๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒ มีนาคม นั้นแล้ว

ชื่อปืนบาเรียม ตามที่กงสุลเยเนรัลโปรตุเกตบอกอธิบายนั้นดี ถึงจะถูกหรือไม่ถูกก็ฟังได้ ขอให้ท่านคิดคำว่าฟัง ดูทีเปนไม่ใช่หมายว่าเข้าหู ทีไปทางข้างเชื่อ เช่นว่า ฟังได้ ฟังไม่ได้ ว่าได้ไว้ฟัง ว่าไม่ฟัง เปนต้น

ท่านปรึกษาไปในคำเก่าต่าง ๆ ลางคำฉันอาจตอบได้ ลางคำก็ตอบไม่ได้ ด้วยคิดไม่เห็น

บำนาน คำนี้เราเขียน บำนาญ เขมรเขาเขียน บำนาล แต่เปนแน่ว่ายืดมาจาก บาน เช่น เราพูดว่า บนบาน คำ บน กับ บาน ก็คิดว่าเปนคำเดียวกัน เช่น หยด หยัด หยาด เข้าใจว่า หยด อ่านอย่างไทย หยัด อ่านอย่างบาลี หยาด อ่านอย่างเขมร เพราะเขาไม่มีไม้ผัด เขาใช้ลากข้างแทนไม้ผัดมากทีเดียว คำที่ฉันตั้งชื่อว่าคำยืดนั้นก็คิดตั้งอย่างพุ่งไปโดยปัจจุบัน ถ้าจะยืนคำนั้นไว้ คำตรงกันข้ามทีก็จะเปนว่า คำย่น เช่น เสวย เปนคำย่น ฉันแปลว่ากิน สังเวย ก็คำยืด ฉันแปลว่าเลี้ยง อันคำยืดและคำย่นนั้น ลางทีก็พบทั้งคำยืดคำย่น ลางทีก็พบแต่คำยืด ลางทีก็พบแต่คำย่น เข้าใจว่าเพราะเรายังอ่านหนังสือน้อย ไปอ่านพบในภาษาเขมรก็หลายคำ ซึ่งเขามีทั้งคำยืดคำย่น แต่เรามีอย่างเดียว เช่น เปรอ บำเรอ สคัล สำคัล (เราเขียน สำคัญ) และสดับ สันดับ เป็นต้น

ท่านคิดตั้งชื่อคำนั้นดี แต่ลางคำฉันก็เห็นด้วย ลางคำก็ไม่เห็นด้วย เช่น เสื่อสาดอาศนะ ตั้งชื่อว่าคำซ้อนนั้นเห็นด้วย แต่คำ ดี ๆ เล็ก ๆ ตั้งชื่อว่าคำซ้ำนั้นไม่เห็นด้วย ฉันเห็นได้แก่พหูพจน์ เช่น ลูก ๆ หลาน ๆ ได้แก่ ลูกมาก ๆ หลานมาก ๆ หรือลูกหลายคน หลานหลายคน ส่วน พ่อแม่ จัดว่าเป็นคำคู่นั้นเห็นด้วย คำยืด คำย่น จะเปลี่ยนเปน คำเติม คำเดิม นั้น ใกล้ที่ถูกมากขึ้น แต่ เติม กับ เดิม ใกล้กันมาก คนที่สังเกตน้อยจะหลง ถ้าจะใช้ว่า คำเดิม คำยืด จะได้หรือไม่

ดี คำนี้เข้าคู่กับคำอื่นไปได้หลายคู่ เช่น ดีชั่ว ดีร้าย ดีเสีย ดีเลว เลว ท่านเข้าใจว่าเปนสามัญนั้นถูกแล้ว ไม่ใช่ไม่ดี

ตา ตานี้ ฉันเข้าใจว่าเปนคำพูด จะเขียนลงไปในหนังสืออย่างไรถูกก็ไม่ทราบ เสียงคล้ายกับ กะ และ ตะเช่น ข้าวกะเกลือ ตะกี้ ตะนี้ ถ้าเขียนเปนหนังสือก็เอา กะ เปน กับ เปน แก่ เอา ตะ เปน แต่ เปน ต่อ เห็น ตะ จะไม่ใช่คำเดียวกับ ท่า คำในกฎหมายเก่าเขียนว่า เปน ๔ ถ่า จะเปน๔ ท่า อย่างเดียวกับ รำเพลงช้า ๓๒ ท่า กระมัง ไม่ทราบความพอที่จะสังเกตได้ว่าผิดหรือถูก

มารดา ฉันคิดว่าเขียนโดยสมควร เพราะต้นศัพท์ มาตฤ แต่คำ มารยา นั้นเคยรู้สึกมาแล้วว่าเหลว ด้วยคำต้นเปน มายา เท่านั้น

เดียรดาษ จะมาแต่ ดื่นดาด หรืออะไรก็ตาม แต่เสียง อิร อีร เปน เอียร นั้นมีมากนัก เช่น นิรเทศ เปน เนียรเทศ จิรกาล เปน เจียรกาล ยืดเปน จำเนียรกาล อีกต่อไปก็มี

แพละโลม เปน ประโลม แน่

ชาว ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลฉะบับหมอปลัดเลตีพิมพ์น่า ๑๒๐ ดูเปนหมายความว่าผู้ชาย โดยมีความว่า อนึ่งชาวกำนัลศรีกำนัลเปนชู้กัน... ศรีนั้นคิดเขียนเดาผิด กฎหมายบทนั้นคงลอกมาจากเขมร เขมรเรียกผู้หญิงว่า สรี วิบัติมาจากคำสตรี แห่งภาษาสํสกฤต คำ กำนัล จะแปลว่าของให้ มีคำว่า ของกำนัล อยู่เปนหลัก ชาวกำนัล สรีกำนัล เห็นจะเปนชายหญิง พวกรักษาของกำนัลหลวง หมื่นธารกำนัล เปนตำแหน่งข้าราชการ เห็นจะเปนนายแห่งพวกนั้น ยังมีอยู่จนเดี๋ยวนี้ เปน ขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนัล เห็นจะเปนซ้ายขวา ชื่อ ธารกำนัล หมายความว่าเปนผู้ถือของกำนัล คือเปนผู้รักษา ธาร นั้นหมายว่าทรง ไม่ได้หมายว่า สาธารณะ ทราบว่าแต่ก่อนข้าราชการทั้งสองนั้น มีหน้าที่ได้รักษาต้นไม้เงินทองของบรรณาการ แต่เดี๋ยวนี้หลุดจากหน้าที่นั้นไปแล้ว ไปเปนคนสวดคำหลวงอยู่ในโบสถ์วัดพระแก้วในฤดูเข้าวัสสา นอกจากนั้นก็ทำการในสำนักพระราชวัง สุดแต่เขาจะใช้

ยิน หมายความว่าเสียงลอดเข้าไปในช่องหู ที่แปลดั่งนี้ ถือเอาคำ ได้ยิน เปนหลัก ถ้าเปนเสียงที่พึงใจก็ว่า ยินดี ถ้าไม่พึงใจก็ว่า ยินร้าย ที่เอาคำยินดีไปใช้ในที่ดีใจนั้นคือว่าใช้ผิด

กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ แต่ละอย่างเปนชื่อวิธีแต่งทั้งนั้น ที่เอามาจัดเข้าคู่เปน กาพย์กลอน กาพย์โคลง โคลงฉันท์ นั้นก็เปนของคนจัดขึ้น จะสังเกตว่าอะไรมีมาก่อนมาหลังในที่นั้น สังเกตยาก เหลือแต่ไม่รู้

นายโรง ชื่อนี้ท่านเห็นความว่าเปนตั้วโผนั้นถูกแล้ว แต่ท่านไม่เห็นควรจะเปนชื่อพระเอกนั้นก็จำเปน เพราะท่านยังไม่รู้ประเพณีเก่า แต่ก่อนนี้ละคอนมีก็เปนละคอนบ้าน อันบ้านละคอนนั้น ย่อมเปนละคอนหมดด้วยกันทั้งบ้านทีเดียว ตั้งแต่พ่อบ้าน แม่บ้าน ลูกหลาน เขยสใภ้และคนใช้ อะไรก็เปนละคอนเปนตลกเปนปี่พาทย์เปนลูกคู่ไปด้วยกันหมด ด้วยเขาอบรมกันมาเปนทางรวมกันไปเล่นหากินเอาเงินมาเลี้ยงกัน ใครจะหาละคอนไปเล่นก็ไปพูดกับพ่อบ้าน พ่อบ้านรับงานแล้วก็จัด จะเล่นเรื่องนั้น คนนั้นเปนตัวนั้น ตัวเจ้าบ้านเองก็ออกเล่นด้วย โดยธรรมดาพ่อบ้านจะต้องเปนพระเอก เพราะเปนผู้ใหญ่ ย่อมรู้มากกว่าเด็กลูกหลาน จะเล่นอะไรก็เล่นได้ไม่ติดขัด เพราะฉะนั้นพ่อบ้านผู้จัดการจึ่งได้ชื่อว่าเปนนายโรง และเพราะเปนพระเอกด้วย พระเอกจึ่งพลอยได้ชื่อเปนนายโรงไปด้วย

วิเศษ ทำไมจึ่งเปนชื่อพวกครัว ฉันก็ไม่ทราบ เห็นสมัยใหม่เขาเขียนกันเปน วิเศฏ ฉันก็ไม่ทราบอยู่นั่นเอง

ยิงธนูแพ้เลี้ยง จะรับรองความคิดท่านหรือไม่รับ ก็พูดไม่ถนัด เพราะไม่ทราบว่าคำนั้นเขาใช้พูดถึงเรื่องอะไร สมุดกฎหมายเก่านั้น นายแลงกาด์เขาก็ให้ฉันเล่มหนึ่งเหมือนกัน แต่เปนข้อความมากมาย จะคลำหาไปก็พบยาก ถ้าท่านจะแนะไปให้ว่าอยู่หน้าไหน จะเปนการง่ายขึ้นที่ฉันจะดูสอบได้

สัศดี สุรัศวดี ฉันเคยคิดมาพักหนึ่งแล้วก็ไม่ได้เรื่อง ดูจนกระทั่งตราพระสุรัศวดี เปนรูปเทวดาชาย ยืนถือสมุดสองเล่ม มือละเล่ม ไม่ลงกับองค์พระสรัศวดี นั่นเธอเปนหญิง แล้วคติของเธอก็ไม่เกี่ยวข้องแก่บัญชีคนเลย เปนอันสิ้นปัญญา

โสกโครก ควรแล้วตามความเห็นของท่าน ที่จะพา สกปรก เปน โสกโปรก ไปด้วย นึกคำที่เขียนอย่างเดียวกันมาได้อีกคำหนึ่ง คือ โสกโดก เปนคำไม่ดีเหมือนกัน

ยัง คำนี้พูดกันมาคราวหนึ่งแล้ว บัดนี้ก็กลับมาอีก ตามความในตัวอย่างที่ท่านให้ ท่านคะเนว่าจะเปน ซึ่ง เปน มี นั้น เห็นถูกแล้วสำหรับกับความที่ให้ตัวอย่างไปนั้น

เมื่อทำหนังสือนี้เสร็จแล้ว ไปจับหนังสือแจกงานศพเจ้าจอมมารดาทับทิมขึ้นอ่าน ในนั้นมีพระดำรัสสมเด็จกรมพระยาดำรง ตรัสอ้างถึงเรื่องอัษฎาพานร ว่ามีจารึกแผ่นศิลาประดับไว้ที่วัดพระเชตุพน ฉันนึกไม่ได้ว่าฉันได้อ่าน ขอให้ท่านตรวจดูเรื่องนั้นด้วย จะมีหลักเปนเค้าแก่ พระแสงอัษฎาพานร บ้างหรือไม่

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ