๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ตามที่โปรดประทานเรื่องจีนจุดประทัดในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อเป็นการขับไล่ผี ว่าคล้ายคลึงกับการยิงปืนในพิธีตรุษนั้น ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหนังสือ Frazer’s Golden Bough ตอนที่ว่าด้วยการขับไล่เสนียดจัญไร (Expulsion of Evils) ว่า การขับไล่โรคภัยไข้เจ็บและเหตุร้ายต่าง ๆ ให้ไปเสีย ย่อมเป็นวิธีที่มีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ชนชาติที่ยังล้าหลังต่อความเจริญ ยังคงใช้กันอยู่สืบต่อมา ส่วนชนชาติที่เจริญแล้วก็ยังมีพิธีชะนิดนี้เหลือตกค้างสืบเป็นประเพณีอยู่ แต่ว่าเปลี่ยนแปลงและกลายรูป ไปตามความเจริญของบ้านเมือง วิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั้นแบ่งเป็นสองชะนิด อย่างหนึ่งไม่มีตัวตน มองไม่เห็น อีกอย่างหนึ่ง มีตัวตนสมมุตเป็นสิ่งชั่วร้ายนั้น

ในหมู่ชนที่ยังล้าหลังต่อความเจริญ ถ้าเกิดมีเหตุเภทภัยเจ็บไข้ได้ทุกข์ ก็ถือว่าผีร้ายให้แรง ต้องทำพิธีขับไล่ให้ไปเสีย ซึ่งในหนังสือเล่มนั้น ได้รวบรวมพิธีของชาติต่าง ๆ มาเล่าไว้มาก เป็นพิธีของชาติล้าหลังมากชาติด้วยกัน ต่างก็มีคติที่ทำต่าง ๆ กัน แต่เมื่อย่อลง ก็เป็นไปในเรื่องใช้ไม้มือหรือใช้อาวุธฟาดฟันไปในอากาศ ในที่ซึ่งสมมุตว่ามีผีร้ายสิงอยู่ ปากก็ร้องเอ็ดอึง และตีเกราะเคาะไม้หรือสิ่งต่าง ๆ ขู่สำทับให้ดังสนั่นหวั่นไหว เพื่อขับไล่ให้ผีหนีไป ถ้าเป็นพวกอยู่ใกล้น้ำใกล้ทะเล ก็สมมุตไล่ต้อนผีให้ลงน้ำไป พวกที่อยู่ตอนก็ใช้วิธีต้อนลงหลุมแล้วกลบเลย นี่เป็นวิธีอย่างที่หนึ่ง ซึ่งเป็นชะนิดไม่มีตัวตนมองไม่เห็น

อย่างที่สอง คือชะนิดสมมุตให้มีตัวตน โดยใช้ทำเป็นอย่างเสียกะบาล หรือต่อเป็นเรือแพ สมมุตว่านำเอาผีร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บใส่เรือให้ไปเสีย บางทีก็ใช้สัตว์ สูงขึ้นไปถึงคน ซึ่งสมมุตว่าเป็นผู้รับช่วงเอาโรคภัยไว้ในตน แล้วก็ขับไล่สัตว์หรือคนที่สมมุตเป็นตัวโรคให้ออกจากถิ่นไปเสีย หรือสูงขึ้นไป ก็ทำพิธีฆ่าบูชายัญ ที่พระเยซูทรงรับบาปของมนุษย์เพื่อถ่ายโทษบาป ก็น่าจะเป็นคติในทำนองเดียวกัน

การทำพิธีขับไล่ผีนี้ ทำเป็นครั้งคราวแล้วแต่มีเหตุเภทภัย ครั้นต่อมาพิธีเหล่านี้ ก็เลือนมาเป็นพิธีทำประจำปี ถ้าชาติที่อยู่ในแดนหนาว ก็มักทำในต้นระดูหรือปลายระดูหนาว ถ้าเป็นประเทศร้อน ก็มักทำในต้นระดูหรือปลายระดูฝน หรือมิฉะนั้นก็ทำในระดูที่กำหนดเป็นระยะสิ้นปี เพราะในระดูเหล่านี้ย่อมไม่มีความสบาย และมักเกิดโรคภัย ไข้เจ็บ จึงต้องทำพิธีขับไล่ล่วงหน้าไว้ หรือที่ทำภายหลังระดู ก็เพื่อจะได้เริ่มความเป็นอยู่ใหม่ ให้มีแต่ความสุขสมบูรณ์ ปราศจากผีร้ายให้แรงเกิดโรคภัยไข้เจ็บ และในพิธีที่ทำนี้ ประชาชนแสดงการร่าเริงเลี้ยงดูกัน ก่อนเวลาขับไล่ผีก็มี ภายหลังเวลาขับไล่ก็มี

ภายหลังชาติที่เจริญแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงการตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ผีร้ายจะได้ตกใจหนีไป เป็นใช้เครื่องอื่นที่ทำให้เกิดเสียงดังดีกว่า เป็นต้นใช้จุดประทัดและยิงปืนแทน ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านตรวจดูในหนังสือ Golden Bough ได้ให้ตัวอย่างที่ใช้ปืนยิงเพื่อขับไล่ผีในวันขึ้นปีใหม่ มีชาวตังเกี๋ย เขมร สยาม และชาติในยุโรป มีพวกโปลและพวกเชก แห่งประเทศเชกโกสโลวเกีย ที่ใช้ปืนใหญ่ยิงสามนัดแรกเป็นอาณัติสัญญา แล้วก็ยิงปืนกระบอกอื่นที่มีไว้พร้อม ๆ กัน

อนึ่ง ในขณะที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาหนังสืออ่านที่ว่าด้วยเรื่องที่กราบทูลมาข้างต้นนี้ ไปพบหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งชื่อว่า Things Chinese ได้เล่าถึงวิธีทำศพในประเทศจีนว่า ชนชาติม่านจื๋อ (หมายความถึงชาติต่างๆ ที่อยู่ในตอนใต้ของจีน) ในแคว้นเสฉวนตอนทิศตะวันตก มีประเพณีมัดศพให้อยู่ในท่านั่งแล้วจึงเผา ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าคตินี้ อาจเป็นทางให้สืบสาวเรื่องพิธีทำศพของไทยในบางประการได้บ้าง จึงขอประทานจดถวายมา เท่าที่มีข้อความบอกไว้เพียงย่อๆ ข้างบนนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ