นหยั่งเปนดาบสองคมขนาดเล็ก เดิมนึกว่าเปนภาษาจีน แต่ถามผู้รู้คำจีน เขาบอกว่าคำจีนมีแต่ เกี่ยม หรือ เกี้ยม อะไรก็จำไม่ได้แน่ แต่เคยได้ยินเรียกกันว่า เกี๊ยม ก็เปนอันจนใจ ภายหลังได้เห็นหนังสือฝรั่งเขาเขียนเรียกชาวกันดี ว่า กันดยัน จึ่งให้นึกสดุ้งใจว่า กั้นหยัน นั้น ลางทีเราจะได้มาแต่ทางลังกาก่อน เรียกชื่อตามฝรั่งว่า เปนมีดของชาวกันดี ผิดถูกไม่ทราบ
พระนบ เปนชื่อเรียกที่ตัดคำสั้นเสียแล้ว ที่แท้เรียก นบพะอังษา ควรจะเขียน นพ หรือ นภ นั้นไม่ทราบ ถ้าเขียน นพ ทีแต่เดิมจะเปนของประดับด้วยพลอยนพรัตน์ ถ้าเขียน นภ ทีจะหมายความว่า เชิดขึ้นบนฟ้า แต่น่าจะเปน นพ ประดับด้วยพลอยสีต่าง ๆ เข้ารอยกับอินทร์ธนู อันคำ อินท์รธนู นั้นหมายถึงรุ้งกินน้ำ คือมีสีหลายสี ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่อยู่บนบ่าคน เช่น พะนักพลับพลา ก็เรียกว่า พะนักอินทร์ธนู ไม่ใช่ของอยู่บนบ่าคนเลย
ตราตรีสารเศวต นั้น เดิมทีเรียกชื่อว่า ไตรสารเสวตร ตรานารายน์นาคบังลังก์ นั้น เปนชื่อที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงเปลี่ยน เดิมเรียก นารายน์ประทมสินธุ์ เปลี่ยนเพราะไม่ได้นอน ตรานารายน์ทรงปืนแรกฉันเห็นก็ตกใจ ที่เปนรูปนารายน์เหยียบอยู่บนปืน (ไฟ) ใหญ่ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสอธิบายให้ทราบว่า ตราเดิมเปนรูปนารายน์แผลงธนูศร ที่เปลี่ยนเปนทรงปืน (ไฟ) ใหญ่นั้น เพื่อให้เหมาะสำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ด้วยพระองค์ทรงว่าทหารปืนใหญ่ ท่านไม่พบตราสยามโลกัคคราช ลางทีเขาจะบรรจุไว้ในหีบหยก อันเปนหีบพระตราซึ่งเชิญออกตั้งในการพระราชพิธี ไม่ได้หยิบออกมาเรียงไว้ รูปร่างและขนาดก็เหมือนกับตราโลโตทีเดียว แต่ทำด้วยทอง และรูปอฐหมอบเปลี่ยนเปนรูปช้างหมอบ ส่วนตราอีกชุดหนึ่ง ซึ่งท่านว่าเปนหนังสือจีนชนิดลายประแจจีน ขอบสี่เหลี่ยม มีตราต่าง ๆ นั้น ฉันไม่เคยเห็นมาก่อนเลย