- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๔ เรื่อง ภาษาเขมร เรื่อง ไวยากรณ์ เรื่อง ไม้กางเขน ได้รับทราบความแล้ว จะตอบต่อไปนี้
ในวิธีใช้อักษรของเขมร สระ ออ ซึ่งเขียนด้วยตัว อ ประกอบอย่างเรานี้ไม่มีทีเดียว พยัญชนที่อ่านว่า กอ เช่น ก เมื่อเอาตัว น สกดเข้าเช่น กน เขาอ่านว่า กอน เมื่อถึงตัว ค ซึ่งอ่านว่า โก เมื่อใส่ตัว น สกดเปน คน เข้า เขาจึงอ่านว่า กน จะให้ตัวอย่างคำที่ลักลั่น เช่น พระกร เขมรอ่านว่า เปริยะกอ ตัว ร เขาไม่อ่านไม่สกด เราก็เห็นจะเอาอย่างเขมรมาเขียนแต่อ่านไปเสียเปน พระกอน ยังเห็นรูปเปนเสียงเขมรอยู่ หากเขียนตามภาษาบาลี ควรจะอ่านว่า กะระ
ภาษาเขมรจะมีไวยากรณ์หรือไม่ฉันไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าไม่มี มีอ่านสับปลับอยู่มาก เช่นตัว บ ลางคำก็อ่านเปนเสียง บ บางคำก็อ่านเปนเสียง ป สระที่ประกอบอยู่ติดตัวก็ไม่แน่ ลางทีก็เปนสระ ออ ลางทีก็เปนสระ อะ
ที่ฉันว่าเราอ่านหนังสือเขมรเข้าใจ แต่ฟังเขาพูดไม่เข้าใจนั้น ไม่ได้หมายถึงเขาพูดกันในพวกเขา เช่นสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ตรัสเรียกว่า บริ๊ด ไม่เข้าใจ ทั้งที่เขาประจงพูดด้วยตั้งใจจะให้เราเข้าใจ แต่เพราะออกเสียงต่างกันไปเสีย จึงเข้าใจไม่ได้ เช่น คำในภาษามคธเขียนว่า ทวาร เราอ่านว่า ทะวาน เขมรเขาอ่านว่า เต๎วีย หรือคำของเขมรเอง เช่น มาส (ทอง) เราอ่านว่า มาด แต่เขมรเขาอ่านว่า เมิยะ เช่นนี้เปนต้น
สระ ออ-โอ-อู ซึ่งท่านวินิจฉัยว่าเปนสระอันเดียวกันนั้น ถูกแล้ว ตัวอย่างคำที่ท่านให้ ลางคำเอาตัวอย่างคำไทยต่างถิ่นมาเทียบ ลางคำฉันก็นึกได้ว่าไม่จำเปนต้องเอาภาษาไทยต่างถิ่นมาเทียบเลย มีอยู่เสร็จแล้วในภาษาไทยเรานี่เอง เช่น กะตุก-กะทก ข้น-ขุ่น เปนต้น
ท่านอธิบายถึงไวยากรณ์ภาษาอังกฤษทำให้เข้าใจดีขึ้นมาก ขอบใจท่าน แต่ก่อนนี้รู้สึกเพียงว่าเราไม่มีไวยากรณ์ออกจะไม่เปนศรีวิลัย จึ่งเชิญเอาไวยากรณ์ของภาษาอื่นมาแบกไว้ บัดนี้ได้รู้สึกยิ่งไปกว่าเก่า ว่าแม้ภาษาที่เราถือเปนครูก็แบกไวยากรณ์ของภาษาอื่นไว้อีกต่อหนึ่ง จึ่งได้ว่าสิ้นเคราะห์
คำ กางเขน ท่านคิดเทียบไปในคำ แกง ฉันกลัวจะไม่ไปทางนั้น เพราะคำ กาง มีคำ หุบ เปนปรปักษ์อยู่ ซึ่งคำ แกง เข้าไม่ได้ คำ แกง ซึ่งท่านให้ไป เปนคำที่ฉันเคยงมหาความหมายมาแล้วอยู่ ๓ คำ จะบอกให้ท่านทราบไว้
๑. แกงได เห็นแน่ใจว่าเปนคำเขมร เพราะคำ ได นั้น ภาษาเขมรแปลว่ามือ จึ่งเปิดพจนานุกรมภาษาเขมรดู ได้คำแปลไถลไปเปน แกง ว่า ซ่น ให้คำประกอบไว้เปนตัวอย่าง มี แกงไฎย ว่าซ่นมือ ขนาดแกง ว่าไม้ประทัดของช่างเขียน ได้คิดวินิจฉัยในคำแรก ที่เราว่า ขีดแกงได ไว้เปนสำคัญนั้น เคยเห็นขีดตั้งขีดเดียว ได้นึกว่าจะรู้เปนสำคัญได้อย่างไรว่าใครขีด เมื่อเห็นคำแปลในพจนานุกรมเขมรจึ่งคิดควบเข้าว่า เห็นจะขีด ๒ ขีด คือเอามือเจ้าของหนังสือนั้นทาบลงกับกระดาษ แล้วขีดเส้นที่ปลายนิ้วขีดหนึ่ง ที่ซ่นมือขีดหนึ่ง เมื่อเกิดสงสัยด้วยหนังสือนั้นก็เอามือเจ้าของหนังสือทาบลง ถ้าได้เส้นก็เปนสำคัญได้ว่าเปนหนังสือฉะบับที่ถูกต้อง ส่วนคำหลังนั้นเห็นได้ว่าเปนไม้ซึ่งเรียกกันอยู่เวลานี้ว่า ไม้นิ้ว แต่เห็นตรงกับคำที่พูดกันว่า ไม้มือ จะเปนมือหนึ่งคือคืบหนึ่ง หรือสองมือ คือศอกหนึ่ง ก็ได้
๒. ตะแลงแกง สงสัยว่าจะเปนคำเขมรเหมือนกัน แต่เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรดูหาไม่พบ จะเปนด้วยคำเก่าซึ่งไม่ได้ใช้ในสมัยนี้แล้วก็เปนได้
๓ ชายไหวชายแครง นึกว่าคำนี้เปนสองอย่างเอามาพูดติดกัน คือ ชายไหว อย่างหนึ่ง ชายแครง อย่างหนึ่ง จะต้องเปนเครื่องคาดเอวซึ่งเหลือชายห้อยอยู่ เพราะที่ใช้คำนั้นบ่งไปอย่างนั้น ชายไหว เข้าใจดีแล้ว ไม่ต้องคิด ชายแครง นั้นแหละต้องคิด ว่า แครง แปลว่ากะไร ฉันถนัดไปในทางเทียบคำใช้ จึ่งหาคำที่เราเคยใช้มาเทียบก็ได้ไปสองทาง ทางหนึ่ง คือ หอยแครง กาบหอยแครงมีลักษณะเปนริ้วๆ จึ่งนึกว่าหรือชายแครงจะเปนชายที่ติดกรุย ติดพู่เปนเส้นเปนริ้วดุจหอยแครง แล้วมีคำที่เนื่องกันอีก คือ ขนมโครงแครง นั้นหมายความว่าเอาแป้งบี้ลงกับกาบหอยแครง กับ แครงวิดน้ำ นั่นมีรูปดุจกาบหอยแครง ไม่ช่วยอะไรได้กับคำ ชายแครง อีกทางหนึ่งที่เมืองพิษณุโลกมี เขาสมอแครง ในกรุงเทพฯ มี วัดสมอแครง วัดสมอราย คำ สมอ คิดว่าเปน ถมอ เทียบกับคำสมอทอดเรือ ก็คือเอาก้อนหินผูกเชือกโยนลงไปในน้ำ คำ สมอ นั้นก็เห็นเปนแน่นอนว่า ถมอ ซึ่งเขมรหมายความว่าหิน สมอราย ควรจะแปลว่า หินราย สมอแครง ควรจะแปลว่า หินย้อย กรุงเทพฯ ไม่มีเขาไม่มีหินเลย ชื่อวัดคงรับมาแต่อื่นด้วยเหตุที่ไม่เข้าใจความหมายนั้น ถ้ายึดเอาคำนี้เปนหลัก ชายแครงก็ตกเปนว่าชายห้อยเท่านั้นเอง เหตุที่คำอันได้คิดสอบสวนนี้เปนไปในทางภาษาเขมร จึ่งได้เปิดพจนานุกรมภาษาเขมรดู ในนั้นมีคำ ชายแกรง แปลให้ไว้เปน ๒ อย่าง ว่าเปนเชิงตะพาบน้ำอย่างหนึ่ง ว่าเปนผ้ากันเปื้อนปักทองของนางละคอนเขมรอีกอย่างหนึ่ง ฝรั่งเต็มที ไม่เปนหลักที่จะฟังได้ ความตกลงในใจเห็นว่า คำ ชายแครง จะหมายความว่าชายห้อยเท่านั้นเอง
คำ บี้ ซึ่งท่านเห็นว่าได้แก่ พี นั้นถูกแล้ว ถึงคำว่า พี เราจะหมายว่าอ้วนก็อยู่ในรากอันเดียวกัน คือมีมันมากนั้นเอง