๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ตามที่ทรงพระเมตตา ประทานพระวินิจฉัยในเรื่อง มังกร จรเข้ และนรสิงห์ มาในลายพระหัตถ์ เมื่อวันที่ ๑๖ ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเพลิดเพลินในข้อความที่ทรงพระกรุณาประทานมา เพราะกระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้เพิ่มเติมแตกฉานออกไป และเป็นข้อเตือนใจให้ข้าพระพุทธเจ้าใช้ความสังเกตพินิจพิเคราะห์ ต่อสิ่งซึ่งตามธรรมดามักจะผ่านไปเสีย ดั่งเรื่อง มังกรมีงวง แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะได้เคยเห็นมาก่อนก็ไม่ได้เฉลียวนึกถึง เมื่อมาได้อ่านคำพระอธิบายแล้ว กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงเรื่อง ธงจรเข้ ได้มีผู้มาสอบถามข้าพระพุทธเจ้าว่า ธงจรเข้ หมายความว่าอะไร และเหตุไรจึงใช้ปักในงานกฐิน ข้าพระพุทธเจ้าคิดไม่เห็นและค้นหาเรื่องก็ไม่พบ มาบัดนี้คงได้ความเป็นราง ๆ ว่า ธงจรเข้ กับ ธงมังกร คงมีคติร่วมที่มากัน หากแต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบเท่านั้น แต่ก็มีแนวทางให้สืบสาวได้ต่อไป

ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจดูตู้ลายมังกร ๓ ชะนิด คงพบมีอยู่ที่ตู้ในหอพระสมุดวชิรญาณตู้หนึ่ง เป็นตู้ประดับกระจก จดป้ายไว้ว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี ที่เบื้องล่างฉลักเป็นลวดลายติดไว้เป็นสามด้าน ด้านซ้าย ฉลักเป็นรูปมังกรมีงวง ๒ ตัว ด้านขวาเป็นรูปมังกรชะนิดมีเขา ๒ ตัว ด้านหน้าแบ่งเป็น ๓ ตอน ตอนซ้ายเป็นรูปช้างน้ำ เพราะตัวไม่มีเกล็ดและหางอย่างปลา ตอนกลางเป็นรูปมังกรมีเขา ตอนขวาเป็นรูปมังกรมีงวง ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นตู้รายนี้ที่เคยทอดพระเนตร์ เพราะนอกนี้ก็ไม่พบตู้อื่นที่มีลายดังที่ตรัสบอกมา

ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำ เหรา ในภาษามลายูไม่มี ในภาษาสํสกฤตมีคำ hira แปลว่า งู ดั่งที่ตรัสบอกข้าพระพุทธเจ้าไว้ ความไม่สู้สนิทเมื่อเข้าคู่กับจรเข้ ในภาษาฮินดูสตานีมีคำ kum’hira แปลว่าจรเข้ ว่าเพี้ยนเสียงไปจาก กุมภีร เสียงพยางค์หลังใกล้คำว่า เหรา มาก และถ้าออกเสียงเน้นคำต้นในพยางค์หลัง เสียง กุม ก็เบาไป กลายเป็นเสียง ฮุมฮำ และอาจหายเสียงไปได้

ในขณะข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำข้างบนนี้ ไปพบคำ kumbi ว่าเพี้ยนไปจาก กุฎุมพี แปลไว้ว่า ชาวบ้านนอก ชาวนา ชาวเพาะปลูก ความตรงกันกับความหมายของคำนี้ในภาษาไทยที่ใช้ว่า ไพร่กฎุมพี และตรงกันข้ามกับที่มีความหมายว่า คนมั่งมี คฤหบดี ในภาษาสํสกฤตข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำนี้ในหนังสือ Hobson-Jobson มาครั้งหนึ่ง แปลว่า พวกศูทรที่ได้ดีมั่งมีขึ้น ความสู้ที่พบในภาษาฮินดูสตานีนี้ไม่ได้

นรสิงห์ตัวเมีย เป็นเรื่องขาดพินิจพิเคราะห์ของข้าพระพุทธเจ้า ที่เขาบอกว่ากินนรเนื้อก็เชื่อถือทีเดียวโดยไม่ได้สังเกตดูให้ถี่ถ้วน ว่าหางนั้นยาวเป็นอย่างหางสิงห์ ที่ทรงพระเมตตาประทานพระวินิจฉัยเรื่องราชสีห์สี่อย่าง กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สติ เป็นความรู้ในเรื่องพิจารณารู้จักดูรูปที่เขาเขียนไว้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ