๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ได้รับแล้ว สนุกดี เต่เลเพลาดพาดหนัก จนไม่รู้ที่จะจับอะไรเปนข้อตอบแก่ท่านได้

อันคำพูดนั้นย่อมเปนไปไม่มีประมาณ เห็นจะเหลือล้นพ้นกำลังที่จะวินิจฉัยไปหมดได้ จะต้องคิดตัดสินเปนคำ ๆ ไปเท่าที่คิดได้ บัดนี้จะพูดเลเพลาดพาดไปเหมือนท่านบ้าง

พวกคำคู่ อุดอู้ คุดคู้ นั้นดูดีที่เปนคำใช้เอาความได้ทั้งสองคำ เอามาหนุนกันเข้าให้ความแรงขึ้น ดูเปนว่าได้คิดปรับ

ถัดไปก็มีพวกคำพูดพุ่งว่า กวาดกว้อย ชานอ้อยชานแอ้ย นี่เหลวทีเดียว คำพูดชะนิดนี้แล้วแต่มันจะหลุดออกมา ไม่ได้คิดปรับ

พวกคำคู่ที่เติมอักษรมากขึ้น เช่น ขะโมยขะโจร ตะหมูกตะปาก นั้นชอบกล เอาคำที่ใกล้กันเข้าควบกัน แล้วซ้ำเติมอักษรเข้าให้เท่ากันด้วย แต่ กะโตกกะตาก เปนคำเอาอย่างเสียงไก่ร้องเมื่อมันไข่มาใช้ ไม่ได้ตกแต่งอะไร นับไม่ได้ว่าอยู่ในพวกนี้ เว้นแต่จะเปนตัวอย่างนำไปเท่านั้น

คำคู่ที่เราไม่เข้าใจแล้วมาเข้าใจขึ้นทีหลัง เปนด้วยต่างภาษานั้นถูกทีเดียว เช่น ตากแตดตากนาย แต่แรกก็ไม่เข้าใจคำท้าย จนพระพรหมมุนีท่านบอกให้ว่า นาย นั้น ชาวอุบลเขาว่า น้ำค้าง จึงเข้าใจความ เหมือนท่านรู้คำ หมี และ เหม่ มาก็ทำให้เข้าใจความได้ขึ้น ดำมิดหมี ดำปิ๊ดปี๋ ดำปี๋ ดำบื้อ เห็นจะเปนคำเดียวกันนั้นเอง ตัว ม เลื่อนเปน ป ถ้าแดงก็เปน แดงแจ๊ด แดงแจ๋ เห็นจะมาแต่ จ้า

คำ อยู่ ซึ่งท่านได้ยินมาจากอุบล เขาใช้ในที่ว่า หยุด จะเหมือนกันกับ อยู่มือ อยู่ในถ้อยคำ ซึ่งเราใช้กันกระมัง อันภาษานั้นชอบกลมาก พระยาศรีธรรมราชบอกว่า ชาวปักษ์ใต้เขาเรียกงัวร้องว่างัวขัน ฉันก็เห็นไม่ขัดข้อง ไก่ขันนกเขาขันได้ ทำไมงัวจะขันบ้างไม่ได้ ฉันไปเที่ยวเมืองภูเกตได้ยินเขาเล่าเรื่องพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น) เมื่อออกไปเปนข้าหลวงกันฮาๆ แต่ล้วนเปนเรื่องเข้าใจผิดในภาษาทั้งนั้น เช่น เรื่องหนึ่งพระยามนตรีจะแกงไก่ สั่งนายศรีแก้วซึ่งกรมการเขาส่งมาให้ประจำรับใช้ว่าศรีแก้วไปหามะพร้าวมาใบไป๊ ผม นายศรีแก้วรับ แล้ววิ่งหายไปครูหนึ่ง ไปลากเอาทางมะพร้าวมาให้พระยามนตรี นี่เปนโทษที่พูดว่าใบ จึ่งได้ใบมะพร้าว ภาษาเขาใช้ว่าหน่วยจึ่งจะได้ลูก

เน่ง มีใช้ในโคลงฉันท์อยู่มาก ครูบอกว่านิ่ง ฉันก็เห็นถูก เอา อิ เป็น เอ ง่าย ๆ เท่านั้นเอง

น้อย จ้อย นุ้ย (จุ้ย ?) นิด จิ๊ด หีด อี๊ด เอียด หมายความว่าเล็กทั้งนั้น แต่ที่จริงคำว่าน้อยนั้น เฉียดเลื่อนมาแล้ว ใหญ่ คู่กับ เล็ก น้อย คู่กับ มาก น้อยเปนเล็ก มากก็เปนใหญ่

คำเหล่านี้ลางคำยังขยายออกไปอีกเช่น กะจ้อยร่อย กะจีริด กระจิ เปนคำมลายูว่าเล็กเหมือนกัน ริด มาแต่ไหนก็ไม่ทราบ เข้าใจว่าคำนี้เองพาให้เกิดคำ กะจ้อยร่อย ขึ้น

ด้อย ต้อย ไม่ขัดข้องเลยที่จะเปน น้อย คำว่า ใด ไหน ไร นี้ ก็เปนคำเดียวกัน หากเสียงไหนพูดไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปเท่านั้น เช่นจีนพูดว่า เดือนหงาย ไม่ได้ ก็ต้องพูดว่า เลือนหงาย แม้ในภาษาจีนเองพูดได้ทั้งสองอย่างก็พูดสับสนกัน เช่น ไหหนำ ไหหลำ หรือ นิ้ม (บ่าไม้) พูดว่าลิ้ม ก็มี ก็เหมือนกับคำ ใด ไหน ไร ของเรานี่เอง

เรื่องไม้เอกโท สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณท่านทรงพระดำริว่าเปนเครื่องทำให้ลำบากขึ้น ด้วยเสด็จไปปักษ์ใต้มีใครต่อใครมาเฝ้า ทรงสังเกตเขาพูดเพี้ยนเปนเสียงอื่นไปทั้งนั้น แต่เมื่อเขาเขียนหนังสือมาถวายก็ถูกหมด ทรงสงสัยครัสถามเขาว่า เขาสังเกตอะไรจึ่งเขียนหนังสือถูก เขาทูลว่าจำเท่านั้นเอง ว่าคำไรชาวบางกอกเคยใช้ไม้อะไร จึงเข้าพระทัยได้ว่า ไม้เอกโทนั้นเปนของใช้สำหรับบางกอกเท่านั้นเอง แคบที่สุด ไม่เปนประโยชน์ไปทั่วพระราชอาณาเขตต์ ฉันมาคิดดูก็เห็นมีคำซึ่งแม้ชาวบางกอกเองก็โกยเอามาใช้ซ้ำกันมากมาย เช่น น้อย หน่อย น่อย นี้ นี่ นั้น นั่น โน้น โน่น ฯลฯ ที่จริงมันเปน accent เท่านั้นเอง แต่จะไม่ใช้ก็ไม่ได้ ทำให้เกิดเข้าใจผิด เช่น นิทานเล่ากันถึงพวกเงี้ยวเขียน ทีนี มีนำ ตั้งใจจะบอกว่า ที่นี่มีน้ำ แต่คนอ่านตีความไปเสียว่า ที่นี่หมีหนำ เลยวิ่งหนีไปเสีย แม้ระหายน้ำก็ไม่ได้กินน้ำ

เครื่องหมายของเราแต่ก่อนใช้น้อย ทีหลังก็ถ้วนถี่ ใช้มากขึ้นทุกที เช่น ไม้ไต่คู้เปนต้น แต่ก่อนก็ไม่สู้ได้ใช้ เดี๋ยวนี้ใช้จนขาดไม่ได้ ติกันว่าเขียนผิด แต่ก็เปล่า ๆ คำอันต้องที่ใช้ เช่น เงิน ก็ไม่เห็นมีใครใช้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านอึดอัดใจ ตั้งปัญหาถามฉันว่าคำใคควรใช้ไม้ไต้คู้และไม่ควรใช้ ฉันพยากรณ์ถวายท่านว่า คำใดซึ่งใช้ทั้งสั้นยาวมีความหมายต่างกัน เช่น เอ็น เอน นั้นจำต้องใช้ไม้ไต่คู้ ถ้าไม่ใช่คำเช่นนั้น เช่น เห็น เปนต้น ไม่จำต้องใช้ไม่ไต่คู้ เพราะคำ เหน ไม่มีที่ใช้ ท่านเห็นชอบด้วย

พูดถึงไม้ไต่คู้ ก็นึกขึ้นมาได้ ที่เราใช้วิสัญชนีเปนสระอะนั้นไม่ถูกอย่างยิ่ง เขมรเขาใช้ไม้ไต่คู้เช่น ระเบียบ เขียน ร็เบียบ ดูก็เข้าทีอยู่ เห็นจะเปนคิดขึ้นใหม่

ขอบใจท่านที่บอกคำ หมาก ให้ทราบว่าแท้จริงความหมายว่าอะไร แต่ก่อนเข้าใจเลื่อนเตมที ฉันเห็นด้วยท่านเปนมั่นคงแล้ว ว่าลูกไม้ซึ่งมีคำ มะ นำนั้นมาแต่ หมาก เที่ยงแท้

ต่อไปนี้จะแจ้งรายงานให้ท่านทราบ เมื่อวันที่ ๓ พระเจนจีนอักษรมาหา ได้ถามถึงปะทัด ก็ได้ความสมกับที่ท่านบอก ว่าคำเก่าเรียก ผักเต้ก หรือ ผ่าวเต้ก เต้ก ว่าไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ไผ่ ผัด หรือ ผ่าว มาแต่เสียงแตกทีหลังถ่ายทอดมาเปนปืนใหญ่ จีนก็เรียกปืนใหญ่ว่าผ่าว ได้ถามว่าปะทัดนั้นควรจุดในกาลใด ได้คำตอบว่ามีหนังสือแต่งไว้ ว่าขึ้นปีใหม่แล้วให้ปิดกระดาษใหม่ที่หน้าเรือนและให้จุดปะทัด ถามว่าจุดเพื่ออะไร ได้คำตอบว่าเพื่อไล่ผี อันนี้ก็มาเข้าเรื่องพิธีตรุสของเรา ชอบกลหนักหนา และได้ถามว่าการศพใช้ปะทัดหรือเปล่า ได้ตอบว่าไม่ใช้เลย

นึกคำ ชะนะ เปน แพ้ ได้คำหนึ่ง คือ อปราชัย คนโดยมากเข้าใจว่าแพ้ แต่ที่แท้ชนะ คำนี้เห็นเหตุได้ว่าคำ ปราชัย นำไปให้เข้าใจผิด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ