๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ มกราคม และวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ รวม ๒ ฉะบับ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าคิดธุระเป็นกังวลด้วยเรื่องจัดตีพิมพ์หนังสืออยู่ จึงได้กราบทูลตอบลายพระหัตถ์ฉะบับแรกมาล่าช้า ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

เรื่องพระแสงอัษฎาพานร ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเกล้าฯ ต่อเมื่อตรัสประทานถามมาในคราวนี้เท่านั้น จะมีพระแสงชนิดไรบ้าง ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยพบ ได้สอบถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ก็ว่าทางอินเดียไม่ปรากฏว่ามีพระแสงอาวุธที่มีเรื่องเกี่ยวกับพวกพญาวานรเลย

ปืนบาเรียม นายคัมโปส กงสุลเยเนอราลโปรตุเกต บอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นปืนใหญ่ขนาดเล็ก เหตุที่จะเรียกว่า บาเรียม ว่ามาจากเรื่องชาวโปรตุเกตรบกับพวกอาหรับ ทหารโปรตุเกตออกนามแม่พระว่า อเวมาเรีย ในขณะที่ยิงปืนใหญ่ เป็นทำนองขอให้ทรงช่วยเหลือ พวกอาหรับได้ยินคำว่า มาเรีย สำคัญผิดว่าเป็นชื่อปืน จึงนำคำ มาเรีย ไปใช้เรียกปืนใหญ่ชนิดนั้น และคำว่า มาเรีย ในภาษายิวและอาหรับ เรียกว่า มีเรียม หรือ มาเรียม และคงจะเป็นเพราะชาวอาหรับนำปืนใหญ่ชนิดนั้นเข้ามาทางตะวันออก คำว่า มาเรียม จึงติดมาด้วย และกลายเป็นชื่อเรียกปืนใหญ่ไป ตามที่กงสุลโปรตุเกตอธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังนี้ จะเท็จจริงประการไรไม่ทราบเกล้าฯ แต่ก็น่าฟัง คิดด้วยเกล้าฯ ว่าคำ มาเรียม นี้เอง ที่คงมาเป็นชื่อของผู้หญิงแขกว่า แม่เหรี่ยม

เรื่องผ้ายกทองล่องจวนเจตคลี ที่มีพระเมตตาประทานมา ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้าฯ เป็นความรู้เพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจะได้สืบสาวหาคำแปลในคำว่า จวน ต่อไป เชื่อด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นคำมาทางอินเดียหรือมลายู ส่วน เจตคลี มีชื่อที่ใกล้กันก็ ตาคลี เป็นชื่อสถานีรถไฟอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการทอผ้า ลางที เจตคลี จะเป็นชื่อเมืองในต่างประเทศ ก็ไม่ทราบเกล้าฯ คำ ปัตตะหล่า ข้าพระพุทธเจ้าหลงค้นหาในภาษามลายู และภาษาฮินดูสตานีอยู่นาน เพิ่งจะมาทราบเกล้าฯ ว่า เป็นชื่อเมืองในอินเดีย โดยที่ข้าพระพุทธเจ้าหาได้นึกเฉลียวไปถึงไม่ เป็นความเขลาของข้าพระพุทธเจ้าแท้ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายลังกาด์ นำประมวลกฎหมายรัชชกาลที่ ๑ มาให้ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าพลิกดู พบคำที่แปลไม่ออกอยู่เป็นอันมาก แต่มีลางคำที่พอจะเดาได้ จึงขอประทานถวายรายงานตามที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็น คือ

บำนาน ใช้ในความว่า ยกบำนานเทวดา เช่นนั้น บำนาน ก็คงตรงกับ สังเวย หรือ บนบาน ถ้ายึดคำ บาน ออกก็เป็น บำนาน ถ้ายึดคำ บน ออกก็เป็น บำนน ไม่ปรากฏมีที่ใช้ แต่เสียงและความใกล้ไปทาง กำนน เมื่อถือแนวคำยึดนี้ บํเหนด ก็น่าจะยืดมาจาก เบด แต่ เบด ไม่ปรากฏมีที่ใช้ เรื่องคำยืดนี้ ในตำรานิรุกติศาสตร์เรียกชื่อว่า Affix แปลว่า เอาคำที่ไม่ได้ใช้เป็นคำพูดโดยลำพังเข้าไปต่อเติมคำที่มีใช้เป็นคำพูดโดยปกติในภาษา และแบ่งไว้ ๓ อย่าง อย่างหนึ่งต่อข้างหน้าเรียกว่า Prefix ตรงกับลงอุปสรรค ต่อข้างหลังเรียกว่า Suffix ตรงกับลงปัจจัย ต่อเข้าตรงกลางเป็น Infix เห็นจะตรงกับคำว่าลงอาคม ในภาษาตระกูลมอญ-เขมร และตระกูลภาษาชวามลายู มักเป็นชนิดต่อหน้าและต่อกลาง ส่วนต่อหลังไม่มี วิธีต่อกลาง มักต่อในที่ถัดจากพยัญชนะตัวแรกของคำ โดยใช้ um หรือ umn ถ้าใช้ตัวอักษรโรมัน สระและพยัญชนะกระจายอยู่เป็นตัว ๆ เห็นคำที่เติมได้ง่าย เช่น BAN = B-UMN-AN TRAP = T-UM-RAP คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าเรียกว่าคำเติมหรือคำต่อจะดีกว่าคำยืด ข้าพระพุทธเจ้าลองคิดตั้งคำขึ้น คือ ถ้าเป็นคำชนิดมีความหมายอย่างเดียว หรือคล้ายคลึงกัน เรียกว่า คำซ้อน เช่น เสื้อแสง เสื่อสาดอาศนะ

คำที่ซ้ำเสียง เรียกว่า คำซ้ำ เช่น ดีๆ เล็กๆ

คำที่มีความหมายตรงกันข้าม เรียกว่า คำคู่ เช่น พ่อแม่ ขาวดำ ดีชั่ว ใน กฎหมายเก่า มีคำว่า เลว เช่น ช่างเลว คงหมายความว่าช่างสามัญ น่าจะไม่หมายความว่าไม่ดี เพราะฉะนั้น ดีเลว ที่เคยใช้พูดเข้าคู่กัน จะผิดคู่ ควรจะเป็น ดีชั่ว

ถ่า ในกฎหมายเก่า มีใช้คำนี้อยู่หลายแห่ง เช่น เป็น ๕ ถ่า คำนี้น่าจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า ตา ในความหมาย ตานี้ คือ คราวนี้ ครั้งนี้ ทีนี้ คำว่า ท่าที ก็อาจเป็นคำเดียวกัน

คำว่า มารดา เขียนเป็น มานดา ทุกแห่ง คำเดิมเป็น มาตฤ หรือ มาตา ตัว น มาจากไหน คำว่า มารยา ก็เช่นเดียวกัน คำเดิมเป็น มายา แต่เขียนเป็น มานยา คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเกิดเพราะ ม เป็นเสียงนาสิก จะกังวานอยู่นาน จึงเกิดเป็นเสียง น ตามมาด้วยนิด ๆ ที่เปลี่ยนจาก น มาเป็น ร รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่า จะเกิดจากวิธีเขียน ครั้งโบราณชอบใช้ ร แทน น มีตัวอย่างอยู่หลายคำ เช่น แผ่นผงร ขนอร ดร เดียรดาษ คำหลังน่าจะมาแต่คำว่า ดื่นดาด

แพละโลม อาจกลมกลืนเสียงเป็น ประโลม

ชาวกำนัน ในกฎหมายเก่า มีข้อความชวนให้คิดว่า มีทั้งหญิงและชาย คำว่า ยินร้าย น่าจะตรงกับคำว่า เสียใจ ในภาษาปัจจุบัน เช่น บมิควรให้ผู้คร้ามนั้นยินร้าย คำว่า กาพย์กลอน ใช้ว่า กาพย์โคลง แสดงว่า กลอน จะมีทีหลังหรือยังไม่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น นายโรง ดูความในกฎหมายเก่าจะเป็นตั้วโผหรือผู้จัดการละคร ไม่ได้หมายความว่าตัวยืนโรง หรือตัวละครที่เป็นพระเอก หมื่นธารกำนัลทูลถวายดอกไม้ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นชื่อตำแหน่ง คงไม่หมายความว่า สาธารณ ดั่งในเวลานี้

พวกวิเศศ ทำไมจึงเกี่ยวกับครัว ขอประทานพระเมตตาทราบเกล้าฯ ด้วย ส่วนคำว่า ครัว ทางภาษาไทยถิ่นอื่นใช้ในความหมายว่า สิ่งของ เช่น ครัวทาน (ของถวายเป็นทาน) ครัวอันควรบริโภค เป็นต้น

ยิงธนูแพ้เลี้ยง เห็นจะเป็น ยิงธนูแพะเลียง (ผา) เพราะอีกแห่งมีว่า ตราเลี้ยงผาขุนเทพวรชุน

สัศดี มีผู้อธิบายว่า มาจากคำ สุรัศวดี แต่ในกฎหมายเก่า ถ้าคำไหนเป็น สุรัศวดี ก็มีพระนำหน้าและแยกกับสัศดีเสมอ

โสโครก เขียนเป็น โสกโครก ถ้าเช่นนั้น สกปรก ก็คงเป็น โสกโปรก ได้

ตามที่กราบทูลมานี้ จะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้เขาแปลตำนานสุวรรณโคมคำจากภาษาพายัพ พบคำว่า ยัง ใช้ในประโยคที่ผิดกับกรุงเทพฯ เช่น ก็เห็นยังรอยเนื้อ ให้มาเอายังรัตนมณี เขาฝังยังรัตนมณี ก็พร้อมกันเอายังผืนผ้า แล้วลักเอายังรัตนมณี สังเกตดูความใน คำว่า ยัง จะตรงกับที่ใช้กันว่าซึ่ง ว่ามี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ