๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๔ เดือนนี้ พูดเรื่อง ตรา เรื่อง แปลคำหลวง ได้ทราบความแล้ว

ตามที่ท่านขออนุญาตคัดหนังสือของฉันซึ่งมีไปถึงท่าน อธิบายในเรื่องพระราชลัญจกรต่าง ๆ ไว้ในหอสมุดฉะบับหนึ่งนั้น ฉันอนุญาตได้ไม่ขัดข้อง แต่นึกดูรู้สึกว่าจะไม่เรียบร้อย เพราะคำอธิบายนั้นกระจัดพรัดพรายไปในหนังสือหลายฉะบับ ปะปนกับเรื่องอะไรต่ออะไรร้อยแปด จึ่งคิดว่าถ้าท่านปรุงเสียใหม่ ทำเปนบันทึกอธิบายพระราชสารคำหับ ประกอบด้วยคัดความในจดหมายของฉัน จำเพาะข้ออธิบายเรื่องตราใส่ลงไว้ กลัดติดกับสำเนาพระราชสารคำหับนั้น จะเปนดีกว่า

ความคิดของท่านที่คิดจะเก็บตัวอย่างลายตราต่าง ๆ นั้น จะเปนประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่มีที่สงสัยเลย แต่จะเก็บลายตราซึ่งประทับลงจริงในเวลานี้เห็นจะเก็บยาก ด้วยเขาเลิกการประทับตรากันเสียเกือบหมดแล้ว ถ้าหากท่านจะคิดทำเหมือนเช่นที่ฉันเคยทำเล่นมาแต่ก่อนแล้ว จะทำได้ คือพบเอกสารอันใด ซึ่งเขาประทับตรา เอากระดาษบางทาบลอกปิดสมุดไว้ดูเปนตัวอย่าง ท่านจะทำได้โดยง่าย ด้วยมีช่างเขียนในกรมศิลปากรซึ่งจะใช้ให้เขียนลอกได้

ตามคำถามของท่านที่ว่าพระราชสารต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับจีนและฝรั่ง ทำไมจึงมีแต่สำเนาคำแปลภาษาไทยเท่านั้น ดูเหมือนท่านจะคิดว่าพระราชสารไปเมืองจีนจะเขียนเปนหนังสือจีน พระราชสารไปเมืองฝรั่งจะเขียนเปนหนังสือฝรั่ง ตรงกันข้ามกับความคิดของฉัน ซึ่งคิดว่าบรรดาต้นพระราชสารทั้งปวงเขียนเปนหนังสือไทยทั้งนั้น สำเนาคำแปลซึ่งเปนภาษาจีนภาษาฝรั่ง ย่อมทำที่กรมท่า ไม่ได้ส่งสำเนามาทางห้องอาลักษณ์จึ่งไม่มีที่ห้องอาลักษณ์ แต่นี่ก็เปนความคาดคะเนของฉันเหมือนกัน ความจริงนั้นฉันไม่รู้ คำที่เรียกว่า หอหลวง นั้น ฉันไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย เห็นจะเปนห้องอาลักษณ์นั้นเองเรียกว่า หอหลวง

เรื่องสัตวหิมพาน ตามตำรานั้น ท่านอย่าพูดเลย เปนของเหลวทั้งสิ้น ที่เขียนรูปโลโตคล้ายราชสีห์นั้น ก็เพราะไม่มีความรู้ว่า โลโต คืออูฐ จะพูดมากมายไปทำไม แรดเพลิง ตัวต้นทีเดียวใน ตำราสัตวหิมพาน นั้น ท่านดูเห็นเหมือนแรดหรือไม่ นั่นได้ชื่อมาตรงแท้ ๆ และตัวจริงๆก็มีในเมืองเรา แม้กระนั้นยังไม่เหมือนแรด พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ท่านคาดการว่าเจ้าพวกช่างไม่เคยเห็นแรด จะต้องทำก็ถามชาวป่าว่ารูปร่างแรดเปนอย่างไร ชาวป่าก็บอกรูปอย่างประเมิล ว่าตัวคล้าย ๆ ช้าง ปากมีจะงอยคล้ายงวง เจ้าพวกช่างก็หลับตาเขียนขึ้น ดั่งท่านจะเห็นได้ใน ตำราสัตวหิมพาน นั้นแล้ว อันสัตวหิมพานนั้น มันหลงเลอะกันมาหลายทอด เปนต้นว่าราชสีห์ที่โบราณท่านเขียน ตัวจริงท่านก็เขียนเปนสัตวมีสร้อยคอเปนขน ประดิษฐให้งามขึ้นเล็กน้อย แล้วท่านเขียนเครือไม้ลายก้านขด ท่านก็ผูกช่อใบไม้ให้เห็นเปนรูปหัวราชสีห์ แล้วช่างที่อ่อนก็จำเอาช่อใบไม้ไปเขียนตัวราชสีห์จริง ๆ เข้า ก็กลายเปนราชสีห์นั้นมีขนเปนใบไม้ไป ความจริงสัตว์หิมพานจะได้มีรูปผิดกว่าธรรมดาไปก็หามิได้ ดูแต่ทางน้ำไหลออกจากสระอโนดาด ก็เปนช้างเปนม้าเปนโคเปนสิงห์ (คือ ไลออน) ตรงๆ นั้นเอง ทั้งที่กล่าวถึงสวนท้าวเวสวัณ ใน อาฏาณาติยสูตต์ ก็มีแต่นกยูง นกกาเรียน นกดุเหว่า ไม่เห็นพิสดารอะไร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยทรงพระราชดำริจะให้เขียนป่าหิมพานคราวหนึ่ง ทรงสงสัยในสัตวหิมพานต่าง ๆ โปรดให้ผู้รู้หนังสือค้น ฉันยังจำได้ว่านกทัณฑิมา ในตำราสัตวหิมพาน เขาเขียนตัวเปนครุฑถือกระบอง หัวเปนนกอินทรี แต่ที่ค้นมาได้ตามที่มีในบาลี นกทัณฑมานวก ในสวนท้าวเวสวัณนั้นตัวเล็กเต็มที ว่ามีปากยาวดุจถือไม้ท้าวเที่ยวจดจ้องอยู่บนใบบัว ไปทางพวกนกปากซ่อม ใน ตำราสัตวหิมพาน นั้น ต้นๆ ก็พอค่อยยังชั่ว มีตัวจำเพาะอยู่โดยมาก ตกไปถึงตอนปลาย เอาหัวของตัวนี้ไปใส่ตัวนั้น เอาตัวของตัวนั้นไปใส่กับหัวตัวโน้น เปนการส่งเดชของพวกช่างอย่างเขลา ๆ เอาเปนแบบฉะบับไม่ได้เลย อันชื่อว่า สิงโต นั้นฉันเคยคิดมาแล้วว่ามาจากอะไร แต่คิดไม่ออก ท่านมาคิดเดาขึ้นว่าเปน สิงห+โลโต นั้นดีหนักหนา จะจำใส่ใจไว้

เรื่องแปลคำหลวง นั้น ท่านแปลไว้เรียบร้อยดีแล้ว ใช้ได้ ขอบใจท่านที่ให้พระมาลัยคำหลวง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงแต่งจริง ๆ เปนแน่ว่าแต่งเล่น เจ้านายพระองค์นี้มีฝีพระโอฐดีจริง ๆ ควรเปนที่นับถืออย่างยิ่ง ฉันยังไม่ได้อ่าน คิดว่าจะอ่านไม่เบื่อจนที่สุดจะรู้เรื่องได้ ฉันเคยขอยืมหนังสือพระมาลัยเขามาอ่านทีหนึ่งแล้ว ด้วยคิดจะแต่งหนังสือช่วยวชิรญาณรายเดือน เรื่องพระศรีอารย์ เขาว่าในหนังสือ พระมาลัย มีเรื่องพระศรีอารย์ จึงยืมเขามาอ่าน อ่านก็พบแต่ บาปแม่มดเท็จ ตัวเปนตัวเป็ด หัวเปนหัวไก่ อ่านไปไม่ได้กี่บรรทัดก็หลับ สมุดคาอก หลายวันไม่ได้เรื่องก็ต้องส่งคืนเขา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ