๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ได้รับแล้ว

ฉันรู้นานแล้ว ว่าถ้าเรียกชาวพายัพและอีศานว่า ลาว แล้วเขาโกรธ เขาเถียงว่า ข้อยเปนไต เกี่ยรติยศในความเปนไทนั้น เขาไม่ให้แก่พวกเรา ด้วยเขาเรียกพวกเราว่าชาวใต้

มีศัพท์ที่น่าสงสัยอยู่คู่หนึ่ง ทางบางบอนมีชื่อ วัดกกวัดเลา พ้องกันกับชื่อแม่น้ำทางเมืองเชียงราย ว่า แม่กกแม่เลา หรือ แม่ลาว ก็ไม่ทราบ สงสัยว่าคนทางโน้นจะยกย้ายมาตั้งบ้านทางนี้ แล้วใช้ชื่อวัดเปนที่ระลึกถึงบ้าน

เรื่องศัพท์แสงนั้นเต็มที เริ่มคิดก็ดูว่าเข้าที แต่ครั้นคิดหนักเข้าก็กลายเปนเหลวไหลล้มละลายไป

คำ ชา ฉันค้นหามาคิดเมื่อคราวก่อน พบมาก แต่คิดไม่ได้ก็ปล่อยเพริดเข้าป่าไป ตามจับได้ กำลังวังชา กลับมาคำหนึ่ง ท่านจับ เด็กชามาได้คำหนึ่ง ชื่อหัวหมื่นมหาดเล็กวังหน้ามีว่า จมี่นมหาดเล็ก จมื่นเด็กชาย เข้าใจว่าแก้คำเด็กชาให้เปนเด็กชายทีหลัง เพื่อให้ได้ความเข้าใจขึ้น ขอบใจท่านที่แนะให้รู้สึก ว่าคำ เล็ก กับ เด็ก เปนคำเดียวกัน เปนได้ดีทีเดียว จีนแต้จิ๋วพูดเสียง ต ไม่ได้ เดือนหงายก็ต้องว่าเลือนหงาย เปลี่ยน ด เปน ล นี่ส่องให้เห็นไปถึง ศิลาแลง ศิลาแดง ได้อีกด้วย ดีเต็มที

คำ ดึกดำบรรพ์ ฉันเคยค้นมาทีหนึ่งแล้ว ไม่ได้เรื่อง ท่านมาคิดขึ้นได้ว่า ดึก เปน ลึก ก็ทำให้ฉันมีความคิดคืบออกไปได้ว่า ดึก เปน ลึก ได้ ทำไม ดำ จะเปน ล้ำ ไม่ได้ บรรพ์ เคยเข้าใจกันว่า ก่อน ถ้าแปลรวมคำก็เปนลึกล้ำก่อน ได้ความอย่างหมายทีเดียว

คำ มหาดไทย ฉันเคยได้ยินมีผู้คาคว่าจะมาแต่คำ มหาทย ในภาษาบาลี ซึ่งมีคำแปลไว้ในพจนานุกรมของอาจารย์จิลเดอส์ว่า Very compassionate, all merciful ส่วนท่านได้ยินมีผู้คาคว่าจะมาแต่คำ มหาอุไทย ซึ่งเปนคำบาลีด้วยกัน มาตะเภาเดียวกัน แต่ฉันไม่เห็นด้วยว่ามาแต่คำบาลี เพราะกางเกียงอยู่ที่มีคำว่า มหาดเล็ก คำบาลีว่า มหาเลก ก็ไม่มี ซ้ำฉันนึกได้ตะหงิด ๆ ว่า เคยเห็นที่ไหนว่า นายมหาดนุ่งผ้า..... แต่จะจำหน่ายให้ตกว่าได้เห็นที่ไหนก็จำไม่ได้ โดยเหตุทั้งปวงนี้ จึ่งนึกว่าคำ มหาด เห็นจะเปนคำไทย ไม่ใช่คำบาลี

ตัว ห ฮ สับเปลี่ยนกับตัว อ นั้น เห็นจะเปนอยู่ทุกภาษา จะพูดแต่เสียงไทย พระอัฐิ ก็เรียก พระหัฐิ อีกพวก ฮา เฮย ในสร้อยโคลงก็ไม่ใช่อื่นคือ อา เอย ซ้ำนึกต่อไปว่าตัว ฮ นั้นทำขึ้นสำหรับพูดเพี้ยน อ เปน ฮ แต่ก่อนเขียนขมวดหางลงมาใต้หัว ก็เปน อ ขีดไส้เท่านั้นเอง ที่ทำขึ้นเช่นนั้น เข้าใจว่าไม่ใช่ทำขึ้นให้เปนอักษรสูงอักษรต่ำคู่กับตัว ห

ท่านพูดถึง ฐานกรณ์ ทำให้นึกถึงโรงสอนใบ้ อันได้ไปเห็นมาแต่ชวาเมื่อไปเที่ยวคราวนี้ ตามที่มีบอกฐานแห่งตัวพยัญชนไว้ในไวยากรณ์บาลีก็รู้สึกอย่างชา ๆ แต่ไปเห็นที่เขาสอนใบ้ เขาใช้ฐานกรณ์เปนหลักสอนทีเดียว ขึ้นต้นสอนคำในอักษรที่เกิดแต่ โอฏฐช คือปากก่อน เช่นเรียกพ่อว่า ปา เรียกแม่ว่า มา เขาจับมือศิษย์มาพูดพ่นลงไปที่มือ ให้รู้สึกว่าลมซึ่งเกิดแต่เสียงนั้นกระทบมือเปนอย่างไร แล้วให้ศิษย์ออกเสียงให้มีลมกระทบมืออย่างเดียวกัน เมื่อออกเสียงถูกแล้ว เขาก็เขียนหนังสือลงไปที่กระดานดำ ให้รู้ว่าคำนั้นเขียน pa และ ma ส่วนคำที่เกิดแต่ กัณฐช คือคอ เปนแต่เขาพูดทำปากให้ศิษย์เห็นแล้วว่าตาม ถ้าว่าไม่ถูกเสียง เขาจับมือศิษย์ไปแตะเข้าที่คอเขา แล้วก็ออกเสียงให้เด็กมาแตะที่คอของตนแล้วออกเสียง สังเกตให้มีลักษณเหมือนพบที่คอครูก็เปนถูกทุกที รู้สึกเห็นเปนประหลาดหนักหนา ทั้งรู้สึกว่าฐานกรณนั้นเปนประโญชน์มากที่สุดสำหรับคนใบ้ คนใบ้ที่ฉลาดอันได้ฝึกหัดด้วยดีแล้ว มีความสามารถที่จะสนทนากับคนดีได้ แต่จะได้ยินเสียงคนดีพูดก็หาไม่ สังเกตแต่ปากหมุบหมิบก็เข้าใจ อ่านหนังสือในใจหรืออ่านดัง ๆ ให้คนดีฟังก็ได้ เขียนหนังสือก็ได้ ดีดพิมพ์ก็ได้ ในที่สุดไปรับจ้างเปนเสมียนตามห้างก็มี แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่หัดได้ดังนั้นทุกคน แต่อย่างไรก็ดี ต้องรู้ดีขึ้นกว่าคนใบ้ตามธรรมดาทุกคน

เรื่องผ้าจวน เห็นควรจะระงับไว้ร่ำเรียนต่อไป

ทีนี้จะว่าด้วยเรื่องคำ วิรุทธ

๑. คาบรัก สอบได้ว่าเปน อาบรัก นั้น พอใจแล้ว ด้วยต้องตามภาษาช่างที่เขาพูดกัน

๒. ต้นไม้เพศ สอบได้ว่าเปน ต้นไม้เทศ ถูกดีแล้ว

๓. กึ่งฐานบัว สอบได้คงที่ ไม่มีความพอใจเลย เพราะความมีต่อว่า กึ่งฐานบัวตั้งบุษบก ที่ตรงกึ่งฐานบัวนั้นจะตั้งอะไรหาได้ไม่เลย ได้แต่ตุ๊กแกเกาะเท่านั้น

๔. นั่งทับผนังเชิง สอบได้ว่า นั่งทับพนังเชิง เปนดีขึ้น ที่ฉันเดาว่าจะเปน นั่งพับพแนงเชิง นั้น ด้วยจำได้มาจากที่มีในทศพรคำหลวง ว่า ธ ก็นั่งพับพแนงเชิง เห็นคล้ายกันจึ่งเอาคำนั้นมานาบเข้า เมื่อสอบได้ว่าเปน นั่งพับพนังเชิง ฉันก็พอใจ ด้วยคำ พนัง นั้นเหมือนกันกับ พระเจ้าพนังเชิง ทั้งท่านก็มีความเห็นว่า พนัง กับ พแนง เปนคำเดียวกันด้วย ส่วนคำ พับ ก็หมายความว่าพับขา ทับ ก็หมายความว่าทับขาได้ ฉันไม่ติดใจอะไรอีกแล้ว

ร่างคำนำหนังสือ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีตรัสสั่งให้จัดการตีพิมพ์นั้น ฉันได้ส่งร่างตกเติมและแก้คำส่งมาให้ท่านกับหนังสือนี้แล้ว

ปัญหาที่ว่า สมเด็จพระวันรัตน์ ซึ่งโปรดให้เปนสมเด็จพระสังฆราชขึ้น ควรจะเซนอย่างไรนั้น เปนปัญหาที่ตอบยากอยู่ ดูเหมือนในกฎหมายใช้คำว่า ลงลายมือชื่อ ถ้าถูกเช่นนั้นลายมือที่เขียนลงไปจะต้องเปนสมเด็จพระวันรัตน์ ด้วยคำนั้นเปนชื่อ ส่วนคำ สมเด็จพระสังฆราช นั้นเปนตำแหน่งไม่ใช่ชื่อ ถ้าจะเขียนต่อชื่อก็ใช้เสมียนเขียน ไม่ต้องเปนลายมือของท่าน นี่ว่าตามแนวกฎหมาย ในเรื่องนี้เปนเรื่องการบ้านเมือง ท่านจะมาฟังเอาแต่ความเห็นทางฉัน เห็นจะไม่สมควร ควรที่ท่านจะเรียนปฏิบัติขึ้นไปทางคณะรัฐมนตรีนั่นแหละจึ่งจะเปนหลักฐานอันมั่นคง

คำราชาศัพท์ที่ใช้กับสมเด็จพระสังฆราชนั้น เข้าใจว่าใช้กันเหมือนเจ้า ส่วนคำตัวอย่างที่ท่านให้ว่า ทรงเสวย นั้นติดจะเถื่อน พวกเดียวกับทรงอ้วน ทรงผอม จะเอามาใช้เปนกิจลักษณะที่จะไม่สมควร คำ ทรง มีพระราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ตีพิมพ์ไว้อยู่ในสมุดเล่มหนึ่งแล้ว

จะต่อความเรื่องชื่อ แม่กก แม่เลา ถ้า แม่เลา เปน แม่ลาว จะเปนหลักอีกอย่างหนึ่ง ว่าชื่อ ลาว ไม่ได้มาแต่ ละว้า หรือ ลัวะ ได้ไหม แม่กก จะแปลกะไร หมายถึงต้นกกที่สานเสื่อหรือ นึกถึงไปเที่ยวเมืองเขมร เห็นเขาฉลักรูปภาพเปนกระบวนแห่ไว้ตอนหนึ่ง เขาฉลักหนังสือบอกไว้ว่าเสียมกุก ฉันแปลว่า สยามก๊ก โปรเฟสเสอเซเดส์ไม่ยอม แกว่าคำ ก๊ก เปนคำจีน จะเอามาใช้หาได้ไม่ ถามแกว่างั้นเปนอะไร แกก็จน

ฉันจะบอกที่ถูกแก่ท่าน ฉันค้นคำ กำแพง ในพจนานุกรมเขมรพบเขียนตัวขอมเปน กํุแพง เขียนตัวโรมันบอกเสียงอ่านไว้เปน กมแปง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

----------------------------

แก้ร่างคำนำ อันจะลงหน้าสมุด ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินี ตรัสสั่งให้กรมศิลปากรจัดการตีพิมพ์ขึ้น เพื่อใช้ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชชนนี

----------------------------

สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งกรมศิลปากรว่า ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชชนนี ณ พระเมรุ.....มีพระราชประสงค์ให้กรมศิลปากรจัดหาหนังสือสำหรับตีพิมพ์ เนื่องในงานนั้นถวายสักเรื่องหนึ่ง

----------------------------

บันทึก

พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เขียนตามประติทินหลวง และหนังสือราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งมีถึงสำนักพระราชวัง เลขที่ ๒๖๑/๒๔๘๑

$\left. \begin{array}{}\mbox{พระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ } \\\mbox{พระ } \\\mbox{ราช }\end{array} \right\}$ ใช้ตามที่เคยใช้ในราชการ

ราชชนนี ใช้ตามที่เคยใช้ในราชการ และตามหนังสือราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งมีถึงสำนักพระราชวัง เลขที่ ๒๖๑/๒๔๘๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ